ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ดีและลงตัว จริงๆ หรือยัง?
ถ้ามองอย่างเที่ยงตรง เรามั่นใจว่า คำตอบคนส่วนมากคือ ‘ไม่’ เพราะกรุงเทพฯ ยังคงเผชิญกับปัญหาที่สะสมมานาน ทั้งการจราจรติดขัด ฝนตกแล้วน้ำท่วมขังในย่านต่างๆ การจัดการขยะที่ไม่เป็นระบบ ฝุ่น PM 2.5 ไปจนถึงระบบขนส่งสาธารณะและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ไม่ตอบโจทย์ผู้อาศัยจริงๆ สักที ทำให้การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก เหมือนผจญด้านโหดในเกม Adventure ทุกวันเลยทีเดียว
เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาในเมืองกรุง ก็ต้องย้อนกลับไปที่ ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาเมือง และการบริหารราชการของเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยปกติแล้ว ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในเมืองหลวงจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กันทุก 4 ปี เพื่อเป็นตัวแทนของคนกรุง เข้าไปพัฒนาเมืองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบด้าน
ว่าแต่…จำได้หรือเปล่าว่าชาวกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? เพราะตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ที่อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งนอกจากจะอยู่ในวาระนานกว่ากำหนดแล้ว เขายังมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยไม่ผ่านการเลือกจากประชาชนด้วย
อัศวินในตำแหน่งผู้ว่าฯ และผลงานของเขา จึงไม่ต่างอะไรกับมรดกที่คณะรัฐประหารทิ้งไว้ให้ชาวกรุงเทพฯ นโยบายหลายข้อไม่สอดคล้องกับแนวทางแก้ปัญหา แถมเมกะโปรเจกต์หลายโครงการยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนและไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ทุ่มไปด้วย
ทำไมจึงเป็นแบบนี้ เราจะพาทุกคนไปดูว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ อัศวินฝาก และทิ้ง อะไรไว้ให้คนกรุงเทพฯ บ้าง ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่คำถามที่ว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนถัดไปจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องอะไร และแก้ไขอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เลือกมากไปกว่านี้
01 | อัศวิน ขวัญเมือง : ผู้ว่าฯ ผู้มากับดวง?
ย้อนกลับไปปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากนั้นสองปี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นเครื่องมือในการครองอำนาจของรัฐบาลทหาร ปลดหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นให้พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. แทนทันที ทำให้อัศวินเป็น ผู้ว่าฯ กทม. คนแรกที่มาจากการแต่งตั้งในรอบ 31 ปี และเป็นตำรวจไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
แม้ตอนนั้นประยุทธ์ระบุว่า ‘ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการทั้งสิ้น’ แต่ก็เห็นกันอยู่ว่า อัศวินเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งที่ฟังเสียงของประชาชนเลย ในตอนนั้นรัฐบาลให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องปรับการบริหารงานให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ เพราะสำหรับบางอย่าง ถ้าไม่มีความชัดเจนจะบริหารงบประมาณไม่ได้ จึงต้องมีคนเข้ามาทำหน้าที่นี้
นี่จึงเป็นผลพวงจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐ ที่เอื้อให้อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เราจะพูดว่าเขาเข้ามากับดวงก็ไม่ใช่ จะมากับโชคก็ไม่เชิง ถ้างั้นอาจสรุปได้ว่าเข้ามาด้วย‘วิธีพิเศษ’ ก็แล้วกัน
แม้ตอนแรกอัศวินกล่าวว่า ‘คงไม่อยู่ยาว’ ส่วนรัฐบาลก็บอกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ขยายเวลาไปเรื่อยๆ จนตอนนี้อัศวินดำรงตำแหน่งลากยาวมานานกว่า 5 ปีแล้ว อยู่นานเกิน 4 ปี ตามวาระปกติของผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง
หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน อัศวิน ขวัญเมือง ก็แถลงนโยบายให้ประชาชนรับทราบ โดยประกาศ ‘1 ภารกิจพิเศษ’ ‘5 นโยบายทันใจ’ และ ‘19 ภารกิจผลักดันทันที’ ที่พร้อมดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ภายใต้แนวคิด ‘ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที’ และ ‘NOW ทำจริง เห็นผลจริง’
