“จะดีแค่ไหน ถ้าในงานสุดท้ายของคุณ มีคุณเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว”
นี่คือข้อความหลักของนิทรรศการ ‘ออกแบบงานศพของตนเอง’ ในงาน Bangkok Design Week 2023 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 บนอาคารชัยพัฒนสิน ย่านเจริญกรุง
นิทรรศการนี้จัดขึ้นโดย ‘บริบุญ’ หนึ่งในแบรนด์ธุรกิจเครือ ‘สุริยาหีบศพ 2499’ ที่มีความตั้งใจจะพัฒนาต่อยอดธุรกิจ รวมถึงต้องการนำเสนอรูปแบบและมุมมองใหม่ต่อการจัดงานศพ โดยให้เจ้าของงานสามารถเลือกออกแบบอย่างที่ต้องการได้
ก่อนวาระสุดท้ายจะมาถึง คอลัมน์ Re-Desire อยากพาทุกคนไปฟังแนวคิดและเบื้องลึกเบื้องหลังของนิทรรศการนี้ จากการบอกเล่าของเหล่าทีมงานผู้สร้างสรรค์ กับการนำเสนออีกหนึ่งทางเลือกของการจัดงานศพด้วยตัวเอง
ออกแบบการ ‘ให้’ ฉบับ ‘บริบุญ’
‘ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์’ คือทายาทรุ่นที่สามของสุริยาหีบศพ 2499 ที่เป็นผู้เริ่มต้นไอเดียสร้างแบรนด์ ‘บริบุญ’ เพื่อเข้ามาปรับเปลี่ยนด้านการตลาดของสุริยาฯ นอกจากนี้ยังพยายามนำเสนอรูปแบบของการจัดงานศพหรือนวัตกรรมเกี่ยวกับความตายอื่นๆ โดยมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ลูกค้า และทำให้เรื่องของความตายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
คอนเซปต์หลักของบริบุญคือ ‘การให้’ ยกตัวอย่าง เมื่อลูกค้าซื้อพวงหรีดกระดาษที่ทางแบรนด์ออกแบบหนึ่งพวง จะได้บริจาคหีบศพหนึ่งโลงให้ผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ที่ขาดแคลนไปด้วย หรือถ้ายังไม่มีเหตุให้ซื้อสิ่งของข้างต้น ลูกค้าจะเปลี่ยนไปเลือกซื้อโต๊ะหรือเก้าอี้แทนก็ได้ เพราะทางแบรนด์จะบริจาคโต๊ะหรือเก้าอี้อีกหนึ่งตัวให้เด็กๆ ตามโรงเรียนที่ขาดแคลนอีกเช่นเดียวกัน
“ผมพยายามค่อยๆ ผสมผสานสิ่งอื่นๆ เข้ามา ถ้าจะฉีกแบบหรือเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่สุริยาหีบศพทำเลย อาจเกิดความไม่เข้าใจในการสื่อสาร การเกิดขึ้นของบริบุญจึงเข้ามาตอบโจทย์การทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างการออกแบบงานศพของตัวเอง” ฟีฟ่าอธิบาย
“ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าหากคนเราสามารถเลือกงานศพตัวเองได้ ผมคิดว่ามันก็น่าจะมีประโยชน์”
นิทรรศการออกแบบงานศพของตนเอง
จากอากงสู่พ่อจนมาถึงรุ่นลูก สุริยาหีบศพ 2499 มีอายุธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 65 ปี ส่วนบริบุญนั้นเริ่มนับหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน ด้วยการปล่อยโปรเจกต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ‘การให้’ อย่างสม่ำเสมอ และ ‘นิทรรศการออกแบบงานศพของตนเอง’ ก็เป็นอีกหนึ่งซิงเกิลใหม่ของแบรนด์ ที่มีทีมงานคอยร่วมด้วยช่วยกัน
