สุราชุมชนและวัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น - Urban Creature

หนุ่มสาวออฟฟิศใส่สูทผูกไทนั่งสังสรรค์กันในร้านเหล้า มนุษย์เงินเดือนออกไปดื่มกับหัวหน้าและลูกค้าจนดึก แถมยังเมาเละเทะจนหมดสภาพ

เหตุการณ์เหล่านี้คือภาพสะท้อนสังคมญี่ปุ่นที่หลายคนคงเคยเห็นในข่าวหรือสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใครที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นด้วยตัวเองก็น่าจะนึกภาพตามได้ไม่ยาก เพราะเราสามารถพบเห็นวิถีชีวิตแบบนี้ได้ทั่วไปในแดนอาทิตย์อุทัย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ‘การดื่ม’ คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นสืบทอดกันมานานแล้ว มากไปกว่านั้น ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของแดนปลาดิบยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนเข้าถึงน้ำเมาได้ง่ายและสะดวกสบาย ที่สำคัญ ภาครัฐยังส่งเสริมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในฝั่งของแบรนด์ใหญ่ไปจนถึงผู้ผลิตรายย่อยระดับท้องถิ่น

ชาวญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมการดื่ม

ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการดื่มที่ยาวนาน และยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนในปัจจุบัน ที่เป็นแบบนั้นเพราะการดื่มของผู้คนในแดนปลาดิบไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายหรือสังสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมทางสังคมและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมานาน

ชาวญี่ปุ่นมองว่าการดื่มคือหนึ่งวิธีแบ่งปันความรู้สึกของ ‘การอยู่ร่วมกัน’ (Togetherness) และ ‘ความซื่อสัตย์’ (Honesty) ที่นี่จึงมีวัฒนธรรมการดื่มที่เรียกว่า ‘โนมิไก’ (NoMiKai) ซึ่งมาจากคำว่า ‘nomi’ (飲み) ที่แปลว่าดื่ม และ ‘kai’ (会) ที่แปลว่างานรวมหรืองานประชุม เมื่อนำมารวมกัน โนมิไกจึงแปลว่างานสังสรรค์ที่เน้นการดื่มมากกว่าการกิน และเป็นการสังสรรค์กันหลังเลิกงาน โดยส่วนใหญ่การดื่มลักษณะนี้จะเกิดขึ้นที่ร้านอาหารและบาร์สไตล์ญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘อิซากายะ’ (Izakaya)

แม้ว่าโนมิไกจะไม่ใช่การบังคับ แต่พนักงานส่วนใหญ่มักถูกคาดหวังให้เข้าร่วมการดื่มหลังเลิกงาน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าการเข้าสังคมลักษณะนี้คือส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงคนทำงานเข้าหากัน เหมือนเป็นการสร้างคอนเนกชันที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และอาจส่งผลต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพเช่นกัน แต่การสังสรรค์ลักษณะนี้ไม่ได้ใช้กับบริบทการทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังรวมถึงการดื่มเพื่อทำความรู้จักเพื่อนใหม่ หรือสร้างความสนิทสนมระหว่างกลุ่มเพื่อนด้วย

สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่น หลายคนอาจนึกถึง ‘สาเก’ (Sake) หรือสุราที่ทำมาจากข้าวเป็นอันดับแรกๆ แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นยังมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายประเภท เช่น

– โชจู (Shochu) เหล้าที่มักกลั่นจากข้าวบาร์เลย์
– อะวาโมริ (Awamori) เหล้าพื้นบ้านที่ทำจากข้าวไทยของโอกินาวา เป็นเหล้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
– อุเมะชู (Umeshu) เหล้าที่ทำจากบ๊วยที่ยังไม่สุกหมักกับเหล้าและน้ำตาล
– อะซึคัง (Atsukan) เหล้าสาเกอุ่น
– วิสกี้ญี่ปุ่น (Japanese Whiskey) วิสกี้ที่พัฒนาและผลิตในญี่ปุ่น แบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Suntory และ Nikka
– ไฮบอล (Highball) เครื่องดื่มที่ผสมเหล้าหรือวิสกี้กับน้ำโซดา
– ชูไฮ (Chuhai) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ มีส่วนของแอลกอฮอล์กลั่นผสมด้วยรสผลไม้หรือน้ำอัดลม นิยมดื่มตามร้านอิซากายะ
– ยูซุชู (Yuzushu) เหล้าส้มยูซุ
– อามาซาเกะ (Amazake) เหล้าหวานทำจากข้าว น้ำสีขาวขุ่นและมีเนื้อข้าวผสมอยู่

นอกจากนี้ยังมี ‘เบียร์’ (Beer) ที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเครื่องดื่มของญี่ปุ่นโดยกำเนิด แต่ยังถือเป็นหนึ่งเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศนี้ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ร้านอาหารและร้านอิซากายะมักเสิร์ฟกันเพื่อเริ่มต้นค่ำคืนการดื่มแบบยาวๆ