1 ภารกิจพิเศษ คือ การบริหารจัดการมณฑลพิธีท้องสนามหลวงและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เดินทางมากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดช ทั้งด้านการเดินทาง อาหาร ที่พัก ความปลอดภัย ความสะอาด รวมไปถึงการแพทย์และสาธารณสุข
5 นโยบายทันใจ ประกอบด้วย
1) สะอาด : บ้านเมืองสะอาด การบริหารราชการใสสะอาด
2) สะดวก : เดินทางสะดวก ใช้ชีวิตสะดวก ข้อมูลสะดวก
3) ปลอดภัย : ชีวิตปลอดภัย ทรัพย์สินปลอดภัย ชุมชนและสังคมปลอดภัย
4) คุณภาพชีวิต : ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ
5) วิถีพอเพียง : ภูมิใจในรากฐานไทย พอใจในความเป็นอยู่
ส่วน 19 ภารกิจผลักดันทันที มีตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด, Big Cleaning Day ของชาวกรุงเทพฯ, รณรงค์เก็บผักตบชวาลดปัญหาน้ำท่วม, ชวนเอกชนทำแก้มลิงในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม, พัฒนาทางแยกปลอดภัยร่วมกับภาคเอกชนให้กับผู้พิการ ผู้สูงวัย และประชาชนทั่วไป, ปรับรถจอดและวิ่งบนทางเท้า และเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 24 ชั่วโมง เป็นต้น
02 | ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที ภารกิจที่แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้
แม้อัศวินประกาศนโยบายและภารกิจไว้และเริ่มดำเนินการทันที แต่บางนโยบายอาจดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ยั่งยืน และไม่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นๆ ได้
หนึ่งตัวอย่างก็คือ โครงการ ‘แก้มลิงใต้ดิน’ หรือ ‘บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank)’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่ระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ
การทำงานของ Water Bank คือการสร้างบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน โดยมีการทำงานด้วยระบบวางท่อระบายน้ำเพื่อรองรับ ‘น้ำฝน’ ผ่านไปที่บ่อส่งน้ำที่รองรับน้ำท่วมขัง ก่อนส่งไปยัง Water Bank หลังจากนั้นก็ทำการเชื่อมต่อท่อระบายน้ำเข้ากับท่อระบายน้ำเดิม หรือระบบท่อระบายน้ำใหม่ หรือวางท่อระบายน้ำใหม่ไปยังคลองโดยตรง หลังจากนั้นก็ติดเครื่องสูบน้ำ เมื่อฝนหยุดตก หรือระดับน้ำในคลองลดลงจะสูบน้ำใน Water Bank เพื่อระบายลงสู่คลองในพื้นที่โดยตรง
กรุงเทพฯ กำหนดก่อสร้าง Water Bank ในจุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้งหมด 4 แห่ง โดยมี 2 แห่งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2561 ได้แก่ ‘บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บริเวณใต้วงเวียนบางเขน’ งบประมาณก่อสร้างรวม 24.8 ล้านบาท กักเก็บน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และ ‘บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บริเวณใต้ถนนอโศกดินแดง’ งบประมาณก่อสร้างรวม 34.1 ล้านบาท กักเก็บน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร
ส่วนอีก 2 แห่งที่ทาง กทม. ตั้งเป้าสร้างให้เสร็จภายในปี 2564 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ได้แก่ ‘บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บริเวณแยกถนนศรีนครินทร์’ และ ‘บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บริเวณสวนสาธารณะถนนรัชดาภิเษก’ ความจุแห่งละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
แม้ว่า กทม.จะใช้ Water Bank เป็นเครื่องมือหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่หลายฝ่ายยังกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโครงการแก้มลิงใต้ดินนี้ เสียงหนึ่งมาจาก สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับโครงการ Water Bank ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 โดยใจความระบุว่า แก้มลิงใต้ดินช่วยลดน้ำท่วมขังในพื้นที่แคบๆ ได้จริง แต่ถ้าถามว่า แก้มลิงใต้ดินแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่? คำตอบคือ ‘ไม่ได้’ พร้อมอธิบายต่อว่า
