ผู้หญิงต้องการมีชีวิตที่เท่าเทียมและปลอดภัย - Urban Creature

ข้อใดต่อไปนี้ คือเหตุการณ์ที่คุณเคยเจอในชีวิต
ก. เดินห่อไหล่เพราะกลัวโดนมองหน้าอก
ข. ถ่ายทะเบียนรถให้เพื่อนหรือครอบครัว เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน
ค. โดนคนแปลกหน้าแซว อย่าง ‘ไปไหนจ๊ะ’ ‘คนสวย’ ‘อยู่แถวไหน’
ง. เจียดเงินซื้อข้าวเพราะต้องซื้อผ้าอนามัย
จ. ถูกทุกข้อ


คำถามข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงจำนวนนับไม่ถ้วนต้องพบเจอในแต่ละวัน หรืออาจต้องเผชิญมาทั้งชีวิต ถึงแม้บางคนอาจมองว่าเป็น ‘เรื่องเล็ก’ แต่เชื่อเถอะว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความกลัว ความหวาดระแวงในการใช้ชีวิต และความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยในการออกมาส่งเสียงจากการโดนกดทับของสังคม ซึ่งพวกเธอไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้ตัวเองมีสิทธิเหนือคนอื่น แต่ต้องการใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียม และไม่ให้ลูกหลานต้องเผชิญกับสิ่งที่พวกเธอเคยเจอ

Where Is My Name? – ผู้หญิงอัฟกันไร้สิทธิในการมีตัวตนในสังคม

ผู้หญิงในประเทศอัฟกานิสถานไม่มีสิทธิ์เปิดเผยชื่อของตัวเอง แม้กระทั่งป้ายหลุมศพก็ไร้ชื่อพวกเธอ เพราะข้อห้ามอันคร่ำครึของชาวอัฟกันที่เมื่อใครพูดชื่อพี่สาว น้องสาว ภรรยา และแม่ในที่สาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายและเสื่อมเสียเกียรติ จนผู้หญิงต้องใช้นามสมมติเวลาไปพบคนแปลกหน้า รวมถึงการไปพบแพทย์ด้วย อีกทั้งกฎหมายอัฟกานิสถานอนุญาตให้มีชื่อแค่ ‘พ่อ’ ในใบแจ้งเกิดเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงอัฟกันกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทำแคมเปญออนไลน์ที่ชื่อว่า #WhereIsMyName เพื่อทวงคืนสิทธิในการมีตัวตนของพวกเธอกลับคืนมา

#FreePeriods #Saveผ้าอนามัย – ราคาที่ต้องจ่ายเพียงเพราะ ‘มีประจำเดือน’

ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่ผู้มีประจำเดือนต้องควักเงินจ่ายทุกเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะราคาไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ทำให้ต้องใช้ผ้าอนามัยซ้ำๆ หรือใช้วัสดุทดแทน ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขอนามัย หลายประเทศจึงมีการเรียกร้องให้ผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการ หรือลดภาษีผ้าอนามัย เพื่อให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงได้ 

อีกแง่หนึ่งการมีประจำเดือนกลายเป็นเรื่องสกปรกและน่าอาย ถูกเก็บให้เป็นแค่เรื่องใต้ร่มผ้า ทั้งที่การมีประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างประเทศอินเดียมองว่าเป็นเรื่องผิดแปลก และเด็กวัยรุ่นจำนวนมากต้องลาออกจากโรงเรียนเมื่อพวกเธอมีประจำเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความอับอาย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้จักผ้าอนามัยและไม่เข้าใจเรื่องประจำเดือนอย่างถูกต้อง

Free the Nipple – หัวนมฉัน หน้าอกฉัน แต่ไม่ใช่สิทธิของฉัน

สังคมมักมองว่าหน้าอกของผู้หญิงนั้นอนาจาร เป็นสิ่งกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เคยมีกรณี Instagram แบนภาพหัวนมผู้หญิง เพราะไม่เหมาะสม ขณะที่ผู้ชายเปลือยอกกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ 