คนแรกคือ ‘ดิว-นิธิศ บัญชากร’ ที่ปรึกษาของแบรนด์สุริยาหีบศพ 2499 ผู้ควบตำแหน่งนักออกแบบภายในด้วย โดยเข้ามาช่วยตีโจทย์นวัตกรรมการออกแบบในครั้งนี้ “เราคิดว่าการออกแบบงานศพมันไม่จำเป็นต้องเป็นดอกไม้หรือพวงหรีดอย่างเดียวแล้ว นั่นคือที่มาว่าทำไมเราถึงอยากจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา”
จากนั้นดิวที่อยากขยายไอเดียให้กว้างขึ้น ก็ไปชวนเพื่อนอีกคนอย่าง ‘รัสเซีย-ประภัสสร สุขเกษตร’ ที่ทำงานด้าน Scenographer & Narrative Design มาร่วมกันพัฒนานิทรรศการ จนได้บทสรุปออกมามีชื่อว่า ‘The Poetics of Aging’ หรือ ‘บทกวีแห่งวัย’ ที่ใช้ Narrative Design เข้ามาเป็นศิลปะในการเล่าเรื่อง
“เราอยากเล่าผ่านแต่ละช่วงอายุของมนุษย์ ว่าในช่วงเวลานั้นๆ เขาต้องการอะไร เขาคิดอะไรอยู่ คอนเซปต์ The Poetics of Aging คือการพูดถึงความตายในเรื่องการเจริญเติบโต ไม่ใช่จุดที่สิ้นสุด” รัสเซียเล่าถึงความตั้งใจของเธอ
ออกแบบเรื่องเล่าผ่านทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนตาย
สำหรับรูปแบบการจัดงาน พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากห้องผู้ป่วยรวมในโรงพยาบาล ทำให้ภายในนิทรรศการมีหีบศพสีดำสนิทด้านในบุด้วยอะคริลิกมิลเลอร์ตั้งอยู่ทั้งหมด 5 โลง โดยตัววัสดุด้านในทำหน้าที่สะท้อนความไม่สิ้นสุดของชีวิต และจำนวนโลงใช้บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในแต่ละช่วงวัยที่แบ่งออกเป็น 5 ลำดับขั้น ได้แก่
ช่วงวัยเด็ก (Default) พูดถึงวัยในวันวานที่ยังไร้ประสบการณ์ชีวิต
ช่วงวัยเริ่มโต (Growth) พูดถึงเรื่องของการมีตัวตนในโลกโซเชียลมีเดีย
ช่วงวัยทำงาน (Establishment) พูดถึงการสร้างเนื้อสร้างตัว
ช่วงวัยครอบครัว (Relationship) พูดถึงเรื่องการมีคนอื่นในชีวิต
ช่วงวัยชรา (Default) พูดถึงเรื่องความสิ้นสุดและกลับไปสู่จุดเริ่มใหม่
ภายในโลงศพแต่ละโลงมีการจัดวางชิ้นงานที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ติดตามการเจริญเติบโตของแต่ละช่วงวัย และชวนให้เราเปิดรับความคิดหรือสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนในวัยนั้นๆ เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังมีเสียงจากการสัมภาษณ์ผู้คนแต่ละช่วงวัยให้ได้ฟังว่า ความสนใจ หรือสิ่งที่คนในวัยนั้นต้องการคืออะไร ทั้งยังสลักคำพูดของผู้คนเหล่านั้นลงไปบนตัวชิ้นงาน เป็นการเน้นย้ำให้ผู้ชมเห็นความนึกคิดที่ชัดเจนมากขึ้นของผู้คนที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน เพื่อรับรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้ตายต้องการบอกเล่าในงานศพของเขา
“เราไม่ได้บอกว่าเขาตายยังไง แต่มันจะเป็นไปในเชิงที่ว่า คนในวัยนั้นๆ คิดอะไรอยู่ งานนิทรรศการนี้จึงเหมือนขั้นตอนที่กำลังพัฒนาอยู่ มากกว่าการหาจุดจบหรือความตายเพียงอย่างเดียว” รัสเซียเสริม
