My Body, My Choice เป็นเรื่อง Common Sense ที่สังคมควรตระหนักได้แล้วว่าหน่วยเซนติเมตรที่ถูกวัดตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า หรือทุกอวัยวะทั้งภายนอกและภายในซึ่งประกอบกันจนเรียกว่า ‘ร่างกาย’ เป็นของแต่ละบุคคล และบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิ์จะทำอะไรกับมันก็ได้
จริงอยู่ที่การเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในเวลานี้บอกแบบนั้น กลับกัน ชารอน-โอบอุ้ม ลีลาศวัฒนกุล นิสิตจุฬาฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ แสดงทัศนะของเธอว่า “หลายคนเรียกร้องสิทธิ ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำ ผลักดันความเท่าเทียม แต่ทำไมพอมีคำว่า ‘ทำแท้ง’ เข้ามา ถึงรับไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ สรุปคุณก็ไม่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคนอื่นอยู่ดี”
Our Body, Our Ground เว็บไซต์สร้างความเข้าใจถึงประเด็น ‘ท้องไม่พร้อม’ และปริญญานิพนธ์ CommDe Degree Show 2021 ที่เธอเลือกทำ เพื่อบอกสังคมว่าเรื่องนี้ควรพูดกันได้ตามปกติโดยปราศจากการตีตรา เธอใส่ช่องทางช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา เสียงของคนเคยท้องหรือทำแท้ง รวมทั้งเหตุผลหลากมิติที่คนคนหนึ่งจะตัดสินใจทำแท้ง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายทำแท้งให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะเมื่อใดที่อคติในสังคมลดลงและช่องโหว่ทางกฎหมายถูกอุด เมื่อนั้นผู้มีมดลูกจะไม่ต้องเสี่ยงกับการทำแท้งเถื่อน หรือกินยาขับเลือดซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
01 On The Ground
“ไม่มีผู้มีมดลูกคนไหนอยากท้องเพื่อไปทำแท้ง”
เหตุผลที่ชารอนเลือกใช้คำว่า ‘ผู้มีมดลูก’ และ ‘Our’ แทน Her เพราะอยากตีแผ่ให้สังคมได้ทราบว่า ไม่ได้มีผู้หญิงที่ท้องแล้วต้องการทำแท้งเท่านั้น ยังมีชายข้ามเพศ ทอม หรือเพศอื่นๆ ซึ่งมีมดลูกบางคนไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ทั้งกรณีถูกข่มขืน สภาพจิตใจไม่พร้อม ปัญหาด้านการเงิน หรือแยกทางกับคนรักก่อนรู้ว่าท้อง ทำให้โปรเจกต์นี้ของเธอเป็นพื้นที่ของผู้มีมดลูกทุกคน และเป็น ‘Ground’ หรือ พื้นที่บนร่างกาย ซึ่งสามารถใช้ในการโต้เถียง และตัดสินใจมีลูก หรือไม่มีลูกก็ได้
ตั้งแต่เด็กชารอนสงสัยว่า ทำไมบางเรื่องถึงไม่แฟร์กับคนนี้ ทำไมคนนั้นถึงถูกกดทับ เธอไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นถูกจำกัดความเป็นคำว่าความเหลื่อมล้ำ หรือไม่เท่าเทียมด้วยซ้ำ รู้แค่ว่าสงสัยและอยากหาคำตอบ จนกระทั่งได้เข้าไปเรียนภาคอินเตอร์ เธอพบว่าคนต่างชาติเปิดกว้าง พูดเรื่องสิทธิของแต่ละคนอย่างปกติ และการได้ภาษาอังกฤษของทำให้เธออ่านข่าวต่างประเทศบนโลกอินเทอร์เน็ตถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่จำนวนมาก ตรงกันข้ามกับข่าวไทย ที่บอกเสมอว่าการทำแท้งไม่ดี บาป อันตราย แต่แทบไม่มีสื่อไหนพูดเรื่องทำแท้งถูกกฎหมายอย่างปลอดภัยให้คนเข้าถึง
