คลัสเตอร์แคมป์คนงาน มาตรการโควิดดีพอหรือยัง? - Urban Creature

เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งเฉลี่ยเกิน 3 พันต่อวัน เสียชีวิตรายวันอีกกว่า 30 ราย ทำให้ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าประเทศไทยจะรอดพ้นวิกฤตินี้ไปได้ไหม ล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,174 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 51 ราย ก็ยิ่งใจคอไม่ดี

หันกลับมาดูสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย โดยผู้ที่ฉีดแล้ว 1 เข็มมีจำนวนสะสมอยู่ที่ 5,844,521 คน หรือคิดเป็น 8.83% ของคนทั้งประเทศ ส่วนผู้ที่ฉีดแล้วครบ 2 เข็ม 2,303,814 คน หรือเพียง 3.48% ของคนทั้งประเทศ (ข้อมูลวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 16.00 น.) 

เมื่อสถานการณ์ยังไม่สู้ดี ความหวังที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวก็ดูท่าจะริบหรี่ แต่ไม่กี่วันก่อน นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศชัดว่า ตั้งเป้าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยมีแผนฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคนภายในตุลาคมปีนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นเป้าหมายในอุดมคติที่ไม่รู้ว่าจะเป็นความหวังหรือหายนะระลอกใหม่ ขึ้นอยู่กับแผนการบริหารจัดการวัคซีนว่าจะเร็วหรือช้า

ถามว่าเวลานี้พื้นที่ไหนหนักสุดคงหนีไม่พ้นกรุงเทพฯ ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ การแพร่ระบาดที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วในระลอกนี้ เกิดจากการติดเชื้อเป็นกลุ่มหรือคลัสเตอร์ 

กรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์เฝ้าระวังมากถึง 94 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564) ประกอบด้วย ตลาด ชุมชน โรงงาน และแคมป์คนงานก่อสร้างที่อยู่ในรายชื่อกว่า 20 แห่ง โดยเฉพาะที่พักคนงานก่อสร้างเขตหลักสี่เพียงแห่งเดียว พบผู้ติดเชื้อมากกว่าพันราย และมี 15 รายที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย

สำรวจแคมป์คนงาน เสี่ยงโควิดสูง ปัญหารุมเร้า

ปลายเดือนที่แล้ว ศบค. เผยข้อมูลว่า แคมป์คนงานก่อสร้างที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ มีอยู่ 409 แคมป์ มีแรงงานราว 62,000 คน เขตที่มีแคมป์คนงานมากสุดคือ เขตบางเขน ห้วยขวาง และลาดพร้าว อันที่จริงไซต์งานก่อสร้างมีการทำงานไม่ค่อยแออัด หลายแคมป์ใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่และทำงานในที่โล่งแจ้ง แต่พื้นที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ได้แก่ จุดรับประทานอาหาร จุดสูบบุหรี่ ห้องน้ำ บ้านพักคนงาน และการดื่มเหล้าสังสรรค์

“กรมควบคุมโรครายงานการวิเคราะห์จากการสอบสวนโรคพบว่า ความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานค่อนข้างหนาแน่น ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันหลายจุด ห้องน้ำ ห้องส้วม จุดรับประทานอาหาร ไปจนถึงพฤติกรรมใช้ชีวิตของคนงานที่เดินทางไปตลาดชุมชนซื้อข้าวของ และการเดินทางไปทำงานข้ามพื้นที่” พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว

หากเปิดดูข้อมูลกันจริงๆ จะพบว่า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,318,641 คน และที่ไม่ถูกกฎหมายอีกหลักล้าน นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เผยข้อมูลในงานเสวนาออนไลน์ ‘มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้าง ในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม’ ที่จัดขึ้นโดย ‘สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย’ ว่า แรงงานข้ามชาติในไทยมีสัดส่วนสูงถึง 20% จากแรงงานทั้งระบบ กรุงเทพฯ มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุด คือ 589,419 คน (ข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2563) 