“เนื่องจากแก้มลิงใต้ดินเป็นแก้มลิงขนาดเล็ก จึงไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางได้ ยกตัวอย่าง หากต้องการให้แก้มลิงใต้ดินที่มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แก้มลิงนี้จะสามารถลดระดับน้ำบนถนนลงได้เพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ถือว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เลย ทางแก้ก็คือต้องสร้างแก้มลิงเพิ่มอีกหลายแห่ง หรือลดขนาดพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมลง เช่น อาจให้เหลือพื้นที่เพียง 50,000 ตารางเมตรเท่านั้น ก็จะทำให้แก้มลิงนี้มีศักยภาพลดระดับน้ำบนถนนลงได้ถึง 20 เซนติเมตร”
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กทม.ทุ่มงบไปกับโครงการนี้หลายสิบล้านบาท และได้บ่อหน่วงน้ำใต้ดินเพียง 2 แห่ง แน่นอนว่า ไม่เพียงพอกับการป้องกันน้ำท่วมขัง และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวไม่ได้ ทำให้ชาวกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาเดิมทุกปี ล่าสุดในปี 2564 ก็เกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนจนทำให้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลถูกน้ำท่วมสูง จนหลายฝ่ายกังวลว่ากรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 แต่โชคดีที่ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้
อีกประเด็นที่อยากยกเป็นตัวอย่างก็คือ ภารกิจพัฒนาทางแยกปลอดภัยเพื่อผู้พิการ ผู้สูงวัย และประชาชนทั่วไป ที่ประกาศไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กทม. ก็ยังไม่สามารถทำนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรมหรือทำให้ชีวิตบนท้องถนนของชาวกรุงปลอดภัยขึ้นเท่าไหร่นัก
ปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพฯ ทั้งผู้ขับรถและคนเดินเท้า ยังต้องเจออันตรายและความเสี่ยงจากการเดินทาง ทั้งจากถนนชำรุดเป็นหลุมบ่อ ถนนเปลี่ยว สี่แยกไม่มีสัญญาณไฟจราจร ฟุตพาทไม่ได้มาตรฐาน การขับรถย้อนศรและขับรถบนทางเท้า ไหนจะปัญหาจากบริบทอื่นๆ อย่างเช่น หาบเร่ แผงลอย ขยะ น้ำท่วมขัง และการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2565 ก็เกิดคดี ‘หมอกระต่าย’ ที่ ส.ต.ต นรวิชญ์ บัวดก ขับบิ๊กไบก์พุ่งชน หมอกระต่าย-วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล จักษุแพทย์ที่กำลังเดินข้ามทางม้าลายเสียชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจและน่าผิดหวังที่ปัญหาบนท้องถนนในประเทศของเรายังย่ำอยู่กับที่ อีกทั้งผู้ก่อเหตุคดีนี้ยังเป็นผู้รักษากฎหมายเองด้วย
ทว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศไทยเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งกฎหมายจราจรอ่อนแอ สภาพแวดล้อมของถนน โครงสร้างเมืองไร้ระบบ รวมถึงการที่ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยและมารยาทบนท้องถนนน้อย และยังขาดวินัยด้วย เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กทม. มีหน้าที่สำคัญต่อการกำหนดทิศทางและนโยบาย ที่จะพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น
หลายคนแสดงความเห็นว่า ‘ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการด่า’ เพราะปัญหาในสังคมไทยหลายๆ เรื่อง ต้องกลายเป็นจุดสนใจของคนในสังคมและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างก่อน รัฐจึงเข้ามาแก้ไข ซึ่งหลังเกิดเคสหมอกระต่าย (และหลายๆ เคสในอดีต) ทาง กทม. ก็เร่งแก้ปัญหาทันทีโดยการปรับแก้ทางม้าลายบริเวณจุดเกิดเหตุ ด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ด้วยการทาสีแดงขยายทางม้าลายให้กว้างขึ้น ผู้ขับขี่จะได้เห็นได้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก ซึ่งหลายคนอาจยังมองว่านี่คือการแก้ปัญหาจุดเดียว และยังแก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ ซึ่งไม่คุ้มกับงบประมาณเท่าที่ควรจะเป็น
หลังจากนั้น กทม. ยังเตรียมของบประมาณติดสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม และปรับปรุงทางม้าลายที่เป็นจุดเสี่ยงกว่าอีก 100 แห่ง อีกทั้งผู้ว่าฯ อัศวิน ยังประกาศให้ประชาชนเสนอแนะและร้องทุกข์ไปที่ไลน์ @asawinbkk หากพบเห็นทางม้าลาย ทางข้าม หรือทางแยก ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดทำให้เราตั้งคำถามว่า หากไม่เกิดเคสหมอกระต่าย กทม. และหน่วยงานรัฐทั่วประเทศจะเร่งปรับปรุงทางม้าลายหรือไม่? และนี่คือวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนจริงๆ แล้วหรือเปล่า? เราอยากชวนทุกคนคิดต่อว่า คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย มันควรจะดีกว่านี้ไหม?
