หนังไทยแท้ๆ แต่ทำไมฉายในไทยยากจัง - Urban Creature

เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นหนังไทยถึงสองเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ถึงแม้จะเป็นคนละประเด็นก็ตาม เรื่องหนึ่งประสบปัญหาการถูกลดรอบฉายหนัง ส่วนอีกเรื่องต้องเลื่อนฉายเพราะเนื้อหาไม่ผ่านกองเซนเซอร์ ทำให้เราสงสัยว่า ทั้งๆ ที่เป็นหนังไทยแท้ๆ แต่ทำไมการฉายหนังในประเทศบ้านเกิดถึงยากเหลือเกิน

คอลัมน์ Curiocity จึงอยากชวนมาร่วมกันหาคำตอบของปัญหาหนังไทย ว่าทำไมการฉายหนังไทยสู่สาธารณะในไทยถึงเป็นเรื่องยาก และความยากนี้ส่งผลถึงวงการหนังอย่างไรบ้าง พร้อมกับฟังความคิดเห็นจากมุมของคนทำหนังอย่าง ‘บี๋-คัทลียา เผ่าศรีเจริญ’ โปรดิวเซอร์หนังอิสระ ที่ต้องประสบปัญหาเหล่านี้โดยตรง

หนังไทยเข้าโรงทั้งทีต้องมีประเด็น

อุตสาหกรรมหนังไทยถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมจากภาครัฐ ค่าตอบแทนแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงาน คนไทยไม่สนับสนุนหนังไทยด้วยกันเอง หรือแม้แต่เรื่องคุณภาพของหนังไทยที่มักโดนนำไปเปรียบเทียบกับหนังต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

ปัญหาข้างต้นที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาหนังไทยที่มักพูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ แต่ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงทุกครั้งที่มีหนังเตรียมฉาย มีแผนจะฉาย กำลังจะฉาย และฉายแล้วในโรงภาพยนตร์คือ เรื่องความไม่ยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อวงการหนังไทย อย่างประเด็นของการลดจำนวนรอบฉายหนังเรื่อง ‘ขุนพันธ์ 3’ ที่เป็นการตัดโอกาสจนอาจทำให้ผู้สร้างไม่กล้าลงทุนกับหนังไทย หรือเรื่อง ‘หุ่นพยนต์’ ที่เกือบไม่ได้ฉายเพียงเพราะใช้แค่การตัดสินใจของคณะกรรมการเป็นหลักมากกว่าการทำความเข้าใจการสื่อสารของตัวหนัง

การถกเถียงถึงประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเสียกับวงการหนังไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการจุดประกายเพื่อให้คนสนใจและหันมาให้ความสำคัญของการมีอยู่ของหนังไทยมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่มองเห็นศักยภาพของหนังไทย และยังรอวันที่จะเห็นหนังไทยมีพื้นที่ในประเทศไทยมากกว่าเดิม

เข้าพร้อมหนังดังก็ต้องทำใจ

หลายคนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์เช็กรอบหนังว่าตอนนี้มีหนังเรื่องใดฉายบ้าง แต่กลับพบว่าเกินกว่าครึ่งของรอบหนังที่เข้าฉายทั้งหมดในวันนั้นคือหนังเรื่องเดียวกัน ทำให้หนังเรื่องอื่นต้องแบ่งสันปันส่วนเวลาและโรงฉายเพื่อให้มีพื้นที่ในการเข้าถึงผู้ชม 

ถึงแม้จะไม่ใช่แค่หนังไทยอย่างเดียวที่ต้องเจอกับการเบียดโรงจากหนังฟอร์มยักษ์แบบนี้ แต่หลายๆ ครั้งก็มักเป็นหนังไทยทุกทีที่ถูกตัดโอกาส จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีทางแก้เสียที

การลดจำนวนรอบฉายอาจไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าหลายคนเชื่อว่า ถ้าหนังดียังไงก็มีคนดู แต่ในทางกลับกัน คนดูจะรู้ได้อย่างไรว่าหนังเรื่องนั้นดีหรือไม่ หากรอบฉายและระยะเวลาที่ฉายมีน้อยจนไม่มีทางเลือกอื่น สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนั้นๆ ก็อาจเป็นการลงทุนลงแรงที่เสียเปล่า เพราะผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป

บี๋มองว่าการทำหนังแต่ละเรื่องย่อมมีเป้าหมายอยู่แล้ว เพราะในกระบวนการสร้างย่อมมี KPI ว่าต้องการกำไรเท่าไหร่ ผลตอบรับจากการฉายอย่างไร ซึ่งหากหนังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย โอกาสที่จะถูกถอดออกจากโปรแกรมฉายก็มีไม่น้อย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงทั้งตัวทีมงาน รายได้ และเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้ที่จะลดน้อยลงเท่านั้น แต่การลดรอบฉายของหนังบางประเภทอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงความหลากหลายของประเภทหนังในอนาคตด้วย เพราะเมื่อฝั่งผู้สร้างเห็นว่าหนังแบบไหนที่ทำออกมาแล้วได้พื้นที่ในการฉาย ก็จะผลิตหนังประเภทเดิมซ้ำๆ และคนดูก็อาจรู้สึกเบื่อหน่ายจนอาจทำให้เกิดเป็นกระแสความคิดที่ว่า หนังไทยไม่ดีและไม่น่าสนใจอีกต่อไป

