ธีสิสฟื้นฟูเมืองหาดใหญ่ สร้างย่านเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่เดิม - Urban Creature

‘หาดใหญ่’ เปรียบเสมือนเมืองหลวงของภาคใต้ที่มีพหุวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย เนื่องด้วยเป็นชุมทางรถไฟสายใต้ที่มีพื้นที่ติดต่อค้าขายกับประเทศมาเลเซีย

แต่ปัจจุบันเมืองท่าแห่งนี้กลับเงียบเหงากว่าอดีตมาก หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีการปิดพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ ‘เกรท-กมลฉัตร ชื่นจิตต์ศิริ’ อดีตนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เกิดและเติบโตในพื้นที่หาดใหญ่ ตัดสินใจทำธีสิส ‘Urban Regeneration of Hat Yai Inner City’ ออกแบบพื้นที่ไฮไลต์ในตัวเมืองหาดใหญ่ใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในบ้านเกิดให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

คอลัมน์ Debut ชวนทุกคนนั่งรถไฟลงใต้ ไปสำรวจความเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ผ่านธีสิสของลูกหลานหาดใหญ่คนนี้กัน

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City
Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูของหาดใหญ่

“เราโตมากับหาดใหญ่ พอได้ทำธีสิสเลยเลือกพื้นที่ตรงนี้มาพัฒนา เพราะเห็นว่าปัจจุบันตัวเมืองค่อนข้างเงียบเหงา ซึ่งเรามองว่าหาดใหญ่สามารถไปได้ไกลกว่านี้” เกรทเล่าถึงความตั้งใจในการทำธีสิส โดยยึดจากปัญหาที่พบในบ้านเกิดของเธอเอง

เดิมทีหาดใหญ่ได้รับความเจริญจากการเข้ามาของ ‘สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่’ ที่แบ่งการเดินทางแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก และปลายทางเมืองบัตเตอร์เวิร์ท ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีท่าอากาศยานหาดใหญ่ ที่ทำให้เมืองนี้มีบทบาทเป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางการเดินทาง ควบตำแหน่งเมืองการค้าที่สำคัญเนื่องจากติดกับชายแดน แหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนคนไทย จีน และมุสลิม ที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่

มากไปกว่านั้น ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ยังมีการวางแผนสร้างระบบ ‘รถไฟฟ้ารางเดี่ยว’ (Monorail) ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอหาดใหญ่ในตัวเมืองเพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับคนในพื้นที่

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

เพื่อให้สอดคล้องไปกับการคมนาคมที่กำลังรอการอนุมัติภายในปีนี้และอาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต เกรทจึงเลือกพัฒนาเมืองหาดใหญ่โดยเริ่มจากจุดศูนย์กลาง ‘สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่’ ที่จะกลายเป็นฮับในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างผู้คนที่เดินทางโดยรถไฟ รถไฟฟ้า สนามบิน และขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยหลักของ ‘New Old CBD (Central Business District)’ ที่เป็นการนำย่านเศรษฐกิจเดิมมาออกแบบและปรับเปลี่ยนโครงสร้างจนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่

การออกแบบที่เปลี่ยนแปลงหาดใหญ่

การเปลี่ยนแปลงเมืองหาดใหญ่ในธีสิสของเกรท เริ่มจากการแบ่งพื้นที่การพัฒนาเป็น 3 โซน เพื่อแก้ไขปัญหาเมืองและรองรับโครงสร้างอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

“เรามองว่าการพัฒนาพื้นที่ควรทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสามส่วนหลักๆ คือ รองรับการเดินทางที่จะเข้ามาในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคปัจจุบัน และสุดท้ายคือการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น” เกรทอธิบายการพัฒนาสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่และพื้นที่โดยรอบเพื่อรองรับการเดินทางเข้ามายังพื้นที่และการฟื้นฟูมูลค่าทางเศรษฐกิจ

แผนการพัฒนา 3 พื้นที่ที่เกรทนำมาใช้ในการออกแบบประกอบด้วย

1) บริเวณสถานีรถไฟ

พัฒนาสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ด้วยการยกระดับทางรถไฟจากเดิมที่อยู่ในแนวระนาบให้เป็นรถไฟลอยฟ้า ทำให้สามารถผสานพื้นที่เมืองทั้งสองฝั่งที่ขนานกับทางรถไฟ เป็นการเพิ่มพื้นที่การใช้สอยให้กับผู้คน

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

นอกจากนี้ยังรวมการจัดการระบบขนส่งสาธารณะหน้าสถานีให้มีความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟที่จะต่อรถบัสไปในเมือง ไปจังหวัดรอบข้าง หรือผู้เดินทางไปยังสนามบิน ให้อยู่ในจุดเดียวกันทั้งหมด และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยทั้งการสร้างห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ โรงแรม และพิพิธภัณฑ์ ให้สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้ในแบบฉบับของตัวเอง

ในขณะเดียวกัน แม้สถานีรถไฟจะถูกสร้างใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งการออกแบบหน้าจั่วของสถานีรถไฟเดิม ในส่วนพิพิธภัณฑ์ที่อยู่หน้าสถานีมีการเพิ่มเติมจุดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม ‘หัวเรือกอและ’ เพื่อสื่อถึงความเป็นภาคใต้ที่มากขึ้น 

ทั้งนี้ยังมีการออกแบบให้มีจุดสำหรับเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟรางเดี่ยวที่จะสร้างขึ้นในอนาคต เพื่อเพิ่มเติมความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว และลดอุปสรรคในการเดินทางมายังพื้นที่