“ปัญหาของสังคมตอนนี้คือคนไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง และบางคนก็ตัดสินร่างกายของคนอื่น เช่น บางครอบครัว พ่อแม่ ยังคิดว่าร่างกายลูกเป็นของตัวเอง คู่แฟนหรือคู่สมรสยังคิดว่าร่างกายของอีกคนเป็นของตัวเอง จึงสามารถข่มขืน ทำร้าย สั่งนู่นนี่ได้ หรือแม้กระทั่งคนรวยที่ชี้บอกคนจนว่าจะมีลูกไปทำไม แต่ไม่ตั้งคำถามถึงสวัสดิการที่คนจนไม่เคยได้รับ ซึ่งสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างค่านิยมเหล่านั้น ชารอนเลยอยากใช้ธีสิสเป็นโอกาสดีที่จะขับเคลื่อนสังคมในแบบของเรา”
ถ้าเปิดมาหน้าแรกบนเว็บไซต์ของเธอ จะเห็นเทปสีส้มที่เป็นสีแห่งความเป็นกลางทางเพศพันอยู่รอบๆ ข้อความ ชารอนตั้งใจเปรียบเทียบถึงการกั้นพื้นที่ของผู้มีมดลูก ว่านี่คือเขตแดนของฉัน คนที่สามารถเข้ามาได้คือตัวของฉัน ซึ่งผู้มีมดลูกทุกคนควรได้เคลมมันคืนจากอคติในสังคม
02 ท้องไม่พร้อม = ไม่ผิด
ชารอนใช้เวลาหาข้อมูลในเทอมแรกของชั้นปีที่ 4 ทั้งข้อมูลเอกสาร สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างกลุ่มทำทาง หรือกลุ่มเฟมินิสต์ ทั้งยังสัมภาษณ์เคสผู้มีมดลูกที่เคยท้องและทำแท้ง รวมไปถึงการทดลองสอดส่องทัศนคติของสังคมด้วยการไปถามคำถามคนในสังคมโดยตัดคำว่า ‘ท้อง’ ออก ถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความเหลื่อมล้ำทางการเงินของแต่ละครอบครัว ปัญหาโดนนอกใจหรือทำร้ายร่างกาย ปรากฏว่าเกือบทั้งหมด ‘เข้าใจ’ แต่เมื่อใส่คำว่า ‘ท้อง’ เข้าไป สังคมกลับไม่เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ เพราะยึดติดค่านิยมความเป็นแม่ ซึ่งทำให้ผู้มีมดลูกถูกขโมยเสียงของตัวเอง
เธอรวบรวม 9 เหตุผลซึ่งอยากให้สังคมตระหนักและเห็นใจคนที่กำลังต้องการยุติการตั้งครรภ์ ดังนี้
1. Economics – “บางคนมีแพลนจะมีลูกอยู่แล้ว แต่เศรษฐกิจเปลี่ยน ยิ่งช่วงโควิดแบบนี้ คนก็ไม่ได้คิดว่าต้องการมีลูกตอนนี้ แต่เมื่อท้องขึ้นมาก็กลายเป็นความไม่พร้อม ซึ่งความพร้อม ไม่พร้อมมันสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา”
2. Sexual Violence – “จากที่รวบรวมประสบการณ์ของคนที่เป็นแฟนกันอยู่แล้วหรือคู่สมรส พบว่า มีหลายเคสแฟนเมากลับบ้าน แล้วมาข่มขืน จนตั้งท้อง กลายเป็นว่าฝ่ายหญิงรู้สึกผิดที่ต้องไปทำแท้ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากท้อง สังคมไม่โทษฝ่ายข่มขืน กฎหมายก็มีช่องโหว่ว่าจะถูกปัดให้เป็นเรื่องในครอบครัว มี Mindset กันว่าเป็นเรื่องผัวเมีย อย่าไปยุ่ง รวมไปถึงกรณี Sex Worker ที่ถูกข่มขืนโดยไม่ยินยอม แต่ไม่มีกฎหมายรับรองพวกเขา”
