‘ลภ เวลาเย็น’ ผู้จัดงานดนตรีที่อยากชวนทุกคนไปฟังเพลงกันซักแดด - Urban Creature

ดนตรีมีหลากหลายแนวเพลง รูปแบบการเล่นดนตรีก็แตกต่าง การแสดงดนตรีย่อมไม่เหมือนกัน ในร้านเหล้า ผับ บาร์ คาเฟ่เป็นแบบหนึ่ง บนเวทีคอนเสิร์ต ในพื้นที่สาธารณะเป็นอีกแบบหนึ่ง ในงานตลาดนัดหรือเทศกาลดนตรีก็อีกแบบหนึ่ง ต่างรสนิยมและความสุนทรีย์ เป็นปัจเจก ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเลือกแบบไหน ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ ในประเทศไทยมีทางเลือกในการฟังเพลง ดูดนตรีกันสักกี่รูปแบบ

จากผลกระทบของโรคระบาด ทำให้สองสามปีที่ผ่านมารูปแบบการจัดงานดนตรีต้องปรับเปลี่ยน ลดขนาด เว้นระยะห่าง ไม่แออัด ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้นึกถึง ‘ซักแดด’ 

ซักแดดคืองานดนตรีที่ใช้พื้นที่ในจังหวัดราชบุรีเป็นที่จัดงาน บริหารโดยทีมผู้จัดงานชื่อ ‘เวลาเย็น (Velayen)’ โดยมี ลภ-วัลลภ แก้วพ่วง เป็นหัวหน้าแก๊ง เขาเล่าว่า ซักแดดเกิดขึ้นมาพร้อมการปรับตัวในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่หลังโรคระบาดมาเยือน

ลภ-วัลลภ แก้วพ่วง

เวลาเย็นกับการชวนไปซักแดด

ก่อนจะไปฟังเรื่องของซักแดด เราอยากพาไปรู้จักกับหัวหน้าแก๊งเวลาเย็นกันก่อนสักนิด

ลภเป็นคนบางแพ จังหวัดราชบุรี เรียนประถมฯ ต่อมัธยมฯ แถวบ้านได้ปีเดียว ก็เปลี่ยนมาต่อเทคนิคฯ ช่างไฟ ที่โพธาราม กระทั่งปี 2546 เขาก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่เทคนิคกรุงเทพฯ จนเรียนจบออกมาใช้วิชาช่างไฟสร้างตัวอยู่ในเมืองหลวงราว 15 ปี ก่อนเปิดบริษัทรับเหมาเป็นของตัวเอง และตัดสินใจวางแผนกลับไปอยู่บ้านอีกครั้ง

ปี 2561 เขากลับไปอยู่บ้านที่ราชบุรี เปิดร้านชื่อ ‘เวลาเย็น’ ที่โพธาราม เป็นคาเฟ่กึ่งบาร์ และมีห้องพัก ลภเล่าว่าเวลาเย็นเป็นรอยต่อให้เขาได้รู้จักกับเครือข่ายคนดนตรีจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนงานที่ทำกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดงานดนตรี ทำให้ชื่อของเวลาเย็น เหมือนเป็นตัวแทนหัวเมืองดนตรีฝั่งราชบุรีที่เปิดพื้นที่ต้อนรับคนดนตรีให้มาแสดงผลงาน 

สองปีถัดจากนั้น ลภย้ายทำเลไปเปิด ‘เวลาเย็น’ ในตัวเมืองราชบุรี จนคนในและนอกพื้นที่เริ่มรู้จัก อยากแวะมาเยือนมากขึ้น เรียกได้ว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวย จนสุดท้ายโควิดก็พัดพาความซวยมาให้ 

แต่ในความโชคร้ายอาจมีแสงสว่างอยู่บ้าง เพราะช่วงเวลาดำมืดนั้นทำให้เกิดงานดนตรีชื่อ ‘ซักแดด’ ขึ้นมา

“ด้วยความที่เราเป็นสายแคมป์ปิงอยู่แล้วเลยชอบเที่ยวไปเรื่อย ขับรถยนต์ไปจอดที่ที่ถูกใจ พกเบียร์ ยกเตาปิกนิก เอาเก้าอี้แคมป์ไปนั่งเล่น ใจความสำคัญคือ เลิกจากงานแล้วอยากไปนั่งดูพระอาทิตย์ตก 

