Starboard นักกีฬาวินด์เซิร์ฟแชมป์โลก - Urban Creature


ท่ามกลางฤดูกาลที่เงียบสงบสองฟากฝั่งของทะเลไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามันกำลังเฝ้ารอวันที่คลื่นลมจะหวนกลับมา เพื่อต้อนรับนักเซิร์ฟจากทั่วทุกสารทิศให้กลับมาวาดลวดลายบนปลายคลื่นอีกครั้ง 

ในฐานะกีฬาที่ต้องเอาร่างกายออกไปปะทะสายน้ำ จึงทำให้ความนิยมของกีฬาประเภทนี้เติบโตขึ้นไปพร้อมกับแนวคิดเรื่องการปกปักรักษาธรรมชาติ 

เมื่อสองปัจจัยผสานกันไปราวกับเกลียวคลื่นเราเลือกที่จะเดินทางไปพูดคุยกับ สเวน รัสมุสเซ่น (Svein Rasmussen) อดีตนักกีฬาวินด์เซิร์ฟแชมป์โลก ผู้ก่อตั้ง Starboard ผู้ผลิตเซิร์ฟบอร์ดและอุปกรณ์กีฬาทางน้ำที่ไม่คิดจะทำ CSR แต่มีภารกิจหลักเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เคยเก็บขยะบนชายหาดตั้งแต่บางแสนถึงสัตหีบ ปลูกต้นโกงกางเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นับ 650,000 ต้น แถมยังคิดภาษีให้ตัวเองเมื่อจำเป็นต้องใช้พลาสติก จนไม่ได้หยุดความนิยมอยู่ที่นักโต้คลื่น แต่กลายเป็นที่รักของทุกคนที่มีใจให้สิ่งแวดล้อม 

แบรนด์ที่กำเนิดท่ามกลางดวงดาว 


ย้อนกลับไปในปี 1994 ริมชายหาดแห่งหนึ่งของฮาวายในวันที่ฟ้าเปิดและมองเห็นดวงดาวได้ชัดเจน นักกีฬาวินด์เซิร์ฟที่ประสบความสำเร็จระดับโลกในวัย 30 ปี กำลังมองหาคลื่นลูกใหม่ให้กับชีวิตหลังเกษียณ 

แม้จะมีไอเดียอยู่เต็มหัว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชายที่เอาจริงเอาจังเรื่องกีฬาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้สนใจเรื่องโรงเรียนแม้แต่น้อยที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจสักอย่างหนึ่ง 

“ตั้งแต่เด็กกีฬาเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เลือดลมของผมสูบฉีด ผมไม่ได้รู้อะไรมากนักเพราะไม่เคยทุ่มเทให้การเรียน เพราะฉะนั้น คงไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้แน่ๆ สิ่งที่แน่นอนคือเวลานี้เหมาะที่สุดในการจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ และผมรู้ดีมากเกี่ยวกับวินด์เซิร์ฟ ตอนนั้นไอเดียเกี่ยวกับธุรกิจอัดแน่นอยู่เต็มหัว สิ่งเดียวที่ผมยังไม่แน่ใจคือจะเรียกมันว่าอะไรดี

“คืนนั้นผมนั่งอยู่ที่ฮาวาย พยายามค้นหาชื่อที่เหมาะ ในขณะที่คำตอบยังไม่ออกมาให้เห็นก็มองดูดวงดาวไปเรื่อยเปื่อย พร้อมคิดไปด้วยว่าดาวแต่ละดวงต้องการจะบอกอะไรเรา 

“ผมชอบดาราศาสตร์ จึงพอรู้ว่าดาวแต่ละดวงมีความหมายในตัวเอง ตอนนั้นเองผมคิดว่าชื่อ Star (ดวงดาว) ก็เป็นอะไรที่โอเคแล้ว แต่ในเมื่อดวงดาวมันเรียงกันเป็นแนว (Border) และเรากำลังจะผลิตบอร์ด (Board) ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่าแบรนด์นี้ต้องชื่อ Starboard”

หลังจากเดินทางข้ามทวีปลงหลักปักฐานที่ประเทศไทยและผ่านกาลเวลามาเกือบ 3 ทศวรรษ Starboard มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บึงตะโก้ จังหวัดสมุทรปราการ มีตัวแทนกระจายอยู่ทั่วโลก กลายเป็นบอร์ดที่นักกีฬาใช้คว้ารางวัลใหญ่ ที่สำคัญคือ กลายเป็นบริษัทที่มีผลคาร์บอนฯ เป็นบวกถึง 10 เท่า 