03 | มรดกจาก คสช. : เมกะโปรเจกต์และเสียงวิพากษ์วิจารณ์
นอกจากหลายๆ นโยบายและโครงการของอัศวินดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การบริหารจัดการของผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด
จากเคสโครงการ Water Bank ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 กรุงเทพฯ เจอเหตุฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมขังที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริเวณที่สร้าง Water Bank เสร็จแล้ว ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และใช้เวลาระบายน้ำถึง 2 ชั่วโมง โดยผู้ว่าฯ ได้กล่าวหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำบริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 ว่า แม้ กทม. ดำเนินการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินเสร็จแล้ว แต่ผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งมอบงานให้ กทม. ทำให้เจ้าหน้าที่ กทม. ‘ไม่มีกุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำ’ จึงสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทำกุญแจสำรองไว้หลายดอก เพราะปัญหาเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น พร้อมยอมรับว่าเป็นความผิดของ กทม. จริง
หลังจากสัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป ประชาชนก็แสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง บางคนมองว่า กทม. ประมาทเลินเล่อ ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้อง กทม. ซึ่งเราเองก็คิดว่า กรณีดังกล่าวอาจนำความเสียหายมาสู่ประชาชนจำนวนมากได้จริง แล้วคุณล่ะ มีความคิดเห็นยังไงต่อประเด็นนี้?
อีกเมกะโปรเจกต์ในสมัยของผู้ว่าฯ อัศวินที่ถูกพูดถึงในวงกว้างก็คือ ‘โครงการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง’ ที่ใช้งบประมาณไปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้ร่มรื่นสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประชาชน
คลองโอ่งอ่างคือส่วนหนึ่งของ ‘คลองรอบกรุง’ และมีขอบเขตจากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลองซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ ข้างๆ กับสะพานพระพุทธยอดฟ้า คลองโอ่งอ่างทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่างเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์
โครงการปรับภูมิทัศน์คลองเก่าให้เป็นถนนคนเดินและสตรีทอาร์ตแห่งใหม่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย เพราะในปี 2563 คลองโอ่งอ่างได้รับรางวัลต้นแบบในการปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตเมืองของเอเชีย (2020 Asian Townscape Award) จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme : UN-HABITAT)
โครงการนี้เป็นการพัฒนาคลองโอ่งอ่างย่านสะพานเหล็ก ที่ทาง กทม.ขอคืนพื้นที่ภายใต้การสนับสนุนของ คสช.และมาตรา 44 ในปี 2558 หลังจากพื้นที่ถูกรุกล้ำมานานกว่า 20 ปี แม้ว่าคลองโอ่งอ่างจะสวยขึ้นและสะอาดขึ้นจริง แต่ถ้าให้พูดถึงงบประมาณกับผลลัพธ์ที่ได้มา ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ เพราะโครงการนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 400 ล้านบาท แต่ส่วนที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่มีระยะทางเพียง 750 เมตรเท่านั้น (ตั้งแต่สะพานดำรงสถิต ยาวไปจนถึงสะพานโอสถานนท์) จากระยะทางความยาวของคลองทั้งหมด 2 กิโลเมตรเลยทีเดียว