เท่านั้นยังไม่พอ ญี่ปุ่นยังมีเบียร์หลายยี่ห้อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันตามใจชอบ ตั้งแต่เบียร์ของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Asahi, Kirin, Sapporo และ Suntory ไปจนถึงคราฟต์เบียร์ของผู้ผลิตรายย่อยหรือขนาดเล็ก (Microbrewers)

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมเสิร์ฟ 24 ชั่วโมง

ที่น่าสนใจคือ ผู้คนในญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายและสะดวกสบาย เนื่องจากร้านอาหารและบาร์เปิดและปิดบริการได้ตามที่ต้องการ รวมถึงเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้าได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต เพียงแค่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มเหล่านี้

มากไปกว่านั้น ผู้บริโภคยังซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้ตามเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาจำหน่ายเหมือนในประเทศไทย ที่อนุญาตให้ร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่าง 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. เท่านั้น โดยผู้ที่ซื้อขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่นได้ต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเช่นเดียวกันกับในไทย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรามักเห็นภาพชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนปาร์ตี้กันจนเมาแอ๋และภาพตัดตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียว มีตั้งแต่ฟุบหลับอยู่ในร้าน ไปจนถึงนอนอยู่ในสถานีรถไฟหรือกลางถนน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นภาพที่น่าตกใจสำหรับคนนอก แต่ชาวญี่ปุ่นเองคงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ เพราะเหตุการณ์คนเมาหลับแบบนี้มีให้เห็นได้แทบจะทุกวันและทุกเวลา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาผู้โดยสารเมาก็ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงในญี่ปุ่น เนื่องจากในปี 2013 ญี่ปุ่นมีผู้โดยสาร 221 รายถูกรถไฟชนขณะยืนรออยู่บนชานชาลาหรือตกราง ซึ่งร้อยละ 60 เกิดจากอาการมึนเมา ทำให้ในปี 2015 บริษัทรถไฟ JR West ติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานีรถไฟหลายแห่งในโอซากา เพื่อตรวจจับผู้โดยสารที่เดินเซ ยืนไม่นิ่งบริเวณชานชาลานานเกินไป หรือหมดสติบริเวณม้านั่ง ก่อนจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่สถานี เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

การส่งเสริมอุตสาหกรรมสุราชุมชน

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นรุ่มรวยไปด้วยสุราจากผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย นั่นเพราะประเทศนี้ไม่ได้มีกฎหมายเข้มงวดเรื่องการจำหน่าย นำเข้า และผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มเหล่านี้จำเป็นต้องมีใบอนุญาต โดยข้อมูลจาก JETRO ระบุว่า ใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1) ใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายขายส่งสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด : สามารถดำเนินการขายส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทที่มาจากญี่ปุ่นได้ แต่ไม่สามารถดำเนินการขายปลีกได้

2) ใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายขายส่งสุราตะวันตก : สามารถดำเนินการขายส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตะวันตกทุกประเภท ไม่รวมเบียร์และแอลกอฮอล์ญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถดำเนินการขายปลีกได้

3) ใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายขายส่งสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า : สามารถดำเนินการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าทุกประเภทให้กับร้านค้าปลีกอื่นๆ ได้ แต่ไม่สามารถดำเนินการขายปลีกด้วยตนเองได้

4) ใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายปลีกทั่วไปสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : สามารถดำเนินการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นและต่างประเทศทุกประเภทให้กับผู้บริโภคทั่วไปภายในพื้นที่จำหน่ายของผู้ขาย แต่ไม่สามารถดำเนินการขายส่งได้ ซึ่งนี่คือประเภทใบอนุญาตที่ใช้บ่อยที่สุด

5) ใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายขายปลีกแบบสั่งซื้อทางไปรษณีย์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : สามารถดำเนินการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นและต่างประเทศทุกประเภทให้กับผู้บริโภคทั่วไปและร้านอาหาร ผ่านการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ร้านอินเทอร์เน็ต แค็ตตาล็อก ฯลฯ ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าควรน้อยกว่า 100,000 ลิตรต่อปี

ส่วนใครต้องการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อจำหน่ายต่อ ต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งผู้ขายควรมีใบอนุญาตนี้ก่อนที่บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มจะถูกส่งมาที่ศุลกากร เพราะหากไม่มีใบอนุญาต ศุลกากรจะไม่สามารถเคลียร์พัสดุของผู้นำเข้าได้ ส่วนใครที่อยากส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากญี่ปุ่นให้กับบริษัทในต่างประเทศ ผู้ส่งออกจะต้องมีใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกันคือเรื่องการต้มเบียร์ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นปรับแก้กฎหมายแอลกอฮอล์เมื่อ ค.ศ. 1994 ญี่ปุ่นได้อนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีใบอนุญาตในการผลิตเบียร์ขั้นต่ำที่ 60,000 ลิตรต่อปี ซึ่งการผ่อนปรนกฎหมายของภาครัฐทำให้คราฟต์เบียร์ได้รับความนิยมมากขึ้น และยังทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลเมื่อปลายปี 2022 เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมีผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ขนาดเล็กมากถึง 677 รายทั่วประเทศ

มากไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบการส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนมีการผลิตสุราพื้นบ้านขายควบคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตแบบอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ขายสุราท้องถิ่นและผู้ผลิตรายใหญ่สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีภายใต้กติกาเดียวกัน ขณะเดียวกัน แต่ละพื้นที่ก็มีสุราและคราฟต์เบียร์ชุมชนเป็นของตัวเอง กลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายและ Soft Power ที่น่าสนใจของประเทศนี้

การกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ที่เล่ามา ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตลาดสุราใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีประมาณ 3.5 ล้านล้านเยน มากไปกว่านั้น ในปี 2019 แดนปลาดิบยังผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 4.59 ล้านเมตริกตัน ทำให้ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตน้ำเมาได้มากที่สุดในโลกเช่นกัน

มีการศึกษาพบว่า คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยข้อมูลในปี 2020 ระบุว่า ร้อยละ 73 ของผู้ชายอายุ 15 – 39 ปีในญี่ปุ่นดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่อันตราย ขณะที่ผู้ชายในวัยเดียวกันทั่วโลกมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 39

สำหรับผู้หญิง ความแตกต่างยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะผู้หญิงญี่ปุ่นอายุ 15 – 39 ปีดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่อันตรายมากถึงร้อยละ 62 เทียบกับปริมาณการดื่มของหญิงสาวทั่วโลกที่มีอยู่เพียงร้อยละ 13 เท่านั้น

ทั้งนี้ วงการสุราของญี่ปุ่นได้เผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศหดตัวลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากร เช่น อัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปในช่วงที่เกิดโรคระบาด เท่านั้นยังไม่พอ มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดยังทำให้บาร์ ร้านอาหาร และร้านค้าต้องปิดชั่วคราว ทั้งหมดส่งผลให้ประเทศมีรายได้จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และภาษีสุราลดลงตามไปด้วย

เพราะเหตุนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงผุดแคมเปญ ‘Sake Viva!’ ที่ขอให้ผู้อายุ 20 – 39 ปีช่วยเสนอไอเดียฟื้นฟูความนิยมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น โดยอาจเป็นไอเดียอย่างบริการใหม่ๆ วิธีประชาสัมพันธ์ วิธีขาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือจะใช้ AI และ Metaverse ก็ไม่ผิดกติกา ซึ่งจุดประสงค์สำคัญของแคมเปญนี้คือ ส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวหันกลับมาดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น รวมถึงเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 และช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นด้วย

สำนักงานภาษีแห่งชาติของญี่ปุ่น (National Tax Agency) เปิดเผยว่า ในปี 1995 ชาวญี่ปุ่นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยอยู่ที่ 100 ลิตรต่อคนต่อปี แต่ในปี 2020 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวลดลงเหลือ 75 ลิตรต่อคนต่อปี ทำให้ความสามารถในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลไปแล้วกว่า 48 ล้านล้านเยน

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตัวแคมเปญ Sake Viva! ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แตกออกเป็นสองฝั่ง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่มองว่าคนญี่ปุ่นบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินควรอยู่แล้ว ซึ่งแคมเปญนี้อาจทำให้วัฒนธรรมการดื่มกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในประเทศ และส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเมาหัวราน้ำ

แม้ว่าการกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นประเด็นถกเถียงในประเทศญี่ปุ่น แต่ความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำเมาเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นไม่น้อยไปกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ เลย

Sources :
BBC | bit.ly/43wbOPc
CNN | bit.ly/43vTAxe
EU-Japan | bit.ly/3Nk8AbH
Global Drinks Intel | bit.ly/3PbS7aO
GoWithGuide | bit.ly/3J49RBa
Guidable | bit.ly/3J4ws0E
Japan Dev | bit.ly/3J6hZB8
Japan Experience | bit.ly/3qv9TM1
Japan Guide | bit.ly/3N1LEwH
Just Japan Stuff | bit.ly/3N25Oq6
MThai | bit.ly/43SpxiP
Nikkei Asia | bit.ly/3P3HxCY
Nomunication | bit.ly/43P6W7p
Piece of Japan | bit.ly/3N1LTI7
Post Today | bit.ly/3WUujKF
ReportLinker | bit.ly/3WZqzHN
SME Japan | bit.ly/3NlLZf5
Statista | bit.ly/3P5PKqk
The Guardian | bit.ly/42uNGen
The Verge | bit.ly/3J49TJx
Tippsy | bit.ly/43yW1PI
กรุงเทพธุรกิจ | bit.ly/3NlNBFw

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.