ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับหนังไทย Blue Again - Urban Creature

ฐาปณี หลูสุวรรณ เป็นลูกครึ่งอีสาน-จีน เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปโตที่สกลนคร ก่อนจะเข้ามาเรียนหนังและทำงานในกรุงเทพฯ อีกครั้ง เธอพูดอีสานไม่คล่องปร๋อ แต่พอพูดไทยกลางก็ติดเหน่ออีสานจนโดนล้อ

เหนือความซับซ้อนและย้อนแย้งทั้งปวงในตัวเธอ สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ ฐาปณีไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนของที่ไหนเลย

เหมือนกับ ‘เอ’ ตัวละครเอกใน Blue Again หนังเรื่องแรกในชีวิตของเธอ ผู้เป็นลูกครึ่งที่มีพ่อเป็นคนขาว แม่เป็นคนสกลนคร แต่ตัวเองกลับรู้สึกแปลกแยกจากสังคมรอบตัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากจะมีใครหรือสิ่งใดที่เอเรียกว่าเพื่อนได้เต็มปาก หนึ่งคือ ‘เมธ’ เพื่อนชายที่รู้จักกันตั้งแต่มัธยมฯ แต่ต้องแยกย้ายกันไปหลังเรียนจบ อีกสิ่งคือ ‘คราม’ วัตถุดิบย้อมผ้าที่เธอเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก

ในทางหนึ่ง Blue Again คือเครื่องบันทึกความรู้สึกโดดเดี่ยวและเป็นอื่นที่ผู้กำกับอย่างฐาปณีรู้สึกมาตลอด แต่ในอีกทางหนึ่ง นี่คือผลพิสูจน์ความรักที่มีต่อการทำหนังของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นคนกลางๆ ไม่โดดเด่น และแม้จะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนของที่ไหน แต่แวดวงที่มั่นใจว่าอยากผลักตัวเองเข้าไปคือวงการผู้กำกับ

นับแต่วันแรกเริ่ม Blue Again ใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะได้ออกมาสู่สายตาผู้ชม และหนังเรื่องนี้ยังได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปฉายที่เทศกาลหนังปูซานในสาขา New Currents ที่มีหนังเพียงไม่กี่เรื่องได้เข้ารอบ พิสูจน์ในตัวมันเองแล้วว่าเป็นหนังที่พิเศษแค่ไหน

แต่ใน 8 ปีของ Blue Again ผ่านอะไรมาบ้าง และความคิดความเชื่อแบบไหนที่อยู่กับเธอจนหนังสามารถถึงฝั่ง บ่ายวันที่ท้องฟ้ากำลังระบายสีฟ้าสดใส เรานั่งลงคุยกับเธอเพื่อหาคำตอบ 

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

ชีวิตของฐาปณีเคยมีโมเมนต์โดดเดี่ยวและรู้สึกเป็นอื่นเหมือนตัวละครใน Blue Again ไหม

เราเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปโตที่สกลนคร และมีกำแพงเรื่องภาษาเหมือนตัวละคร ‘เอ’ ใน Blue Again เราฟังอีสานออกแต่พูดบางคำไม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่พูดภาษาไทยกลางก็โดนเพื่อนล้อว่า ‘อีคนไทย’ แล้วพอเราอยู่อีสานนาน เราจะติดการใช้ไวยากรณ์บางอย่างของอีสาน ติดการพูดสลับตำแหน่ง ติดเหน่ออีสาน พอเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็โดนล้ออีก บางคนอาจจะขำๆ แต่เราคิดว่ามันคือการถูกกีดกันอย่างหนึ่ง กีดกันว่าเป็นอื่น 

ในเชิงหนึ่ง เราไม่ได้ถูกเคารพว่าเป็นคนเท่ากัน ด้วยความเป็นเด็กอีสาน เขาก็จะปฏิบัติกับเราอีกอย่าง เช่น ในที่ทำงานมีน้องคนหนึ่งที่คล้ายๆ เราแต่เขาแค่เป็นคนกรุงเทพ​ฯ เราก็จะรู้สึกว่าเขาโดนรักมากกว่า อาจเป็นเพราะนิสัยเราหรืออะไรก็ได้ แต่เรารู้สึกว่ามันแปลก 