ที่สำคัญ การที่ กทม. หรือรัฐบาลจะปลาบปลื้ม และมองว่าคลองโอ่งอ่างคือความสำเร็จด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนก็คงจะไม่ถูกทั้งหมด เพราะในกรุงเทพฯ มีคลองมากกว่า 1,600 เส้น ความยาวรวมกันทั้งหมดกว่า 2,600 กิโลเมตร ซึ่งเรามองว่าคลองส่วนใหญ่ควรได้รับการฟื้นฟู ทำความสะอาด ดูแลสิ่งแวดล้อม และทำให้ปลอดภัยเช่นกัน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกพื้นที่ และสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่สวยงามและเป็นมิตรกับผู้คนด้วย
กทม. มีโครงการพัฒนาคลองมาเรื่อยๆ อย่างเมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 ก็ได้เปิด ‘สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี’ ให้ประชาชนเข้าใช้บริการอย่างเป็นทางการ จุดประสงค์หลักของกทม. ก็เพื่อปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ที่แต่เดิมมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ให้กลับมามีทัศนียภาพที่สวยงามและช่วยระบายน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ
ผู้ว่าฯ อัศวินได้ระบุว่า นี่คือโครงการพลิกฟื้นคลองช่องนนทรีจากที่เป็นเพียงแค่คลองระบายน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยการออกแบบพัฒนาคลองช่องนนทรีให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นที่พักผ่อน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรม และยังออกแบบให้คลองเชื่อมโยงกับผู้คน ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม โครงการคลองช่องนนทรีก็ยังเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเดิม เช่นเดียวกับเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ของ กทม. นั่นก็คือการใช้งบประมาณและความคุ้มค่าที่ได้รับ เพราะโครงการใช้งบประมาณมากถึง 980 ล้านบาท และส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณกลางของ กทม.
สวนสาธารณะระยะทางสองฝั่งรวมกัน 9 กิโลเมตรแห่งนี้ ถูกตั้งคำถามหลายประเด็น ทั้งเรื่องการตั้งสวนสาธารณะไว้กลางถนน มลภาวะจากควันรถที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน รวมถึงวิธีบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรี ซึ่งทาง กทม. ออกมาโต้ว่า มีระบบระบายน้ำเสียให้แยกขาดจากคลอง และอธิบายว่า นี่คือโครงการที่ถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อเลนจราจร และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดปัญหามลภาวะด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องความคุ้มค่าของงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ทาง กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ที่ปรึกษาโครงการนี้ ให้ความเห็นว่า เมื่อเทียบงบประมาณกับพื้นที่ 70 ไร่ แล้วหารเฉลี่ยเป็นตารางเมตร/คน ถือว่าเป็นงบประมาณที่ไม่สูงและมีความคุ้มค่า เพราะเป็นทั้งพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมต่อกับการเดินทางของรถไฟฟ้า BTS และรถ BRT อีกทั้งยังบำบัดน้ำเสียและช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากภาพสวนสาธารณะช่องนนทรีถูกเผยแพร่ เรื่องนี้ก็กลายเป็นกระแสร้อนแรงบนโซเชียลมีเดียทันที ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบการสร้าง และการตกแต่งที่ดูรกและไม่ประณีต รายละเอียดก่อสร้างที่ไม่เรียบร้อย และบางจุดถึงขั้นอันตราย น้ำในคลองที่ยังเหม็นเน่า รวมไปถึงการปูพื้นด้วยหญ้าเทียมและต้นไม้พลาสติก ที่ทำให้คนตั้งคำถามว่า มันช่วยฟื้นฟูหรือรักษาสิ่งแวดล้อมตรงไหน?
