หลังจากที่กรุงเทพมหานครเปิดตัวโครงการ ‘ไม่เทรวม’ เพื่อรณรงค์การแยกขยะเมื่อปีที่แล้ว นโยบายถัดไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อช่วยจัดการขยะคือ การขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขยะจากบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ โดยบ้านที่เข้าร่วมการคัดแยกขยะจะเสียค่าใช้จ่าย 20 บาทต่อเดือน ส่วนบ้านที่ไม่คัดแยกขยะนั้นจะเสียค่าใช้จ่าย 60 บาทต่อเดือน หวังเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ครัวเรือนหันมาใส่ใจกับการแยกขยะมากขึ้น
การแยกขยะนั้นไม่เพียงช่วยลดภาระการกำจัดขยะของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่เรายังเรียนรู้กันมาตลอดว่าการแยกขยะเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยลดโลกร้อนได้ และด้วยความเคยชินที่ทิ้งขยะลงถังเดียวมาตลอดอย่างยาวนาน อาจทำให้การแยกขยะดูยุ่งยากไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าจะลองทำ
แน่นอนว่าภาพของการแยกขยะนั้นมักมาพร้อมกับถังขยะชนิดต่างๆ ที่แบ่งแยกด้วยสีสัน ช่วยให้จำง่าย แต่หลายๆ บ้านคงไม่ได้มีถังขยะสำหรับแยกขยะแต่ละประเภทโดยเฉพาะ ทำให้เกิดความสับสนว่า หากมีถังขยะแค่ใบเดียวแล้วจะแยกขยะได้อย่างไร
Urban Creature เลยจะมาบอกวิธีการแยกขยะที่ทำได้ง่ายๆ โดยแบ่งเป็นสองระดับคือ
1) การแยกขยะระดับเริ่มต้น
เป็นการแยกขยะที่ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน เพียงแค่แยกขยะออกเป็นสองประเภทก่อนทิ้งลงถัง วิธีนี้จะสะดวกกับผู้เริ่มต้นแยกขยะ คนที่มีเวลาน้อย หรือพื้นที่บ้านน้อย แบ่งออกเป็น
🍪 ขยะอินทรีย์
ขยะประเภทเศษอาหารจากการทำอาหารหรือกินเหลือ โดยเทน้ำทิ้งให้เหลือแต่เศษอาหาร และแยกถุงเอาไว้ อาจใช้เป็นถุงสีใสให้มองเห็นได้ง่ายว่าเป็นขยะประเภทไหน ขยะประเภทนี้ควรทิ้งทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมความสกปรกและกลิ่นเหม็นภายในบ้าน
🧃ขยะทั่วไป
ขยะแห้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ซองขนม รวมถึงขยะพลาสติก ซึ่งพลาสติกบางประเภท เช่น ถุงพลาสติกหรือกล่องที่ใส่อาหาร ควรล้างให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนจะนำไปทิ้ง เพื่อเลี่ยงไม่ให้เศษอาหารปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ จนขยะแห้งเหล่านี้หมักหมมความสกปรกเอาไว้
2) การแยกขยะระดับมืออาชีพ
เป็นการแยกขยะที่มีประเภทแยกย่อยเพิ่มขึ้นมา หลังจากที่เริ่มแยกขยะสองประเภทจนชินแล้วก็อาจจะอัปเกรดการแยกขยะขึ้นมาเป็นสี่ประเภท นอกจากง่ายต่อการเก็บทิ้งแล้ว เรายังนำขยะเหล่านี้ไปต่อยอดในทางอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยสามารถแบ่งออกเป็น
🍪 ขยะอินทรีย์
ขยะประเภทเศษอาหารเช่นเดียวกันกับระดับเบื้องต้น เพียงแต่จะมีการคัดเลือกเศษอาหารบางประเภท เช่น เศษผัก เศษผลไม้ ออกมา เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักให้ต้นไม้ได้
🧻 ขยะทั่วไป
จากที่ทิ้งขยะแห้งรวมกัน การทิ้งขยะทั่วไปในระดับมืออาชีพนี้ เราจะคัดเลือกแต่ขยะที่ย่อยสลายได้ เช่น ทิชชูใช้แล้ว กระดาษที่เปื้อนและไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เป็นต้น
♻️ ขยะรีไซเคิล
ขยะประเภทแก้ว (ขวดแก้ว ขวดโหล) กระดาษ (หนังสือพิมพ์ กระดาษห่อของขวัญ กล่องนม ลัง หรือกระดาษที่ไม่ได้ปนเปื้อนสิ่งสกปรก) โลหะ (กระป๋องต่างๆ) และพลาสติก ที่สามารถนำไปแปรสภาพเพื่อนำมาใช้งานใหม่อีกครั้ง หรือในระหว่างที่เราคัดเลือกขยะอยู่นั้น ก็อาจเจอขยะบางชิ้นที่นำมารียูสและใช้งานใหม่ภายในบ้านโดยไม่ต้องทิ้งแล้วซื้อใหม่ก็ได้เหมือนกัน โดยแยกแต่ละประเภทออกจากกัน หากใช้ถุงขยะแบบเดียวกันก็อาจใช้วิธีการติดป้ายกำกับระบุประเภท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มาเก็บขยะได้รู้ว่าแต่ละถุงนั้นคือขยะประเภทไหนบ้าง
☢️ ขยะอันตราย
ขยะประเภทอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่อาจปนเปื้อนหลังทิ้ง เช่น ถ่าน แบตเตอรี่ หลอดไฟ ยา น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น ขยะเหล่านี้อาจส่งไปตามจุดรับทิ้งหรือรับบริจาคได้ หรือหากไม่สะดวกก็ทิ้งแยกถุงโดยติดป้ายกำกับแจ้งว่าเป็นขยะอันตราย เพื่อให้ง่ายต่อเจ้าหน้าที่ในการแยกส่วนนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี
ส่วนขยะอื่นๆ อย่างอึสัตว์เลี้ยง แพมเพิส หรือผ้าอนามัย เวลาทิ้งก็ใช้วิธีแยกถุงเช่นเดียวกัน และติดป้ายกำกับเพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะได้รู้ว่าภายในถุงเหล่านั้นบรรจุขยะชนิดไหนเอาไว้ และจะนำไปจัดการต่อได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางกรุงเทพมหานครจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแยกขยะ และมีอุปกรณ์การแยกขยะที่จะเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น
ในระหว่างที่รอเข้าร่วมโครงการ บ้านไหนที่ยังไม่เคยแยกขยะก็เริ่มทดลองทำได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อฝึกความเคยชินและความเข้าใจในการแยกขยะแต่ละประเภท เมื่อถึงเวลาที่ทางกรุงเทพมหานครบังคับใช้ค่าธรรมเนียมใหม่ จะได้ไม่ต้องกังวลใจกับการแยกขยะ แถมยังได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้ดีขึ้นอีกด้วย
Sources :
Facebook : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม | tinyurl.com/2s4ha8vn
Human Health Care | tinyurl.com/3uad2vcc
MGR Online | tinyurl.com/8jkvb3yn
YouTube : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม | tinyurl.com/2evy77ad
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร | tinyurl.com/3nv39kwr