ในแวดวงโฆษณาและเอเจนซีไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก YELL
ไม่ใช่แค่เพราะโลโก้ของเอเจนซีสีเหลืองแห่งนี้ไปปรากฏในฐานะคนทำการตลาดให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ทุกคนรู้จักอย่าง CP, ThaiBev, Pruksa Real Estate และอีกมากมายแต่ YELL ยังเป็นเอเจนซีเจ้าของรางวัลระดับสากล แถมยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังไวรัลออนไลน์ที่พนันเลยว่าหลายคนต้องเคยผ่านตากันสักครั้ง
ถ้าให้นึกเร็วๆ ก็หนังสั้นเรื่อง จีบได้แฟนตายแล้ว ที่พวกเขาจับมือกับ Hello Filmmaker ผลิตให้กับ The 1 ในเครือเซ็นทรัล หรือ กาว Weber Super Glue ที่ทำหนังล้อเลียน Marvel จนไปได้รางวัลเวทีระดับโลก ผลงานเหล่านี้ล้วนผลักดันให้ชื่อของพวกเขาโด่งดังจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ YELL ยังเป็นเอเจนซีที่มีออฟฟิศและวัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจมาก พวกเขามีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างที่หลายๆ ออฟฟิศทำ แต่ในเวลาเดียวกัน YELL ก็ให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้พนักงานแฮปปี้ และมี Productivity จนอยากเข้าออฟฟิศทุกวัน
เป็นออฟฟิศที่ไม่ใช่ ‘ที่ทำงาน’ แต่เป็น ‘ที่ร่วมงาน’ พวกเขานิยามมันไว้อย่างนั้น
การดีไซน์ออฟฟิศให้พนักงานแฮปปี้มีแนวคิดใดอยู่เบื้องหลัง เช้าวันทำงานที่ออฟฟิศ YELL กำลังคึกคักได้ที่ เราแวะมาสนทนากับ แพร-กนกกาญจน์ รินนะจิตต์ Managing Director เพื่อหาคำตอบ
YELL stands for Yellow MaMa
แพรผู้เป็นพนักงานคนแรกของ YELL เล่าให้ฟังว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในทุกวันนี้คือการจับเทรนด์ได้ไว
ย้อนกลับไปในปี 2008 YELL ริเริ่มจากวงโซ้ยมาม่าของกลุ่มเพื่อนที่คุยกันว่าอยากเปิดโปรดักชันเฮาส์ร่วมกัน พวกเขาเริ่มต้นทำงาน Production และ Post-production สื่อโฆษณาในช่วงที่เฟซบุ๊กเริ่มตีตลาดโซเชียลมีเดีย ด้วยความนิยมของเฟซบุ๊กที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ประกอบกับเทรนด์การตลาดดิจิทัลที่กำลังตั้งไข่ พวกเขาเห็นโอกาสบางอย่าง และเริ่มศึกษาเรื่องแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง ก่อนจะอัปสเกลจากการทำโปรดักชันมาสู่งานด้านเอเจนซีโฆษณาในที่สุด
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน อัตลักษณ์หนึ่งของชาว YELL ที่หลายคนจำได้น่าจะเป็นสีเหลืองสดใส ซึ่งแพรยอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่ามันมาจาก Yellow Mama ในวันที่พวกเขาเริ่มก่อตั้งกันนั่นแหละ
“ในทางจิตวิทยา สีเหลืองเป็นสีแรกที่สมองมองเห็น เราเห็นสีเหลืองแล้วจะสนใจ จะรู้สึก Craving (กระหาย) และสีเหลืองยังสื่อถึง Collaboration ซึ่งตรงกับรูปแบบการทำงานของ YELL ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ Decentralize ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจกันในการทำงานสูงมาก” แพรบอก
ความหลากหลายที่สะท้อนผ่านโต๊ะทำงาน
