‘ทำไมบอลไทยไม่ได้ไปบอลโลก’ นานแค่ไหนก็ยังถามได้เสมอ - Urban Creature

‘ฟุตบอล’ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย เราเชื่อว่าช่วงวัยเด็กของใครๆ หลายคน น่าจะเคยมีโมเมนต์ที่วิ่งไปจองสนามฟุตบอลตอนกลางวันหรือเลิกเรียน แล้วเตะเจ้าลูกกลมๆ นี้จนเหงื่อโชกตัวมอมแมม หรือต่อให้ดูฟุตบอลไม่เป็น ไม่เข้าใจกติกา หรือไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับวงการลูกหนังเลย อย่างน้อยๆ ก็ต้องเคยได้ยินชื่อของสโมสรดังจากต่างประเทศหรือนักเตะในตำนานที่คนไทยหลายคนปวารณาตัวเป็นแฟนคลับเดนตายและติดตามการแข่งขันทุกแมตช์แน่นอน

นอกจากนี้ การที่มีรายการแข่งขัน The Match Bangkok Century Cup 2022 ศึกแดงเดือดระหว่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล ที่ไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และปัญหาสารพัดของฟุตบอลโลก 2022 ที่เริ่มตั้งแต่ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่อีนุงตุงนังสุดๆ และอีกมากมายปัญหาที่ตามมา ทว่าสุดท้ายแล้วเสียงเฮที่ดังลั่นตามบ้านเรือน วงเหล้า และร้านรวงต่างๆ ในเวลาที่บอลโลกถ่ายทอดสด ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าคนไทยสนใจกีฬาประเภทนี้ขนาดไหน

ทว่าในขณะเดียวกันเราก็อดสงสัยตามไม่ได้ว่า ในช่วงเวลาที่กีฬาประเภทอื่นของบ้านเราสามารถไปไกลถึงระดับโลก แต่กับฟุตบอลไทยที่แม้ว่าจะมีเพอร์ฟอร์แมนซ์เยี่ยมยอดในหลายการแข่งขันระดับอาเซียน กลับไม่เคยไปได้ไกลกว่านี้สักที ไม่ว่าจะผ่านพ้นไปกี่ปี คนไทยยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเดิมๆ ที่ว่า ‘ทำไมบอลไทยถึงไม่ได้ไปบอลโลก’

Thai Football

คอลัมน์ Curiocity ขออาศัยช่วงบอลโลกฟีเวอร์นี้ชวนไปหาคำตอบว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ไทยยังไม่สามารถไปถึงการแข่งขันระดับโลกได้ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เหตุผลที่นักกีฬาเราไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถแน่นอน

เส้นทางไม่ชัดเจน โมเดลไม่ไกลพอ 

ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน เยาวชนก็เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่เห็นอยู่บ่อยครั้งมักเป็นเรื่องของการสนับสนุนจากผู้ปกครอง เด็กไทยหลายคนชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น เพราะถึงแม้ว่าเส้นทางอาชีพนักกีฬาในตอนนี้จะไม่ได้ลำบากเท่ากับเมื่อก่อน แต่ผู้ปกครองหลายคนยังมองไม่เห็นภาพว่าลูกๆ ของพวกเขาจะยึดการเตะฟุตบอลเป็นอาชีพหลักได้อย่างไร

แม้ว่าทีมชาติไทยของเราจะมี ‘เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์’ ที่โกอินเตอร์ไปเป็นนักฟุตบอลชาวไทยในสโมสรคาวาซากิ ฟรอนตาเล ของเจลีกที่เป็นการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่ต้องบอกกันตามตรงว่าเจลีกนั้นยังไม่ใช่ภาพจำของการเป็นนักฟุตบอลระดับโลกเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับทีมชาติเอเชียอย่างเกาหลีใต้ที่มี ‘ซน ฮึงมิน’ ที่นอกจากจะเป็นนักเตะทีมชาติแล้ว เขายังเป็นแนวหน้าของสโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์ในพรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นลีกกีฬาที่มีผู้ชมและเม็ดเงินสะพัดมากที่สุดในโลก หรือ ‘ทาเกฮิโระ โทมิยาซุ’ นักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น ผู้เล่นของสโมสรอาร์เซนอลในลีกเดียวกัน