“ผมโชคดีพอที่มีโอกาสท่องโลกกว้าง ก่อนที่วันหนึ่งจะตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในไทย เพราะรู้สึกว่าเข้ากับคนไทยได้ง่ายและประเทศนี้เป็นสถานที่ที่ทำให้รู้สึกสงบ 

“หลายปีมานี้เราพยายามจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ใส่ความคิดและความทุ่มเทลงไปอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งกับงานของเราและโดยอย่างยิ่งกับสิ่งแวดล้อม”

อุปกรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับนักกีฬา 


ในโลกของกีฬา นอกจากการเคี่ยวกรำร่างกายให้แข็งแกร่ง เรียนรู้สารพันแท็กติก ‘อุปกรณ์’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแพ้-ชนะโดยตรง เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบในทุกประตู บรรดาอุปกรณ์กีฬาก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงใจนักกีฬามากที่สุด 

“ดีเอ็นเอของ Starboard คือก้าวขึ้นสู่ความเป็นที่หนึ่งในทุกประเภทกีฬา ผมมั่นใจในตัวเองมากเกี่ยวกับกีฬาวินด์เซิร์ฟ และเราทำงานกับแชมป์โลกในทุกประเภทกีฬา เอาจริงเอาจังและทำงานกันอย่างเต็มที่ในแผนก R&D เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับการแข่งขัน”

สเวนไม่ได้กล่าวคำโฆษณาเกินจริงตอนที่บอกว่า Starboard มุ่งมั่นในการเป็นเลิศทางด้านกีฬาขนาดไหนเพราะออกไปชนะรางวัลใหญ่ๆ มาแล้วทั่วโลก มีนักกีฬาระดับหัวกะทิอยู่ในทีมจำนวนมาก ที่จะช่วยพัฒนาอุปกรณ์แต่ละชนิด ขอชวนไปทำความรู้จักกันสักเล็กน้อยว่าแบรนด์กีฬาทางน้ำที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ออกไปทำอะไรมาบ้างแล้วที่โลกข้างนอก 

iSONiC

บอร์ดเรือธงของ Starboard ที่ขึ้นชื่อว่าเบาและเร็วที่สุด กวาดรางวัลมาแล้วถึง 12 ถ้วย ทรงประสิทธิภาพเมื่ออยู่ท่ามกลางกระแสลมที่พัดด้วยความแรง มั่นคงด้วยการมีส่วนโค้งเว้าที่สูงขึ้น มีการดึงตำแหน่งสายรัดไปอยู่ด้านหลังเพื่อลดพื้นผิวที่จะสัมผัสกับน้ำ ทำให้รู้สึกสบายและควบคุมได้ง่ายขึ้น แถมได้รับการพัฒนาใหม่ในทุกปีเพื่อมุ่งไปหาจุดสูงสุดของกีฬาประเภทสลาลม 

เหมาะสำหรับ : นักกีฬา

iGO

ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการเล่นวินด์เซิร์ฟและแพดเดิลบอร์ดในแผ่นเดียว กับรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ของ Starboard ครีบด้านข้างทำจากอวนจับปลาที่กลายเป็นขยะในทะเล มีน้ำหนักเบาช่วยให้ควบคุมทิศทางได้ง่าย แถมมีประสิทธิภาพกว่าการใช้พลาสติกแบบดั้งเดิม ตัวบอร์ดมีพื้นผิวที่กว้างและเรียบช่วยสร้างสมดุลในการควบคุม ที่สำคัญคือ มีเทคโนโลยี ASAP (As Strong As Possible) ที่เสริมความแกร่งให้กับบอร์ดเป็นพิเศษ 

เหมาะสำหรับ : มือสมัครเล่น-มืออาชีพ 

START

กระดานวินด์เซิร์ฟที่มีความมั่นคงที่สุดในโลก เพื่อนคู่ใจของมือใหม่ทุกคนด้วยรูปทรงที่กว้างที่สุดในบรรดาบอร์ดของระดับเริ่มต้น จนสามารถเล่นเป็นภายใน 60 นาที มีความทนทานเป็นพิเศษเพราะเหมาะสำหรับการใช้ในโรงเรียนที่มีลักษณะของการใช้งานทุกวันเป็นเวลาหลายปี

