การเมือง โควิด-19 ทำให้คน ‘ไม่กล้ามีความสุข’ - Urban Creature

นาฬิกาปลุกเสียงคุ้นดังขึ้นยามเช้า บอกสัญญาณวันใหม่

วันก่อนเพิ่งตามข่าวการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ เห็นภาพเจ้าหน้าที่ยิงประชาชน คนถูกทำร้าย แกนนำโดนจับ ขนานไปกับสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนล้มตายข้างถนน ยอดติดเชื้อพุ่งสูงใกล้แตะสองหมื่น เตียงยังขาด วัคซีนยังพร่อง

“นี่กูต้องขับเคลื่อนด้วยการด่าไปอีกนานเท่าไหร่” ฉันพลางคิดในหัวก่อนไถฟีดบนอินสตาแกรมแล้วพบว่าไอดอลเกาหลีที่รักอัปรูปใหม่ สองมือรีบกดแชร์ลงสตอรี่ไอจี และพิมพ์ข้อความ “โดยอง ฉันรักแก ขอบคุณที่ทำให้ยิ้มได้บ้าง แม้ประเทศจะโคตร…” (หยาบนิด เติมเอาเองนะ)

ถ้าเป็นก่อนหน้า การหาความสุขใส่ตัวไปพร้อมๆ ขับเคลื่อนสังคม เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะกลัวคนอื่นมองว่าสถานการณ์แบบนี้ ‘ยังกล้ามีความสุขอีกเหรอ’ จนหลายครั้งเลือกเบนหน้าหนีความสุข ฉันเชื่อว่าไม่ใช่แค่ฉันที่เป็น แต่หลายคนที่กำลังอ่านอยู่ก็น่าจะเป็นเหมือนกัน

แต่ที่จริง การเปล่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรม และตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม คือเครื่องสะท้อนความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ขณะเดียวกันการเพิ่มพลังใจให้พร้อมต่อการใช้ชีวิต ก็ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่ากัน เพราะถ้าไม่มีพลัง…จะเอาแรงที่ไหนไปสู้ล่ะ 

เหมือนที่ ฝ้าย-กันตพร สวนศิลป์พงศ์, น้ำผึ้ง-กิตินัดดา อิทธิวิทย์ และ กัญ-วรกัญ รัตนพันธ์ สามนักจิตวิทยาการปรึกษาจากศูนย์ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE ผู้มีประสบการณ์ดูแลใจคนยุคโควิด-19 และยุครัฐบาลชุดนี้บอกกับฉันไว้ว่า ‘การหาความสุขเล็กๆ ใส่ตัวไปพร้อมๆ กับการใช้เสียงของตัวเองให้เป็นประโยชน์สามารถเดินไปคู่กันได้’ เพราะสถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้ส่งผลทำให้คนไม่กล้ามีความสุข เครียด หดหู่มากกว่าที่เคย วันนี้พวกเธอจึงพาไปรู้เท่าทันต้นตอ สำรวจความรู้สึก และชวนคุณใจดีกับตัวเอง

ทำไมคนถึงไม่กล้ามีความสุข-การเมือง-รัฐบาล-ความเหลื่อมล้ำ-โควิด-19

สถานการณ์บ้านเมืองเป็นพิษต่อใจ

คิดว่าสถานการณ์ใดในประเทศติดอันดับต้นๆ ซึ่งทำให้คนไทยไม่มีความสุข และลามไปถึงคนไม่กล้ามีความสุขด้วย

คำตอบในใจคุณ ไม่น่าจะพลิกโผไปจากปากของนักจิตวิทยาการปรึกษาทั้งสาม

“สถานการณ์โควิด-19 ที่มาในรูปแบบผลกระทบจากตัวเองป่วย คนใกล้ตัวป่วย สภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง การทำงานที่ต้องย้ายมาทำที่บ้านแล้วสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ร้านค้าต้องปิดกิจการ หรือบางอาชีพไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เลยต้องเสี่ยงออกจากบ้าน นำไปสู่ความเครียด หลายคนแบกไม่ไหว จากคนเคยจัดการความเครียดได้ดี มาวิกฤตนี้การฮีลใจตัวเองกลับเป็นเรื่องยาก” ฉันพยักหน้าตามกัญ แล้วฟังเธออธิบายถึงผลกระทบที่ต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