นอกจากนี้ ทีมชาติเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ลงแข่งฟุตบอลโลก 2022 ยังมีนักกีฬากว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นนักเตะประจำในสโมสรต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างที่ทำให้ผู้ปกครองรวมถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ เชื่อใจในเส้นทางของการเป็นนักกีฬามืออาชีพ 

สำหรับประเทศไทยแล้ว อาจพูดได้ว่าผู้เล่นของเรายังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้มากพอ จนทำให้เด็กไทยมองเห็นเป้าหมายที่ไกลกว่าที่เคยมีมา รวมถึงไม่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้พ่อแม่มั่นใจได้ว่านักฟุตบอลจะเป็นอาชีพที่มีอนาคตจริงๆ ทำให้ไม่เกิดการสนับสนุนจากครอบครัวเหมือนเวลาอยากเป็นหมอ ตำรวจ วิศวะ สถาปนิก เป็นต้น

Thai Football

มาตรฐานของอะคาเดมีฟุตบอล

ในขณะเดียวกัน ถึงแม้เด็กๆ จะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว แต่หากไม่มีคนคอยชี้นำที่ถูกต้องก็อาจทำให้การเล่นฟุตบอลของเยาวชนไม่ได้คุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น การมีอยู่ของอะคาเดมีหรือโรงเรียนสอนฟุตบอลจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปูทางในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทั้งในด้านการฝึกฝนวินัยและพัฒนาทักษะฟุตบอลให้ไปสู่ระดับสากล 

แน่นอนว่าหากเป็นอะคาเดมีที่จัดตั้งโดยสโมสรใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการฝึกซ้อมนักกีฬาอาชีพ ก็คงมั่นใจได้ว่าการฝึกสอนและฝึกซ้อมจะเป็นไปตามมาตรฐานการเล่นฟุตบอลระดับสากลแน่ๆ แต่ถ้าเป็นอะคาเดมีทั่วไปในระดับรากหญ้าที่สร้างขึ้นด้วยความรักในกีฬาฟุตบอลอย่างเดียว ก็อาจไม่ได้ฝึกสอนตามหลักการที่ถูกวิธีและอาจส่งผลต่อสุขภาพของนักกีฬาด้วย 

ในบ้านเราเองก็มีอะคาเดมีเหล่านี้จำนวนไม่น้อย อย่างก่อนหน้านี้ก็มีอะคาเดมีกว่า 130 แห่งที่ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลไทยในรอบที่ 1/2020 เนื่องจากทางสมาคมต้องการให้สถานที่ฝึกสอนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการต่างๆ และเข้าสู่โครงการพัฒนาต่อยอดศักยภาพและเรียนรู้มาตรฐานการเล่นฟุตบอลจากเอเอฟซีและฟีฟ่า โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนและผู้ฝึกสอนมีความเข้าใจในการเล่นกีฬาที่ถูกต้องและเข้าถึงโลกฟุตบอลมืออาชีพได้ทุกระดับ ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกับแค่อะคาเดมีจากสโมสรดังเท่านั้น 

นอกเหนือจากนั้น มูฟเมนต์นี้ยังช่วยให้นักเตะในสังกัดของอะคาเดมีที่มีชื่ออยู่ในฐานระบบของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ ได้มีทีมงานมืออาชีพคอยช่วยติดตามข้อมูล ความเคลื่อนไหวของผู้เล่นแต่ละคน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้นักกีฬาฝีเท้าดีได้มีโอกาสก้าวไปอีกระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีหลักสูตรที่เป็นก้าวแรกในการเข้าสู่คุณภาพระดับสากลก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเหล่าอะคาเดมีในไทยยังไม่สามารถพัฒนาฝีมือของนักฟุตบอลเยาวชนได้ดีเท่าที่ควร เนื่องด้วยระยะเวลาที่มาตรฐานการรับรองอะคาเดมีเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน ทำให้ต้องใช้เวลาในการฝึกสอนทั้งครูฝึกและนักกีฬาให้เป็นไปตามหลักสูตรที่วางไว้ รวมถึงจำนวนอะคาเดมีทั่วประเทศที่มีค่อนข้างมาก ส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดข้อมูลจากส่วนกลางไปยังอะคาเดมีต่างๆ ในทิศทางที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลอย่างทั่วถึง

