You Me We Us นิทรรศการ ชาติพันธุ์ไหนคุณก็คือคน - Urban Creature

‘จะดีแค่ไหน ถ้าอยู่ที่ไหนคุณก็ยังเป็นคน’ 

อาจฟังดูแปลก แต่ความเป็นจริง โลกนี้ยังเต็มไปด้วยคนที่ถูกคนด้วยกันกดขี่ และถูกบังคับให้ไม่เป็นคน เพียงเพราะต่างเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา รสนิยม และอุดมการณ์ทางการเมือง แม้ร่างกายมีเลือดเนื้อเหมือนกัน แต่กลับถูกคนด้วยกันตีคุณค่าต่างจนไม่เท่าเทียม และอาจนำไปสู่การทำร้ายและเข่นฆ่า

ประเด็นขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ในสังคมไทยก็เกิดจากสาเหตุคล้ายกัน นั่นอาจเพราะความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมไม่เคยถูกคลี่คลายทำความเข้าใจถ่องแท้ ราวกับว่าการผลักให้คนที่แตกต่างกลายเป็นอื่นจะง่ายกว่าการใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกัน

เรากำลังพูดถึง You Me We Us นิทรรศการออนไลน์โดย UNDP ประเทศไทย ซึ่งร่วมมือกับเยาวชนกว่า 10 ชาติพันธุ์ และกลุ่มเยาวชนไร้สัญชาติที่มองเห็นช่องโหว่ด้านการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชนต่างๆ นิทรรศการนี้จึงหยิบความหลากหลายทางเชื้อชาติในสังคมไทยมาบอกเล่าว่าภายใต้ความต่าง เรามีความเหมือน เพียงแค่ระยะห่างทางสังคมอาจทำให้คนเข้าใจกันน้อยเกินไป You Me We Us จึงเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะนำพาไปสู่การมองเห็นกันมากขึ้น 

บนหน้าเว็บไซต์ของนิทรรศการจะชวนทุกคนไปสำรวจเชื้อชาติของตัวเองและคนรอบข้าง ทดสอบความเข้าใจว่ารู้จักเผ่าพันธุ์ไหนบ้าง เพราะไทยไม่ได้มีแค่ไทย แต่มีคนกว่า 60 ชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ลาวอีสาน กะเหรี่ยง ขมุ ม้ง อาข่า ล้านนา ละว้า มอญ หรือไทใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจของตัวเอง

Name

01 มีเดียฝีมือกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์

Youth

“โปรเจกต์นี้ทำมานานตั้งแต่ธันวาคมปี 2563 ซึ่งไอเดียเกิดจากการที่เราสนับสนุนกลุ่มเยาวชนให้มีทักษะการสื่อสาร ผ่านเวิร์กช็อปต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมอายุน้อยสุดคือสิบหกปี แต่รวมๆ อายุเฉลี่ยที่ยี่สิบถึงสามสิบปี พอจัดกิจกรรม ก็เห็นโอกาสว่าเมื่อฝึกฝนให้เขามีทักษะสื่อแล้ว ควรมีช่องทางให้ผู้ร่วมได้นำสื่อที่ผลิตมาสื่อสารกับสังคม จึงเกิดโปรเจกต์นี้ขึ้น” 

เบสต์-อรชพร นิมิตกุลพร ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความร่วมมือและเคารพความแตกต่างในสังคม UNDP ประจำประเทศไทย ผู้รับหน้าที่อำนวยการผลิตสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของ You Me We Us

“เดิมทีเยาวชนกลุ่มแรกที่ได้รู้จักคือกลุ่มตี่ต่าง หรือสื่อเพื่อการขอสัญชาติ เขามีความตั้งใจจะสานต่อความฝันด้านสื่อ เราเลยเติมเต็มให้เขาทำงานได้แบบมีเครื่องมือครบ สิ่งที่เราถ่ายทอดให้เขามีตั้งแต่การทำบทความ การทำอินโฟกราฟิก การถ่ายภาพ และการทำวิดีโอ”