ช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี – วัยนี้ควรได้รับพัฒนาการเรียนรู้มากเป็นพิเศษ ทั้งการสำรวจโลก เรียนรู้ที่จะเข้าหาเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์กับคน ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดจะทำให้พวกเขารู้จักจัดการอารมณ์ ทว่าพื้นที่การเรียนรู้ และการใช้ชีวิตนอกบ้านกลับค่อยๆ หายไป เพราะการล็อกดาวน์หลายครั้งทำให้เด็กต้องตัดขาดจากสังคมและโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง 

มัธยมต้นถึงชีวิตเฟรชชี่ – วัยแห่งการสร้างสังคม และสร้างความเป็นตัวเอง เพื่อบอกว่าฉันเป็นอะไร เป็นคนแบบไหน หรือนิสัยอย่างไร แทนที่จะได้ใช้ชีวิตวัยรุ่น และค้นหาตัวเองอย่างเต็มที่ กลับต้องมีบทสนทนาผ่านเสียง หน้าจอ ทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (Human Touch) เพราะต้องเรียนออนไลน์กันไม่มีที่สิ้นสุด

ช่วงปลายของการเรียนมหาวิทยาลัย ถึงวัย First Jobber – วัยที่เริ่มตั้งคำถาม กำลังอยากออกเผชิญโลกกว้าง อยากค้นหาตัวเอง และกำลังวางแผนชีวิตสเต็ปต่อไป แต่กลับต้องเจออุปสรรค และแบกรับความคาดหวังมากกว่าเดิม ทั้งการปรับตัวช่วงโค้งสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย การทำธีสิส หรือการเริ่มทำงานครั้งแรก แต่กลับต้อง Work from Home ทำให้มีปัญหาในการปรับตัว สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานลำบาก และเรียนรู้งานได้ไม่เต็มที่

วัยผู้ใหญ่ – วัยที่โฟกัสเรื่องการสร้างความสำเร็จในชีวิต และต้องรับผิดชอบครอบครัว โดยปกติจะมองเห็นเป้าหมายในชีวิตของตัวเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่พอเจอสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายบริษัทมีการเลิกจ้าง มีภาวะเสี่ยงต่อการตกงาน หรืออาชีพที่ทำอยู่ต้องจบลงเพราะโควิด-19 ทำให้คนในวัยนี้ต้องเผชิญความเครียด ความกลัวและมีความกังวลสูงกว่าวัยอื่นๆ

ผู้สูงอายุ – วัยแห่งการปลง หลายคนอาจจะไม่ได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แต่มีความอ่อนไหวทางด้านอารมณ์ หากโควิด-19 ไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต เขาจะอยู่ได้ ไม่กระทบมาก แต่กับบางคนที่ชีวิตต้องเปลี่ยน เช่น ถูกห้ามให้ออกจากบ้าน แต่ปกติเป็นคนชอบออกจากบ้าน จะทำให้สุขภาพจิตเสียเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้ลูกหลานกังวลใจได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ‘การเมือง’ และ ‘การเสพคอนเทนต์’ บนออนไลน์ที่น้ำผึ้งเสริมว่า “ไม่กี่วินาทีของการไล่นิวส์ฟีด ข่าวแรกอาจจะเศร้า ต่อไปอาจจะเป็นเรื่องน่ายินดีของใครสักคน ถัดไปอีกอาจเป็นยอดผู้ติดเชื้อ ทำให้อารมณ์ของเราขึ้นลงเป็นรถไฟเหาะ ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันตัวเองว่ากำลังดิ่ง เราอาจจะจมไปกับความทุกข์ได้”

แต่หากจะให้เราใช้ชีวิตโดยหันหลังให้กับความจริง และโฟกัสแต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขคงเป็นไปได้ยาก เพราะสถานการณ์นอกบ้านและข่าวสารที่ได้รับก็ทำให้เราไม่สามารถเพิกเฉยได้เลยเช่นกัน

ฝ้ายพูดเสริมว่า การแสดงออกทางการเมือง และติดตามข่าวสาร มีข้อดีมากกว่าข้อเสียอยู่แล้ว เพราะหากถูกเซนเซอร์จากคนอื่น หรือแม้กระทั่งการเลือกเซนเซอร์ตัวเองว่าห้ามพูด ห้ามด่า ห้ามบ่น ห้ามแสดงความรู้สึก นั่นถือเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ แต่กุญแจสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องหาลิมิตเพื่อป้องกันการกระทบต่อจิตใจ