เปลี่ยนการออกแบบให้เป็นประโยชน์มากขึ้น
อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนคงคุ้นตาในงานศพคือการใช้ผ้ามาประดับตกแต่ง ในนิทรรศการออกแบบงานศพของตัวเองก็ได้ ‘One More Thing’ แบรนด์ผ้าทอที่มีเอกลักษณ์และดีไซน์ร่วมสมัยมาร่วมออกแบบด้วย
‘หนุ่ม-ณรงค์ศักดิ์ ทองวัฒนาวณิช’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์บอกกับเราว่า เมื่อจบโปรเจกต์ ผ้าที่นำมาร่วมออกแบบในครั้งนี้จะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าให้น้องๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ที่มีความต้องการ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
เช่นเดียวกันกับบริบุญที่ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด Creating Shared Value เพราะโลงศพในนิทรรศการออกแบบความตายของตัวเองครั้งนี้ นอกจากตัวโครงสร้างไม้ในแต่ละโลงที่แสดงถึงความเป็นธรรมชาติอันเรียบง่าย และช่วยให้สื่อสารถึงเรื่องความตายได้อย่างละเอียดลออแล้ว การถอดประกอบก็ยังทำได้ง่าย เพราะทีมผู้ออกแบบตั้งใจให้โปรดักต์ชิ้นนี้สร้างการกระจายรายได้ให้ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร ก็สามารถประกอบโลงได้ อย่างวันที่เรามีโอกาสไปชมเบื้องหลังการออกแบบของนิทรรศการ ก็เห็นพี่วินมอเตอร์ไซค์ในหมู่บ้านมาช่วยงานเป็นช่างไม้ประกอบแบบชิ้นงานให้ดู
และนิทรรศการนี้จะเป็นประโยชน์มากขึ้นไปอีกขั้น เพราะหลังจากจัดแสดงเรียบร้อยแล้ว ตัวชิ้นงานจะถูกนำไปพัฒนาต่อให้เกิดเป็นอีกหนึ่งโปรดักต์ของสุริยาฯ ด้วย พูดได้ว่านิทรรศการออกแบบความตายของตัวเองเป็นเสมือนการเริ่มต้นที่จะนำเสนอความเข้าใจหรือมุมมองใหม่สำหรับการจัดงานศพในยุคปัจจุบัน
“อยากให้ทุกคนเริ่มต้นด้วยการเปิดใจและเข้าใจว่า งานศพของเรา เราอยากให้มันออกมาในรูปแบบไหนก็ได้ ทุกรายละเอียดอยู่ที่ความต้องการของเรา จุดประสงค์ของโปรเจกต์นี้คืออยากเชิญชวนให้ทุกคนมาออกแบบงานสุดท้ายในชีวิต ที่มีตัวเราเองเป็นตัวเอกของงาน และสร้างความทรงจำที่ดีให้ผู้มาร่วมงาน
“บางคนอาจจัดงานศพไปตามประเพณีวัฒนธรรมปัจจุบัน แต่ก็มีบางคนที่อยากเล่าเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตตัวเอง ผมเชื่อว่าต้องมีกลุ่มคนที่คิดว่าการออกแบบงานศพของตัวเองเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้แน่ๆ ผมจึงอยากให้คนตระหนักว่า ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว และการจัดงานศพด้วยตัวเองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้คนได้ทำตามสิ่งที่ต้องการเป็นครั้งสุดท้าย” ฟีฟ่าอธิบายพร้อมรอยยิ้ม
‘นิทรรศการออกแบบความตายของตนเอง’ จัดแสดงวันนี้ – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ชั้น 3 ของอาคารชัยพัฒนสิน ภายใต้การเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2023