ไม่ใช่แค่พูดให้ฟังดูดีไปอย่างนั้น แต่เอเจนซีสีเหลืองแห่งนี้ ทำให้เราเห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับคำว่า Collaboration จริงๆ ผ่านวัฒนธรรมขององค์กรที่เน้นอิสระ และเฉลิมฉลองความเท่าเทียมหลากหลาย ตั้งแต่การมีนโยบาย Work from Anywhere ไปจนถึงการไม่มีโต๊ะทำงานหรือที่จอดรถประจำตำแหน่ง
“แม้แต่ผู้บริหารก็ไม่มีโต๊ะประจำ อาจจะมีจุดที่ชอบไปนั่งบ่อยๆ แต่เราไม่มีการแบ่งห้องแยกกัน เพราะเราอยากให้พนักงานรู้สึกว่าเมื่อเป็นเรื่องงานเราเข้าถึงง่าย เข้าถึงได้แบบไม่มีระดับ หรือลำดับขั้นตอนอะไรให้รู้สึกเหมือนเราไม่เท่ากัน” แพรยกตัวอย่างขณะพาเราเดินทัวร์ออฟฟิศอันกว้างขวางของ YELL ซึ่งวันนี้แน่นขนัดไปด้วยเหล่าพนักงานที่เข้ามาฝึกสกิลการนำเสนอในคลาสพรีเซนเทชัน
แพรเล่าว่า คนทำงานที่เราเห็นเหล่านี้มีความหลากหลายและแบ็กกราวนด์ที่แตกต่างกันมาก “ในขั้นตอนการสรรหาคน ความแตกต่างพื้นฐานหรือเรื่องส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่เราไม่ได้โฟกัสมากนัก สิ่งที่เรามองหาคือคุณสมบัติของเขาและความเหมาะสมในแต่ละงานมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าก็จะเป็นจุดที่ทำให้เราได้ผู้คนที่หลากหลาย และมีมุมมองทางความคิดที่แตกต่างกัน ตามสไตล์ของแต่ละอาชีพ
“เมื่อไหร่ที่เราเอาคนเหมือนกันมากๆ มาอยู่รวมกัน เวลาเขาสร้างงานก็จะออกมาในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อไหร่ที่เขามีความแตกต่างกัน คุณจะได้ยินเสียงของคนที่คิดคนละมิติ มีอีกมุมมอง คุณจะได้อะไรที่มากกว่านั้น
“เราเคารพความหลากหลายในตัวเขา จึงต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ตีกรอบ เพราะฉะนั้นอะไรที่ตีกรอบอย่างกฎระเบียบ การควบคุมตรวจสอบที่เกินความจำเป็น หรือแม้แต่ที่นั่งประจำ ที่จอดรถ YELL จะยกออกหมดเลย” แพรย้ำ และเสริมต่อว่า แม้ว่าบริษัทจะมีการแบ่งแผนกกัน แต่โซนที่นั่งก็ไม่ได้มีการแบ่งตามแผนกนั้นๆ
อันที่จริงถ้าจะมีอะไรที่ถือว่าเป็นการแบ่งอย่างชัดเจนในออฟฟิศนี้ มันก็คือโซนที่นั่งซึ่งแบ่งตามนิสัยของคนทำงาน อย่างชั้นหนึ่งอาจจะเป็นโซนที่เสียงดังได้ เหมาะกับการประชุมของคนสายครีเอทีฟเป็นพิเศษ ในขณะที่ชั้นสองถือเป็น Silent Zone สำหรับคนสายงานที่ใช้สมาธิสูงอย่างแพลนเนอร์หรือกราฟิกดีไซเนอร์ เป็นต้น
Co-Happy Space ที่วัดความสำเร็จจากความสุขของพนักงาน
ออฟฟิศแรกของ YELL คือบ้านหลังเล็กในซอยลาดพร้าว 18 ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับออฟฟิศปัจจุบัน ในขณะที่โลเคชันปัจจุบันเคยเป็นโกดังโรงงานสเตนเลส ก่อนที่ชาว YELL ย้ายเข้ามาเป็นพื้นที่ร่วมงานแห่งใหม่เพราะจำนวนสมาชิกของบ้านที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จาก 30 – 40 คนที่เคยอยู่กันได้แบบชิลๆ วันเดือนผันผ่าน จำนวนสมาชิกก็ขยับไปอยู่ที่เลขสามหลัก นั่นทำให้หนึ่งในผู้นำอย่างแพรต้องขยายต่อเติมพื้นที่เพื่อรองรับคนทำงาน