โตมากับความรู้สึกถูกกีดกันมาตลอดเลยหรือเปล่า

ใช่ จริงๆ เรามีเพื่อนปกตินะ เพียงแต่เวลาเขาเมาท์อะไรกัน เราจะรู้สึกว่าเราเมาท์กับเขาไม่ได้เพราะเราไม่ได้พูดภาษาเดียวกันกับเขา หรือเวลาเขานัดเที่ยว สมมติไปดูหมอลำหรือตลกคณะต่างๆ ของอีสาน เขาก็จะไม่ชวนเราเลย เพราะเขารู้สึกว่าเราฟังไม่ออก ไม่จอย ทั้งที่เราโคตรอยากไปเลย แม้จะฟังไม่ออกจริงๆ ก็ตาม

เราพยายามเรียนรู้ด้วยการซื้อแผ่นตลกคณะเสียงอิสาน แม่นกน้อย อุไรพร มาดูที่บ้าน หัดพูดจากตรงนั้นให้เป็นธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็ได้แค่ทักษะการฟัง พูดได้ไม่เยอะ เหมือนพูดไปแล้วคลังศัพท์มันหมด ประกอบกับถิ่นที่เราอยู่มีหลายสำเนียง ไม่ได้มีแต่ภาษาอีสานเมนสตรีมแบบที่เราจะได้ยินจากหนังของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ซึ่งเป็นภาษาอีสานแบบขอนแก่นหรืออุบลฯ แต่คนในหมู่บ้านของเราเป็นคนภูไท หรือแม้แต่ตาเราก็เป็นคนเผ่าโย้ย เขาจะพูดช้าๆ หางเสียงยาวๆ เราทำได้แค่เลียนแบบนิดหน่อย

ตัวเราเองก็เป็นคนที่มิกซ์มาก หมายถึงว่าทางตายายเป็นคนอีสาน แต่ปู่กับย่าเป็นคนจีน สำหรับเรามันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราได้เรียนรู้หลายๆ ภาษา แต่ข้อเสียคือสื่อสารลำบาก สมมติเวลาจะพูดใส่อารมณ์ บางครั้งเราก็ไม่รู้จะใส่อารมณ์ในสถานะที่เราเป็นคนอีสานหรือคนกรุงเทพฯ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกนะ แต่ทำให้รู้สึกว่าทำไมฉันเป็นทั้งคนอีสานหรือคนกรุงเทพฯ ไม่ได้สักที ทั้งที่จริงๆ ไม่ต้องแบ่งแยกก็ได้ เราก็เป็นคนคนหนึ่ง แต่บางครั้งเราแค่อยากถูกนับรวมว่าเป็นพวกใดพวกหนึ่งบ้างก็ยังดี

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

แล้วความฝันในการเป็นผู้กำกับเริ่มตั้งแต่ตอนไหน

ม.4 แต่สะสมมาตั้งนานแล้วนะ เราดูซีรีส์ดูหนังตามงานที่แถวบ้านเรียกว่า ‘งัน’ มันคือการเปิดหนังหรือเพลงในงานต่างๆ เพื่อตอบแทนอะไรบางอย่าง เช่น เปิดงันงานศพ งันฉลองเทศกาล หรืองันทำบุญ 

เราเรียนรู้การดูหนังจากงานงัน โตมากับการชอบดูซีรีส์เกาหลี ไต้หวัน พวก F4 ที่ฉายตอนดึกๆ ชอบดูอะไรแบบนั้น แต่ตอนที่รู้สึกว่าอยากเป็นผู้กำกับคือตอน ม.4 เราเขียนความฝันลงไปในสมุดแนะแนวเลยว่าอยากเรียนกำกับการแสดง แต่พอไปยื่นให้ครูแนะแนวดูตอน ม.6 ครูก็ถามว่าเธออยากเรียนอันนี้จริงๆ เหรอ ไม่เสียดายที่เธอเรียนวิทย์-คณิตฯ มาเหรอ แล้วเราก็เกิดการสับสนว่า เลือกคณะนี้ไม่ได้จริงๆ เหรอ เราไม่เหมาะเหรอ ประกอบกับตอนนั้นครูให้ทำเทสโง่ๆ ที่จะบอกว่าเราเหมาะกับคณะอะไร แล้วผลที่ออกมามีแต่หมอกับวิศวะทั้งนั้น 