Thailand Youth League เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน

การเรียนรู้และฝึกฝนอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ทักษะของนักกีฬาพัฒนาไปสู่การแข่งขันจริงได้ ถึงแม้ว่าในอะคาเดมีจะมีการจัดการแข่งขันภายในก็ตาม แต่การได้ลงแข่งจริงกับทีมอื่นๆ จะช่วยให้นักกีฬาคุ้นเคยกับการแข่งขันมากขึ้น

วงการฟุตบอลไทยจึงมีการจัด ‘ลีกเยาวชนแห่งชาติ (Thailand Youth League)’ ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2016 เพื่อเปิดโอกาสให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนทั่วประเทศได้เข้าร่วมและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การแข่งขันตามมาตรฐานฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญในการพัฒนาทักษะนักฟุตบอลไทยอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อเทียบช่วงเวลากับอีกหลายประเทศ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่มี The Japan Youth Championship ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1997 ตามมาด้วยการแข่งขัน Prince Takamado Trophy All-Japan Junior Youth Football Championship รุ่น U-15 และ U-18 ในปี 1989 และ 1990 ตามลำดับ กลายเป็นว่าไทยเริ่มปูทางให้นักกีฬาเยาวชนค่อนข้างช้ามาก ห่างกันนานเป็นระยะเวลากว่า 10 – 20 ปี

แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจยังไม่สายเกินไปสำหรับการฝึกฝนเพื่อเพิ่มระดับความสามารถในตอนนี้ แม้ว่าดูแล้วจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีก็ตาม

การให้พื้นที่สื่อกับแวดวงนักกีฬา

อาจไม่ได้เกี่ยวกับกีฬาโดยตรงมากนัก แต่การที่สื่อไทยจัดให้นักกีฬาไทยอยู่แต่ในหมวดข่าวกีฬาเท่านั้น ไม่ได้มีการให้พื้นที่อื่นๆ ให้พวกเขาได้เป็นสตาร์ในแบบของนักกีฬา ก็อาจทำให้คนไทยไม่ได้ยกย่องหรือมองอาชีพนักกีฬาเป็นไอดอลเท่าอาชีพที่มีชื่อเสียงอื่นๆ

แตกต่างจากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นที่ให้พื้นที่นักกีฬาได้ไปออกรายการต่างๆ ที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ อย่างตำนานนักฟุตบอลเกาหลี ‘พัค จีซอง’ ก็เคยไปร่วมรายการวาไรตี้รันนิงแมนมาแล้ว รวมถึงรายการวาไรตี้เกี่ยวกับกีฬาที่มักเชิญนักกีฬาหลายสาขามาร่วมงานด้วย ทำให้คนทั่วไปเกิดความสนใจ อยากรู้จัก และไปติดตามผลงานด้านกีฬาของนักกีฬาเหล่านั้นต่อ ยังไม่นับรวมสื่อป็อปคัลเจอร์อย่างการ์ตูนและวงการไอดอลที่นำกีฬาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจุดขายด้วย

ในไทยเองก็มีบ้างที่นักกีฬาจะกระโดดมาอยู่ในหน้าข่าวประเภทอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่มักต้องผันตัวมาเป็นคนบันเทิงหรือมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับสายบันเทิงมากกว่าจะไปอยู่ตรงนั้นในฐานะนักกีฬา