“วันหนึ่งน้องในแก๊งมาถามว่า ‘ซักแดดมั้ยล่ะพี่!’ คำว่าซักแดดมันแปลว่าเจอกันหรือใช้เวลาร่วมกันซักหนึ่งแดดช่วงเย็นก่อนพระอาทิตย์จะตก พอเจอกันซักแดดมั้ยล่ะบ่อยขึ้น ก็เริ่มหิ้วถังเบียร์ ถังน้ำแข็ง หยิบกีตาร์ เครื่องแปลงไฟ หิ้วตู้แอมป์ไปด้วย เอ้า! จัดงานได้นี่หว่า

“มันเลยกลายเป็นคอนเซปต์ของงานซักแดด ไปนั่งดูพระอาทิตย์ตกกันจริงๆ จังๆ และมีดนตรีเป็นตัวประกอบ พอถึงเวลาพระอาทิตย์ตก เราก็บอกให้ศิลปินเบรกเลย แล้วหันหลังกลับไปใช้เวลาเงียบๆ ดูพระอาทิตย์กัน เพราะพระอาทิตย์มันตกอยู่ทุกวัน คุณเคยตั้งใจดูมันตกจริงๆ วันไหนบ้าง พอพระอาทิตย์ตกแล้ว สบายใจดีเนอะ เก็บของกลับบ้าน จบ” ลภเล่าด้วยรอยยิ้ม

งานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง

งานดนตรีที่สะดวก สะอาด สบาย

จากประสบการณ์ที่เราเคยไปร่วมงานมา พอจะอธิบายได้ว่าซักแดดเป็นงานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง เคลื่อนพลง่ายๆ ใช้ทรัพยากรน้อย จะพกเก้าอี้ เครื่องดื่ม ถังน้ำแข็ง หรือจะไปตัวเปล่าก็ยังได้ จัดงานในพื้นที่ที่โล่งกว้าง ไม่แออัด มีพื้นที่เว้นระยะห่างให้ได้หายใจทั่วถึง อยากอยู่เฉยๆ หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นก็ได้ เป็นงานดนตรีที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ไม่ต้องกลับดึกเสี่ยงอันตรายจากการเดินทาง

ความพิเศษอีกอย่างคือ ทุกที่เป็นเวทีได้ โดยใช้แค่แอมป์อะคูสติกขนาดพกพาสองตัวจั๊มไฟกับแบตเตอรี่รถยนต์ เพื่อเป็นเครื่องขยายเสียงที่แค่ดังพอให้ทุกคนในงานได้ยินถึงกัน มีความเป็นส่วนตัว ไม่รบกวนผู้อื่น 

“เราแค่คิดว่าวิธีการใดที่จะทำให้คนดูอยู่กับธรรมชาติได้มากที่สุด เลยตั้งใจให้ทุกคนเป็นผู้จัดงาน เป็นผู้เก็บขยะร่วมกัน เราจะประชาสัมพันธ์ในงานตลอดว่าบุหรี่หนึ่งมวนคุณห้ามทิ้ง กระป๋องเบียร์ซื้อมากินเสร็จเก็บกลับด้วย หลังจบงานก็ไม่มีขยะทิ้งไว้ให้เห็น”

นอนงานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง

ทุกที่คืองานดนตรีครั้งแรก

ฉากของภูเขาที่เรียงราย ผืนน้ำสีเดียวกับท้องฟ้า ทุ่งหญ้าสีทอง และเสียงเพลงที่ชอบจากวงดนตรีที่รัก ผู้ร่วมงาน ‘ซักแดด’ จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของการแสดงดนตรีในการนิ่งเงียบ นั่งมองพระอาทิตย์คล้อยลงดิน เรียบง่ายไม่วุ่นวาย

ในแต่ละพื้นที่ที่ ‘ซักแดด’ เลือกไปจัดงาน ล้วนมีเงื่อนไขเป็นความธรรมดาที่พิเศษทุกครั้ง เพราะเจ้าถิ่นเด็กราชบุรีอย่างลภย่อมรู้ดีว่าความสวยงามแบบไหนที่อยากนำเสนอให้ทุกคนได้ไปสัมผัส ยกตัวอย่าง ริมอ่างเก็บน้ำห่างจากตัวเมืองราชบุรีที่ใช้เวลาเดินทางครึ่งชั่วโมง หรือเหมืองแร่เก่าแห่งหนึ่งในจังหวัดที่คนนอกพื้นที่ไม่เคยเห็น พูดง่ายๆ ว่าแต่ละพื้นที่ล้วนไม่เคยมีใครเคยใช้เป็นที่จัดดนตรีมาก่อน 

