นับตั้งแต่หนังอย่าง 4 Kings ทั้งสองภาคออกฉาย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในสไตล์งานของผู้กำกับ ‘พุฒิพงษ์ นาคทอง’ คือการมีท่าทางเป็นบทเรียนสอนใจผู้ชมด้วยบริบทปัญหาเรื่องราวในสังคมไทย
หากว่าเป็นหนังเรื่องอื่น ด้วยท่าทีเช่นนี้ผู้ชมหลายคนอาจรู้สึกเหมือนกำลังถูกชี้หน้าสั่งสอน หรือรับชมละครคุณธรรมที่มีคติสอนใจในตอนจบ แต่กับงานที่ผ่านมาตั้งแต่ 4 Kings ทั้งสองภาค จวบจนมาถึง ‘วัยหนุ่ม 2544’ นั้นกลับดูกลายเป็นเสน่ห์ของหนังที่ทำมาด้วยความซื่อตรง จริงใจ และมีความรู้สึกร่วมส่วนตัวแฝงอยู่จนผู้ชมสามารถสัมผัสได้
ด้วยน้ำเสียงที่ไม่มากไปไม่น้อยไปแบบนี้นี่เอง ทำให้ท่าทีของการสั่งสอนผู้ชมกลายเป็นการเชื้อเชิญไปร่วมสัมผัสประสบการณ์ช่วงหนึ่งในช่วงชีวิตของคนที่พลาดพลั้ง และไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้ไปเกิดขึ้นกับใคร หรือกระทั่งเป็นการยับยั้งไม่ให้คนที่กำลังหลงทางไปก่อกรรมทำเข็ญแก่ชีวิตผู้อื่นดั่งบรรดาตัวละครสมมุติในเรื่อง
และในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่สามของผู้กำกับก็ดูเหมือนยังคงย่ำอยู่กับคอนเซปต์เดียวกันกับผลงานหนังสองภาคก่อนหน้า แค่ที่ต่างจากเดิมคือบริบทสถานที่ จากสถาบันช่างกลมาสู่ภายในรั้วของเรือนจำ และตัวละครเด็กช่างกลที่ทำผิดพลาดในชีวิต ซึ่งครั้งนี้ไม่อาจหลีกหนีผลของการกระทำของตัวเองได้เหมือนในผลงานก่อน
วัยหนุ่ม 2544 จึงคล้ายวางตัวเป็นเรื่องราวภาคต่อจาก 4 Kings ได้อย่างกลายๆ ราวกับนี่คือหนังปิดไตรภาคของเรื่องราวเด็กช่างของผู้กำกับคนนี้ และนำไปสู่การสานต่อเรื่องราวว่า ความผิดพลาดทั้งหลายที่ช่วงวัยหนุ่มก่อขึ้นอาจนำไปสู่ปลายทางอันดำมืดภายหลังได้เพียงใด
นอกจากเรื่องราวที่เข้มข้นจริงจังลึกลงไปยังมุมมืดแล้ว ด้านฝีมือการกำกับของผู้กำกับคนนี้ยังพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยการนำเสนอภาพที่ปล่อยให้ผู้ชมเห็นห้วงเหตุการณ์ชั่วขณะโดยไม่ต้องมีบทพูดอธิบาย และการตามติดตัวละครโดยไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่อง ทำให้ได้ความรู้สึกเหมือนร่วมสังเกตเหตุการณ์ชีวิตคนคนหนึ่งมากกว่าชมภาพยนตร์ที่มีเซตติ้งซีเควนซ์ชัดเจน
มากไปกว่าการถ่ายทอดภาพชีวิตในคุกที่ดูสมจริง เป็นธรรมชาติ และเต็มไปด้วยความหดหู่ที่ดูเป็นความโดดเด่นของหนัง ซึ่งได้มาจากการไปถ่ายทำกันในสถานที่จริง อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ บรรดาเหล่านักแสดงทั้งหลายที่ปรากฏตัวบนจอ แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่ทุกคนล้วนทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำพลาดไปแม้สักนิดเดียว อาจส่งผลให้หนังทั้งเรื่องเสียรูปไปเลยก็ได้
