ธ.ก.ส. การเกษตร สร้างรายได้ - Urban Creature

“น่าสนใจนะเนี่ย”

ระหว่างคุยกับ คุณประทีป ภูลา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาสี่แยกอินโดจีน เราพูดประโยคข้างต้นไปหลายครั้ง เพราะว้าวกับสิ่งที่ ธ.ก.ส. ทำเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของลูกค้าเกษตรกร

ว้าวอย่างไร (รู้หน่า ว่าคำถามนี้ผุดขึ้นมา)

1. ประหยัดค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้วยการพักไปซูเปอร์มาร์เก็ตนอกบ้าน แล้วเปลี่ยนมาสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้าน ที่เปิดประตูเดินออกมาแค่สี่ห้าก้าวก็เจอผักสวนครัวตามรั้วมาเด็ด ผัด ต้ม กินได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อผักสักบาท

2. ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ชำระหนี้ระยะยาว ด้วยการเปลี่ยนจากทำไร่เชิงเดี่ยวมาเป็นไร่สวนผสม และเพิ่มมูลค่าการขายโดยให้ความรู้ใหม่ๆ ที่เกษตรกรไม่รู้มาก่อน

หลายคนรู้คร่าวๆ ว่า ธ.ก.ส. มีภาพลักษณ์แข็งแกร่งว่าเป็นธนาคารที่ให้ความช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร แต่ยังไม่รู้วิธีคิดแก้ปัญหาว่าลงมือทำอย่างไร วันนี้จึงชวนรู้จักแนวทางสร้างความเข้มแข็งและฟื้นฟูเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ที่ไม่ควรพลาดแม้แต่บรรทัดเดียว

01 ปัญหากวนใจเกษตรกร

‘หนี้’ คือสิ่งที่คุณประทีปบอกว่ากวนใจเกษตรมากที่สุด แต่บางครั้งหนี้ที่เกิดขึ้นกลับเกิดจากเรื่องควบคุมไม่ได้หลายอย่าง

ภาพรวมหนี้สินจากอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ที่คุณประทีปเคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาบางกระทุ่ม ชี้จำนวนตัวเลขจากสมาชิกในอำเภอกว่า 5,000 คน มีหนี้สินรวม 2 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหามาจากภัยธรรมชาติ บางปีน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง ผลผลิตที่ควรจะได้กลับไม่ได้ตามความตั้งใจ ยังไม่รวมปัญหาแมลงรบกวน เพลี้ยระบาด ราคาตกต่ำ ยอดขายไม่ได้กำไร การลงทุนทำนา ปลูกต้นไม้ แต่ละทีขาดทุนแทบทุกรอบ

เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นก็ทำให้ต้องกู้เงินธนาคารซ้ำๆ และไม่มีเงินมาจ่ายหนี้เพราะปัญหาดังกล่าว จึงเลือกเข้าสู่วงการหนี้นอกระบบที่เป็นภัยต่อเกษตรกร บ้างก็ล้มเลิกการประกอบอาชีพเกษตรกรที่ตนรักไปกลางคัน 

ยิ่งเกษตรกรที่ทำไร่เชิงเดี่ยวจะพบข้อเสียคือใช้พื้นที่มากแต่ปลูกพืชแค่ชนิดเดียว จึงต้องรับความเสี่ยงที่บางครั้งราคาดีก็ดีไป แต่ถ้าราคาตกต่ำ ก็ขาดทุนหมดเลย

ยกตัวอย่าง คุณแจ็ค-อินทิรา ฤทธิ์มั่น หนึ่งในเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ก่อนหน้าปลูกพริกและข้าวโพดเป็นไร่เชิงเดี่ยว จนประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องหลายปี 

“พอเราขาดทุนบ่อยๆ ก็กู้เงินกับธนาคารมาเรื่อยๆ สุดท้ายไม่ไหว ไม่อยากเป็นหนี้เพิ่มแล้ว เลยเลิกเป็นเกษตรกรแล้วไปรับจ้างทำงานในไร่อ้อย ถึงจะไม่ต้องลงทุนอะไร แต่วันหนึ่งโรงงานหยุดรับซื้ออ้อยจึงทำให้ไม่มีงานทำ แม้จะมีที่ดินส่วนตัวอยู่ แต่ตอนนั้นเราคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำอะไรดีให้ไม่เป็นหนี้ โชคดีที่ ธ.ก.ส. ยื่นมือเข้ามาช่วยชี้ทางให้” คุณแจ็คกล่าว