“ในฐานะประชาชน เวลาตามข่าวคือเราหัวร้อน คำหยาบมาเต็ม เราต้องเช็กตัวเองว่าตอนนี้เรายังรู้ตัวอยู่ไหมว่าอารมณ์เราเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นอาจจะสามารถต่อยอดคุยกับเพื่อนที่รู้สึกเหมือนเราว่าจะช่วยอะไรกันได้บ้างในสถานการณ์นั้นๆ ส่วนข้อเสียคือหากเราอินในเรื่องที่เพื่อนพิมพ์ เช่น เพื่อนหาเตียงไม่ได้ ถ้าสติไม่แข็งพอเราอาจจะดิ่ง และเครียด” ฝ้ายว่า

“ทุกอย่างมันมีสองด้าน ด้านแรกคือเราได้แสดงความรู้สึกผ่านการพิมพ์ แชร์ มันช่วยให้เราได้ปลดปล่อยบางอย่าง เพราะถ้าไม่ทำมันจะวนในหัวเราไม่หลุดสักที ส่วนอีกด้าน ถ้าเราใช้เวลากับมันมากจนเลยจุดเฮลตี้จะส่งผลเสีย เช่น วันนี้อยากระบายว่ารู้สึกแย่มาก พอโพสต์ไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่พอ เขียนอีก แล้วก็ไม่พออีก งั้นเขียนอีกหน่อย เรียงลงมาหลายสเตตัส สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณจะไม่หลุดออกจากความรู้สึกนั้น บางคนถลำไปเรื่อยๆ จนหลุดออกมาไม่ได้ และกระทบร่างกาย” กัญอธิบาย

“เราขอย้ำว่า หากคุณมีอาการแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นแปลว่าคุณมีความรู้สึกเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ มันสะท้อนว่าคุณยังมองเห็นคุณค่าของทุกชีวิต แต่ต้องไม่ลืมว่าจุดปลอดภัยต่อความรู้สึกตัวเองอยู่ตรงไหน มันกระทบตัวเราอย่างไรบ้าง” น้ำผึ้งทิ้งท้ายให้รู้ว่าความเกรี้ยวกราดที่มากกว่าปกติในช่วงนี้ คือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เพราะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ทำไมคนถึงไม่กล้ามีความสุข-การเมือง-รัฐบาล-ความเหลื่อมล้ำ-โควิด-19

แม้มีความสุขเข้ามา แต่ฉันก็ไม่กล้ามีความสุข

การที่ยังมีงานให้ทำ รับเงินเดือน เข้าถึงการศึกษา มีเวลาดูซีรีส์ ได้กินของอร่อย หรือช้อปปิงออนไลน์ คือสิทธิพิเศษ หรือ Privilege อย่างหนึ่งในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง เพราะอีกหลายชีวิต ไม่มีแม้แต่ปัจจัย 4 ที่จะทำให้เขามีชีวิตรอดในแต่ละวัน ซึ่งการมีสิทธิพิเศษในสถานการณ์เช่นนี้บางครั้งก็ทำให้เกิดภาวะ ‘ไม่กล้ามีความสุข’ 

เมื่อกวาดสายตามองข่าวเห็นว่าคนยังไม่เข้าถึงวัคซีน ไม่ได้รับบริการทางสาธารณสุข เข้าไม่ถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน จะทำให้เกิดการตั้งคำถามในใจพร้อมๆ ความโกรธ คิดในใจว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วตัวฉันเองสมควรจะมีความสุขไหมในสถานการณ์แบบนี้จนทำตัวไม่ถูก น้ำผึ้งบอกแบบนั้น และเสริมต่อว่า

“สำหรับเรา เรามองว่าการมี Privilege ไม่ผิด แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าตัวเองมี และยังมีผู้อื่นอีกมากที่ไม่มี หากเรามองเห็นตรงนั้น และทำความเข้าใจถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จะช่วยให้เราไม่ไปซ้ำเติมใคร เข้าใจเขา ไม่เมินเฉย และยื่นมือออกไปสนับสนุนและช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม 