เหมาะสำหรับ : ผู้เริ่มต้น 


ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ Starboard ที่นอกจากจะมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายสูงสุดในการแข่งขัน และเป็นอุปกรณ์ที่เป็นมิตรสำหรับผู้เริ่มต้นใช้งานแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบเป็นพิเศษ เพราะรู้คำนึงถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ไม่ได้มีแต่มืออาชีพที่เล่นกีฬาทางน้ำทุกวัน จึงอยากให้บอร์ดกลายเป็นของตกแต่งได้ด้วย 

สเวนยังตั้งใจใช้วัสดุที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมเช่นวัสดุทางเลือก วัสดุรีไซเคิล หรือการใช้สีย้อมจากธรรมชาติ เพื่อลดภาระต่อโลกให้มากที่สุด ซึ่งบางครั้งอดีตนักกีฬาวินด์เซิร์ฟคนนี้ยังมองว่าไม่เพียงพอ

“ถึงจะพยายามคัดสรรวัสดุ ไปจนถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า แต่การที่สร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่งย่อมมีรอยเท้าคาร์บอนหลงเหลือไว้อยู่ดี กีฬาทางน้ำเป็นกีฬาที่คุณต้องพึ่งพาธรรมชาติ ผมคิดว่าไม่ถูกต้องถ้าความสนุกของเราทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง เพราะฉะนั้น ทางออกที่ง่ายที่สุดคือลดปริมาณคาร์บอนลงมาสิบเท่า จากที่เราใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามแต่ที่มาจาก Starboard”

ธุรกิจที่มีผลประกอบการคาร์บอนเป็นบวกถึง 10 เท่า


ย้อนกลับมายังริมบึงตะโก้ ในวันที่แดดของประเทศไทยทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน สำนักงานใหญ่ของ Starboard มีวิวเป็นทะเลสาบและสระว่ายน้ำ มีทางเดินที่เชื่อมต่อแต่ละห้องด้วยแผ่นไม้สีน้ำตาลเข้มและอิฐบล็อกให้อารมณ์คล้ายกับบ้านพักตากอากาศ 

หากมองลึกเข้าไปที่โต๊ะทำงานแต่ละตัว อาจจะเห็นเครื่องไม้เครื่องมือครบครันเหมือนสำนักงานทั่วไป แต่อาจจะไม่เห็นถุงใส่ผลไม้ ขวดน้ำอัดลม หรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเลยสักชิ้น 

“เราพยายามลดภาระต่อโลกให้มากที่สุด จึงมีการคำนวณจำนวนพลาสติกทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตแต่ละขั้นตอน รวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากสี่โรงงานทั่วโลก เพื่อดูว่าเราสร้างมลภาวะจากพลาสติกเป็นจำนวนเท่าไหร่ และจะทำอะไรกับสิ่งนี้ได้บ้าง”

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว Starboard คิดค้นแคมเปญหนึ่งขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Plastic Offset Program (POP) ไอเดียหลักของ POP คือคำนวณราคาพลาสติกที่ใช้ในการผลิตจากสามปัจจัยคือ หนึ่ง ความเป็นพิษ สอง อายุของพลาสติก และสาม ของเสียจากการผลิต 

เรียกทั้งหมดนี้ว่าภาษีภายในองค์กร (Internal Tax) ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกกับสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดขยะพลาสติกที่ปะปนอยู่ตามธรรมชาติ หรือกระตุ้นให้มีการทิ้งขยะอย่างเหมาะสมเพื่อให้การรีไซเคิลเกิดขึ้นได้จริง 

“เราพยายามหาทางออกในการใช้พลาสติกมาโดยตลอด อย่างแคมเปญหนึ่งคือทุกครั้งที่ขายบอร์ดหนึ่งแผ่น Starboard จะเก็บขยะขึ้นจากทะเลหนึ่งจุดหนึ่งกิโลกรัม แม้จะไม่ใช่ปริมาณที่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งสำคัญคือผู้คนได้รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับโลกของเรา 