เมื่อนักแสดงทุกคนในเรื่องทุ่มเทอย่างสุดแรงกายและฝีมือการแสดง จนเป็นการขับเคี่ยวกันแบบไม่มีใครยอมใคร ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศภาพรวมนั้นดูสมจริง ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่แค่เหล่านักแสดงหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงบรรยากาศนักแสดงประกอบฉากมากมายหลายชีวิตที่ทำให้เรือนจำแห่งนี้ดูสมจริงขึ้นมา
แน่นอนว่าเราจะไม่ชื่นชมความเก่งฉกาจของผู้กำกับที่ควบคุมนักแสดงทั้งกลุ่มนี้คงไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้น นอกจากที่เราได้กล่าวมาข้างต้น วัยหนุ่ม 2544 เองยังมีประเด็นที่เชื่อมโยงกับสังคมให้น่าไปสำรวจและขบคิดต่อถึงสิทธิของคนในเรือนจำที่ใครเล่าจะมาเข้าใจ สนใจ และเห็นใจ ถ้าไม่เปิดใจจริงๆ
ความโหดร้ายของชีวิตหลังตะราง
‘วัยหนุ่ม’ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ นอกจากเป็นช่วงวัยของเด็กชายที่เต็มไปด้วยความขบถเลือดร้อนคึกคะนอง ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทำอันผิดพลาดในชีวิตแล้ว ยังหมายถึงชื่อของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางที่ควบคุมผู้ต้องขังอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ซึ่งเป็นสถานที่หลักในเรื่อง ผ่านการนำเสนอชีวิตของ ‘เผือก’ (นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต) เด็กช่างกลที่พลาดพลั้งจากอารมณ์ชั่ววูบของช่วงวัยหนุ่มที่นำพาเขาไปสู่ชีวิตหลังรั้วกำแพงของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง
ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวไม่เพียงแค่พรากช่วงเวลาวัยหนึ่งในชีวิตของเขาให้หายไป แต่ยังนำพาเขาเข้าสู่วังวนที่กักขังทั้งชีวิตของเขาไปเสียอย่างนั้น เมื่อจินตนาการดูแล้ว ทัณฑสถานหรือคุกควรจะเป็นสถานที่ที่ทำหน้าที่เป็นบทลงโทษสำหรับผู้ก่อความผิดทางกฎหมาย แต่ในอีกทางหนึ่งสถานที่แห่งนี้ก็ควรจะเป็นพื้นที่บ่มเพาะให้คนที่ผิดพลาดได้รู้สึกถึงความผิดที่กระทำจนไม่กล้าทำอีก
ทว่าสิ่งที่เผือกได้เข้าไปสัมผัสกลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของคุกที่กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะความรุนแรงอย่างไม่สิ้นสุด เริ่มต้นจากการรับน้องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการโกนหัวที่ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีให้ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของการยอมศิโรราบอย่างไม่จำยอม ท่าทีขัดขืนต่อต้านและแววตาแข็งกร้าวของเผือกค่อยๆ ถูกกำราบด้วยการทุบตีจากมือ ตีน และไม้กระบองให้แหลกละเอียด จนไม่แน่ใจว่าระหว่างความเข้มแข็งเหล่านั้นกับสภาพจิตใจ สิ่งใดจะพังทลายก่อนกัน เพื่อเป็นการต้อนรับบรรดาน้องใหม่ให้สำเหนียกตนและวางตัวให้รู้ว่าใครเป็นใหญ่ในที่แห่งนี้