ถึงจะดูเป็นเรื่องนามธรรม แต่เราเชื่อว่าการได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ และเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง จะช่วยให้เหล่านักกีฬาเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำมากขึ้น รวมถึงมีกำลังใจที่จะมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกซ้อม และพัฒนาตัวเองสำหรับการแข่งขัน เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนที่อยากเดินตามเส้นทางนี้

Thai Football

ฟุตบอลไทยต้องพัฒนามากกว่านี้

การพัฒนาฝีมือของนักฟุตบอลเป็นสิ่งที่ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยครั้งเมื่อมีการตั้งคำถามถึงวงการฟุตบอลไทย โดยคำตอบส่วนใหญ่ที่เราเห็นบนโซเชียลมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของนักกีฬา ที่ทำให้ผลงานของฟุตบอลไทยไม่ไปไหนสักที 

การโทษที่ตัวบุคคลอาจเป็นวิธีการที่ง่าย แต่ถ้าลองศึกษาดูดีๆ จะพบสาเหตุที่เกี่ยวโยงมาจากโครงสร้างของวงการฟุตบอลไทย ขนาดนักฟุตบอลขวัญใจชาวไทยและญี่ปุ่นอย่าง เจ ชนาธิป ยังมองว่า หากวงการฟุตบอลไทยสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ก็จะส่งผลดีต่อทั้งนักฟุตบอลและระดับทีมชาติ

แม้ว่าข้อมูลในรายงานกิจกรรมประจำปี 2018 ของ FA Thailand มีการพูดถึง Thailand’s Way แนวทางที่จะทำให้เยาวชนได้ฝึกซ้อมฟุตบอลไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อปรับให้ทีมชาติไทยมีความพร้อมตั้งแต่รุ่นเยาวชน แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้ว่าแนวทางนี้ถูกนำไปใช้ถึงขั้นตอนไหน และทีมเยาวชนได้พัฒนาความสามารถไปถึงไหนแล้วบ้าง เพราะไม่มีรายงานเพิ่มเติมว่าผลลัพธ์ของการใช้ Thailand’s Way นั้นเป็นยังไง

มากไปกว่านั้น การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพของไทยยังอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผนการพัฒนาฟุตบอลไทยไม่เข้าที่เข้าทางสักที และยังคงอยู่ในกระบวนการกำลังพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากการรัฐประหารที่ตัดตอนความต่อเนื่องของการบริหารงานของหลายๆ รัฐบาล และทำให้ได้บุคลากรที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกีฬามานั่งประจำการเป็นหัวเรือใหญ่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ย่อมไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของสาเหตุที่ทำให้บอลไทยยังไปบอลโลกไม่ได้ เพราะเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทางสมาคมฟุตบอลไทยและผู้เกี่ยวข้องต้องทำการบ้านและสนับสนุนให้ตรงจุด เพื่อสร้างระบบของนักฟุตบอลมืออาชีพในไทยให้แข็งแรง 

หากประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับโครงสร้างทีมฟุตบอล ตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มต้นเป็นนักกีฬาเยาวชนจนมาถึงการเป็นนักกีฬาอาชีพ สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าทีมไทยจะไม่ได้เข้ารอบบอลโลกก็ตาม แต่ไม่แน่ว่าอันดับโลกของเราอาจขยับขึ้นมาอยู่ที่เลขสองหลักก็เป็นได้ 

เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ทำให้เราอยากเอาใจช่วยทีมชาติไทยกันต่อไปแล้ว


Sources :

a day BULLETIN | bit.ly/3UnG0qm 

Dailynews | bit.ly/3uicKXr 

FA Thailand | bit.ly/3VoMS80 

JFA.jp | bit.ly/3VogjHw 

Thairath | bit.ly/3ucqlQ3, bit.ly/3udyZh5 

TrueID | bit.ly/3VF0kEv 

Wikipedia | bit.ly/3UBO5bb, bit.ly/3ETRPik, bit.ly/2IZya6c
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | bit.ly/3XNjLNl 

มหาวิทยาลัยรามคำแหง | bit.ly/3AVcEsf

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.