ถ้าถามว่าระหว่าง ‘ผู้ชายเปลือยอก’ กับ ‘ผู้หญิงเปลือยอก’ คุณคิดว่าใครโป๊มากกว่ากัน? แม้สัญชาตญาณแรกจะตอบว่าผู้หญิง แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ ‘ไม่มี’ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศไหนก็มีสิทธิที่จะเลือกโนบราได้ โดยไม่ต้องเดินห่อไหล่เพราะกลัวคนมอง หรือโดนคุกคาม และเราไม่มีสิทธิ์ไปจับหรือสัมผัสโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงหลายคนโดนคุกคามทางเพศ ถึงแม้ชุดของพวกเธอไม่ได้หวือหวา แต่สังคมกลับโทษเหยื่อว่าการแต่งตัวเป็นสิ่งยั่วยวนให้ผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศ ทั้งที่ผู้หญิงและทุกเพศสามารถสวมเสื้อผ้าได้ตามที่ต้องการ เช่น ชุดกีฬายิมนาสติกผู้หญิงในการแข่งขัน Tokyo 2020 เป็นทรงรัดรูปและท่อนล่างเป็นบิกินีจนเป็นจุดสนใจมากกว่าศักยภาพของพวกเธอ ในขณะที่ชุดกีฬาผู้ชายปกปิดร่างกายมากกว่าเสียอีก

Femicide – ถูกฆาตกรรมเพราะเป็นผู้หญิง

กรณีมีมยิงผู้หญิงที่ว่อนโซเชียลกลายเป็นโจ๊กขำๆ สำหรับคนบางกลุ่ม แต่เรื่องจริงมีผู้หญิงจำนวนมากถูกฆ่าตายเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง 

อคติทางเพศทำให้ผู้หญิงเม็กซิโกถูกฆาตกรรม 99 คนในเดือนมิถุนายน 2020 และครึ่งปีแรกของ 2020 มี Femicide รวมทั้งหมด 489 คดี หรือเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คนร้ายไล่แทงผู้หญิงบนรถไฟโตเกียวบาดเจ็บ 10 คน ด้วยเหตุผลว่า ‘พวกเธอมีความสุข’ และมีคดีอีกนับไม่ถ้วนที่คนร้ายฆ่าผู้หญิงเพราะความเกลียดชังทางเพศ 

Catcalling – ถูกพูดคุกคามในที่สาธารณะ

การ Catcalling หรือการโดนคุกคามในที่สาธารณะทางคำพูด ไม่ว่าจะเป็นการแซว การแทะโลมใส่อีกฝ่ายโดยที่คนฟังไม่เต็มใจ เป็นส่วนหนึ่งของการคุกคามทางเพศตามท้องถนน (Street Harassment) ซึ่งวลีที่โดนบ่อย คือ ‘น้องสาว’ ‘คนสวย’ ‘บ้านอยู่ไหน’ ‘ให้ไปส่งไหมจ๊ะ’ จนทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าเดินผ่านและใช้เส้นทางอื่นแทน เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย

เมื่อปี 2018 กลุ่มนักกิจกรรม Stop Street Harassment สำรวจความคิดเห็นเรื่อง Sexual Harassment จำนวน 2,000 คน พบว่าการล่วงละเมิดทางเพศด้วยคำพูดเป็นรูปแบบการคุกคามที่พบบ่อยสุดคิดเป็น 77% ของผู้หญิง และ 34% ของผู้ชาย จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าเราเจอคำพูดคุกคามในชีวิตประจำวันจนคนพูดเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ โดยที่ไม่รู้เลยว่าคำเหล่านั้นเอฟเฟกต์ต่อคนฟังอย่างไร

นี่คือราคาของผู้หญิงที่เรียกร้องความเท่าเทียมและต้องการชีวิตที่ปลอดภัยอย่างนั้นหรือ? 

ยังมีชีวิตของคนอีกนับไม่ถ้วนลำบากเพราะเกิดมาในฐานะ ‘ผู้หญิง’ การโดนบีบบังคับให้อยู่ภายใต้จารีตของสังคม และสิทธิของผู้หญิงที่ถูกลืม พวกเขาต้องการได้รับความเท่าเทียมและความปลอดภัยในชีวิตเท่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดไม่เพียงแต่เพศหญิงแต่ทุกเพศต้องได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน 


Sources : 
BBC News | https://bbc.in/3gqcrTO
Femicidesmex | https://femicidesmex.carrd.co
Stop Street Harassment | https://bit.ly/3zflPRy
The Herald bulletin | https://bit.ly/388P9x4
The Jakarta Post | https://bit.ly/3kCoyP9
The New York Times | https://nyti.ms/3DdD9bY
The State Press | https://bit.ly/3gtW9sW
Workpoint Today | https://bit.ly/3zgy28L

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.