2) บริเวณตลาดกิมหยง

เนื่องจาก ‘ตลาดกิมหยง’ เป็นจุดขายส่งอาหารแห้งและผลไม้ เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เกาลัด ถั่วชนิดต่างๆ สินค้านำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ผลไม้ ดอกไม้ ของใช้อื่นๆ ที่สำคัญของหาดใหญ่ ทำให้สถานที่แห่งนี้มีผู้คนพลุกพล่านและการจราจรที่หนาแน่น

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

เพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวและผู้ค้าจากหลายพื้นที่ เกรทจึงวางระบบจัดระเบียบและพัฒนาพื้นที่ โดยแบ่งอาคารของสดและของแห้งออกจากกัน พร้อมทั้งจัดระเบียบที่จอดรถและระบบขนส่งสำหรับผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอย

และเพราะการรักษาเสน่ห์ของพื้นที่เดิมก็สำคัญไม่แพ้กัน เกรทจึงนำสีจากร่มกันแดดของแม่ค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดกิมหยงมาใช้กำหนดสีสันใหม่ของตัวตลาด และออกแบบฟาซาดของตลาดกิมหยงที่สร้างใหม่ ฟาซาดและสีมีการถอดองค์ประกอบจากตึกชิโน-ยูโรเปียน เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมอัตลักษณ์ต่อตัวอาคาร พร้อมทั้งสร้างสกายวอร์กสำหรับเชื่อมพื้นที่ตลาดเข้ากับสถานีรถไฟ เพื่อให้การเดินสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น

3) บริเวณตึกแถวเก่า ย่านถนนนิพัทธ์อุทิศ

ตึกแถวเก่าย่านถนนนิพัทธ์อุทิศเป็นพื้นที่สุดท้ายที่เกรทให้ความสนใจ เนื่องจากตึกแถวเก่าที่ตั้งเลียบไปกับสถานีรถไฟนั้น ปัจจุบันมีราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ขาดผู้เช่าใช้งาน

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นอาคารแห่งแรกของหาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นตึกแถวเรียงกัน 9 ห้องบนถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ที่ตัดกับทางไปสถานีรถไฟ เป็นสถาปัตยกรรมแบบ ‘ชิโน-ยูโรเปียน’ ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีนและยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งถือเป็นมรดกทางพหุวัฒนธรรมของการค้าขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับอาณานิคมตะวันตก

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

ด้วยเอกลักษณ์ของตัวถนนที่เป็นบล็อก ทำให้เกรทเลือกปรับทัศนียภาพด้วยการเจาะตึกเชื่อมถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 จากสถานีรถไฟมายังถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ที่อยู่ขนานกันในอีกฟากของตึก และหยิบเอาสีสันเก่าจากตัวตึกทั้ง 4 สี ได้แก่ สีเขียว สีส้ม สีเหลือง และสีน้ำเงิน เพื่อสร้างภาพจำที่ชัดเจนของถนน โดยจะมีการพูดคุยกับภาครัฐให้เพิ่มกิจกรรมบริเวณตึกเพื่อดึงดูดผู้คนให้มาใช้งานพื้นที่มากขึ้น

นอกจากนี้ เกรทยังปรับเปลี่ยนทัศนียภาพบริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ซึ่งเป็นเส้นทางที่มุ่งตรงไปยังตลาดกิมหยง ด้วยการขยายทางเท้า เพิ่มร้านค้า คาเฟ่ รวมไปถึงห้องสมุดและ Co-working Space ที่เปิดให้บริการเพื่อดึงดูดวัยรุ่นในพื้นที่

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

ส่วนการออกแบบสตรีทเฟอร์นิเจอร์ (Street Furniture) ได้ถอดองค์ประกอบของถั่วชนิดต่างๆ ที่เป็นของขึ้นชื่อจากตลาดกิมหยง มาออกแบบม้านั่งให้มีรูปทรงอ้วน โค้งเว้า เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และสร้างการสื่อสารทิศทางภายในเมืองด้วยลวดลายเหล็กดัดที่ต่างกันของเสาไฟฟ้าในทางฝั่งเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากส่วนหัวเรือกอและ เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวสงขลา

ธีสิสฟื้นฟูหาดใหญ่ที่ต้องการเชื่อมโยงผู้คนและเมืองเข้าด้วยกัน

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

มองเผินๆ ธีสิสของเกรทอาจดูเหมือนการเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่เดิมเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน เธอยังคงให้ความสำคัญกับคนดั้งเดิมในพื้นที่ด้วย

“เรามีการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ว่าพวกเขาต้องการอะไรบ้าง ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่อยากให้มีพื้นที่ค้าขายและพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น” เกรทเล่าถึงความต้องการจากผู้คนในพื้นที่

และถึงแม้ว่าธีสิส Urban Regeneration of Hat Yai Inner City จะเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างการฟื้นฟูเมืองผ่านการออกแบบเท่านั้น แต่หญิงสาวเจ้าของผลงานพร้อมส่งต่อแนวคิดนี้ให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสานต่อการฟื้นฟูเมืองที่เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน

“หากการพัฒนาฟื้นฟูเกิดขึ้น จะเสริมศักยภาพให้พื้นที่กลางเมืองหาดใหญ่ เกิดผลดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเกิดประสิทธิภาพกับการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทั้งในระดับเมืองและระดับประเทศ ตามโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเข้ามา” เธอพูดทิ้งท้าย 

Urban Regeneration of Hat Yai Inner City

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.