รูปแบบการทำงานที่ไซต์ก่อสร้างมีซับคอนแทร็กต์ (ผู้รับเหมาช่วง) เข้า-ออกแคมป์ขนาดเล็กๆ ทำให้มีลูกจ้างรายวัน (แรงงานใหม่) ที่มักเปลี่ยนหน้าอยู่บ่อยๆ จึงเป็นการนำเชื้อเข้ามาสู่คนงานที่อาศัยอยู่ในแคมป์ อีกทั้งแรงงานผิดกฎหมายยังหลบหนีเจ้าหน้าที่ไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งปัญหานี้เกิดจากแรงงานบางส่วนไม่มีเอกสารแสดงตัวที่ถูกต้อง หรือหลุดจากระบบการจ้างงานทำให้เอกสารถูกยกเลิก และย้ายข้ามพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือหนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุ

แน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงการคัดกรองโรค การกักตัว หรือการรักษา ทั้งยังขาดการรับรู้ข้อมูลที่จำเป็น บางส่วนต้องตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีที่อยู่ ไม่มีกิน จนเกิดความเครียดแถมยังถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด

ส่องมาตรการแคมป์คนงานจัดการอย่างไร

ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่เริ่มเกิดคลัสเตอร์รุนแรงขึ้นจนถึงตอนนี้ ที่พักคนงานก่อสร้างยังมีข่าวคลัสเตอร์ใหม่ออกมาอยู่เป็นระยะ เราจึงชวนมาส่องมาตรการควบคุมของรัฐบาลกันบ้าง ว่ารัดกุมมากน้อยแค่ไหน

ตามที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ‘มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)’ มีคำสั่งว่า จุดเสี่ยงสูงอย่าง ‘ตลาด สถานประกอบการคอลเซนเตอร์ แคมป์คนงานก่อสร้าง’ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ดังนี้

ในส่วนนายจ้าง/ผู้ประกอบการต้องมีการคัดกรองเบื้องต้น จัดให้มีที่ล้างมือ จัดที่นั่งรับประทานอาหารในแคมป์ให้มีระยะห่าง 1 – 2 เมตร การรับ-ส่งคนงาน จำกัดจำนวนคนในรถไม่ให้แออัด ในกรณีที่ยืนยันแล้วว่าพบผู้ป่วยต้องแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและครอบครัวออกไปกักตัว

คนงาน/คนในครอบครัว ต้องเคร่งครัดในการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง ที่อาบน้ำรวมไม่ควรรวมกลุ่มอาบน้ำพร้อมกัน ไปจนถึงจุดรับประทานอาหารที่ปกติมักล้อมวงและนำอาหารมาแชร์กันก็ต้องเว้นระยะห่าง และแยกของใช้ส่วนตัวอย่างแก้วน้ำ ช้อน งดกิจกรรมสังสรรค์หลังเลิกงานหรือวันหยุด

รวมถึงห้ามการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งข้ามเขตในกรุงเทพฯ และข้ามจังหวัด (กรุงเทพฯ กับปริมณฑล) เว้นแต่มีเหตุจำเป็น โดยต้องแจ้งสำนักงานเขต ต้นทางและปลายทางให้ทราบก่อนการเดินทาง พร้อมปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเคร่งครัด

หากฝ่าฝืนอาจมีความผิด 2 ข้อกฎหมาย คือ 1. พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และ 2. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มาตรา 18 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร)

ผ่านไปสองสัปดาห์ ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. ลงนามหนังสือสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้อำนวยการเขต 50 เขต ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ‘มาตรการป้องกัน เฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ และควบคุมโรคอย่างทันท่วงที’ ให้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยการตรวจติดตามการปฏิบัติตามประกาศ กทม. วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ทุก 2 สัปดาห์ และรายงานผลให้สำนักอนามัยทราบเป็นประจำทุกวัน เพื่อรวบรวมรายงานต่อไปยัง ศบค. ต่อไป 

มาตรการดังกล่าววางกรอบการทำงานเป็น 2 ช่วง คือการเฝ้าระวัง 1 เดือน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 หลังจากนั้นจะมีการเฝ้าระวังทุก 2 เดือน โดยการเฝ้าระวังโรคในเดือนมิถุนายนจะมีการตรวจหาเชื้อในน้ำทิ้งบริเวณที่พัก และสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แห่งละ 75 ราย โดยดำเนินการตรวจทุกแคมป์คนงานก่อสร้างที่มีคนงานมากกว่า 100 คนในพื้นที่ 