ตอนนั้นเราเลยสอบแต่หมอกับวิศวะ จนไปติดวิศวะไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยหนึ่ง ช่วงนั้นในอำเภอเมืองสกลนครเพิ่งมีการเปิดโรงหนัง เราก็ไปดูหนังเรื่อง ‘ความจำสั้น แต่รักฉันยาว’ พอดีเป็นช่วงที่อกหักแล้วร้องไห้ไม่ออก มันเจ็บมาก เราเลยไปดูความจำสั้นฯ คนเดียวเพราะอยากหาอะไรที่ทำให้ร้องไห้ได้ สรุปว่าหนังเรื่องนั้นทำเราร้องไห้ได้ เราเลยไปดูอีก 2 รอบเพราะอยากร้องออกมาให้หมด แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าหนังมันเป็นเพื่อนเราได้จริงๆ มันอยู่ข้างเราในวันที่ไม่มีใครอยู่ข้างๆ เราจึงเกิดความหวังว่าอยากทำหนังเพื่อให้คนดูรู้สึกว่ามันกระทบอะไรกับชีวิตเขา มันมีอิทธิพลบางอย่างกับคนดู มากกว่าการเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์เฉยๆ

เราลาออกจากวิศวะมา Gap Year 1 ปี แล้วสมัครเข้าเรียนทำหนังต่อ ซื่อตรงกับความตั้งใจแรกคือการเป็นผู้กำกับ 

นอกจากเรื่องความรัก ภาพยนตร์ส่งผลต่อชีวิตคุณในแง่มุมไหนอีกบ้างไหม

มันเปิดโลก เหมือนเวลาคุณอ่านหนังสือแล้วได้รู้เรื่องราวของคนอื่น ทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจคนแบบอื่นๆ มากขึ้น แต่เวลาเราทำหนัง เราไม่ได้อยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นขนาดนั้นนะ ของเรามันคือการบันทึกว่ะ มันคือการบันทึกสิ่งที่เราเจอมา เหมือนเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของเรา ปะปนกับเรื่องแต่ง ซึ่งเรื่องแต่งนี้เราก็พยายามเคารพเรื่องจริงให้มากที่สุด

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

แล้ว Blue Again บันทึกเรื่องอะไรของคุณ

Blue Again บันทึกช่วงเวลาของการเจอเพื่อนที่รู้สึกแปลกแยกและเป็นอื่น เขาเป็นเพื่อนลูกครึ่งฝรั่งคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลของตัวละคร ‘เอ’ ในเรื่อง นอกจากนี้ มันยังบันทึกช่วงเวลาของการรัฐประหารปี 2557 ช่วงนั้นคนรู้สึกแปลกแยกต่อกันเยอะ หลายคนไม่สามารถพูดได้ว่าตัวเองรู้สึกยังไง เราจำโมเมนต์นั้นได้ว่าคนมันแปลกแยกโดยพร้อมเพรียงกัน คนพร้อมที่จะจับกลุ่มเพื่อแบนหรือบอยคอตอีกคนหนึ่งได้เลย ซึ่งเราสนใจว่าไอ้คนนั้นจะมีชีวิตต่อไปยังไง

เราเลยอยากบันทึกเขาในฐานะที่พวกเขารู้สึกเหมือนกับเรา รู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนเรา และตัวละครที่เราสร้างใน Blue Again ก็มีตัวตนจริงๆ 

ในเรื่องมีการเปรียบเทียบการเลี้ยงครามว่าเหมือนกับการดูแลความสัมพันธ์ของคน คุณจับสองอย่างนี้มาเชื่อมกันได้อย่างไร

เราเจอรุ่นพี่ที่เรียนแฟชั่น แล้วเขาศึกษาเรื่องครามอยู่ที่สกลนคร ซึ่งเราเป็นคนสกลนครแท้ๆ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าบ้านเรามีครามที่โดดเด่น มันคือพื้นที่แห่งครามด้วยซ้ำ รุ่นพี่คนนั้นถึงขนาดบินไปศึกษาเรื่องครามที่นู่น เขามาเล่าให้ฟังว่ามันดีมาก น่าสนใจ 

บังเอิญว่าพี่คนนั้นเขาคือคนที่โดนแบน เพราะความคิดทางการเมืองต่างจากคนทั่วไป แล้วเหมือนว่าการทำครามคือความสุขของเขา การออกไปต่างจังหวัดแล้วได้เจออะไรที่ไม่ใช่ภาวะแปลกแยก เหมือนคนที่ทำครามและครามต้อนรับเขา เชื้อเชิญให้อยู่ที่นั่นโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร เราเลยคิดว่านี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เหมือนในหนังแหละ ครามมีลักษณะคล้ายคน มันเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ต้องการการดูแล การทะนุถนอม เหมือนความสัมพันธ์ของคนที่ต้องดูแลอย่างดีถึงจะรอด ไม่ตาย และครามเจริญเติบโตได้เฉพาะที่มากๆ เติบโตได้ในอากาศที่เหมาะกับมัน เหมือนกับคนที่โตถูกที่ เขาก็สามารถเป็นสีที่ดีได้เหมือนคราม