3. Stability – “การไม่พร้อมทางการเงิน คนจนถูกสังคมวิจารณ์ว่าจะมีลูกไปทำไม วันๆ เอาแต่มีเซ็กซ์ ไม่ยอมเอาเงินไปทำงาน แต่ทำไมคนรวย ถึงไม่เคยถูกสังคมต่อว่า พอท้องขึ้นมาสังคมก็ประณามอีกว่าห้ามทำแท้ง ทีหลังอย่ามีเซ็กซ์ล่ะ เอ้า คนจนห้ามมีความสุขทางเพศจนกว่าจะมีเงินเหรอ”
4. Gender Roles – “ในซีรีส์ เด็กใหม่ EP.1 จะเห็นว่าผู้หญิงชื่อเพชรท้องในวัยเรียน ก้มหน้ารับความเป็นแม่ เพราะทำแท้งเถื่อนไม่สำเร็จ นั่นเป็นสิ่งที่สื่อปลูกฝังค่านิยมความเป็นแม่ ความเป็นแม่มันยิ่งใหญ่ ภาพแม่กอดลูกแล้วน้ำตาไหล ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะพร้อมมีลูก และในความเป็นจริงผู้หญิงที่ท้องก่อนแต่ง หรือมีลูกเร็วยังถูกตีตรา บางคนกระทบถึงหน้าที่การงานเลยด้วยซ้ำ”
5. Parents – “ไม่ใช่แค่คนท้องไม่พร้อมอย่างเดียว แต่ครอบครัวก็ไม่พร้อมเช่นกัน หากยังทำงานอยู่ แล้วไม่มีพ่อ แม่ คอยเลี้ยงดู หรือบางครอบครัว ตา ยาย ถูกผลักภาระให้เลี้ยงหลาน ไม่ได้เข้าใจการเลี้ยงเด็กสมัยนี้ ก็น่าเสียดายนะถ้าเด็กออกมาแล้วอยู่ในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น กลายเป็นเด็กที่สภาพแวดล้อมไม่พร้อม และคุณภาพชีวิตติดลบ”
6. New Born – “แม่เด็กบางคนเพิ่งมีลูกใหม่มาสดๆ ร้อนๆ เลยยังไม่กินยาคุม เพื่อรอให้อาการคงที่สักสองถึงสามเดือน แต่สุดท้ายเขากลับท้องลูกคนที่สอง ทั้งๆ ที่ลูกคนแรกยังเล็ก ยังใช้เงิน ใช้เวลาในการดูแลตรงนี้ไม่เต็มที่ หากคลอดคนที่สองออกมา จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย”
7. Break up – “มีบางเคสเลิกกันแล้วแต่เพิ่งรู้ว่าท้อง ต่างคนต่างมีแฟนใหม่ การเก็บเด็กไว้จึงเป็นความไม่สบายใจที่ทุกฝ่ายเจอ”
8. Cheating – “เช่นเดียวกับปัญหาโดนนอกใจ มีชู้ บางคนแพลนจะแต่งงานแต่ถูกนอกใจ ไม่อยากเก็บลูกกับผู้ชายไว้อีกต่อไป”
9. Disparity – “ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดว่าถ้าเกิดเป็นคนมีเงิน เขาสามารถจ่ายเงินเข้าคลินิกหรือโรงพยาบาลได้ถ้าเกิดอยากทำแท้ง แต่พอคนไม่มีเงิน ทางเลือกก็จะน้อย ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารขอความช่วยเหลือ ไม่มีเงินจ่าย ถ้าโรงพยาบาลรัฐไม่รับทำให้ ถ้าการทำแท้งไม่อยู่ในประกันสังคม ไม่ได้มองว่าเป็นสวัสดิการทางสุขภาพที่ทุกคนควรได้รับ มันกลายเป็นภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่พร้อม”
เห็นแล้วหรือยัง ว่า ‘ความไม่พร้อม’ มีอยู่หลายมิติเกินกว่าจะถูกสังคมตัดสินได้
03 น้อยเหลือเกิน พื้นที่ในการช่วยเหลือ
จะมีสักกี่คนที่หากรู้ว่าตัวเองต้องการทำแท้ง จะรู้ว่าควรปรึกษาใคร และจะมีสักกี่คนที่ไม่ตั้งคำถามว่า ถ้าเดินไปโรงพยาบาล หมอจะทำแท้งให้ไหม