หนังไทยจะเกิดแต่โดนคุมกำเนิดจากการเซนเซอร์

ใช่ว่าจะมีแต่คนถอดใจไม่ฮึดสู้กับการสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่ๆ แต่ที่เราไม่ค่อยได้เห็นก็อาจเป็นเพราะหนังเหล่านั้นไม่มีสิทธิ์เข้าโรงฉาย แม้ว่าจะเป็นหนังของไทยเองก็ตาม เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซนเซอร์ หรือคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาพยนตร์และกำหนดประเภทก่อนที่จะปล่อยฉาย รวมถึงยังมีอำนาจในการตัดสินใจแบนหนังไม่ให้ฉายอีก ซึ่งไม่ได้มีเพียง 1 – 2 เรื่องเท่านั้น แต่กลับมีจำนวนนับสิบเรื่องเลยทีเดียว 

ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีการกำหนดเกณฑ์แบ่งประเภทหรือเรตติ้งของภาพยนตร์ออกเป็น 7 ประเภทตามความเหมาะสมของอายุผู้ชม และถึงแม้จะใช้เกณฑ์กำหนดอายุแล้วก็ตาม แต่เนื้อหาโดยรวมนั้นภาครัฐยังคงเป็นผู้ใช้อำนาจในการควบคุมจัดการหนังไม่ต่างจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับเดิมตั้งแต่ พ.ศ. 2473

ส่งผลให้มีการแบนหนังบางเรื่องที่เข้าข่ายหนังประเภทที่ 7 คือ ประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศ ก่อให้แตกความสามัคคี เหยียดหยามศาสนา ไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรม และมีเนื้อหาที่แสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์ เห็นอวัยวะเพศในลักษณะลามกอนาจาร ซึ่งการแบนแบบนั้นล้วนส่งผลกระทบต่อเนื้อหา และหากทีมผู้สร้างต้องการฉายหนังต่อก็ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขเนื้อหา ซึ่งหลายครั้งก็กินเวลายาวนาน และสร้างความเสียหายให้คนทำงานเบื้องหลัง หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องยอมทิ้ง ไม่ฉายหนังในไทย และทำใจว่าจะไม่มีคนได้เห็นผลงานชิ้นนั้นบนจอเงินอีก 

Thai Movies

“การพิจารณาจัดเรตของแต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลย อย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม การเมือง และตัวนโยบายของรัฐด้วยว่าจะส่งเสริมหนังอย่างไร สมมติถ้าคิดว่าอยากจะส่งเสริมวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ ก็อาจต้องเริ่มตั้งแต่ตัวคณะกรรมการที่ถูกคัดเลือกมา ว่าควรมีความแตกต่างหลากหลายในการร่วมตัดสินหนังเรื่องต่างๆ ได้” บี๋ชี้แจง

โปรดิวเซอร์หนังอิสระคนนี้ยังเสริมอีกว่า กองจัดเรตคือภาพแทนของระบบราชการที่ถูกควบคุม อาจต้องผ่าตัดองค์กรใหม่ เพื่อให้การควบคุมของรัฐเป็นไปในลักษณะที่เป็นการกำกับดูแลจริงๆ ไม่ใช่อยู่ใต้คำว่ากำกับดูแลแต่ความจริงคือควบคุมทุกอย่าง ซึ่งก็ตรงกับที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายภาพยนตร์อย่างจริงจัง จากกรณีล่าสุดที่หนัง ‘หุ่นพยนต์’ ไม่ผ่านเซนเซอร์จนต้องเลื่อนฉายออกไป เพราะตัวพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ยังคงใช้ประกอบการพิจารณาอยู่ในตอนนี้ไม่ได้ช่วยสนับสนุนวงการหนังไทย แถมยังเป็นการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมหนังของคนไทยอีกด้วย

ถ้าการเมืองดีก็มีทางแก้

#ถ้าการเมืองดี ไม่ได้เป็นเพียงมูฟเมนต์บนโลกโซเชียลอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจพูดได้ว่าการเมืองเป็นสารตั้งต้นที่จะช่วยให้ปัญหาเรื้อรังต่างๆ ค่อยๆ หาทางออกจนได้ แม้แต่เรื่องของวงการหนังไทยเองก็ตาม

“อยากเน้นเรื่องที่ประชาชนสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมได้ เพราะที่ผ่านมาเราละเลยมิตินี้ไป เราต้องเชื่อก่อนว่าวัฒนธรรมจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และถือเป็นสวัสดิการหนึ่งที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ เป็นคุณภาพชีวิตที่ประชาชนสามารถเลือกได้เองว่าสนใจอะไร และสิ่งเหล่านี้ก็ต่อเนื่องมาถึงมิติการเมืองว่าจะพูดถึงปัญหานี้ยังไงได้บ้าง

Thai Movies

“ย้ำอีกทีว่าเราอยู่ในวิกฤตของอุตสาหกรรมหนังไทย ต่อให้มีการพูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ออกไปมากมาย แต่เราก็ยังไม่เห็นจุดที่โฟกัสว่าจะทำยังไงให้การพูดนี้เกิดประสิทธิภาพขึ้น และไม่ใช่แค่วงการหนังอย่างเดียวเท่านั้น อีกหลายวงการก็กำลังรอการปลดปล่อยศักยภาพนี้ออกมาเหมือนกัน

“เรายังคาดหวังว่าถ้าการเมืองดีขึ้น ตัวประชาชนจะสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรวมไปถึงคุณภาพชีวิตด้านวัฒนธรรมด้วย”


Sources : 
Facebook : สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย | bit.ly/3FHP30y, bit.ly/40sITK2
วารสารวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ม.นเรศวร | so02.tci-thaijo.org/index.php/BECJournal/article/download/54107/44909/125229

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.