“ถ้ารู้สึกว่าระหว่างที่กำลังกดซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ แล้วรู้สึกผิด ให้มองถึง Privilege ของตัวเอง ว่าเราก็สามารถช่วยคนอื่นไปพร้อมๆ กับการเห็นใจตัวเอง ไม่โบยตีตัวเองได้ด้วยเช่นกัน” 

กัญบอกว่า “มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นมันประกอบสร้างจากสังคม ไม่ใช่ความรู้สึกของตัวเองล้วนๆ ซึ่งการที่เราเห็น รับรู้ และสนใจประเด็นในสังคม นั่นแปลว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ถ้ารู้สึกแตกต่างหรือไม่เข้ากับคนส่วนใหญ่ จะทำให้เราไม่สบายใจไปโดยอัตโนมัติ เช่น อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่พูดเยอะ แต่เราไม่พูด ก็จะรู้สึกว่ามาทำอะไรตรงนี้เช่นเดียวกับสถานการณ์บ้านเมือง เรามองเห็นว่ามันแย่ และคนส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดีกัน สังคมแบบนี้จึงหล่อหลอมให้เราบอกตัวเองว่าชีวิตฉันที่แฮปปี้ ได้รับวัคซีน มีบ้าน มีงานทำ นั้นเป็นส่วนน้อย และแปลก หรือถ้าฉันสมัครงานแล้วได้งาน ฉันสามารถบอกใครได้ไหม ในเมื่อมีคนอีกมากที่ไม่มีโอกาสหางานในช่วงนี้

“เราจะพบว่าบางครั้ง ผู้คนกลัวแม้กระทั่งว่า ถ้าวันนี้ฉันโพสต์ออกไปว่ามีความสุข พรุ่งนี้ฉันเป็นอะไรขึ้นมา จะมีคนช่วยฉันไหม ทำให้ไม่กล้ามีความสุข ต้องคิดเยอะๆ ในทุกการแสดงออก ซื้อกระเป๋ามาก็กลัว คิดลบกับตัวเองว่า นี่ฉันควรจะมีความสุขจริงๆ เหรอ”

ทั้งสามสรุปให้ฟังว่า สิ่งที่สังคมในปัจจุบันสะท้อนคุณค่าของมนุษย์ออกมาตอนนี้ คือการที่เราต้องช่วยเหลือผู้อื่น แต่ไม่ได้พูดถึงการให้ความสุขของตัวเอง นั่นจึงเป็นโจทย์ที่อยากชวนให้ทุกคนสำรวจเงื่อนไขการมีคุณค่าของตัวเองก่อนว่าอยู่ในจุดไหน หรือยึดติดกับอะไรอยู่บ้าง

อาจเป็นความคาดหวังของสังคม ที่ให้นิยามการช่วยเหลือสูงกว่ามาตรฐานของตัวเรา พอเราทำไม่ได้ จึงไม่แปลกที่จะส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง (Self-esteem) เกิดคำถามว่าถ้าช่วยได้แค่นี้ เราก็ไม่สมควรจะได้รับความสุขเล็กๆ หรือเปล่า ซึ่งถ้าปล่อยไปนานๆ จะเกิดอาการ Self-blame หรือการตำหนิตัวเอง และโทษตัวเองว่าทำไมไม่ทำอะไรเลย

“เมื่อใดที่เกิดความรู้สึกว่าพลาดโอกาสที่จะทำอะไรสักอย่างต่อสังคม แสดงว่าเรากำลังแคร์โลกอยู่ ซึ่งมันถูกแล้วที่เราเป็นแบบนั้น แต่จะแคร์ยังไงให้ไม่บั่นทอนตัวเอง อาจจะลงมือทำสิ่งนั้นในแบบของเรา แต่ถ้าวันไหนไม่ไหว หยุดพักก่อนก็ได้ เพราะถ้ารู้สึกผิด แต่ยังมีพลังใจเหลือ เราจะชื่นชมตัวเองได้ว่า นี่ฉันพยายามอยู่นะ นี่ไม่ใช่ความผิดของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่ต้องโกยความรู้สึกผิดมาโบยตีตัวเอง” ฝ้ายย้ำ

ทำไมคนถึงไม่กล้ามีความสุข-การเมือง-รัฐบาล-ความเหลื่อมล้ำ-โควิด-19

กระทบทั้งตัวเอง และความสัมพันธ์

ถ้าไม่กล้ามีความสุข จะกระทบอะไรบ้าง?