1663 สายด่วนปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในประเทศไทย
กลุ่มทำทาง (08-5742-9948) กลุ่มนักรณรงค์และให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในไทย
เฟมินิสต์ปลดแอก กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้คือช่องทางการช่วยเหลือขั้นแรกสำหรับคนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่ชารอนใส่ไว้บนเว็บไซต์ในหัวข้อ Support และ Hotline เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะคุยกับใคร อย่างที่บอก สื่อบ้านเราไร้การโฆษณาเรื่องนี้ รัฐบาลไม่เคยประกาศว่าอยู่เคียงข้างคนท้องไม่พร้อม ทั้งๆ ที่ตอนนี้การทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้ว (แต่ยังมีช่องโหว่บางประการคืออายุครรภ์ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ จึงจะทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย) ภาคเอกชนน้อยองค์กรจะกล้าสนับสนุน แม้กระทั่งการระบายในกระทู้พันทิปว่าฉันควรทำแท้งดีไหม เครียดมาก ชารอนบอกว่า แทบจะเป็น 10 ใน 10 ที่โดนต่อว่ากลับมา นำไปสู่ลูปการทำแท้งเถื่อน
“ตอนนี้ช่องทางการสนับสนุนถือว่าน้อยอยู่มาก รัฐบาลควรมีการโฆษณาอย่างจริงจัง ทุกคนควรรู้ได้ว่าเข้าโรงพยาบาลไหนก็สามารถไปยุติการตั้งครรภ์ได้ และทุกโรงพยาบาลควรมีการให้คำปรึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่าหลายคนถูกหมอปฏิเสธการทำแท้ง เพราะหมอคิดว่า ‘เรามีหน้าที่ช่วยชีวิตคน’ ทำไมต้องมายุติการตั้งครรภ์ให้คนอื่น ซึ่งการที่เขาปฏิเสธ คนก็ไม่มีทางเลือก ต้องไปทำแท้งเถื่อน กินยาขับเลือด จบลงที่ไม่ปลอดภัยและเสียสุขภาพ
“ตอนนี้การเจรจาทางกฎหมายที่นำขึ้นชั้นศาล ยังมีการเอาสิทธิของหมอเป็นที่ตั้งว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหมอ หมอสามารถปฏิเสธได้ และการรับเฉพาะคนที่อายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ ยิ่งตอกย้ำว่าสังคมไม่เชื่อในสิทธิเนื้อตัวร่างกายอย่างแท้จริง หมอไม่มีสิทธิ์มารุมตัดสินว่าใครควรทำแท้งได้ หรือทำแท้งไม่ได้ แล้วกว่าคนคนหนึ่งจะผ่านกระบวนการตกใจ ยอมรับความจริง บอกครอบครัว บอกแฟน และตัดสินใจจะทำแท้ง มันใช้เวลาระยะหนึ่งอยู่แล้ว”
นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจอย่างโอกาสท้องแม้ใส่ถุงยางอนามัย หรือผู้หญิงท้องไม่พร้อมไม่ได้มีแต่คุณแม่วัยใส ชารอนก็ใส่ไว้ในหัวข้อ Facts เพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่สังคมเชื่อกับความเป็นจริงโดยยืนยันจากชุดข้อมูลและงานวิจัย