นอกจากนั้น เพจเฟซบุ๊กต่างๆ อย่างเช่น ‘Propholic’ ‘ขาเกือบพลิก’ และ ‘ThisAble.me’ ยังได้ลงสำรวจพื้นที่และถ่ายภาพจุดต่างๆ มาแชร์กัน ซึ่งภาพส่วนใหญ่เผยให้เห็นว่า แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ไม่ได้มีทัศนียภาพที่สวยงามใกล้เคียงหรือเทียบเท่า ‘คลองชองเกชอน’ ของเกาหลีใต้ แรงบันดาลใจ และต้นแบบของการพัฒนาคลองช่องนนทรีแม้แต่น้อย นอกจากนั้น สวนสาธารณะแห่งนี้มีฟังก์ชันที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและยังยากต่อการเข้าถึงของประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการและคนชรา เพราะรูปแบบการก่อสร้างและเส้นทางรอบๆ คลอง ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้เลย
สวนสาธารณะช่องนนทรีเปิดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการเมื่อปลายปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่การก่อสร้างของโครงการแล้วเสร็จเพียง 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยผู้ว่าฯ อัศวินได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ว่า ช่วงที่สองของโครงการจะสร้างเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และโครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2565 โดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ทำไมโครงการจึงเสร็จล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ เพราะย้อนไปเมื่อปี 2563 กทม. เคยประกาศว่าจะเริ่มเปิดบริการเฟสแรกในเดือนเมษายน 2564 เราเข้าใจได้ว่า โครงการต่างๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการได้ตลอด แต่ประชาชนควรได้รับรู้ความคืบหน้า และรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดอย่างโปร่งใส
เรื่องความโปร่งใสจึงเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อ กทม. และผู้ว่าฯ อัศวิน เมื่อผู้ว่าฯ คนปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งด้วยวิธีพิเศษผ่านการแต่งตั้ง อีกทั้งยังอยู่เกินวาระที่กฎหมายกำหนด ทำให้การตรวจสอบหน่วยงานรัฐ การวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอแนะ หรือแม้แต่การเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการและงบประมาณต่างๆ จึงเป็นไปได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ต่างๆ มากเท่าที่ควร และไม่เห็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนใดๆ
การที่ประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับภาครัฐ จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายๆ คน มองว่าโครงการและแผนการ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ กทม. รวมไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีความล่าช้า คลุมเครือ เหมือนมีเส้นสีเทาบดบังอยู่ อาจไม่แปลกที่มีชาวกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยตั้งตารอการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ว่าฯ อัศวินยังไม่ประกาศชัดว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ สมัยถัดไปหรือไม่ แต่ก็มีเค้าลางว่า เขาอาจตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งนี้อีกรอบ เพราะนิด้าโพลได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง ‘อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10’ โดยอัศวินได้คะแนนมากเป็นอันดับสอง รองจากชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนจำนวนมากยังสนับสนุนผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทางฝั่งผู้ว่าฯ อัศวินเองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เพราะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก ‘ผู้ว่าฯ อัศวิน’ ได้ทยอยโพสต์แคมเปญ #กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว เพื่อสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เขาได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งมวลชน ป้ายรถเมล์ ทางม้าลาย ทางเท้า ระบบระบายน้ำ ถนนสายต่างๆ เป็นต้น
การสื่อสารแคมเปญพีอาร์รูปแบบนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่อัศวินจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ต่ออีกสมัย ซึ่งทุกคนเข้าไปดูผลงาน ข้อมูล และภาพผลงานที่ผ่านมาของเขา แล้วนำมาพิจารณาร่วมกับบริบทการใช้ชีวิตจริงๆ ในเมืองหลวงช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง เพื่อประกอบการตัดสินใจอีกทีก็ได้ว่า คุณอยากให้ผู้ว่าฯ อัศวินดำรงตำแหน่งนี้อีกสมัยหรือไม่
04 | ผู้ว่าฯ คนถัดไป : ความหวังครั้งใหม่ของคนกรุงเทพฯ