หากพบผู้ติดเชื้อ 2 รายขึ้นไป หรือมากกว่า 5% ให้สำนักงานเขตประสานนำส่งผู้ป่วยแยกรักษา และกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% จะออกคำสั่งห้ามคนงานเข้าออกจากพื้นที่เป็นเวลา 14 วัน 

กรณีพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่สถานพยาบาลได้ จะดำเนินการจัดตั้งแคมป์แยกกักตัว (Camp Isolation) โดยใช้พื้นที่แคมป์คนงานเป็นโรงพยาบาลสนามให้การรักษาผู้ติดเชื้อ และแยกผู้ไม่ติดเชื้อออกจากพื้นที่ กรณีพบผู้ติดเชื้อน้อยจะดำเนินการจัดตั้งแคมป์กักตัว (Camp Quarantine) โดยนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาและให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดพักอาศัยในแคมป์

สำหรับมาตรการความปลอดภัยภายในแคมป์คนงานที่ยังเปิดทำงาน กทม. อนุญาตให้ทำงานได้ตามมาตรการการ ‘Bubble and Seal’ หรือการควบคุมโรคโดยการกักตัวคนงานไม่ให้ออกนอกที่พักหรือไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่เคยใช้ใน จ.สมุทรสาคร 

คำว่า ‘Bubble’ จะใช้ในกรณีคนงานพักใกล้ไซต์งาน โดยควบคุมคนงานให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่เดินผ่านชุมชน และห้ามแวะระหว่างทาง คำว่า ‘Seal’ จะใช้ในกรณีแคมป์คนงานอยู่บริเวณเดียวกันกับไซต์ก่อสร้าง โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายคนงานออกไปสู่ภายนอก แต่ยังทำงานได้และให้นายจ้างเป็นผู้จัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้กับคนงาน

สุดท้ายแล้วมาตรการเหล่านี้จะรัดกุมมากน้อยแค่ไหนก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะคลัสเตอร์แคมป์คนงานยังคงออกข่าวอยู่เรื่อยๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แม้แคมป์ก่อสร้างแต่ละแห่งจะปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวดแต่ก็ยังมีช่องว่างให้เกิดความเสี่ยง และง่ายต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง

สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้คือการดูแลรับผิดชอบด้วยตัวเองและได้แต่ยื้อเวลาออกไป เพราะการปิดแคมป์ส่งผลกระทบตั้งแต่แรงงานระดับรากหญ้า ผู้รับเหมา ไปจนถึงเจ้าของโครงการ และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อก็อาจส่งผลไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ การที่เกิดคลัสเตอร์ในแคมป์คนงานจึงเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ของกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล

เหตุการณ์คลัสเตอร์แคมป์คนงานในการระบาดระลอกนี้ ชวนให้เราฉุกคิดว่า สภาพความเป็นอยู่และระบบสาธารณสุขของคนงานก่อสร้าง ไปจนถึงแรงงานผิดกฎหมาย เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีในสังคมไทยมาเนิ่นนาน จนกลายเป็นภาพชินตาของทุกคนไปแล้ว ทั้งที่แรงงานเหล่านี้เป็นกำลังในการพัฒนาสิ่งก่อสร้างมูลค่าพันล้านทั้งหลายในประเทศ ทั้งตึกสูง ถนนหนทาง พื้นที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐหรือเอกชน แต่กลับไม่เคยมีการยกระดับคุณภาพชีวิตในไซต์ก่อสร้างอย่างจริงจังเสียที

Sources : 

Hfocus | https://www.hfocus.org/content/2021/05/21664
WorkpointTODAY | https://covid19.workpointnews.com/
กรุงเทพธุรกิจ | https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/944775
ฐานเศรษฐกิจ | https://www.thansettakij.com/content/480845, https://www.thansettakij.com/content/covid_19/480855
ประชาชาติธุรกิจ | https://www.prachachat.net/property/news-688720, https://www.prachachat.net/property/news-676872
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร | https://bit.ly/3gOUChZ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.