“แต่พอมาถึงจุดหนึ่งผมคิดว่า Starboard ต้องเสียภาษีให้กับพลาสติกที่ตัวเองสร้างขึ้น เราเคยใช้เงินส่วนนั้นไปในการเก็บขยะพลาสติกตามชายหาดตั้งแต่บางแสนจนถึงสัตหีบ”

อดีตนักกีฬาวินด์เซิร์ฟจากนอร์เวย์บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงทางออกของ Starboard ที่สเวนไม่ได้เป็นผู้คิดค้น แต่ใช้ความรู้ที่อยู่คู่โลกมานับล้านปี 

“เราต้องสร้างสมดุล! ย้อนกลับไปเมื่อพันล้านปีที่แล้วคุณจำได้ไหมว่าอะไรเกิดขึ้น จะบอกว่าผมก็จำไม่ได้เหมือนกัน แต่นักวิทยาศาสตร์เล่าให้เราฟังว่า ในตอนนั้นสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในน้ำไม่ประสบความสำเร็จที่จะขึ้นมาบนบก เพราะปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่นเกินไป จนกระทั่งอีกหลายร้อยล้านปีผ่านไปเราถึงขึ้นมาได้เพราะ ‘ต้นโกงกาง’ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในดินสิ่งมีชีวิตถึงก้าวขึ้นมาเหนือน้ำและใช้ชีวิตบนบกได้ 

“ข้ามเวลากลับมาที่ปัจจุบัน การผลิตบอร์ดหนึ่งแผ่นจะมีรอยเท้าคาร์บอนหนึ่งร้อยกิโลกรัม ต้นโกงกางหนึ่งต้น ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงหนึ่งตันในยี่สิบปี และ Starboard จะปลูกต้นโกงกางหนึ่งต้น ต่อการผลิตบอร์ดหนึ่งแผ่น นั่นหมายความว่าคาร์บอนฯ จะเป็นบวกถึงสิบเท่า 

“เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายมากและถูกคิดค้นขึ้นมากว่าพันล้านปีแล้ว แต่ไม่มีใครช่วยให้ธรรมชาติทำสำเร็จอีกครั้ง”

สเวนบอกว่า จนถึงที่สุดแล้วการลดจำนวนการผลิตพลาสติกไม่เพียงพอ และพวกเราต้องมองถึงการฟื้นฟูป่าให้มากขึ้น 

ถึงเวลาออกตามหาอนาคต


นอกจากโต๊ะ อุปกรณ์สำนักงาน โซฟา แม็กบุ๊ก เซิร์ฟบอร์ด และต้นโกงกางขนาดเล็ก ในห้องทำงานของสเวน ยังมีสัญลักษณ์ของ Starboard อย่าง Tiki Vichara เทพเจ้าแห่งสายลมและสายน้ำของชาวอินคา ที่ไม่ได้ทำจากไม้แกะสลัก แต่ประกอบขึ้นมาด้วยรองเท้าแตะ Upcycling ที่เก็บมาจากกลุ่ม Trash Hero จากเกาะหลีเป๊ะไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือน ที่จะเข้ามาปรึกษาหารือกับ Chief Innovator ของ Starboard ที่ในวันนี้แต่งตัวสบายๆ และทะมัดทะแมงตามประสานักกีฬา ด้วยเสื้อยืดสีเทาที่สกรีนหน้าอกด้วยตัวอักษรสีขาวว่า SOMWR พร้อมกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน และรองเท้าผ้าใบสีดำ 

“เราพยายามจะพูดถึงการกระทำอะไรก็ตามที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่กีฬาทางน้ำเป็นเรื่องเฉพาะทางมากๆ หากนับไปทั่วโลกก็คงมีคนเล่นทั้งหมดประมาณสิบล้านคน ผมจึงคิดว่าเราจะส่งข้อความเหล่านี้ไปให้คนอื่นๆ ได้ด้วยวิธีไหน ผู้คนที่เดินอยู่ตามถนนของกรุงเทพฯ นิวยอร์ก หรือเซาเปาโล เราจะส่งต่อความรู้ง่ายๆ เหล่านี้ไปหาพวกเขาได้ยังไง

“ในทุกเช้าที่คุณตื่นมา นอกจากล้างหน้าแปรงฟันหลังจากทำกิจวัตรทั่วไป คุณก็คงจะใส่อะไรสักอย่างหนึ่งก่อนที่จะออกจากบ้าน เรามีสิทธิ์ที่จะใส่อะไรก็ได้ในแต่ละวันและวันนี้ผมเลือกจะใส่ SOMWR เพราะต้องการจะสื่อสารในเรื่องเดียวกับสิ่งที่ SOMWR เชื่อ”