แต่จะขยายพื้นที่อย่างไรให้เป็น YELL ที่สุด เพราะเธออยู่มาตั้งแต่วันแรก ผ่านประสบการณ์เรียนรู้ถูกผิดมามาก ทำให้เธอเข้าใจมนุษย์ที่นี่ และเธอคิดถึงคำว่า Collaboration ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักที่คนทำงานยึดถือมาตลอด เพราะฉะนั้น แม้จะมีนโยบายว่าทำงานที่ไหนก็ได้ แพรกับทีมผู้บริหารก็อยากให้ออฟฟิศเป็นที่ที่ทุกคนอยากเข้ามาเจอกัน
“เรานิยามมันว่า Co-happy Space” แพรบอก แล้วพาเราเดินออกจากห้องทำงานสู่พื้นที่ด้านหลังที่มีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าดีไซน์ตามความหมายของคำนิยามนั้นอย่างตรงตัว เป็นที่ทำงานที่ชาว YELL เข้ามาแล้วต้องแฮปปี้
ไล่ตั้งแต่ห้องครัวที่ไม่ได้เสิร์ฟอาหารหรูหรา แต่เสิร์ฟของกินที่ชาวเยลชอบกินบ่อยๆ แต่หาไม่ได้จากที่ไหน (“เช่นน้องคนหนึ่งชอบกินข้าวเกรียบยี่ห้อออร์เดิร์ฟ ซึ่งหาซื้อได้ยากมาก เราก็หามาให้” แพรกระซิบ) เมื่อเดินออกจากตึก เราพบโต๊ะพูลที่มักจะถูกแย่งชิงในช่วงเย็นอยู่เสมอ ติดกันนั้นมีโซนโต๊ะทำงานในสวนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ ไหนจะฟิตเนสขนาดย่อม สนามบาสขนาดใหญ่ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำ หรือแม้แต่ห้องคาราโอเกะ!
“เมื่อไม่มีกฎบังคับให้เข้าออฟฟิศ เราจึงสร้างพื้นที่ที่ทีมงานอยากเข้ามาเอง การพูดว่า ‘เจอกันอีกแล้ว เอ้า มาอีกแล้วเหรอวันนี้’ มันเป็นฟีลลิงที่ดีกว่ามาก” แพรบอก แล้วเล่าให้ฟังต่ออีกว่า ไม่ใช่แค่พื้นที่ซึ่งตอบโจทย์คนหลากหลายแบบเท่านั้น แต่ที่นี่มีโปรแกรมความสุขมากมายที่ต่างดึงดูดใจให้คนทำงานอยากเข้าออฟฟิศทุกวัน เช่น บริการล้างรถ นวด ทำเล็บ แพ็กเกจรับบริการจากนักกายภาพเพื่อแก้ไข Office Syndrome ฯลฯ
“บริการพวกนี้ถือเป็นแม่เหล็กที่ดีนะ มันทำให้คนรู้สึกว่าเข้ามาแล้วจะได้เอนจอยกับบางอย่าง อย่างที่บอกว่า YELL ให้ความสำคัญกับทีมเวิร์ก เพราะสุดท้าย การจะมี Productivity หรือการทำได้ดีมันอยู่ที่ทุกคนทำงานเข้ากันได้เป็นอย่างดี การที่เราทำให้ทุกคนรู้สึกอยากมาเจอกันที่นี่ มันก็เป็นการส่งเสริมพลังงานซึ่งกันและกัน”
แน่นอนว่าพื้นที่และกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้สร้างมาจากการทึกทักไปเองของทีมผู้บริหารว่าทำแบบนี้แล้วพนักงานจะอยากเข้าออฟฟิศ แต่มันมาจากการพูดคุย การสังเกต การรีเสิร์ช และการทดลองของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“เพราะคุณค่ามันวัดกันที่ความแฮปปี้ไง เข้ามาแล้วแฮปปี้หรือไม่แฮปปี้คุณบอกเราได้ในทุกจุด ถ้าเราใส่ใจ สังเกต ใส่ความแคร์ลงไปในนั้น ยังไงคนที่อยู่กับเราก็ต้องแฮปปี้”
เมื่อเราถามว่าความสุขสัมพันธ์กับการทำงานอย่างไร แพรตอบเราว่า ความสุขนั้นสัมพันธ์กับทัศนคติ และทัศนคติที่ดีก็จะพาให้คนทำงานทำสิ่งที่เหนือลิมิตและความสามารถของพวกเขา
“เพราะฉะนั้น การส่งต่อ Positivity สำคัญมากจริงๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราจะทำอะไรก็ได้ แม้ว่าเรื่องนั้นเราจะไม่เคยทำหรือยากมากหรือเฟลมาแล้วสิบรอบ แต่เราเชื่อว่ามันได้ รอบสิบเอ็ดมันก็จะได้ เราเชื่ออย่างนั้น” แพรบอกด้วยรอยยิ้ม