Workshop

การเวิร์กช็อปที่เบสต์เล่าเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับเยาวชนบางคนที่ไม่มีบัตรประชาชนซึ่งเดินทางออกไปนอกพื้นที่ไม่ได้ มีตั้งแต่กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีเพียงบางส่วนที่ได้รับสัญชาติไทยมาแล้ว รวมถึงกลุ่มคนไทยที่อยู่ในท้องที่มาเข้าร่วม การฝึกฝนมีเดียที่ยูเอ็นดีพีทำ ดำเนินการต่อเนื่องเป็นซีรีส์เพื่อให้เกิดสกิลการทำงานสื่อสารที่ลึกซึ้ง 

นอกจากทำงานได้คล่องแคล่วขึ้น ผลงานของเด็กๆ ยังเต็มไปด้วยสายตาที่ตื่นเต้น มีมิติของเรื่องราว และให้ความรู้สึกสดใหม่แก่ผู้ชม โดย You Me We Us จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก

02 เล่าเรื่องชาติพันธุ์ด้วยมุมมองคนใน

Wood

“ชื่อของนิทรรศการ เริ่มจากแนวคิดหลักที่เราไม่ได้แบ่งแยกว่าเขาเป็นคนด้อยโอกาส แต่อยากให้เป็นมนุษย์เท่ากัน ชื่อที่นำเสนอก็ต้องเท่าเทียมด้วย ให้รู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่ได้กำลังจะไปมองความแตกต่างนะ แต่กำลังสะท้อนเรื่องราวจากมุมมองคนในให้คนนอกเข้าใจด้วย ดังนั้น You Me We Us จึงหมายความว่าเราคือเรา ทุกคนคือคนเหมือนกัน

“ถ้าคนทำเป็นชาติพันธุ์ไหน เขาก็อยากเล่าเรื่องราวของตัวเอง แต่เราไม่ได้กำหนดเพราะเขาจะสื่อสารอะไรก็ได้ ซึ่งเด็กๆ ก็สนใจประเด็นปัญหาทางเชื้อชาติและสัญชาติอยู่แล้ว บางชิ้นงานอาจมีคนที่ไม่ได้เป็นชาติพันธุ์นั้น แต่สนใจชาติพันธุ์อื่น เขาก็จะไปทำ แล้วนำมาสู่การค้นพบข้อมูลของเพื่อนๆ กลุ่มอื่น

“หลักๆ อยากให้เข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นใคร ในแง่การพัฒนาสังคม เขากำลังเจอกับปัญหาที่เราอาจนึกไม่ถึง ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มักถูกนำเสนอว่ามีวัฒนธรรมที่สวยงาม และอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่นิทรรศการอยากให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติ คุณรู้ไหมว่าคนเหล่านี้เดินทางออกจากจังหวัดตัวเองไม่ได้ ไม่ได้รับสิทธิ์เท่าคนอื่นเพราะไม่มีบัตรประชาชน คุณอาจไม่เคยได้ตระหนัก ดังนั้นเป้าหมายหลักคือการสร้างความเข้าใจให้คนมากขึ้นเรื่อยๆ

“ตอนนี้คนไทยหลายคนอาจสนใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียน มีงานชิ้นหนึ่งของน้องปกาเกอะญออธิบายเรื่องไร่หมุนเวียน เล่าชีวิตของปกาเกอะญอที่มีวัฒนธรรมอาศัยอยู่กับป่า ซึ่งน่าสนใจมากเพราะไม่ค่อยมีคนในพื้นที่ได้เล่าเรื่องจากมุมคนใน มันช่วยตอบคำถามสังคมหลายเรื่องว่าทำไมต้องมีวิถีชีวิตแบบนั้น เขาตั้งต้นเล่าจากความภูมิใจว่านี่คือวิถีดั้งเดิมที่สืบต่อในชุมชนมายาวนาน

“เราเห็นช่องว่างว่าคนมองไม่เห็นความหลากหลายของชีวิต ที่ผ่านมาเราอาจรู้ผิวเผิน อาจมีคนพยายามสื่อสาร แต่ก็เป็นมุมคนนอก มันไม่ได้ผิด เพียงแต่อาจดีกว่าถ้าให้คนที่เจอปัญหาได้พูดเอง กลายเป็นวัตถุประสงค์สองข้อ ข้อแรกอยากให้คนเข้าใจกัน ข้อสองอยากเอ็มพาวเวอร์กลุ่มเด็กๆ ด้วยว่าเขามีพื้นที่ และมีความสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ไม่ต่างจากใคร”