เพราะต้องการขยายฐานการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กว้างมากขึ้น สเวนจึงคิดถึงสิ่งที่จะเข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้น แต่ทำไมถึงต้องเป็น SOMWR (เล่นกับคำว่า Somewhere = ที่ใดที่หนึ่ง (adv.)) มาจากไอเดียที่มองว่าทุกอย่างต้องเริ่มขึ้นจากที่ใดที่หนึ่ง แต่เรื่องการตั้งชื่อนั้น เหตุการณ์ค่อนข้างคลับคล้ายคลับคลากับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

“ผมมีพรีเซนเทชันหกสิบกว่าหน้า ในนั้นมีครบทุกอย่างยกเว้นแต่ว่าเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร ในระหว่างการประชุมมีสไลด์หน้าหนึ่งเป็นรูปการประท้วงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเมื่อสองสามปีที่แล้ว กับรูปของเพื่อนๆ ผมที่ใส่เสื้อ Trash Hero ผสมกับเสื้อขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และในสไลด์เขียนว่าเราควรจะเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง​ (We have to start somewhere) นั่นแหละที่มาของชื่อ SOMWR

“อนาคตอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่เราไม่รู้ว่ามันคือที่ไหน เราแค่เคลื่อนไปในทางที่คิดว่าถูกต้อง อุดมการณ์ของเราคือรวมผู้คนเข้าด้วยกัน พูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมและท้าทายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา” 

อาจเพราะว่าเป้าหมายหลักคือกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเพื่อสิ่งแวดล้อม หากลองกดเข้าไปในเว็บ somwr.com

สิ่งแรกที่จะเห็นไม่ใช่คอลเลกชันใหม่ แต่เป็นแนวคิดในการเคลื่อนไหวและการมุ่งไปหาวิธีการนำเสื้อผ้ารูปแบบใหม่ออกสู่ตลาด

“เสื้อผ้าทุกตัวของเราทำจากคอตตอนออร์แกนิกหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีโพลีเอสเตอร์ ไม่มีสารเคมี รู้ไหมว่าทุกวันนี้สิบเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นบนโลกมาจากการผลิตเสื้อผ้า 

“สิ่งที่เราทำเป็นอย่างแรกคือเก็บขยะพลาสติกออกจากชายหาดในจำนวนที่เท่ากับน้ำหนักเสื้อ อย่างตัวนี้ (ชี้ไปที่เสื้อของตัวเอง) มีรอยเท้าคาร์บอนประมาณสองจุดสามกิโลกรัม แต่เราสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ลงมาถึงสองร้อยสามสิบกิโลกรัมจากการปลูกต้นโกงกาง นั่นแปลว่าเสื้อแต่ละตัวทำให้ผลคาร์บอนฯ เป็นบวกถึงสิบเท่าจากที่ใช้ไปทั้งหมดในการผลิต

“ถ้ามองไปที่ลายของเสื้อ (หลอดพลาสติกที่ถูกกุมขัง, พลาสติกที่ถูกตีตราว่าเป็นนักโทษ หรือต้นโกงกางที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม) จะเห็นว่ามีการเรียกร้องอยู่ในนั้น ผู้คนต้องการประท้วงในสิ่งที่ไม่พอใจ สำหรับประเทศไทยการประท้วงอาจจะต้องเข้มข้นขึ้น เราเป็นมิตรเกินไปกับคนที่อยู่เหนือกว่า บางทีอาจจะต้องเข้มแข็งมากขึ้นไม่ว่าจะวิธีไหน หากหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณอาจจะต้องทำตัวเองให้บ้าขึ้น” 

ปรัชญาขายของที่บอกให้คิดก่อนซื้อ


เมื่อเสื้อผ้าหรือข้าวของที่คุณเลือกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตน จึงไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์ตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับตำบลล้วนมีปรัชญาประจำตัว และสื่อสารสิ่งที่พวกเขาคิดออกมาอยู่สม่ำเสมอ เพื่อคอยย้ำเตือนผู้บริโภคถึงจุดยืนของตัวเอง 