ฝ้ายบอกว่า ในระยะยาว เราจะมีรั้วกั้นตลอดเวลา ไม่ให้ออกไปหาสิ่งที่ทำให้เราอยากมีชีวิตต่อ เพราะกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน ไม่ได้มีแค่กินข้าว และนอน ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่หากไม่ได้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง จะทำให้เครียด อึดอัด ไม่ได้ดูแลตัวเองแบบที่เบื้องลึกต้องการ พอไม่มีพลัง ก็นำไปสู่การละทิ้งความเข้าใจตัวเอง ขาด Self-care กระทบงาน ไม่สดใส เหนื่อยล้า และศักยภาพทุกด้านจะลดลง 

“Audre Lorde นักเขียน และนักเคลื่อนไหว เคยบอกไว้ว่า Self-care ไม่ใช่การตามใจตัวเอง แต่คือการดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นอีกวิถีในการต่อสู้ทางการเมือง การแสดงออกว่าเราไม่ยอมจำนนต่อการถูกกดขี่ ส่งสารเพื่อเตือนตัวเองว่า แม้โลกจะสิ้นหวัง แต่ฉันยังสมควรได้รับการดูแล มันมีพลัง มากจริงๆ” ฉันสบถในใจหลังได้ยินน้ำผึ้งพูดแบบนั้นว่า เออ จริงว่ะ

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ เราอาจจะลองตั้งมั่นกับตัวเองว่า ฉันยังมีอะไรที่อยากทำ ฉันอยากจะสร้างมันให้เกิดขึ้น ฉันจะไม่ยอมให้อะไรใดๆ ที่เกิดในประเทศนี้ หรือรัฐบาล มาเอาสุขภาพจิตที่ดีของฉันไป” เป็นอีกครั้งที่ฉันพยักหน้าตามฝ้าย

นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชีวิต กัญอธิบายว่า รูปแบบความเข้าใจในเรื่องการอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข จะกลายเป็นแพตเทิร์นเดียวที่ใช้ในระยะยาว เช่น ถ้าขี้เกรงใจ จะเกรงใจทุกอย่าง จนกระทั่งความสัมพันธ์กลายเป็นรูปแบบจำยอม และทรมาน

หากเราแยกสถานการณ์ข้างนอกที่มีแต่ความอึดอัดกับความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้ จะทำให้ทุกคนในความสัมพันธ์รู้สึกไม่ปลอดภัย และสั่นคลอนความมั่นคงในใจ เช่น พ่อ-แม่ กังวลอนาคตของลูก จนเกิดการบังคับบางอย่าง หรือลูกห่วงพ่อ ว่าการออกจากบ้านทุกครั้งมันเสี่ยงติดเชื้อ จึงห้ามไม่ให้ออก รวมถึงคู่รักในยุคแห่งความทุกข์ยาก ถ้าไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข จนตามใจฝั่งตรงข้ามตลอด ก็อาจทำให้เสียตัวตนของตัวเองไป

“ปกติแล้วทุกความสัมพันธ์ไม่มีทางราบเรียบ แต่ในยามคับขันแบบนี้ หากฝ่ายใดมีพาวเวอร์มากกว่า หรือรู้สึกว่าไม่กล้ามีความสุข คนที่อยู่กับเรา เขาก็จะไม่กล้ามีความสุขเช่นกัน”

ทำไมคนถึงไม่กล้ามีความสุข-การเมือง-รัฐบาล-ความเหลื่อมล้ำ-โควิด-19

สำรวจตัวเอง และแบ่งเวลาหาความสุข

สำหรับไม้บรรทัดที่จะใช้วัดว่าเรากำลังจะ ‘ไม่กล้ามีความสุข’ อยู่หรือเปล่า ทั้งสามสรุปให้ฟังว่า เริ่มจากสังเกตชีวิตประจำวันก่อนว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ Energy เป็นอย่างไร นอนหลับสบาย หรือนอนแล้วคิดหลายเรื่องเต็มหัวจนตื่นกลางดึก รวมไปถึงช่วงนี้เหนื่อยใจ ปัญหาเข้ามาก็ร้องไห้ง่ายกว่าเดิม พอหดหู่ก็สไลด์มือถือ แล้วรู้สึกแย่อีกครั้งหรือเปล่า

