บ้านในไทย ทำไมต้องล้อมรั้ว - Urban Creature

สเต็ปการสร้างบ้านในเกมเดอะซิมส์ที่หลายคนคุ้นเคย ส่วนใหญ่คงจะเริ่มจากการสร้างตัวบ้าน ตกแต่งภายใน ตกแต่งบริเวณภายนอก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการล้อมรั้วบ้านอย่างมิดชิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากความเคยชินของคนไทย เพราะในประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม หมู่บ้านจัดสรร หรือแม้แต่บ้านในต่างจังหวัด ที่อยู่อาศัยเหล่านี้มักมีรั้วล้อมรอบบ้านด้วยกันทั้งนั้น

แต่พอดูหนังและซีรีส์จากฝั่งตะวันตกกลับพบว่า บ้านที่ปรากฏอยู่บนจอส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีรั้วบ้านเป็นกิจจะลักษณะชัดเจนเหมือนกับบ้านในประเทศไทย หรือบางหลังอาจจะมีแค่รั้วเตี้ยๆ จนเกิดความสงสัยว่ารั้วลักษณะนั้นจะสามารถป้องกันอะไรได้บ้าง

การมีรั้วบ้านสำคัญกับการอยู่อาศัยในประเทศไทยมากน้อยขนาดไหน ทำไมบ้านในต่างประเทศแทบจะไม่มีรั้วบ้านให้เห็นกันเลย และหากจะสร้างรั้วบ้านด้วยตัวเองนั้นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอะไรบ้าง คอลัมน์ Curiocity จะพาไปหาคำตอบเกี่ยวกับรั้วบ้านกัน

ทำไมบ้านในไทยต้องมีรั้ว

ไม่ว่าจะเป็นบ้านในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เรามักจะเห็นรั้วประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะรั้วปูน รั้วเหล็ก หรือรั้วไม้ทำมือ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดพื้นที่ของบ้านแต่ละหลังได้อย่างชัดเจน จนทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า รั้วบ้านนี้จำเป็นมากแค่ไหนสำหรับบ้านสักหลัง

Thai Fences

อาจเป็นเพราะว่าบ้านคือสถานที่ที่มอบความเป็นส่วนตัวให้เราได้มากที่สุด หลายคนจึงต้องการความสบายใจในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านโดยไม่ต้องระแวดระวังภัยมากนัก แม้ว่ารั้วบ้านจะไม่ใช่ข้อบังคับตามกฎหมาย แต่การมีรั้วล้อมรอบตัวบ้านจะช่วยเพิ่มทั้งความสวยงามให้กับตัวบ้าน เพิ่มความเป็นส่วนตัวจากสายตาของคนภายนอกที่อาจสอดส่องเข้ามา รวมถึงยังเป็นการสร้างความปลอดภัยอีกหนึ่งชั้นจากผู้บุกรุกได้อีกด้วย

Thai Fences

ถ้ารั้วบ้านช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้าน แล้วทำไมบ้านในต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีรั้วกั้น ยกตัวอย่างเช่นบ้านในสหรัฐอเมริกาที่เห็นกันตามหนังหรือซีรีส์ส่วนใหญ่มักจะไม่มีรั้วบ้านกำหนดขอบเขต สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องของวัฒนธรรมที่หลายคนมองว่า ถ้าเพื่อนบ้านเคารพพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันอยู่แล้ว รั้วบ้านก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเท่าไรนัก และการสร้างรั้วก็อาจจะเป็นการไปเบียดเบียนพื้นที่ของเพื่อนบ้านได้ด้วย

อีกเหตุผลคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำรั้วเพิ่มเติมที่ค่อนข้างสูง ผู้คนจึงไม่นิยมสร้างรั้ว รวมไปถึงการอยู่อาศัยในชุมชนที่มีรั้วรอบขอบชิดและปลอดภัยมากพออยู่แล้ว การสร้างรั้วเพื่อป้องกันภัยก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับชาวอเมริกันสักเท่าไร

แต่ไม่ใช่ว่าบ้านทุกหลังจะไม่มีรั้วเลย เพราะยังมีบางครอบครัวที่สร้างรั้วขนาดไม่สูงมากเพื่อกั้นไม่ให้เด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงออกไปจากบริเวณบ้าน โดยส่วนใหญ่รั้วพวกนี้จะไม่ได้เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้านมากนัก อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบ้านที่มาพร้อมรั้วสูงเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวและป้องกันอันตรายจากปัจจัยภายนอก เช่น บ้านบางหลังในรัฐฟลอริดาสร้างรั้วเพื่อป้องกันการบุกรุกของเหล่าจระเข้ที่เดินเพ่นพ่านอยู่ตามถนน

รวมไปถึงกฎหมายบางข้อที่กำหนดให้สร้างรั้วเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนเอง เช่น หากบ้านไหนที่มีสระว่ายน้ำส่วนตัว การสร้างรั้วก็จะช่วยป้องกันไม่ให้คนนอกเข้ามาใช้ทรัพย์สินส่วนตัวตามอำเภอใจได้

กฎหมายการสร้างรั้วของไทย

หลักๆ แล้วหน้าที่ของรั้วก็คือการบอกเขตพื้นที่ สร้างความปลอดภัย และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับตัวบ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้หากใครซื้อบ้านตามโครงการก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดตั้งรั้วบ้านอีกต่อไป เพราะรั้วคือส่วนหนึ่งของบ้านที่ต้องได้มาพร้อมกันอยู่แล้ว แต่ถ้าหากใครมีที่ดินและต้องการสร้างรั้วบ้านเพื่อกำหนดขอบเขตและสร้างพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง แม้ว่าเจ้าของบ้านจะมีสิทธิ์ในบริเวณบ้าน แต่การสร้างรั้วก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้เลยทันที เพราะต้องดูข้อกำหนดต่างๆ ด้วยว่าสามารถสร้างรั้วบ้านในลักษณะไหนได้บ้าง และต้องขออนุญาตเพื่อการก่อสร้างหรือไม่ โดยปัจจัยในการสร้างรั้วบ้านมีดังนี้

1) หากสร้างรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชนและพื้นที่สาธารณะ ต้องทำการขออนุญาตก่อสร้างกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก่อน เช่น อบต. เทศบาล สำนักงานเขต เป็นต้น เพราะรั้วนี้จะเข้าข่ายเป็นอาคารในกฎหมายควบคุมอาคารทันที แต่ถ้าสร้างรั้วเพื่อกั้นระหว่างที่ดินเอกชนและมีความสูงไม่ถึง 10 เมตร ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหน่วยงานรัฐก่อนจะสร้าง แต่ต้องตกลงกับเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกันก่อนจึงจะลงมือสร้างรั้วได้

2) แนวกั้นรั้วในพื้นที่ของเอกชนนั้นต้องไม่มีส่วนใดที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่สาธารณะโดยเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นพื้นที่ของเอกชนเหมือนกัน ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างกันว่าจะอนุญาตให้รั้วที่เพิ่มขึ้นมานั้นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้มากน้อยขนาดไหน ในบางกรณีถ้าการตกลงเป็นไปได้ด้วยดี รั้วก็อาจจะอยู่กึ่งกลางระหว่างสองพื้นที่เลยก็ได้

Thai Fences

3) รั้วที่สร้างติดกับที่ดินสาธารณะต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร ส่วนในกรุงเทพฯ หากถนนสาธารณะมีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร จะสามารถสร้างรั้วได้สูงไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น

4) สำหรับลักษณะของรั้วที่จะนำมาใช้ กฎหมายไม่ได้มีการกำหนดรูปชัดเจน เพียงแต่ต้องปาดมุมสำหรับรั้วที่อยู่ติดกับพื้นที่สาธารณะ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 5 ที่กำหนดไว้ว่า รั้วหรือกำแพงกั้นเขตที่อยู่มุมถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกำแพงกั้นเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับแนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่าๆ กัน


Sources : 
DDproperty | tinyurl.com/yc2rxsmv
SCG | tinyurl.com/4s43dkbf
Think Real State | tinyurl.com/3xt5apn4
จระเข้ | tinyurl.com/2hptpnx4

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.