ผู้ผลิตสปอร์ตแวร์ชั้นนำของโลกอย่าง Nike บอกทุกคนว่าให้เลิกคิดแล้วลงมือทำ (Just Do It) เจ้าพ่อเอาต์ดอร์อย่าง Patagonia ประกาศในวัน Black Friday หนึ่งในวันที่สินค้าจะขายได้มากที่สุดว่าอย่าซื้อแจ็กเกตตัวนี้​ (Don’t buy this jacket) เพราะไม่อยากให้ผู้คนซื้อของที่ตัวเองไม่ต้องการ และสร้างภาระให้กับโลก 

ส่วน Starboard และ SOMWR นอกจากจะห้ามไม่ให้ซื้อ ยังบอกให้คิดและศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนจะจ่ายเงินออกไปอีกต่างหาก 

“อย่างแรกเลยนะ อย่าซื้ออะไรที่ไม่ต้องการ (ยิ้มกว้าง) แต่ถ้า ‘จำเป็น’ ต้องซื้ออะไรสักอย่าง ลองศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์นั้นๆ ดูก่อน ผมว่าการซื้อของก็เหมือนกับการเลือกตั้งนั่นแหละ ควรจะต้องศึกษาให้ดีก่อนจะเลือกใคร”

จะเห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีวิธีจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างน่าทึ่ง พวกเขาสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยั่งยืนพร้อมที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยความออร์แกนิกหรือจัดแคมเปญที่ชวนคนทั้งโลกมาร่วมมือกัน 

สำหรับ Starboard แม้จะมีเป้าหมายเดียวกับแบรนด์ที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยขนาดองค์กร จึงเลือกทำในสิ่งทั่วไป แต่เชื่อในผลลัพธ์ที่จะตามมา

“เราทำอะไรที่ธรรมดามากๆ เพราะอยากให้ทุกคนทำตามได้และร่วมกันส่งต่อความคิดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมออกไป การเก็บขยะที่ชายหาดถึงจะเป็นอะไรที่เล็ก แต่ทำได้เร็วมาก ความคิดของเราคือทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดออกไปในทางที่ดีที่สุด”

ความหวังอยู่ที่เด็กแต่การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากผู้ใหญ่ 


ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายของ Starboard ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงแล้วแบรนด์นี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไรกันแน่ สเวนตอบข้อสงสัยนี้ด้วยการลุกออกไปหยิบนามบัตรมายื่นให้ 

แม้บนนั้นจะมีตัวอักษรเขียนกำกับตำแหน่งไว้ว่า Chief Innovator (หัวหน้าแผนกนวัตกรรม) ให้กับบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์กีฬา แต่เขาบอกว่าบทบาทของตัวเองตอนนี้เหมือนกับ ‘นักสื่อสาร’ 

“เราทำหน้าที่ส่งต่อไอเดียให้ผู้คน สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร อย่างที่คุณเห็นว่า Starboard พูดกับกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนจำกัด SOMWR เลยเกิดขึ้น บทบาทของเราตอนนี้จึงเหมือนกับนักสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมเสียมากกว่า”

เพราะวางตัวเองเป็นผู้สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม Corporate Social Responsibility (CSR) หรือกิจกรรมเพื่อสังคม จึงเป็นสิ่งที่สเวนบอกว่า เขาไม่เคยทำ และไม่คิดจะทำ 

อาจเป็นเพราะว่าการทำงานในวันปกติวันหนึ่งของ Starboard ก็เหมือนกับการทำเพื่อสังคมไปในตัวอยู่แล้ว กลุ่มเป้าหมายของบริษัทนี้ก็แทบจะเป็นทุกคนไปโดยปริยาย แต่ถ้ามีกลุ่มไหนที่อยากจับเข่าคุยด้วยเป็นพิเศษสเวนบอกว่า คงเป็นคนที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขา (57 ปี) 

“ปัญหาโลกร้อนอยู่ในความสนใจของเด็กสมัยนี้อยู่แล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้อีกครั้ง คนวัยเดียวกับผมมักจะบอกให้เด็กไปเรียนรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ในขณะที่พวกเขาไม่เปิดรับอะไรใหม่เลย แต่กลับมีตำแหน่งเป็นนักการเมืองหรือผู้นำองค์กรที่เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจมากที่สุด 