ทุกครั้งที่สถานที่หลากหลายเหล่านั้นถูกประดับด้วยเสียงเพลง ผู้คน และกิจกรรม สถานที่ที่ว่างเปล่าไร้การใช้งานนั้นก็กลายเป็นแบ็กกราวนด์ที่เหมาะสมลงตัว

“ทำไมคนต้องฟังเพลงแค่ในร้านเหล้า เด็กอายุสิบแปดจะดูดนตรีก็ดูไม่ได้ ทำไมต้องรอให้เขาโต ทำไมเราไม่สามารถเอาดนตรีป้อนให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก  การที่ใครสักคนจะเป็นนักดนตรีก็ต้องได้รับอิทธิพลพวกนี้ด้วยหรือเปล่า อย่าไปรอให้เขาโตแล้วค่อยมาฟังเลย 

“เราคิดว่าดนตรีต้องไม่จำกัดสถานที่และอายุ ต้องเปิดกว้าง อย่างงานเรามีพ่อแม่เอาลูกไปแคมป์ปิง โคตรน่ารักเลย แล้วไม่มีใครสูบบุหรี่ในพื้นที่การแสดง เราเองก็ไม่ขายเหล้าเบียร์ ใครอยากกินก็ซื้อกันมาเอง หรือจะเอากับข้าวมาแคมป์ปิงก็แล้วแต่คุณ กินเสร็จเก็บด้วย ง่ายๆ ไม่ต้องมีสเตจ ไลต์ติง หรือสโมก ปล่อยให้ธรรมชาติทำงาน

ภูเขางานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง
รถโฟลค์งานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง

“เรามองว่างานที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้คืองานศิลปะที่แท้จริง เพราะศิลปะไม่ควรถูกจำกัดอยู่ในกรอบ หลายๆ คนต้องเข้าถึงได้ ดูอย่างหอศิลปกรุงเทพฯ จะโดนปิดเพราะไม่มีตังค์จ่ายค่าเช่า เศร้ามั้ยล่ะ ไม่โกรธนายกฯ ไหวเหรอ สถานที่มันหล่อเลี้ยงคนตั้งเท่าไหร่ ที่จริงหอศิลป์ควรมีทุกเขต ทุกจังหวัดด้วยซ้ำ ยิ่งจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญยิ่งต้องทำหอศิลป์ให้ใหญ่ ทำเป็นสเปซที่ขายผักหรือตลาดขายปลาก็ยังได้ ให้เห็นว่าวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มันก็คือศิลปะ” 

ไม่ต่างกัน เราเองก็คิดว่าการจัดงานดนตรีน่าจะมีได้หลากรูปแบบหลายสถานที่ เพื่อรองรับทางเลือกที่มากขึ้นในแนวเพลงที่ต่างสไตล์กัน บางวงดนตรีใช้เนื้อหาและท่วงทำนองเพื่อสื่อสาร อาจไม่เหมาะที่จะเล่นในร้านอาหารหรือผับ บางศิลปินที่ยังเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่ม ก็ควรได้มีพื้นที่ที่พอดีกับรูปแบบโชว์ของพวกเขา โดยไม่ต้องรอเล่นบนเวทีเล็กจิ๋วในเทศกาลดนตรี เป็นต้น

การมีพื้นที่หรือสถานที่ที่หลากหลายให้ได้จัดงานดนตรีแตกต่างรูปแบบ ย่อมเปิดประสบการณ์ให้ทั้งผู้เล่นดนตรี ผู้ฟัง รวมถึงผู้จัดงาน จะได้สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่และเป็นคุณค่าได้อีกมากในอนาคต

ลภ-วัลลภ แก้วพ่วง

งานดนตรีที่ไม่มีสปอนเซอร์

ลภเล่าให้เราฟังถึงสถิติของคนที่มางานดนตรีซักแดดว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ และนครปฐม ส่วนคนในท้องถิ่นมีน้อยนิดและส่วนมากเป็นทีมงาน 

พอถามว่างานซักแดดมีสปอนเซอร์ในการจัดงานหรือไม่ เขาปฏิเสธแล้วเล่าว่าใช้วิธีคิดราคาบัตรจากค่าตัวของศิลปินหรือวงดนตรีที่ชวนมาเล่น โดยราคาบัตรมีตั้งแต่ 200 บาทไปจนถึง 1,000 บาท 