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

Blue Again ยังมีประเด็นทางการเมืองที่เคลือบอยู่จางๆ ด้วย การใส่ประเด็นเหล่านี้ลงไปในเรื่องสำคัญกับคุณยังไง

มันมีใส่หลายแบบเนอะ เราไม่ได้ใส่แบบโจ่งแจ้ง เพราะรู้ว่าประเทศนี้พูดมันตรงๆ ไม่ได้ เราก็พยายามที่จะใส่มาในแบบที่มันอยู่ได้ ไม่เคอะเขิน และเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวละครรู้สึก เป็นแบ็กกราวนด์ของตัวละครบางตัว หรือเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เจอได้ในชีวิตประจำวัน เราใส่เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นการบันทึกว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้วเราเจอกับอะไร แล้วตอนนี้มันเป็นยังไง เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง หรือคนก็ยังต้องเจอและต่อสู้แบบเดิมอยู่ 

เรารู้สึกว่าประเด็นการเมืองที่ใส่ไป ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เก่า แต่เรายังรู้สึกได้ถึงปัจจุบัน 

ความยากของหนังที่ใช้เวลาทำนานถึง 8 ปี คืออะไร

ยากทุกส่วน เขียนบทนี่ยากแต่สนุก ยากอีกอย่างคือหาทุน เพราะเราไปขอทุนกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนแล้วไม่ได้เลย ซึ่งเราก็เข้าใจในแง่ที่พลอตอาจไม่โดนใจเขาหรือเปล่า 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าไม่ว่าหนังจะเป็นยังไง หนังเรื่องแรกของผู้กำกับอิสระสมควรได้รับการส่งเสริมเพื่อให้อุตสาหกรรมมันถูกต่อยอด เพื่อให้มีคนทำงานในวงการนี้เยอะขึ้น แล้วการมีกองหนังกองหนึ่งมันเกิดการจ้างงานขึ้นมากมายนะ เพราะตำแหน่งงานในหนังมีเป็นร้อยเลย

พอไม่มีทุน โปรดักชันเลยออกมาค่อนข้างทุลักทุเลหน่อย เราต้องถ่ายติดๆ กัน เพราะมีทุนจำกัดมาก กองไม่ได้ราบรื่น แต่มันก็สำเร็จไปได้นะ

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

แล้วไปฉายไกลถึงเทศกาลหนังปูซานได้ยังไง

ตอนแรกเราจะฉายแค่โรงฉายหนังเล็กๆ ที่เคยฉายสมัยเรียน แต่พอปรึกษากับทีมงานและโปรดิวเซอร์อีกท่านหนึ่ง เขาถามว่าเราจะไปแค่นี้จริงเหรอ ก็เลยตัดสินใจส่งเทศกาลปูซาน

พอเราสมัครไป ทีมจากปูซานติดต่อกลับมาว่าสนใจหนังมาก อยากเลือกให้เข้าฉายที่ปูซานเลย ตอนนั้นเขายังไม่ได้บอกว่าเข้าในฐานะอะไร แต่ขอต่อรองว่าตัดให้สั้นลงอีกได้ไหม เหลือสักชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมง เพราะการที่หนังยาว 3 ชั่วโมงมันฉายได้อีก 2 เรื่องเลย เป็นการลดทอนโอกาสคนอื่นเหมือนกัน

เรากลับมาพิจารณากับทีมและถามตัวเองด้วยว่าชอบหนังหรือยัง ถ้าชอบหนังแล้วเราสู้ต่อไหม สุดท้ายเลยตอบปูซานไปว่าไม่ตัด เขาก็หายไปเลย 1 สัปดาห์ ตอนนั้นคิดว่าไม่ได้แน่ สรุปว่าเขาส่ง Invitation มาทางอีเมลเชิญไปเข้าร่วมเทศกาลปูซาน ในฐานะที่เป็นสายประกวดฝั่งหน้าใหม่หรือ New Currents ซึ่งไม่มีคนเข้ามา 9 ปีแล้ว มันคือสายเดียวกับพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) และพี่อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นสายประกวดที่เข้าได้ยากมาก 