ทั้งหมดที่เล่ามา เราต้องการชี้ให้เห็นว่า กทม. ภายใต้การบริหารของอัศวิน ขวัญเมือง สร้างและทิ้งปัญหาอะไรไว้ให้ชาวกรุงเทพฯ บ้าง แม้ว่าอัศวินจะมีนโยบายและโครงการจำนวนมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่กลับแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชน และยังเป็นการบริหารงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า และไม่ทั่วถึงทุกคนด้วย
เมื่อมีข่าวว่า จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2565 (แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่) เราจึงมองว่า คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ คนถัดไปเปรียบเสมือน ‘ความหวังของคนกรุงเทพฯ’ ที่จะเข้ามาสะสางปัญหาต่างๆ และเร่งพัฒนาเมืองหลวงที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนจริงๆ เสียที
เราเชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. ในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงผู้เข้าชิงตำแหน่งนี้เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า Pain Point ของกรุงเทพฯ คืออะไร แต่คำถามก็คือ ใครที่จะทำให้นโยบายและโครงการต่างๆ เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้
แต่ถ้าให้สรุปว่า คนที่จะมารับไม้ต่อผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องอะไรบ้าง เรายังคงมองว่าประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาอันดับต้นๆ ต่อไป ได้แก่
1) สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การขนส่งมวลชน การจราจร ถนน ฟุตพาท ที่ต้องปลอดภัยและเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกกลุ่ม
2) การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ ควันพิษ และฝุ่น รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ตอบโจทย์คนเมืองและเข้าถึงได้ง่าย
3) การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคนเมือง
4) การพัฒนาสวัสดิการต่างๆ ที่ทุกคนควรได้รับ เช่น การศึกษาและการรักษาพยาบาล
5) การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพและการหารายได้ให้ประชาชน
6) การบริหารที่จำเป็นต้องคิดถึงความยั่งยืนในอนาคต เพราะกรุงเทพฯ เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำ แต่ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เห็นแผนการรับมือที่เป็นรูปธรรม
ถึงอย่างนั้น ทุกคนคงรู้ดีว่าการแก้ปัญหาในกรุงเทพฯ และพัฒนาเมืองให้รองรับการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้านนั้นต้องใช้เวลานาน และการแก้ปัญหาทั้งหมดต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชน
โจทย์ปัญหาของกรุงเทพฯ เป็นโจทย์ที่แก้ไขยากมาก และเต็มไปด้วยความท้าทายต่อการลงมือแก้สำหรับผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งทุกยุคสมัย ดังนั้น คนที่เข้ามาทำงานจึงไม่ใช่แค่เอาใครมาบริหารก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญสูง และควรรับฟังเสียงจากประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจริงๆ เพื่อนำไปแก้ไขและพัฒนาต่ออย่างตรงจุดที่สุด
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดแนวทางและทิศทางของเมืองนี้ และไม่ว่ายังไง ประชาชนก็ควรมีสิทธิเลือกตัวแทนของตัวเอง และไม่ควรปล่อยให้บุคคลที่เราไม่ได้เลือกมาดำรงตำแหน่งนี้อีกต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้นการกระจายอำนาจให้ต่างจังหวัดก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทั้งประเทศพัฒนา และได้รับโอกาสทุกมิติเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่ประเทศกรุงเทพฯ แต่เป็นทุกจังหวัดที่เป็นประเทศไทยไม่ต่างกัน
ซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature คือซีรีส์ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน
Sources :
Bangkok Biz News | t.ly/4KkQ, t.ly/yQlI
BKK Education | t.ly/c3DY
Daily News | t.ly/edIs
Facebook : Propholic | t.ly/tGVR
Facebook : ThisAble.me | t.ly/XPYj
Facebook : ขาเกือบพลิก | t.ly/qmvZo
Facebook : ผู้ว่าฯ อัศวิน | t.ly/msUn
Manager Online | t.ly/MtDB, t.ly/JGfj
Matichon Online | t.ly/UyzM, t.ly/Ur3f
Matichon Weekly | t.ly/7Fos
Naewna | t.ly/3ZIA
Office of Insurance Commission | t.ly/mFrW
Poakpong | t.ly/xI2m
PPTV HD 36 | t.ly/JaIF
Prachachart | t.ly/C1Dq, t.ly/EGdO, t.ly/Bwrr
Sanook | https://rb.gy/2lhdb0
Thairath | https://rb.gy/dncktu
Thansettakij | https://rb.gy/d7iciy, https://rb.gy/h34x5t
The Momentum | t.ly/e0WZ
Voice Online | t.ly/8nsWh, t.ly/zl31
Wikipedia | t.ly/1eSM
WorkpointTODAY | https://rb.gy/hn2r1s