‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน - Urban Creature

เวลามีเสื้อผ้าชำรุด ซื้อชุดมาแล้วเอวใหญ่กว่าที่คิด ขายาวกว่าที่คาด ทุกคนจัดการกับปัญหานี้ยังไงบ้าง

เชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงช่างซ่อมริมทางหรือร้านรับซ่อมเสื้อผ้าใกล้บ้าน ที่เดินผ่านก็บ่อย คิดอยากใช้บริการอยู่หลายครั้ง แต่พอโอกาสมาถึงก็เกิดกลัวขึ้นมาว่าจะซ่อมได้ไม่ถูกใจ หรือแม้แต่เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะเข้าไปใช้บริการยังไงดี สุดท้ายกลายเป็นว่าต้องเก็บเสื้อผ้ารอซ่อมเหล่านั้นเข้าตู้ไปเหมือนเดิม

เราอยากแนะนำคนที่มีปัญหานี้ให้รู้จักกับ ‘วนวน’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวมข้อมูลความถนัดของร้านซ่อมน้อยใหญ่ พร้อมพิกัดที่อยู่และรีวิวจากผู้ใช้จริง เพื่อกระตุ้นให้เกิดสังคมแห่งการซ่อม

และกลุ่มคนที่ทำวนวนขึ้นมาไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ‘Reviv’ คอมมูนิตี้อาสาที่ส่งเสริมให้คนหันมาซ่อมและใช้สินค้าซ้ำมากขึ้น

ตามไปพูดคุยกับ ‘ภูมิ-ภาคภูมิ โกเมศโสภา’, ‘พั้นช์-พิมพ์นารา สินทวีวงศ์’, ‘หวาย-ณ.ดี กังวลกิจ’ และ ‘วาดเขียน ภาพย์ธิติ’ ตัวแทนทีมงานผู้พัฒนาวนวนขึ้นมา ถึงความตั้งใจที่อยากทำให้การซ่อมเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนจะคิดถึง และมีวนวนเป็นหนึ่งหนทางช่วยสนับสนุนช่างเย็บกลุ่มเปราะบางทั้งในและนอกพื้นที่เมืองหลวง

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

“แม้กระทั่งคนในทีมเองยังรู้สึกเลยว่าการซ่อมเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก ถ้ามีเสื้อผ้าชำรุดสักตัว คนอาจจะเลือกซื้อใหม่เลยง่ายกว่า เพราะหลายครั้งเราอาจลืมนึกถึงร้านซ่อมใกล้ตัว ไม่รู้ข้อมูลว่าเขามีบริการซ่อมอะไรบ้าง เราเลยอยากทำแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับช่างซ่อมขึ้นมา รวบรวมร้านซ่อมที่อยู่ในซอกซอยมาไว้ในแพลตฟอร์มเพื่อให้คนรู้สึกว่าการซ่อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว” 

หวายผู้เป็น Product Manager ของเว็บแอปพลิเคชันนี้บอกให้ฟังว่า ไอเดียของวนวนคล้ายกันกับสมุดหน้าเหลืองเล่มหนาที่เป็นตัวช่วยรวบรวมข้อมูลร้านค้าและบริการไว้ในเล่มเดียว คนที่สนใจสามารถกดหาร้านซ่อมในละแวกบ้านของตัวเอง พร้อมอ่านข้อมูลการบริการ เบอร์โทร ที่อยู่ วิธีการจ่ายเงิน หรือกระทั่งรีวิวจากผู้ใช้จริงได้

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น
‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

“วนวนไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อบอกว่ามีร้านซ่อมอยู่ใกล้ตัวเยอะแค่ไหน แต่มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ ณ โมเมนต์ที่คนต้องการจะซ่อม เขาสามารถหาข้อมูลและลองไปใช้บริการจริงได้” คนดูแลด้านมาร์เก็ตติงอย่างวาดเขียนช่วยเสริมพร้อมบอกว่า แม้ข้อมูลที่รวบรวมมาให้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของร้านนั้นๆ แต่ก็นับเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้สามารถเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า รู้ว่าต้องจ่ายเงินยังไง หน้าตาของร้านเป็นแบบไหน ช่วยให้กล้าไปใช้บริการมากยิ่งขึ้น

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

ในด้านการใช้งาน วนวนก็ถูกคิดมาให้ใช้งานได้ง่ายๆ แค่กดลิงก์ก็ใช้ได้เลย ไม่ต้องไปโหลดแอปฯ ที่ไหน โดยในช่วงทดลองอย่างนี้ เมื่อคลิกเข้าไปที่ wonwonbyreviv.com ก็สามารถเลือกใช้ฟีเจอร์หาบริการซ่อม หาร้านซ่อมในระยะใกล้บ้าน เลือกดูร้านที่พึงพอใจอยากเข้าไปใช้บริการ