“เราทำงานกับ Trash Hero มาห้าปี พวกเขาเป็นองค์กรที่น่าทึ่งมาก แต่ผมเห็นแล้วว่าลำพังพวกเราเอง หากหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องยาก 

“คงเป็นเรื่องง่ายกว่าถ้าจะคุยกับคนพันคนที่อยู่บนยอดพีระมิด และให้พวกเขาส่งต่อเรื่องดีๆ เหล่านี้ลงมา ในประเทศนี้มีกฎหมายหลายอย่างที่จำกัดบทบาทของเรา บางครั้งคุณไม่สามารถแม้แต่จะพูดในสิ่งที่คิด คุณไม่พูดถึงเรื่องสำคัญ และปล่อยให้ประเทศนี้เต็มไปด้วยมลพิษ ถ้าเป็นไปได้เราหวังจะคุยกับเหล่าผู้กุมอำนาจเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ”

ปักธงโอลิมปิก

ถึงจะเป็นธุรกิจที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องนำทาง แต่ Starboard แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ลูกค้าต้องได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในการใช้งาน และนักกีฬาทุกคนจะใช้สินค้าของพวกเขาเป็นบันไดก้าวไปสู่จุดสูงสุดได้ และมหกรรมที่นักกีฬาทุกคนเฝ้าฝันอย่างโอลิมปิก ก็เป็นฝันที่เอื้อมถึงของพวกเขาเช่นกัน

“โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีสจะมีกีฬาชนิดใหม่ที่เรียกว่า Foil Surfing เราทำบอร์ดใหม่ที่ชื่อว่า iQFoil ส่วนผสมระหว่างความสวยงามและศักยภาพ 

“iQ มาจากคำว่า Innovation (นวัตกรรม) และ Quality (คุณภาพ) ที่เป็นปรัชญาในการทำงานของ Starboard มาโดยตลอด

“โอลิมปิกยังเป็นเวทีที่สำคัญมากในการสื่อสารกับผู้คนหมู่มาก เราร่วมมือกับองค์กรอย่าง ICF (International Canoe Federation) และ WS (World Sailing) เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการทำให้ปารีส 2024 เป็นโอลิมปิกที่มีผลคาร์บอนฯ เป็นบวกถึงสิบเท่าได้ไหม”

ถึงจะไม่ใช่แฟนกีฬาตัวยง แต่ชื่อของสตาร์ในโลกลูกหนังอย่าง ลิโอเนล เมสซี หรือย้อนกลับไปที่ เดวิด เบ็คแฮมข้ามฟากไปหา ไมเคิล จอร์แดน หรือ ไทเกอร์ วู้ด ก็คงพอผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย 

สเวนมองว่าบรรดานักกีฬาที่จะเข้ามาแข่งขันในโอลิมปิก คือคลื่นลูกใหญ่ที่จะซัดเอาแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กระจายไปทั่วทุกมุมโลก

“คุณก็รู้จักนักกีฬาแบบ ลิโอเนล เมสซี ใช่ไหม คิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและท้าทายแฟนๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันทำชาเลนจ์อะไรสักอย่าง เราอาจจะเห็นผู้คนร่วมกันปลูกป่าของเมสซี่ (Messi Forest) หากนักกีฬาเป็นผู้นำทาง ผมเชื่อว่าแฟนๆ จะก้าวตามรอยแน่นอน”

เขามองว่าพวกเราจำเป็นต้องหาหมุดหมายสำคัญเช่นมหกรรมกีฬาของคนทั้งโลกอย่างโอลิมปิก ที่จะทำหน้าที่รวบรวมมนุษยชาติไว้ด้วยกัน ที่ผู้คนจะเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เปล่งเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างเต็มกำลัง 

“เราคิดมาตลอดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนี้ได้อย่างไร ปารีส 2024 คือจุดที่ทำให้เราพอที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ และเป็นพื้นฐานต่อยอดไปยังปี 2050 หมุดหมายสำคัญต่ออุณหภูมิของโลกที่ทุกคนยังคาดเดาไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร

“สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น บางทีถ้าเรากลับมาดูในอีก 5,000 ปีให้หลัง อาจจะพอใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ขึ้นมาเล็กน้อย เรื่องมันก็เป็นแบบนี้แหละ” สเวนทิ้งท้าย

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.