“เราอยากได้สปอนเซอร์ที่มีภาพจำไปทางเดียวกับภาพงาน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นโปรโมเตอร์ที่ต้องมีรูปเสือกับสิงโตในงาน การจัดงานดนตรีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งถูกปลูกฝังให้ต้องทำตามรูปแบบเดียวกันมานาน จัดงานแล้วต้องมีบูท เปิดไฟสว่าง มีตุ๊กตาลมบึ้มบั้มๆ ซึ่งเอาจริงเราไม่ได้แอนตี้อะไรแบบนี้  แต่รูปแบบงานเราไม่ได้ดีไซน์ไว้สำหรับการจัดงานแบบนั้นอย่างเดียว งานเราเน้นสะอาด ที่หมายถึงไม่ได้มีอะไรเยอะแยะ สถานที่ก็สวยอยู่แล้ว ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นเถอะ 

“แต่ถ้าสปอนเซอร์เปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับงานเราได้ มาอยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบที่มันเป็น ก็ยินดีทำงานร่วมกัน ทุกวันนี้เราได้ทำงานกับเด็กยุคใหม่ที่เป็นเด็กมีหัวคิด ฉลาดในการสร้างสรรค์ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามการทำงานกับเด็ก ถ้าไปยึดติดแต่วิธีการเดิมๆ ก็เชยปะวะ”

ลภบอกว่าไอเดียวิธีการจัดงานอีกรูปแบบที่กลุ่มรุ่นพี่นักดนตรีแนะนำต่อๆ กันมา คือวิธีหารกัน ใครอยากดูวงไหนก็ลงขันกันเป็นผู้จัดร่วม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนต้นทุน เช่น ค่าเครื่องเสียง ค่าสถานที่ ค่าตัวนักดนตรี ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ 

“ให้ทุกคนช่วยกันหาสถานที่ในการจัดงานดนตรี และต้องให้ทุกคนรับรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่าเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ สมมติต้องใช้เงินทั้งหมดหนึ่งแสนบาท อยากได้ร้อยคนมาร่วมงานก็เก็บค่าบัตรใบละพัน เอามั้ย ถ้าเอาก็ลงชื่อ ลงชื่อครบร้อยคน งานก็จัด”

งานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง

งานดนตรีที่ไหนก็ได้

พอสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย เวลาเย็นก็ได้รับการตอบรับที่ดีกว่าเดิม และได้จัดงานซักแดดมากขึ้น ทางทีมตั้งเป้าหมายว่าจะจัดซักแดดให้ได้เดือนละครั้ง โดยจุดประสงค์หลักของลภคืออยากพาตัวเองไปเที่ยวทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับศิลปินที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคที่เดินทางไป เพื่อให้ได้นั่งดูพระอาทิตย์ตกแต่ละที่ที่มีความสวยงามแตกต่างกัน 

“ซักแดดมันไม่ควรถูกจำกัดให้อยู่แค่ในราชบุรี เราต้องไปให้ทั่วประเทศ เพราะเพื่อนเราเยอะ อย่างที่จังหวัดภูเก็ต จัดงานบนพื้นที่อุทยานฯ เขาห้ามใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ใช้ แค่กระชับพื้นที่ให้คนมาอยู่ใกล้กันมากขึ้น ตอนนั้นไม่ได้เก็บเงินค่าบัตร มีคนมานั่งฟังเพลงห้าสิบหกสิบคน แบ็กกราวนด์เป็นพระอาทิตย์ตก เด็กข้างหลังกระโดดเล่นน้ำกันเป็นวิถีชีวิตปกติ  

“เคยจัดงานแถวปราณบุรี เห็นสถานที่แล้วสวยมาก เป็นหาดแบบที่ไม่ใช่หัวหินหรือชะอำ ฉากหลังเป็นปากอ่าว ข้างหลังศิลปินที่นั่งเล่นดนตรีอยู่เป็นภาพเรือประมงแล่นผ่าน ทิวทัศน์ดี มีเสียงเพลงมาบรรเลงประกอบ” เขาเปิดโทรศัพท์มือถืออวดรูปบรรยากาศงานของซักแดดออนทัวร์

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ลภได้เปิดพื้นที่ที่เขามีให้คนดนตรีได้มาใช้แสดงผลงานอยู่เสมอ นอกจากไลน์อัปศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว เขายังเปิดโอกาสให้วงดนตรีหน้าใหม่ที่น่าสนใจมาร่วมงานด้วย ทั้งยังตั้งใจชักชวนทุกคนฟังดนตรีที่ชอบในรูปแบบการจัดงานดนตรีที่มีบรรยากาศแปลกใหม่ และปลูกฝังวัฒนธรรมการตั้งใจฟังเพลง ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น ซึ่งการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดงานแบบนี้ ทำให้ทั้งศิลปิน ผู้ชม รวมถึงผู้จัดงาน ต่างอิ่มเอมใจในช่วงเวลาที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ

งานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง
งานดนตรีสไตล์แคมป์ปิง

อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เกิดจากความตั้งใจของลภ และเราอยากชวนทุกคนติดตามมากๆ คือ ‘Melody from nowhere’ ที่เป็นการจับมือทำงานร่วมกันของเขา และ ‘ตูน Stoondio’ ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลง ผู้เห็นตรงกันว่าอยากผลักดันให้การจัดงานดนตรีและศิลปะนั้นเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ และคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ 

Melody from nowhere คือชื่อที่ทั้งคู่เห็นตรงกันในความหมายที่เชื่อว่า ‘เสียงดนตรีอยู่ที่ไหนก็ได้’ อย่างงานแรกจัดที่ ‘Moldna Club’ กับคอนเซปต์งาน ‘Mold Your Mind’ ที่พาทุกคนไปชมดนตรี 3 แนวในลานสเก็ตบอร์ด พร้อมประติมากรปั้นเซรามิกที่จะเนรมิตผลงานไปตามจังหวะเสียงเพลง ทว่าหลังจากนี้จะจัดงานที่ไหน มีคอนเซปต์ยังไงอีก คงต้องติดตามกันต่อไป

ลภ-วัลลภ แก้วพ่วง

งานดนตรีที่ดีฉบับเวลาเย็น

นับเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้วตั้งแต่ลภตัดสินใจกลับบ้านมาเปิดร้านเวลาเย็น จัดงานดนตรีในบ้าน จนมาถึงทำซักแดด และโปรเจกต์ใหม่ แม้ระยะเวลาจะดูไม่นานนัก แต่เบื้องหลังการทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นมาตลอดของเขานั่นช่างยาวนานกว่ามาก

“ถ้าสิ่งที่เราคิดมันมีคนเห็นมากขึ้น สามารถเล่าอะไรสักอย่างไปถึงใครหลายๆ คนได้ ก็น่าจะเหมือนหนังสือสักเล่มที่ถ้ามีคนอ่านเยอะ พวกเขาก็จะได้รู้มากขึ้นว่าเนื้อหาข้างในไม่ได้มีแค่มุมเดียวหรือมิติเดียว 

“มูลค่าที่เป็นตัวเงินไม่น่าใช่เหตุผลสำคัญ ทุกคนต่างมีเป้าหมายในการทำงาน บางคนอยากทำงานเพื่อสนองความต้องการ บางคนทำงานเพื่อกระตุ้นเตือนใครสักคน บางคนทำงานเพื่อส่งอาจารย์ หรือบางคนทำงานหาเงิน เราทำงานมาหลายปี ปีนี้เหมือนสิ่งที่ทำได้ผลิดอกออกผล เรากำลังมีความสุขกับสิ่งนี้ ทุกคนเริ่มเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ มีคนพอรู้ว่าถ้างานแบบนี้เราต้องเป็นคนทำแน่ๆ

“ทางที่เดินผ่านมา เราไม่เคยโฟกัสปลายทางเลยว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แค่เห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากงานที่ทำ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรายังทำงานเพื่อปากท้องและทำงานบนความสุขของตัวเอง

“ปากท้องสำคัญที่สุด แต่จิตวิญญาณก็ทิ้งไม่ได้ เราเป็นมนุษย์ ต้องไม่ทิ้งจิตวิญญาณ ทุกการจัดงานของเวลาเย็น ไม่ใช่การหลอกขาย เราทำให้ผู้ฟังมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อไหร่ที่เวลาเย็นจัดงานขอให้เชื่อเถอะว่ามันคือของดี”

ในโมงยามที่พระอาทิตย์ตกดินต่างกันไปไม่ซ้ำวัน แต่ระยะเวลาแสนสั้นเช่นนี้ทำให้เห็นภาพตรงหน้าชัดเจนขึ้น จากบทสนทนาในเวลาเย็นวันนี้ ทำให้เรารู้ว่าพระอาทิตย์ตกมองจากที่ไหนก็ได้ถ้าตั้งใจมอง เหมือนที่ลภเชื่อว่า ‘ดนตรีอยู่ที่ไหนก็ได้ถ้าคนตั้งใจฟัง’

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.