เสรีภาพสื่อในกราฟิกโนเวล ‘2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’ - Urban Creature

‘เมื่อตัดไปหนึ่งหัวกลับงอกเพิ่มขึ้นมาอีกสองหัว’ มังกรไฮดรา สัตว์ร้ายในตำนานที่ยิ่งพยายามฆ่ามันเท่าไหร่ มันกลับยิ่งแตกตัวและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์บ้านเมืองของ ‘สยาม’ ในอดีตก็เช่นกัน ยิ่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้อำนาจกำจัดผู้กระด้างกระเดื่องมากเท่าไหร่ จำนวนผู้ต่อต้านก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น จนนำไปสู่การยึดอำนาจ

ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 เกิดการ ‘อภิวัฒน์สยาม’ เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สู่ ‘ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ’ มอบอำนาจสูงสุดกลับคืนสู่ราษฎร แต่ผ่านไปเพียงแค่ชั่วอึดใจ ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่ก็เข้ามารับไม้ต่อเป็นเผด็จการเสียเอง เสมือนเปลี่ยนเพียงหัวโขนจากกษัตริย์เป็นทหาร

ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในสยามช่วงเวลาก่อนปี 2475 ที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและวิธีการของรัฐที่ใช้อำนาจปิดปากประชาชน แล้วทำไมจาก ‘สยาม’ มาจนถึง ‘ไทย’ ในปัจจุบัน สังคมการเมืองบ้านเรายังคงวนลูปแห่งอำนาจและการต่อสู้อย่างไม่เคยสิ้นสุด

กราฟิกโนเวล 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม สะอาด การ์ตูน การเมือง สื่อมวลชน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้อ่านหนังสือ ‘2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’ กราฟิกโนเวลดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลและเหตุการณ์จริง ภาพลายเส้นโดย สะอาด (ภูมิ-ธนิสร์ วีระ) ผู้สร้างสรรค์ครอบครัวเจ๊งเป้ง, ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต ฯลฯ และเนื้อเรื่องโดย พชรกฤษณ์ โตอิ้ม และ สะอาด

เรื่องราวภายในเล่มกล่าวถึงสยามประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคสมัยที่พระนครเต็มไปด้วยอาชญากรรมและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ‘นิภา’ นักพิสูจน์อักษรหญิงจากบางกอกนิวส์ ที่เบื้องหลังของเธอคือนักเขียนผีผู้แอบเขียนวิจารณ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ด้วยเหตุการณ์บางอย่างทำให้เธอได้เข้าไปพัวพันกับกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ ที่กำลังวางแผนยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง นำโดยสองตัวละครหลักในประวัติศาสตร์อย่าง ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ (ปรีดี พนมยงค์) และ ‘แปลก ขีตตะสังคะ’ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

ในยามที่ต้องสืบข่าวให้คณะราษฎร เธอจำเป็นต้องแฝงตัวทำงานให้กับชนชั้นนำคือ ‘วังแสงอักษร’ เธอจำใจต้องเขียนเยินยอราชวงศ์ และสุดท้ายก็นำมาสู่ห้วงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ หรือยอมถูกกลืนเพื่อชีวิตใหม่ในฐานะชนชั้นนำ 

เรื่องราวของหลากหลายตัวละครอัดแน่นไปด้วยความหวาดกลัว ความรัก ความตาย การทรยศ และคุณค่าความเป็นมนุษย์ผ่านการต่อสู้ในนามของ ‘นักหนังสือพิมพ์’

กราฟิกโนเวล 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม สะอาด การ์ตูน การเมือง สื่อมวลชน

นักหนังสือพิมพ์ผู้ลื่นไหลและแข็งกร้าวในสยาม

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 7 หนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนสยามอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระบวนการตื่นตัวทางการเมือง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจ และการตื่นตัวทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งการกำเนิดสิ่งพิมพ์ลักษณะนี้ ทำให้เกิดพื้นที่ของการเสนอความเห็นมากขึ้น อีกทั้งยังทำลายอำนาจผูกขาดความรู้ของชนชั้นนำ พร้อมๆ กับสร้างอำนาจในการวิพากษ์วิจารณ์ให้แก่บุคคลทั่วไปที่เข้าถึงสิ่งพิมพ์เหล่านั้นอีกด้วย

“หน้าที่ของฉันคือตรวจสอบผู้มีอำนาจไม่ว่ามันจะเป็นใครก็ตาม” คำพูดของนิภาที่แสดงจุดยืนต่องานนักหนังสือพิมพ์ของเธอ เพราะต่อให้เป็นคณะราษฎรหรือราชวงศ์ หน้าที่ของเธอคือการตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจอย่างไม่มีข้อยกเว้น

แต่เมื่อพลังของหนังสือพิมพ์สามารถสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและองค์กษัตริย์ รัฐบาลจึงพยายามตอบโต้ท่าทีดังกล่าวผ่านการออกมาตรการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ภายในหนังสือเล่มนี้เราจะเห็นถึงความพยายามในการกำจัด ‘เรื่องที่รัฐไม่อยากให้คุณรู้’ ทั้งจดหมายข่มขู่ นำโซ่มาล่ามแท่นพิมพ์ และการดักทำร้ายที่เกิดขึ้นทั่วพระนคร สำหรับผู้ที่พยายามนำเสนอ ‘เรื่องชั่วร้าย’ ในสายตารัฐบาลสยาม