อีกหนึ่งตัวละครที่ก้าวเข้าสู่สถานที่แห่งนี้ในเวลาเดียวกันคือ ‘ฟลุ๊ค’ (เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ต่างกันตรงที่ฟลุ๊ควางตัวจำยอมต่อการกดขี่อย่างว่านอนสอนง่าย ด้วยท่าทีตุ้งติ้ง การพูดจาคะขา ที่ถูกสั่งบังคับให้วางตัวให้สมชายชาตรีด้วยการพูด ‘ครับ’ โกนผม และลบสีทาเล็บออกจนหมดจด
แม้จะต้องฝืนใจเป็นชายชาตรี แต่ฟลุ๊คก็ยังถูกตีตราว่าเป็น ‘อีตุ๊ด’ ด้วยความจงเกลียดจงชัง ซึ่งในยามราตรีเขากลับเป็นที่หมายตาของบรรดาผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นชายแท้ๆ ในคุกแห่งนี้เสียอย่างนั้น คุณภาพชีวิตของคนแบบฟลุ๊คในยุคสมัยที่คนยังไม่มีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศจึงถูกมองและปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง เป็นเพียงแค่สิ่งที่เอาไว้ระบายอารมณ์ในสถานที่ที่เหล่าชายกลัดมันต่างหมดหนทาง
เห็นได้ว่าทางเลือกของคนอย่างฟลุ๊คที่สถานที่แห่งนี้มอบให้นั้นมีไม่มาก ดั่งประโยคที่เป็นไวรัลของหนังว่า “จะเอาเหล็กหรือจะเอาเอ็น” ที่ดูตลกขบขัน แต่ในบริบทภาพยนตร์กลับน่าหดหู่เสียเหลือเกิน
สิ่งที่สองที่เผือกได้สัมผัสคือ การปกครองด้วยระบบบ้าน แบ่งออกเป็น ‘บ้านคลองเตย’ กับ ‘บ้านฝั่งธน’ ที่ไม่ต่างจากมาเฟียลูกพี่ลูกน้องไล่ระดับชั้นจากเด็กใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘แรกเข้า’ ไปจนถึง ‘พ่อบ้าน’ ที่เปรียบเสมือนหัวหน้าใหญ่ผู้มีอำนาจต่อรองกับ ‘ผู้คุม’ ด้วยผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้สามารถปกครองคุกแห่งนี้ได้
พ่อบ้านอย่าง ‘เบียร์’ (เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) เป็นผู้มีอำนาจใหญ่ในบ้านคลองเตย ที่มี ‘บอย’ (ท็อป-ทศพล หมายสุข) เป็น ‘ยอดบ้า’ ตำแหน่งที่เปรียบเสมือนมือขวา คนเดินเรื่องจัดแจงสิ่งต่างๆ ช่วยให้เบียร์ปกครองด้วยการวางตัวเป็นขาใหญ่หัวหน้าแก๊งโดยไม่เกรงกลัวอำนาจของผู้คุมแต่อย่างใด เพราะดูเหมือนว่าในทางหนึ่งคนประเภทนี้กลับมีประโยชน์เอื้อเฟื้อต่ออำนาจบารมีแก่ผู้คุมเสียอย่างนั้น ใครก็ตามที่เกรงกลัวเบียร์ก็เท่ากับเกรงกลัวอำนาจคำสั่งของผู้คุมด้วยเช่นกัน แม้ว่าการปกครองนั้นจะเต็มไปด้วยวิธีอันโหดเหี้ยมก็ตาม
อีกฝั่งคือบ้านฝั่งธนที่ปกครองโดย ‘บังกัส’ (จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) ที่ปกครองแบบครอบครัว เหมือนพี่น้องพวกพ้องที่ร่วมทุกข์เสพสุข มียอดบ้าเช่นกันคือ ‘กอล์ฟ’ (เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี) ซึ่งมีท่าทีเลือดร้อนกว่าและพร้อมจะตัดสินทุกอย่างด้วยกำลัง ทำให้ไม่ใช่ว่าบ้านฝั่งธนจะสงบสุขไร้ซึ่งทุกข์ภัยเสมอไป เพราะทั้งสองบ้านก็ดูเหมือนพร้อมมีเรื่องผิดใจให้ห้ำหั่นกันได้ตลอดเวลา และวิธีการแก้ปัญหาความบาดหมางต่างๆ ก็เป็นการใช้กำลังตัดสินกันซึ่งบางครั้งต้องแลกมาด้วยชีวิต ยังไม่รวมถึงการแอบลอบฆ่า วางยาในอาหาร หรือทำร้ายสภาพจิตใจให้ถึงขีดสุด จนทำให้คนที่ทนไม่ได้ตัดสินใจจบชีวิตด้วยตัวเอง