03 นำเสนอ Exhibition เว็บไซต์หลากสีสัน

mountain

จากความตั้งใจแรกที่นิทรรศการ You Me We Us ต้องการจะสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ บนพื้นที่จริง แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลงานทั้งหมดถูกนำมาจัดแสดงผ่าน www.you-me-we-us.com พื้นที่จัดแสดงออนไลน์ที่รวมเอาจิตวิญญาณของศิลปินและเผ่าพันธุ์เอาไว้ 

“นิทรรศการนี้ เราเอาทุกอย่างจากเยาวชนทุกคนในโครงการมารวมกัน จากที่เราได้คลุกคลี และสัมผัสกับทุกคนที่ทำชิ้นงาน เราเห็นความตั้งใจของน้องๆ เรื่องราวแต่ละชิ้นงานมีหลายแง่มุม และมีคุณค่าคนละแบบ เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เห็นทุกมิติของชีวิตมนุษย์ 

“มีตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงสิทธิ์ของคน ความท้าทายด้านการใช้ชีวิตของเขา หรือเรื่องเชิงบวกที่เขาเห็นในชีวิต และความภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเอง พอเราได้เห็นก็จะรู้ว่าความจริงเขาไม่ได้ต่างจากเราเลย” 

Community

นอกจากการทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชน ยูเอ็นดีพี ประเทศไทยยังจับมือทำงานด้านข้อมูลเชิงวัฒนธรรมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมงานกับภาคประชาสังคมอย่างสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อขยายมุมมองด้านกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่วไทยให้พรมแดนกว้างขวางมากขึ้น 

ยิ่งไปกว่านั้น You Me We Us ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมเป็น Contributor บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อชาติของตัวเองลงบนเว็บไซต์นี้ได้อีกด้วย

“การที่สังคมเรามีความขัดแย้ง เป็นเพราะเราไม่เห็นคนอื่นเท่ากันหรือเปล่า ในมุมมองของคนที่ทำงานอยู่กับผู้คนที่มีความหลากหลาย เราเห็นว่ามันเกิดจากการที่คนเอาไม้บรรทัดของตัวเองไปวัดคนอื่น ทำให้คนแต่ละกลุ่มเกิดความขัดแย้ง เราอยากให้นิทรรศการนี้ดึงทุกคนกลับมาตั้งต้นว่าจริงๆ รากปัญหาเกิดจากสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า

Girl

“ประเด็นชาติพันธุ์อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่คนไม่เข้าใจ ทำให้เราไม่ยอมรับประชากรทั้งหมดในสังคมอย่างจริงใจ เลยอยากเชื้อเชิญให้คนวางตัวเท่ากัน เคารพกันในฐานะมนุษย์ 

“สรุปคือประเด็นชาติพันธุ์อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ซึ่งสำหรับคนที่สนใจประเด็นร้อนแรงในสังคมตอนนี้ อาจลองหันมามองดูได้ เพราะถ้าเราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดใจกันจริงๆ มันอาจช่วยลดอุณหภูมิสถานการณ์ทุกวันนี้ ถ้ามองปัญหาความขัดแย้งจากมุมนี้ ทุกคนอาจจะได้เปิดโลกทัศน์จนเข้าใจปัญหาใหญ่ระดับประเทศได้มากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย” เบสต์สำทับ

Kid

นิทรรศการ You Me We Us จะจัดถึงสิ้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย และเปิดให้คนส่งผลงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในอนาคตอันใกล้ ยูเอ็นดีพีหวังว่าตัวนิทรรศการจะถูกนำไปเก็บไว้ที่คลังข้อมูลเชิงวัฒนธรรมของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลของชาติพันธุ์ต่างๆ ในสังคมไทย และจะใช้เป็นแหล่งค้นคว้าเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจศึกษาทั่วไปได้อีกด้วย 

Source : you-me-we-us.com

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.