ในตอนหนึ่งของเรื่องมีการกล่าวถึงเหตุผลที่สยามอ้างว่ายังไม่พร้อมสำหรับ ‘ประชาธิปไตย’ เพราะประชาชนยังไม่รู้จักและขาดความเข้าใจในสิ่งนี้ดี หรือเหตุผลจริงๆ คือตัวรัฐบาลสยามเองต่างหากที่ห้ามประชาชนไม่ให้รู้จักกับประชาธิปไตย ซึ่งหากมองย้อนกลับมาในปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็ยังมีเรื่องบางเรื่องที่ ‘สื่อ’ ไม่สามารถนำเสนออย่างตรงไปตรงมาได้เช่นกัน

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่การจำกัดและกำจัดสื่อ แต่รัฐบาลสยามยังสร้างสื่อชวนเชื่อ ข่าวประโลมโลก เพื่อสรรเสริญตนเองและโจมตีผู้กระด้างกระเดื่องหรือลบล้างความผิดของตนเองอย่างสำนักพิมพ์ของวังแสงอักษรที่ปรากฏในเรื่อง

กราฟิกโนเวล 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม สะอาด การ์ตูน การเมือง สื่อมวลชน

ปากกาในมือผู้มีอำนาจสามารถเขียนถูกให้กลายเป็นผิด

วิธีป้องกันนักโทษแหกคุก คือการทำให้พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังอยู่ในคุก หนึ่งในวิธีการของรัฐบาลสยามที่พยายามสร้างความชอบธรรมในการปกครอง และสร้างโฆษณาชวนเชื่อมอมเมาประชาชน โดยนิภาในเวลานั้นได้เข้าทำงานให้กับวังแสงอักษร ที่ภายนอกคือสำนักพิมพ์ใหญ่ผู้อุปถัมภ์นักเขียนรุ่นใหม่ฝีมือดี และมีความเป็นหัวก้าวหน้าสมัยใหม่ ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ สิทธิสตรี การศึกษา และการบันเทิง

แต่ไส้ในแท้จริงที่เธอเห็นคือสวนสัตว์ที่ฝึกนักเขียนรุ่นใหม่ให้ ‘เชื่อง’ ตามคำสั่งด้วยเงินทองและอำนาจ ด้วยเหตุนี้ วังแสงอักษรจึงสามารถดึงดูดนักเขียนรุ่นใหม่ให้แปรเปลี่ยนกลายเป็นเครื่องมือเยินยอราชวงศ์ได้อย่างง่ายดาย เพราะสุดท้ายปากกาก็อยู่ในมือผู้มีอำนาจ สามารถเขียนถูกให้กลายเป็นผิดได้ หรือเขียนงานอุปโลกน์สยามว่าที่นี่คือป่าแสนสุขที่มีเสรีภาพ ซึ่งความจริงอาจตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

กราฟิกโนเวล 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม สะอาด การ์ตูน การเมือง สื่อมวลชน

จาก ‘สยาม’ มาเป็น ‘ไทย’ เราเปลี่ยนไปรึยัง

จากฝีปากกาลายเส้นของสะอาดที่สื่ออารมณ์ทั้งความหดหู่สิ้นหวัง เกรี้ยวกราด และความกลัวได้อย่างถึงอารมณ์ ผนวกกับเนื้อเรื่องของพชรกฤษณ์ร่วมกับสะอาดที่ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้น ฉับไว และไม่น่าเบื่อ สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความจริง’ ที่น่าเศร้าภายใต้ความโหดร้ายและความกลัว และสุดท้ายก็จุดประกายให้ผู้อ่านอีกครั้งด้วยความหวัง

หนังสือเล่มนี้ชี้ชวนให้ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ต่างๆ และสภาพสังคมในปัจจุบัน ผ่านการเปรียบเทียบกับสังคมของสยามภายในเรื่องว่า ‘เราเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง’ เพราะแม้เวลาจะผ่านไปเกือบร้อยปี แต่ปัจจุบันเรายังมีการพูดถึงเหตุการณ์ ‘อภิวัฒน์สยาม’ อยู่เรื่อยๆ ในทุกวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี และมักเห็นกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอๆ โดยพูดถึงการเรียกร้องในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกันที่พยายามลบทำลายมรดกของคณะราษฎร ราวกับพยายามทำให้ถูกลืมไปจากสังคม

กราฟิกโนเวล 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม สะอาด การ์ตูน การเมือง สื่อมวลชน

“ผ่านไปหลายสิบปีประเทศบ้านี่ยังไม่มีเสรีภาพเลย” นิภากล่าว

เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศของเราเป็นประชาธิปไตยขนาดไหนหลังจากอภิวัฒน์สยามในปี 2475 เพราะบ้านเมืองผ่านการล้มลุกคลุกคลานมามากมาย และอย่างน้อยหลายคนคงเข้าใจกับคำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ มากกว่า ที่การแสดงความเห็นในบางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้าม การเปลี่ยนแปลงบางข้อกฎหมายคือการล้มล้าง การพยายามปิดปากของสื่อ การสร้างโฆษณาชวนเชื่อให้บูชาบุคคล และอีกหลายอย่างที่ช่างคลับคล้ายกับสภาพสังคมเมื่อเกือบร้อยปีก่อนเสียเหลือเกิน

แม้ความจริงในตอนนี้อาจดูสิ้นหวัง แต่หากมองภาพสะท้อนจากหนังสือ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม กลับมีหนึ่งประกายที่รัฐไม่เคยสามารถพรากไปจากประชาชนได้

มันคือ ‘ความหวัง’ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น เพราะประเทศนี้เป็นของประชาชนและการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

‘ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร’

กราฟิกโนเวล 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม สะอาด การ์ตูน การเมือง สื่อมวลชน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.