“สังคมชอบบอกว่าท้องไม่พร้อมเป็นเรื่องของเด็กต่ำกว่าสิบแปดทั้งนั้น แต่จริงๆ จากสถิติของกรมอนามัยพบว่ามากที่สุดคือวัยยี่สิบขึ้นไปต่างหาก นั่นเป็นเพราะสื่อ เอะอะจะพูดแต่คุณแม่วัยใส การท้องในวัยเรียน ซึ่งเป็นภาพจำที่คนสลัดทิ้งไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทุกช่วงอายุสามารถท้องไม่พร้อม”
04 ทวงคืนเสียงให้ผู้มีมดลูก
ชารอนสัมภาษณ์คนเคยท้องและคนเคยทำแท้งมาใส่ไว้บนเว็บไซต์ของเธอ เพื่อให้ทุกคนได้อ่านประสบการณ์จริง ว่าพวกเขารู้สึกแบบไหน แถมยังมีฟังก์ชันการให้เสียงที่เปิดโอกาสให้คนอัดเสียงบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองหรือ Empower คนอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น Sex Worker คนแก่ เด็ก อัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน คุณมีสิทธิ์ มีเสียง
“จะเห็นว่ารูปของคนที่ต้องการอัดเสียง (กรณีอยากเปิดเผยใบหน้า) จะมีเทปสีเขียวแปะอยู่ คอนเซปต์ของเราคือการไฮไลต์เสียงเล็กๆ ที่คนพูดมาตลอด แต่สังคมไม่ค่อยได้ยินหรือสนใจให้ชัดเจน เพราะเวลานี้เราจะเห็นนักวิชาการ หรือ Activist ออกมาพูด แต่คนตัวเล็กๆ ก็อยากพูดเสียงดังๆ เหมือนกัน”
นอกจากนี้ในหัวข้อ Opinion ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถเขียนเรื่องราวของคุณลงไปเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และอ่านเรื่องราวของคนที่เคยผ่านประสบการณ์ท้องไม่พร้อม เพื่อผลักดันประเด็นนี้สู่สังคมต่อไป
อีกทั้งยังมีฟังก์ชัน Sticker Booth ที่สามารถถ่ายรูปตัวเองพร้อมติดสติกเกอร์แคมเปญรณรงค์นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงจุดยืนอยู่ข้างบุคคลที่ท้องไม่พร้อมลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง
Our Body, Our Ground เป็นผลงานทิ้งท้ายชีวิตในมหาวิทยาลัยของชารอนก็จริง แต่กลับเป็นหนึ่งจุดเริ่มต้นของเธอในการเป็นฟันเฟืองเปลี่ยนอคติในสังคมผ่านชิ้นงาน
ถ้าสมมติได้พัฒนาธีสิสต่อ อยากพัฒนาแง่มุมไหน?
“ตอนนี้สิ่งที่เราทำเป็นเพียงไอเดียเว็บไซต์ที่ออกแบบขึ้นมา ในอนาคตถ้ามีทุนและโอกาสก็อยากทำเว็บขึ้นมาจริงๆ ร่วมกับกลุ่ม Activist จริงจังไปเลย และคงครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนที่ไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยการเข้าไปให้ความรู้ในชุมชน เพราะจากที่เห็น ปัญหาหลักๆ ตอนนี้คือการเข้าถึงความรู้และช่องทางการช่วยเหลือ” ทัศนวิสัยสุดท้ายของเธอก่อนจบสัมภาษณ์
ป.ล. ยังมีผลงานปริญญานิพนธ์ จาก CommDe Degree Show 2021 ในรูปแบบออนไลน์ โดย นิสิตจุฬาฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ อีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ สามารถตามไปดูโชว์เคสเจ๋งๆ กันต่อได้ที่ CommDe Creative Walk วันที่ 29 พฤษภาคม ปี 2564 ไปให้กำลังใจน้องๆ กัน!