หากเริ่มสังเกตเห็น ก็ปล่อยให้ตัวเองรับรู้การเปลี่ยนแปลงในชีวิต และถอยกลับมารักตัวเอง ทว่ายังมีบางคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังไม่โอเค ถ้าไม่หนักจนทำงานไม่ได้ เราจึงควรสังเกตอาการตัวเองอยู่เป็นระยะ ไม่มองข้ามอาการเล็กๆ ทั้งทางกายและใจ เช่น เครียดจนท้องผูก เบื่ออาหาร อารมณ์เสีย ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป หรือง่ายๆ ถ้าวันไหนรู้สึกเอ๊ะกับตัวเองว่า ฉันทำผิดหรือเปล่าที่วันนี้ไม่อยากตื่นมาดูข่าวตอนเช้าเพราะเครียด ก็อย่าเพิ่งโทษตัวเอง วันไหนไม่ไหวก็พักใจก่อนได้ ไม่ผิดเลย

การแบ่งเวลาขับเคลื่อนสังคม ไปพร้อมๆ หาความสุขให้ตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะมนุษย์ล้วนมีหลายความรู้สึกในตัวเองกันทั้งนั้น หลักสำคัญอยู่ที่ว่าจะแบ่งมันอย่างไรมากกว่า

“ต้องกลับมาให้ความหมายของการขับเคลื่อนสังคมก่อนว่าคืออะไร ทำแบบไหนถึงไม่เบียดเบียนตัวเอง เช่น ถ้าเราไม่มีเงินบริจาค เราก็ไม่ต้องบริจาค แต่เปลี่ยนมาเป็นช่วยกระจายข่าวให้สังคมรับรู้แทนโดยไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรง ไม่สามารถไปชุมนุมได้ แต่เราสามารถเป็นทีมซัปพอร์ตหลังบ้าน ระดมเงิน หรือคอยพูดถึงปัญหาสังคมอยู่ตลอด ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมได้เช่นกัน เห็นไหมว่าถ้าวางเป้าหมายของตัวเอง เราจะไม่ระเบิดตัวเอง ไม่โทษตัวเองว่าแกไม่สมควรมีความสุข เพราะเราได้ทำในสิ่งที่วางแผนไว้แล้ว

“ทริกง่ายๆ คือตั้งธงให้ตัวเองไปเลยว่า ฉันจะชัดเจนกับตัวเองในทางไหน ถ้าชัดว่าจะไม่อยู่เฉยแน่ๆ สังคมต้องขับเคลื่อน อย่างน้อยก็รู้แล้วว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เมื่อรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ตามลิมิตของตัวเอง เราจะแข็งแรงพอที่จะส่งเสียงเพื่อตัวเอง และผู้อื่น โดยไม่ทำลายสุขภาพจิตตัวเอง

“เพราะถ้าเราบังคับตัวเองว่า การขับเคลื่อนสังคมต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น โดยไม่ยืดหยุ่นอะไรเลย มันจะกดดันตัวเอง ในทางกลับกันถ้าเรายืดหยุ่น แต่ชัดเจนกับตัวเองว่า ฉันจะไม่ยอมแพ้ให้กับความอยุติธรรม และทำเต็มที่ตามกำลังที่มี มันจะคอยเพิ่มพลังให้เราฝ่าฟันไปพร้อมๆ กับคนอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่า ชั่วโมงนี้ฉันมีความสุขแล้วมันผิด หรือวันนี้ขอพักสักแป๊บแล้วจะมีคนด่า ในเมื่อเรารู้ตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่” ฝ้าย น้ำผึ้ง และกัญ ฝาก

การขับเคลื่อนสังคมและเรียกร้องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่เราในฐานะพลเมืองคนหนึ่งมีสิทธิ์และสามารถส่งเสียงตัวเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างไม่เป็นอย่างใจและชวนให้เราหดหู่กับชีวิตอยู่ทุกวัน การดูแลสุขภาพจิตของทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

ดังนั้น รักษาสุขภาพกาย และใจ เพื่อสู้กันต่อไป 

จนกว่าเราจะได้ชัยชนะกลับคืนมา

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.