โมเดลเมือง Zero Waste ฉบับ Akira Sakano - Urban Creature

ปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกแก้ไม่ตกคือ ‘ขยะ’ ที่พอกพูนจนกลายเป็นภูเขากองโต ปีที่แล้วประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 1.64% โดยถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ 34% กำจัดอย่างถูกต้อง 39% และกำจัดไม่ถูกต้อง 27% นอกจากตัวเลขที่เราเห็น ยังมีขยะตกค้างสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน 

| ‘Kamikatsu’ ต้นแบบเมือง Zero Waste

แต่ในจังหวัด Tokushima ประเทศญี่ปุ่น ยังมีเมืองเล็กๆ อย่าง ‘Kamikatsu’ ที่มีประชากรเพียง 1,700 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเคยเผชิญปัญหาด้านการจัดการขยะไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ทั่วโลก จนกระทั่งปี 2003 พวกเขาเริ่มปฏิบัติการแยกขยะ เพื่อเป้าหมายในการเป็นเมืองปลอดขยะภายในปี 2020 

ปัจจุบัน คามิคัทซึสามารถจัดการขยะได้ถึง 80 % ส่วนขยะที่เหลือ 20 % จัดการด้วยวิธีฝังกลบ โดยมีจุดเริ่มต้นจาก ‘Akira Sakano’ หญิงสาวที่เปลี่ยนความคิดคนในชุมชนให้หันมาแยกขยะถึง 45 ประเภท และก่อตั้ง ‘Zero Waste Academy’ องค์กรที่ให้ความรู้เรื่องขยะ และบริหารจัดการขยะร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จนคามิคัทซึกลายเป็นต้นแบบเมืองปลอดขยะที่หลายประเทศทั่วโลกต้องบินมาดูงาน

ฮีโร่สาว Akira Sakano เดินทางมาไทยเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในงาน ‘Set Zero’ เวิร์กช็อปที่จัดโดยเครือข่าย ‘Big Trees’ ครีเอทีฟเอเจนซี ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ และ ‘Japan Foundation’ ที่จะชวนทุกคนมา Set Zero Waste เพื่อให้ waste เหลือ 0 เราจึงสรุปแนวคิดเจ๋งๆ จาก Akira Sakano ที่ผลักดันเมืองเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองปลอดขยะ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน !

01 
ตั้งเป้าหมาย ‘ขยะเหลือศูนย์’

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวเมืองคามิคัทซึกำจัดขยะทุกอย่างด้วยวิธีการเผา แต่รัฐบาลท้องถิ่นเห็นว่า การตั้งโรงงานเผาขยะในชุมชน หรือการจ้างที่อื่นเผานั้นใช้งบประมาณมาก อีกทั้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวเมือง จึงมองหาวิธีจัดการขยะที่ถูกลงและเป็นมิตรกับทุกคนมากกว่า นั่นคือการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล นอกจากสุขภาพชาวเมืองที่ดีขึ้น เงินภาษีของประชาชนที่แต่เดิมถูกนำไปใช้จัดการขยะ รวมถึงรายได้จากการรีไซเคิล ก็นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

| ขยะ ‘แยก’ แล้วไปไหน ?

สิ่งแรกที่ต้องคิดในการแยกขยะคือปลายทาง ที่คามิคัทซึรัฐบาลท้องถิ่นจะติดต่อโรงงานรีไซเคิลให้เป็นพาร์ทเนอร์มารับขยะที่ชุมชนแยกไว้ โดยชุมชนจะแยกประเภทตามที่จะมีโรงงานมารับซื้อ เริ่มแรกอาจมีแค่ไม่กี่ประเภท แต่พอมีพาร์ทเนอร์ในการรีไซเคิลมากขึ้น ค่อยเพิ่มประเภทขยะตามความเหมาะสม

|  ‘เศษอาหาร’ ตัวการขยะเน่าเหม็น

ขยะในบ้านส่วนใหญ่เป็น ‘ขยะออร์แกนิก’ หรือเศษอาหาร ซึ่งต้องจัดการไม่ให้ปะปนกับขยะอื่น เพราะเศษอาหารทำให้ขยะไม่สามารถรีไซเคิลได้ และส่งกลิ่นเหม็นทำให้ขยะกลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ศูนย์คัดแยกขยะของคามิคัทซึจึงไม่ให้ทิ้งขยะออร์แกนิก ทุกคนต้องจัดการแยกเศษอาหารมาจากที่บ้านโดยนำไปหมักทำปุ๋ย