02 ธนาคารที่เชี่ยวชาญการเกษตรไม่แพ้การเงิน

“หนึ่งในปัญหาที่เราพบหลังจากลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลชาวบ้านอำเภอบางกระทุ่ม คือชาวบ้านมีความสามารถในการปลูกต้นไม้หรือทำไร่นาอยู่แล้ว แค่ขาดองค์ความรู้และวิธีการต่อยอด ธ.ก.ส. จึงขออาสาเข้าไปจุดประกายพวกเขา”

คุณประทีปอธิบายว่า ธ.ก.ส. คัดกรองรายชื่อชาวบ้านที่ลงทะเบียนผู้ประสบภัยพิบัติและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งชาวบ้านเป็นสามกลุ่มคือ รายได้ไม่เกินหนึ่งแสน รายได้ไม่เกินสามหมื่น และรายได้ไม่เกินหนึ่งหมื่น พร้อมคิดแผนการที่จะทำให้พวกเขามีรายได้เกินเส้นความยากจนเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิต

จากประสบการณ์ที่คุณประทีปเคยเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาลูกค้าฝ่ายภาคเหนือตอนล่างถึง 9 จังหวัด และได้คลุกคลีกับลูกค้าเกษตรกรมากหน้าหลายตา จึงพบว่าเกษตรกรที่อยู่รอดท่ามกลางปัญหาภัยพิบัติและราคาตกต่ำ คือกลุ่มที่ลดต้นทุนการผลิต ไม่ซื้อปุ๋ย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือฮอร์โมน แต่หันมาทำเกษตรอินทรีย์โดยเน้นใช้น้ำหมักและปุ๋ยชีวภาพ เลี้ยงไก่พื้นบ้าน เพาะเห็ดฟาง หรือปลูกผักอินทรีย์ตามรั้ว เพื่อลดรายจ่าย และมีเงินเหลือราว 64,000 บาทต่อเดือน

“ทีม ธ.ก.ส. ช่วยกันระดมไอเดียพร้อมวิเคราะห์ข้อมูลชาวบ้านอำเภอบางกระทุ่ม ก่อนจะพบว่าภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้ามีตั้งแต่ค่าอาหารการกิน ค่าส่งลูกเรียนหนังสือ ค่าไฟ และค่าอินเทอร์เน็ต แล้วคิดไอเดียช่วยลดค่าใช้จ่ายลงสักก้อน จากรอรถพุ่มพวงวิ่งผ่านหมู่บ้าน หรือจ่ายตลาดซื้อของกินเข้าบ้าน จะดีกว่าไหมถ้ามีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่หน้าบ้านซะเลย และกระจายความเสี่ยงจากไร่เชิงเดี่ยวเป็นไร่สวนผสมที่ปลูกหลายอย่าง มีผลผลิตผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ขายอยู่ตลอดเวลา” คุณประทีปเล่าให้ฟัง

ปลูก 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง กลายเป็นแก่นหลักที่ ธ.ก.ส. วางแผน ได้แก่ 1. ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองทดแทนการซื้อ เพื่อลดค่าใช้จ่าย 2. ปลูกไม้ผล เช่น ไผ่ ไว้เป็นไม้บำนาญ เพื่อเก็บไว้พัฒนาในอนาคต 3. ปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ยางนา หรือ พะยูง ซึ่งเป็นไม้ระยะยาว เพื่อเพิ่มมูลค่าในการซื้อขาย และประโยชน์ที่ 4. คือการเพิ่มออกซิเจนสู่ปอดของเราและสิ่งแวดล้อม


03 สร้างความเข้มแข็งด้วยธนาคารต้นไม้

จากการสำรวจของ ธ.ก.ส. พบว่าชาวบ้านอำเภอบางกระทุ่มมีหนี้ครัวเรือนอย่างน้อย 60,000 บาท ซึ่งหากลดค่าใช้จ่ายสำหรับเสบียงอาหารเป็นเวลา 45 วัน หนี้จะไม่เพิ่ม เผลอๆ ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการขายกันเองในหมู่บ้าน

45 วัน ต้องแก้ปัญหาครัวเรือนได้! ธ.ก.ส. รับปากชาวบ้านไว้แบบนั้น และเริ่มสเต็ปแรกด้วยการเข้าไปอบรมความรู้เกี่ยวกับ ‘โครงการเกษตรอินทรีย์ 459’ ที่มีหลักคือปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ซึ่งตัวเลข 459 ออกเสียงได้ว่า สี่ห้าก้าว ซึ่งสื่อว่าหากคุณลงมาจากบ้านเพียงไม่กี่ก้าวจะเจอตู้เย็นใหญ่ สามารถหยิบออกมาทำอาหารกินและดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญ ยังเด็ดแบ่งไว้ขายคนในหมู่บ้านได้อีกด้วย