“วันหนึ่งอาจเป็นมึง วันหนึ่งอาจเป็นกู ชีวิตคุกมันก็แบบนี้แหละ”
เป็นคำที่บังกัสมอบให้เผือก เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่าคุณภาพชีวิตหลังเรือนจำนั้นไม่มีสิ่งใดมากมายให้คิดไปไกลนักในแต่ละวัน มีเพียงแค่ไม่อยู่ก็ตาย จะเห็นได้ว่าในคุกแห่งนี้ไม่ได้มีระบบระเบียบวางไว้เคร่งครัดแต่อย่างใด ต่างปกครองกันอย่างบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไร้กฎเกณฑ์ หรือเป็นแหล่งมั่วสุมที่มีอำนาจผลประโยชน์ควบคุมอยู่ กลายเป็นความจริงอันน่าเศร้าที่คุกก็เป็นเพียงอีกโลกกลับกันของสังคมภายนอกที่เอาคนมีความผิดมาอยู่รวมกัน และเพิ่มพูนพฤติกรรมเดิมๆ ให้ทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ วิธีการป้องกันเมื่อใครสักคนคิดจะลงมือกระทำความผิดจึงเป็นการสร้างภาพจำอันโหดเหี้ยมของทางออกแบบกำปั้นทุบดิน เพื่อไม่ให้คนอยากเข้ามาติดคุกติดตะราง ทว่ากลับไม่มีทางออกใดสำหรับคนที่เข้าไปสู่สถานที่แห่งนี้เลย
วังวนที่ไม่ต่างกันระหว่างชีวิตในและหลังเรือนจำ
เมื่อมองถึงภูมิหลังของเผือก เมื่อครั้งยังเป็น ‘เด็กชายสุภาพ ศรีเผือก’ ผู้เติบโตมาท่ามกลางชุมชนสลัม แม่ทำอาชีพค้ายาเสพติดและเป็นที่รู้กันของคนในละแวก ทำให้เขารู้สึกอับอายในใจ ร้องไห้หน้าชั้นเรียน และไม่กล้าเอ่ยปากตอบอะไรหลังถูกครูถามว่า “แม่ทำอาชีพอะไร”
ความรู้สึกดังกล่าวทำให้เผือกไม่อยากใช้เงินที่ได้จากแม่ จนต้องแอบไปต่อยมวยเด็กเพื่อหาเงินมาทดแทน ชีวิตของเผือกจึงข้องแวะกับความรุนแรง สิ่งเสพติด และสภาพสังคมมั่วสุมตั้งแต่ยังเด็ก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็โตมาด้วยความรู้สึกไม่พอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเองเสมอมา อีกทั้งยังต้องมาพบเจอกับสภาพแวดล้อมในบริบทที่คล้ายคลึงกันในเรือนจำ ที่ซึ่งแม่ของเขาก็พบชะตากรรมไม่ต่างกันจากการค้ายาในท้ายที่สุด
ภาพเหล่านี้ทำให้เห็นว่าคนที่เกิดมามีชีวิตที่มีทางเลือกไม่มากนัก ยากเหลือเกินที่จะฉุดตัวเองขึ้นจากความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ยิ่งเมื่อเข้าสู่โลกของเรือนจำก็ยิ่งกลายเป็นเครื่องหมายตีตราจากสังคม จนคนเหล่านั้นเลือกที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปเสียดีกว่า
ทั้งนี้ ในสังคมไทยผู้ใดก็ตามที่ร่ำรวยเงินทองหรืออำนาจ เมื่อกระทำความผิดย่อมมีสิทธิ์ต่อรองและสังคมต่างรู้กันว่าจะผ่านพ้นไปอย่างไรในท้ายที่สุด หรือกระทั่งได้รับการปรนนิบัติอย่างดีจากกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากมีเงินจ่ายค่าประกันตัว ไม่มีทางเสียเปรียบในทางกฎหมายเพราะมีทีมทนายความที่พร้อมสู้คดี คุกจึงเป็นสถานที่ที่ห่างไกลจากกลุ่มชนเหล่านี้ราวฟ้ากับเหว จนกลายเป็นวลีอมตะที่ว่า ‘คุกมีไว้ขังคนจน’