02 
ไอเดีย ‘สร้างนิสัยแยกขยะ’

วิธีที่จะช่วยให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ต้องสร้างทางเลือกให้คนในชุมชน มีระบบการจัดการที่ชัดเจน มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้ความรู้กับคนในชุมชน โดยอาจเริ่มต้นจากวิธีการง่ายๆ

| เปลี่ยนจากสิ่งที่ ‘คุ้นเคย’

ปกติแล้วคนญี่ปุ่นต้องเอาขยะไปทิ้งนอกบ้าน เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดและไม่มีรถขยะมาเก็บที่บ้าน เพราะฉะนั้นคามิคัทซึจึงเลือกวิธีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ค่อยๆ ปรับจากวิถีชีวิตเดิมของชุมชน จากเดิมที่คนต้องขนขยะไปที่จุดทิ้งเป็นประจำ ก็นำไปทิ้งที่ศูนย์คัดแยกขยะแทน

| เมื่อการแยกขยะ เป็นเรื่อง ‘ง่าย’

สมัยก่อนชาวเมืองคามิคัทซึเคยแยกแค่ขยะที่เผาได้และเผาไม่ได้ ซึ่งขยะพลาสติกก็เผาไหม้ได้แต่เป็นวิธีจัดการที่ไม่เหมาะสม แต่ชาวเมืองบางคนอาจไม่เข้าใจ ดังนั้นการแยกขยะโดยระบุประเภทที่เฉพาะเจาะจง เช่น ขวดพลาสติก หรือซองพลาสติกกันกระแทก ก็จะง่ายสำหรับคนในชุมชนในการแยกขยะให้ถูกต้อง

การแยกขยะ 45 ประเภทอาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้ว ชาวคามิคัทซึต้องแยกขยะที่บ้านแค่ 5-10 ประเภท แล้วขนทุกอย่างไปที่ศูนย์คัดแยกขยะอีกที ที่ศูนย์จะมีป้ายบอกประเภทขยะชัดเจน และบอกว่าขยะแต่ละประเภทจะเดินทางไปไหน มีมูลค่าเท่าไหร่ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คอยแนะนำ แถมเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครทำผิดหรือแอบเอาขยะมาทิ้งโดยไม่แยก

| ‘เกมการ์ด’ สอนเด็กเข้าใจเรื่องขยะ

การสร้างนิสัยแยกขยะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก โรงเรียนประถมในคามิคัทซึก็ให้ความรู้กับนักเรียนด้วยไอเดียที่สนุกเข้าใจง่าย อย่าง ‘เกมของเสียเหลือ 0’ เกมการ์ดสีสดใสที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้การแยกขยะ รวมถึงวิธีลดขยะในชีวิตประจำวัน

กติกาคือ ผู้เล่นจะต้องสุ่มหยิบการ์ดผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เช่น กระป๋อง ขวดน้ำ ถุงขนม เศษอาหาร แล้วคิดว่าจะใช้การ์ด R อันไหนในการจัดการขยะ ซึ่งการ์ดแต่ละใบจะมีคะแนนต่างกัน เช่น Reuse 4 คะแนน, Repair 3 คะแนน, Recycle 1 คะแนน แต่ถ้านำไปกำจัดโดยวิธีเผาก็จะติดลบทันที 5 คะแนน ถ้าผู้เล่นไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างเกิดประโยชน์ สามารถเลือกตอบคำถามเกี่ยวกับวิธีกำจัดหรือลดขยะ เช่น ปฏิเสธการ์ดหลอดพลาสติก และเลือกที่จะดื่มน้ำจากขวดโดยไม่ใช้หลอด

| ร้านค้า ‘ปลอดพลาสติก’ ลดขยะในชุมชน

อุปสรรคของเมืองคามิคัทซึในการลดขยะคือ มีตัวเลือกในการซื้อของน้อย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่มาในบรรจุภัณฑ์พลาสติก จึงเป็นที่มาของ ‘ร้านแพ็กเกจฟรี’ ที่ร่วมมือกับร้านอาหาร และคาเฟ่ในชุมชน ที่ต้องซื้อวัตถุดิบปริมาณมากในแต่ละวัน โดยคนในชุมชนสามารถซื้อวัตถุดิบที่ต้องการได้จากร้านเหล่านี้ ร้านจึงไม่มีของเหลือให้กลายเป็นขยะ แถมยังช่วยลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อีกด้วย