“เราไม่ได้ลงไปให้ความรู้เขาด้วยมือเปล่า แต่เราลงไปแจกเมล็ดพันธุ์ผักบุ้ง กวางตุ้ง มะเขือเทศ และผักสวนครัวอื่นๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาโดยไม่ต้องลงทุน อย่างผักบุ้งปลูกไม่กี่วันก็โตแล้ว เราอยากทำให้มันเกิดขึ้นเร็ว และทำให้เขาเห็นภาพจนเชื่อใจเรา”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ‘ธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า’ ที่ ธ.ก.ส. นำไม้ยืนต้นอย่าง พะยูง ไปแจก เพราะเล็งเห็นว่าพะยูงเป็นไม้ที่ขายท่อนหนึ่งได้ราคาสูง และจากที่สอดส่องรอบอำเภอ พบว่าแถวนั้นมีต้นยางนาเยอะ แต่คนไม่เห็นคุณค่า จึงหาซื้อต้นกล้ายางนาไปแจกชาวบ้าน และสะกิดใจชาวบ้านว่าลูกยางนาที่หล่นใต้ต้นทุกปี หากเอามาเพาะขายต้นละ 10 บาท ขายหมื่นต้น ได้เงินหลักแสน เพราะยางนาเป็นไม้ราคาแพง นิยมเอามาทำบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งเครื่องเรือน ประตู หน้าต่าง หรือบางรายนิยมซื้อไปปลูกเพื่อทำสิ่งปลูกสร้างเองโดยเฉพาะเพื่อลดต้นทุนการซื้อเฟอร์นิเจอร์

“คุณแจ็คโทรมาดีใจกับผมใหญ่เลยว่า มีคนในหมู่บ้านเข้ามาซื้อต้นกล้ากว่าหมื่นต้น เธอขายต้นละสามบาท ได้เงินมาสามหมื่น ผมเลยแนะให้คุณแจ็คปลูกต่อไป เพราะต้นยางนาเมื่อโตเต็มที่จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่าต้นละแปดพัน พอลูกค้าเราเริ่มมองเห็นช่องทางก็ปลูกตัวอื่นเพิ่ม เช่น อัญชัน มะรุม ขิง ข่า กระชาย พริก มะเขือ ฟักทอง และข้าวโพด จนตอนนี้จากคนที่เกือบจะจมน้ำเพราะพิษเศรษฐกิจ กลับดีขึ้นได้ด้วยอาชีพที่เธอรักจริงๆ” คุณประทีปว่า

“เริ่มแรกพี่ไม่รู้จะปลูกยางนาอย่างไร จึงโทรหาคุณประทีปบ่อยๆ เขาก็แนะนำว่าลูกยางนาที่หล่นมาจากต้นต้องรีบเก็บมาเพาะเลยภายในสิบห้าวัน เพราะถ้าเกินนี้จะงอกยากมากๆ รวมไปถึงสอบถามวิธีลงดิน รดน้ำ ต่อยอด และคุณประทีปก็แนะนำอีกว่าให้ปลูกยางนาแซมในร่องต้นมะรุมด้วย เพื่อเก็บไว้เป็นไม้เศรษฐกิจราคาดีในอีกสิบปีข้างหน้า” คุณแจ็คกล่าว


04 พอไม่มีหนี้ ชีวิตก็มีกิน-มีสุข

“หนึ่งปีที่หันมากินผักสวนครัวที่ปลูกเองแทนการจ่ายตลาด และทำไร่สวนผสม ตอนนี้พี่ทรงตัวได้ โดยไม่สร้างหนี้เพิ่ม”

โครงการธนาคารต้นไม้และโครงการเกษตรอินทรีย์ 459 จึงเป็นความตั้งใจที่อยากลดโอกาสที่ลูกค้าธนาคารจะไปกู้เงินนอกระบบ และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง 

คุณประทีปบอกเราว่า ไม่ใช่แค่ตัวเขาเท่านั้นที่ชื่นใจเมื่อเห็นลูกค้าโทรมาขอบคุณเกือบ 30 นาที ทั้งขอบคุณที่ช่วย และขอบคุณที่จุดประกายไฟแห่งความหวังของเกษตรกร

แต่คนทั้ง ธ.ก.ส. เลยต่างหากที่อิ่มเอมใจไปกับความสำเร็จของเกษตรกรที่เป็นลูกค้าคน สำคัญให้ได้รับชีวิตที่มีกิน-มีสุขอย่างแท้จริง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.