นอกจากความตื่นเต้นมาก อีกอย่างคือหนักใจ เพราะพอได้เข้าปูซานแล้ว สิ่งที่เขาต้องการคือคุณภาพ ตอนเราถ่ายมันก็คุณภาพมากสุดเท่าที่ทำได้แล้ว แต่เขาต้องการคุณภาพมากกว่านี้ เราเลยต้องไปทำสีทำเสียงเพิ่ม ซึ่งไอ้ Post-production ตรงนี้แหละมันใช้เงินเยอะมาก หนังเรื่องหนึ่งใช้เป็นล้าน เราไปดีลกับบริษัทที่เขาทำแล้วขอให้ลดค่าใช้จ่าย เลยได้มาในราคาที่อาจไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่าสูงสำหรับเรา

แปลว่าการเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ทุกวันนี้ก็ยังลำบากอยู่

มันลำบากตรงที่เป็นหนังอิสระด้วยแหละ เพราะเราไม่มีโปรไฟล์ ไม่มีอะไรที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราน่าเชื่อถือได้เลยในการขอทุน รัฐไทยเองก็ไม่สนับสนุนศิลปะ ไม่ใช่แค่หนังอย่างเดียวนะ แต่เป็นศิลปะที่ร่วมสมัย เขาสนับสนุนแค่ศิลปะที่ตรงใจเขา ที่มันไท้ยไทย แต่เราอย่าลืมว่าศิลปวัฒนธรรมมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไทยอาจจะปนกับฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือเกาหลี รัฐไทยก็ต้องยอมรับว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง และต้องยอมรับให้ได้ด้วยว่าศิลปะเป็นเรื่องของทั้งโลก 

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

แล้วในฐานะผู้กำกับหญิงในอุตสาหกรรมหนังไทย ที่ถ้าเทียบสัดส่วนดูแล้วก็ยังมีน้อยกว่าเพศอื่นๆ มาก ถ้ามีอะไรที่คุณพอแนะนำให้กับผู้หญิงที่อยากเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ได้ คุณจะบอกว่าอะไร

เราคิดว่าไม่ต้องกลัวเลย เราไม่อยากให้คุณคิดว่าหน้าที่นี้เป็นแค่เรื่องของผู้ชาย เพราะมันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ ถ้าคุณมีความสามารถ กองหนังก็จะผ่านไปได้ เราอยากให้มีความกล้าที่จะต่อสู้ เพราะจำนวนประชากรที่เป็นผู้กำกับผู้ชายมันเยอะ เราไม่ได้จะไปแข่งกับเขานะ แต่แค่รู้สึกว่าเราต้องเพิ่มโอกาสให้ตลาดการทำหนังมีความหลากหลายทั้งทางเพศ วัย และความคิดมากขึ้น 

เดี๋ยวนี้มีผู้กำกับหญิงมากขึ้น ได้รับการให้เกียรติและถูกจับตามองมากขึ้น แต่อย่าไปคิดว่าการเป็นผู้กำกับหญิงจะพิเศษกว่าการเป็นผู้กำกับชาย ให้คิดว่าถ้าเราสามารถเป็นผู้กำกับที่ทำอะไรที่พิเศษได้กว่าคนอื่นๆ อันนั้นคือสิ่งที่เราควรภูมิใจกับมัน 

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ทำให้คุณอยากทำหนังต่อคืออะไร

ตอนแรกเราคิดว่าการทำหนังที่ชอบน่าจะพอแล้ว แต่พอไปฉายที่อื่น มีคนดูจบแล้วเดินมาร้องไห้ มาขอบคุณเราที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา มาบอกว่ามันทำให้เขานึกถึงอะไรบางอย่าง หรือจดจำเราได้ในฐานะคนทำหนังที่เขา Appreciate มัน และจะรอดูหนังเรื่องต่อไป ทั้งหมดนั้นเติมเต็มเรามากเลยนะ 

แค่มีคนหนึ่งคนที่ชอบ เราก็โอเคแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังอยากทำหนังให้คนชอบเยอะๆ ต่อไป เพราะใฝ่ฝันมานานว่าเราอยากทำหนังที่จะเปิดโลกของใครหลายๆ คน กระทบกับความรู้สึกของใครหลายๆ คน เหมือนที่มันเคยทำกับเราได้

ฐาปณี หลูสุวรรณ ผู้กำกับ Blue Again

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.