สำหรับเผือกที่มีความผิดฐานฆ่าคนตายอาจจะเป็นเรื่องยากในการสู้คดี แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีความผิดจริงอย่างฟลุ๊ค เขาโดนจับติดคุกเพราะคนรักซุกยาเสพติดไว้ในห้อง ทั้งที่ตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังไม่สามารถแบกรับค่าประกันตัวหรือค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความมาสู้คดีให้พ้นผิดได้
ปัญหาถัดมา เมื่อเข้ามามีสถานะเป็นผู้ต้องขัง แม้ว่าจะพ้นโทษกลายเป็นเพียงอดีตผู้ต้องขัง แต่สิ่งที่ยากไม่แพ้ชีวิตในเรือนจำคือการกลับสู่สังคม เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนที่ผ่านชีวิตในเรือนจำมาจะไม่ถูกตีตราว่าเป็น ‘ขี้คุกขี้ตะราง’ หลายคนต้องอยู่กับคำติฉินนินทาของคนรอบข้าง ยกตัวอย่างตัวละครอย่างบังกัสที่ดูเหมือนเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะพ้นโทษแต่กลับไม่มีความสุขสักเท่าไหร่ เพราะพ่อของเขาบอกให้เขาลงไปใช้ชีวิตอยู่ใต้หลังออกจากเรือนจำ
ทั้งที่บังกัสเป็นตัวละครที่ดูจะมีต้นทุนชีวิตดีกว่าคนอื่นๆ เห็นได้จากการมีครอบครัวที่มีเงินพอจะวิ่งเต้น และมีศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เมื่อออกไปจากคุก เขาก็ยังต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากคนใกล้ตัวและไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับพ่อของเขาได้อยู่ดี จนท้ายที่สุดก็เหมือนฟ้าเล่นตลกที่ทำให้เขาไม่สามารถออกไปจากสถานที่แห่งนี้ได้
ชีวิตของคนในเรือนจำดูวนเวียนอยู่กับการถูกกักขัง เพราะสภาพชีวิตภายในหรือภายนอกล้วนไม่ต่างกัน ถึงขนาดที่ว่าผู้ต้องขังหลายคนถูกผู้คุมถากถางด้วยคำพูดหลังจากพ้นโทษว่าจะอยู่ข้างนอกได้สักกี่น้ำ เดี๋ยวก็ต้องกลับเข้ามาใหม่
ปัญหาใหญ่ของเรือนจำจึงไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อมภายในอย่างเดียว อย่างที่รู้กันดีว่าเรือนจำไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก กลายเป็นปัญหา ‘คนล้นคุก’ ทั้งจากการใช้โทษจำคุกเกินความจำเป็น และการกระทำความผิดซ้ำที่ทำให้อดีตผู้ต้องขังกลับมาสู่สถานะเดิมอยู่เรื่อยไป
เป็นที่น่าครุ่นคิดว่าเราควรมองการแก้ปัญหาผู้กระทำความผิดไม่ใช่แค่บทลงโทษเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า แต่อาจต้องมองให้ลึกถึงสภาพความเป็นอยู่ที่จะไม่ฟูมฟักให้เกิดแหล่งมั่วสุมภายใน ข้อจำกัดของผู้คุมกับผู้ต้องขังที่มีจำนวนไม่เพียงพอ และมาตรการให้ผู้ต้องขังสามารถกลับสู่สังคมได้อีกครั้ง รวมถึงการจะแก้ไขผู้กระทำความผิดซ้ำอาจต้องสืบสาวกลับไปถึงการแก้ปัญหาระบบโครงสร้างชุมชน เพราะหากผู้ต้องขังกลับออกไปแล้วอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม เรือนจำก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย
นับเป็นปัญหาที่มีมิติทางสังคมซ้อนทับอยู่หลายชั้น และต้องพึ่งพาสิ่งที่อยู่ภายนอกร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือสาธารณสุข เพราะชีวิตนักโทษหลังเรือนจำจะไม่ใช่หน้าที่ของเรือนจำอีกต่อไป
คุกควรเป็นพื้นที่สั่งสอนหรือทบทวนให้เห็นโอกาส
เมื่อจินตนาการถึงภาพของคุก สิ่งที่ปรากฏในหัวยังคงเป็นกำแพงสูง ลวดหนาม ลูกกรง โซ่ตรวน ไม้กระบอง และบรรยากาศหม่นมัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตในเรือนจำเต็มไปด้วยความทุกข์ ความสิ้นหวัง ความตาย ความรุนแรง ไปจนถึงความฝันที่ดับสูญ ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
แทนที่ผู้ต้องขังจะได้ใช้เวลาคิดทบทวนพิจารณาถึงความผิดที่ก่อไว้ พวกเขากลับต้องคิดถึงแต่การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดไปในแต่ละวัน จนกลายเป็นเสมือนการต่อสู้กับสภาพแวดล้อมข้างในและกำแพงที่ขังพวกเขาไว้
“ฝันกูอยู่ในนี้หมดแล้วว่ะเพื่อน…กูให้มึงห้าปี เดี๋ยวมึงก็รู้ว่าโดนขังไปพร้อมกับความฝันมันเป็นยังไง” เป็นคำพูดที่เผือกได้รับจากกอล์ฟเมื่อถามถึงเรื่องความฝันและสิ่งที่อยากทำในชีวิตภายนอก
ทว่าจากสิ่งที่ตัวละครประสบพบเจอหลังลูกกรง นำไปสู่การไม่มีฝันและความยากลำบากในการกลับตัวเข้าสู่สังคมอีกครั้ง สุดท้ายก็กระทำความผิดซ้ำอีก ยิ่งเมื่อมองชะตากรรมของเผือกที่แม่เสียชีวิตไปในระหว่างที่ตัวเขาอยู่ในเรือนจำ ถูกคนรักทอดทิ้งเพราะตนเสียอนาคต และสภาพความเป็นอยู่ดั้งเดิมที่ไม่สุขสบาย ก็ยิ่งเห็นแต่ความดำมืด
คนที่ออกจากคุกไปแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำนั้นส่วนใหญ่ต้องมีเงิน มีงาน มีคนรัก มีสังคมที่เอื้อและยอมรับ จึงเห็นคุณค่าของตัวเอง แต่เผือกกลับเป็นคนที่ไม่เหลือสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยวเลย เขากลายเป็นคนที่ความฝันดับสูญและเหลือเพียงชีวิตที่อยู่ในคุกเท่านั้น การดิ้นรนคือสิ่งสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่สำหรับเผือก ไม่ว่าจะอยู่หรือตาย หรือต้องลงมือฆ่าใครอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป เพราะสุดท้ายทางเลือกก็มีเหลืออยู่เท่านั้น
ความเจ็บปวดลักษณะนี้ปรากฏอยู่แม้แต่ในภาพของคุกที่นักโทษดูมีสภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างในภาพยนตร์ The Shawshank Redemption (1994) หนึ่งในฉากสำคัญอันตราตรึงใจผู้ชมคือคำว่า ‘BROOKS WAS HERE’ ที่ถูกสลักไว้โดยตัวละคร Brooks นักโทษเฒ่าที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อเวลาผ่านไปอย่างยาวนาน