“เริ่มแรกในแพลตฟอร์มของเรามีหนึ่งร้อยร้านซ่อม ครอบคลุมเก้าพื้นที่ในกรุงเทพฯ อย่างเขตปทุมวัน ราชเทวี พญาไท วัฒนา คลองเตย ห้วยขวาง บางนา สวนหลวง ประเวศ ซึ่งเป็นย่านที่ผู้คนเข้าถึงการบริการได้ง่าย แต่ผู้ใช้สามารถช่วยบอกต่อร้านซ่อมใกล้บ้านให้ทีมงานเพิ่มเติมได้ เพราะเราตั้งใจอยากพัฒนาให้วนวนเป็น Community-Driven-Platform ที่ผู้ใช้ช่วยกันบอกต่อร้านซ่อมใกล้บ้าน ปักหมุด รีวิวบริการและการให้บริการของช่างใกล้บ้านเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง” ภูมิบอก พร้อมแชร์ภาพฝันของวนวนที่ทีมงานอย่างพวกเขาตั้งใจอยากพาไปให้ถึง คืออยากให้แพลตฟอร์มนี้เป็นศูนย์รวมร้านซ่อมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดอยู่แค่เสื้อผ้า อีกทั้งยังอยากให้จำนวนร้านซ่อมที่คนช่วยกันเข้ามาบอกต่อนั้นครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทย

“สำคัญเลยคือ ตอนนี้เราอยากให้คนทดลองใช้และให้ฟีดแบ็กกลับมา ชอบหรือไม่ชอบยังไงบ้าง เพื่อที่เราจะได้นำความคิดเห็นของทุกคนไปพัฒนาต่อได้” หวายทิ้งท้าย

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

หัวเรืออย่างภูมิยังแชร์ให้ฟังต่ออีกว่า เป้าหมายในการทำ Reviv และวนวนขึ้นมาคือ อยากให้ประเทศไทยมีนโยบายสิทธิในการซ่อมอย่างจริงจังเสียที

“การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องทำให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการซ่อมก่อน ต้องทำให้เขาเข้าใจว่าการซ่อมไม่ใช่เรื่องของการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่คือการสร้างสิทธิอำนาจให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีขึ้นด้วย” ภูมิขยายว่าบทสนทนาเรื่องการซ่อมในไทยยังมีไม่เยอะนัก หากพูดถึงสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่คนก็มักพูดถึงการรีไซเคิลเป็นหลัก แต่เขามองว่าการรีไซเคิลไม่ใช่วิธีการรักษามูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติได้ดีที่สุด

“การรีไซเคิลเป็นเรื่องดี ควรทำ แต่ถ้าเราอยากรักษามูลค่าสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด การซ่อมแล้วใช้ซ้ำให้มากที่สุดคือทางเลือกที่ดีกว่า เพราะไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้ามากมาย ไม่ปล่อยมลพิษ และไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อทำสินค้าใหม่”

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

ภูมิยังให้ความเห็นว่า ที่ภาคธุรกิจหรือนายทุนใหญ่มักพูดถึงแต่การรีไซเคิลเป็นหลัก ก็เพราะการซ่อมนั้นไม่ส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“การออกแบบผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันทำขึ้นภายใต้คอนเซปต์ที่ชื่อการออกแบบให้หมดอายุขัย หรือ Planned Obsolescence เป็นการออกแบบที่ทำให้เราต้องซื้อสินค้าใหม่อยู่ตลอด เพราะผู้ผลิตอาจใช้ส่วนประกอบที่พังง่าย ออกแบบมาให้ซ่อมยาก ไม่สามารถซ่อมเองได้ หรือใช้กลยุทธ์อื่นๆ เช่น สั่งทำชิ้นส่วนพิเศษทำให้หาซื้ออะไหล่ตามท้องตลาดไม่ได้ ออกรุ่นใหม่บ่อยๆ แล้วบอกว่าของเดิมที่คนมีอยู่นั้นตกรุ่นแล้ว

“การส่งเสริมการซ่อมต้องการที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ เราต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบว่าต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คงทน ซ่อมง่าย ใช้ได้นาน มีบริการที่ดี”

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

นอกจากโปรเจกต์ที่ปล่อยออกมาแล้วอย่างวนวน ทีมของพวกเขากำลังขะมักเขม้นทำโปรเจกต์อื่นๆ ควบคู่ไป

หนึ่งในนั้นคือ ‘แบบทดสอบความซ่อมง่าย’ หรือเครื่องมือให้ผู้บริโภคใช้ในการสื่อสาร พูดคุย ถกเถียงกับแบรนด์เรื่องของการซ่อม ผ่านการพัฒนาเกณฑ์การประเมินการให้คะแนนความซ่อมง่ายของสินค้าตามแบรนด์ต่างๆ ดูทั้งในเชิงของการออกแบบสินค้า การให้บริการ ให้คะแนนดูว่าแบรนด์นี้ได้คะแนนเท่าไหร่ พอมีการประเมิน ผู้บริโภคและภาคประชาสังคมก็จะได้ประเด็นหัวข้อแรกในการคุยเรื่องของการซ่อมขึ้นมา เราก็สามารถที่จะสื่อสารโต้เถียงกับแบรนด์ได้มากขึ้น

‘วนวน’ แพลตฟอร์มรวมร้านซ่อมใกล้บ้าน ที่อยากให้คนหันมาซ่อมและใช้ของที่มีอยู่วนไปมากขึ้น

และ ‘Repair Cafe’ กิจกรรมรายเดือนที่รวบรวมอาสานักซ่อมมารวมตัวกันในย่าน เพื่อช่วยซ่อมสิ่งของและสอนผู้บริโภคในย่านให้มาซ่อมสิ่งของมากขึ้น ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 9 ธันวาคม ที่ Yellow Lane อารีย์ ติดตามกิจกรรมทั้งหมดจาก Reviv ได้ที่ facebook.com/Reviv.thailand

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.