นอกจากนี้ ในชุมชนยังมี ‘ร้านค้ารีฟีลสเตชั่น’ ที่สามารถนำบรรจุภัณฑ์ของตัวเองมาเติมได้ที่ร้าน ‘ร้านของใช้มือสอง’ ที่สามารถนำของไม่ใช้แล้วไปแลกกับอะไรก็ได้ และ ‘ร้าน Kuru-Kuru Upcycling Craft Center’ ที่จะนำของเหลือใช้ต่างๆ มาทำงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย หรือซ่อมแซมเป็นสินค้าชิ้นใหม่

03
โน้มน้าวคน ‘ช่วยกันคนละมือ’

เมืองปลอดขยะจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนช่วยกัน สิ่งที่ยากที่สุดคือทำอย่างไรให้คนในชุมชนอยากมีส่วนร่วม เดิมทีรัฐบาลท้องถิ่นมีนโยบายแยกขยะอยู่แล้ว 19 ประเภท คนในชุมชนจึงคุ้นเคยกับการแยกขยะอยู่แล้ว โดยเริ่มต้นจากการชวนคน ลุง ป้า น้า อา มาเป็นแกนนำในการแยกขยะ

| ยิ่งต่อต้าน ยิ่ง ‘ผลักดัน’

คนในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่า ทำไมต้องแยกขยะถึง 45 ประเภท ซึ่งการที่มีคนต่อต้านจะช่วยจุดประเด็นให้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง กลายเป็นข้อถกเถียงว่าการแยกขยะดีอย่างไร และหากไม่แยกจะเกิดผลเสียอะไรบ้าง ทำให้คนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่สิ่งที่ท้าทายคือต้องหาแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำอย่างต่อเนื่อง

| เริ่มจาก ‘คนหมู่น้อย ไปคนหมู่มาก’

แม้จะเป็นเรื่องยากในตอนแรก แต่เมื่อระบบเกิดขึ้นแล้วคนส่วนใหญ่ก็จะทำตาม กลุ่มคนที่กระตือรือร้นที่จะเป็นผู้นำมีประมาณ 10-20 % ถัดมาคือกลุ่มคนที่จะทำตามประมาณ 60 % และกลุ่มคนอีก 10-20 % ที่ไม่ให้ความร่วมมือ สรุปได้ว่าหากจะทำอะไรให้สำเร็จ แม้จะมีคนส่วนน้อยที่สนใจก็อย่าเพิ่งไปคิดเปลี่ยนคนส่วนใหญ่ในคราวเดียว เราสามารถเริ่มจากกลุ่มๆ ให้เกิดรูปธรรมเพื่อนำร่อง

04 
‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ เปลี่ยนโลก

หนทางสู่เป้าหมาย Zero Waste มีหลากหลายวิธี คามิคัทซึเริ่มต้นจากการต้องจัดการขยะในชุมชน จึงให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลเป็นลำดับแรก และการลดขยะรองลงมา แต่เราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการรีไซเคิลก็ได้ โดยคอนเซปต์ที่ใช้กันทั่วไปคือ Reduce, Reuse และ Recycle หากเราลดขยะที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ต่อไปก็จะง่ายกับการจัดการขยะ

แม้ว่าคามิคัทซึจะสามารถรีไซเคิลได้ถึง 80 % แต่ปริมาณขยะกลับลดลงไม่มากนัก เพราะทางเลือกในการซื้อสิ่งของที่จำเป็นค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะขยะอีก 20 % ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และต้องกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ เนื่องจากวัสดุที่ผลิตไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิล ดังนั้นคามิคัทซึจึงต้องใช้วิธีอื่นๆ อย่าง ลดการเกิดขยะ และนำกลับมาใช้ซ้ำควบคู่กันไป

เป้าหมายต่อไปของคามิคัทซึ คือการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งสังคม ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ผู้ผลิตต้องคิดมาตั้งแต่ต้นทางแล้วว่า ในทุกกระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภคจะไม่สร้างขยะให้โลก และผลิตภัณฑ์นั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

Photo Credit : www.nippon.com, www.makery.info

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.