เมื่อเขาได้ออกมาใช้ชีวิตภายนอกอย่างอิสรเสรี แทนที่จะได้พบกับความสุขของชีวิตที่เหลืออยู่ เขากลับมีชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมาย ไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อีก เพราะทั้งชีวิตของเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำไปเสียแล้ว เขาจึงตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองพร้อมสลักข้อความดังกล่าวไว้ในห้องพักของตน เป็นเครื่องตอกย้ำที่ว่า คุกไม่เพียงแต่พรากอิสรภาพแต่ยังพรากการใช้ชีวิตไปอีกด้วย และการกลับสู่โลกภายนอกโดยไร้ซึ่งความฝันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“เราไม่ควรตัดสินชาติใดเลยจากการที่ชาตินั้นปฏิบัติกับสมาชิกระดับสูงสุดของชาติ แต่เราควรตัดสินชาติต่างๆ จากการปฏิบัติกับสมาชิกที่ต่ำสุดมากกว่า”
กล่าวโดย ‘เนลสัน แมนเดลา’ อดีตนักโทษทางการเมืองผู้ถูกจองจำนานถึง 27 ปี ก่อนกลายเป็นประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้ จากคำกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าสภาพคุกคือเครื่องวัดความก้าวหน้าและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของสังคมนั้นๆ และยังแสดงถึงการทลายภาพจำของคนที่เคยมีชีวิตในเรือนจำว่า ทุกคนยังคงมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างที่ใครก็คาดไม่ถึงเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่า ‘คุก’ จะเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจถึงความทุกข์ที่จะต้องได้รับเมื่อกระทำความผิดสำหรับสุจริตชนทั่วไป แต่สำหรับผู้ต้องขัง มันควรเป็นสถานที่ให้พวกเขาได้สำนึกถึงสิ่งที่ตนได้ก่อ และรอวันที่จะกลับตัวกลับใจเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ให้กลับไปทำสิ่งเหล่านั้นอีก มากเสียกว่าจะเป็นบทลงโทษอย่างสาสมจนทำให้คนที่เข้าไปไม่เหลือประกายในการมีชีวิตอยู่
หลังจากชมภาพยนตร์ วัยหนุ่ม 2544 หลายคนอาจจะได้รับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ภายหลังกำแพงคุกที่มอบความรู้สึกหดหู่ โหดร้าย และน่าสลดใจ แม้ว่าสิ่งที่ผู้กำกับ พุฒิพงษ์ นาคทอง นำเสนอจะเป็นเพียงแค่การตามติดชีวิตของคนคนหนึ่งที่ทำผิดพลาด จนชีวิตพลิกผันนำไปสู่การทิ้งชีวิตทั้งชีวิตไว้ในช่วงวัยหนุ่มและเรือนจำวัยหนุ่มแห่งนี้
แม้จะไม่ได้ทิ้งข้อความบอกกล่าวอะไรไว้เป็นบทพูดอธิบายชัดเจน แต่สารที่ถ่ายทอดออกมาผ่านบรรยากาศความเป็นอยู่ของนักแสดงหลัก สถานที่ถ่ายทำ และบรรดานักแสดงประกอบที่เป็นอดีตผู้ต้องขังทั้งหลาย ก็พอมีส่วนช่วยให้ผู้ชมฉุกคิดถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเรือนจำไม่มากก็น้อย
ภาพความโหดร้ายที่ชวนให้คนหวาดกลัวต่อเรือนจำ หรือความรู้สึกสะใจกับชะตากรรมที่ผู้กระทำผิดได้รับ อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปลายยอดน้ำแข็ง ที่จริงๆ แล้วยังมีปัญหาอีกมากมายที่จะมองเห็นได้ด้วยสายตาที่มีความเห็นใจในมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น
Sources :
BBC | t.ly/1EYQb
Thailand Institute of Justice | t.ly/jgca0
The101.world | t.ly/acqwY, t.ly/IOyF0
กระทรวงยุติธรรม | www.moj.go.th/view/62180