‘คนไทยมีความสามารถ แต่ขาดโอกาสและการผลักดันจากภาครัฐ’ น่าจะเป็นคำพูดคลาสสิกที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้ง และไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทยแม้กาลเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน
ยิ่งในวันที่บนโลกออนไลน์มีการพูดถึง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกมฉบับใหม่ ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) จากคนในวงการภาพยนตร์และเกมไปได้ไม่นาน จนเกิดคำถามว่า การมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาคือการส่งเสริมหรือจำกัดเสรีภาพคนทำเกมอยู่กันแน่
เพราะกว่าจะวางขายเกม ทำโฆษณา หรือจัดเรตติงได้ ต้องรอทางกระทรวงวัฒนธรรมอนุมัติ ซ้ำร้ายหากมีการทำผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจก็ถือเป็นโทษอาญาที่จำคุกสูงสุดถึง 5 ปี
เพื่อให้เห็นภาพปัญหาชัดขึ้น เราขอฝ่าดันเจี้ยนบุกไปสนทนากับ ‘ป๊อป-เนนิน อนันต์บัญชาชัย’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (Thai Game Software Industry Association : TGA) กันถึงออฟฟิศบริษัท EXZY Company Limited ที่ป๊อปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง
4 ปีกับการดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมเกมไทยเป็นอย่างไรบ้าง
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย’ หรือ ‘TGA’ เป็นสมาคมการค้าไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งมานานกว่า 17 ปีแล้ว มีสมาชิกอยู่ประมาณ 50 บริษัท เป็นการรวมตัวกันของ ‘นักพัฒนาเกม’ (Game Developer) กับ ‘ผู้เผยแพร่เกม’ (Publisher) หรือที่เรียกรวมๆ กันว่ากลุ่มผู้ประกอบการด้านเกม
ก่อนหน้าที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ เราเป็นสมาชิกที่ช่วยเหลืองานในสมาคมมาก่อนอยู่แล้ว แต่พอสายงานเราเริ่มมั่นคงขึ้น มองเห็นปัญหาเยอะขึ้น เลยตัดสินใจลงสมัครเป็นนายกฯ จนได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2
เรารู้สึกว่าคนยังรู้จักวงการเกมไทยน้อยมาก ซึ่งไม่น่ารู้จักตัวสมาคมเราด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ที่คนรู้จักกันจะเป็นสมาคมอีสปอร์ตที่โฟกัสคนเล่นเกมมากกว่า แตกต่างจากเราที่หลักๆ เป็นคนในกลุ่มต้นน้ำพัฒนาเกม
เราพยายามรีแบรนด์ดิงตัวเอง จับมือทำงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนให้เขารู้จักสมาคมเกมให้มากขึ้น และพยายามจัดตั้งอีเวนต์ที่เป็นการดำเนินงานจากสมาคมเองโดยไม่ต้องไปอยู่ภายใต้ใคร
จนตอนนี้เรามีงานจัดเองหลักๆ 2 งาน หนึ่งคือ งานพบปะสำหรับให้นักพัฒนาเกมได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน กับอีกงานคือ ‘Game Talent Showcase’ ที่เล็งกลุ่มเป้าหมายนักศึกษาจบใหม่ด้านเกมหรือใกล้เคียง เป็นเหมือนเวทีแสดงผลงานโปรเจกต์จบ มีเวิร์กช็อปให้ความรู้ มีเวทีที่ให้รางวัลกับผลงานดีเด่นในสาขาต่างๆ
อยากให้เล่าถึงปัญหาภายในอุตสาหกรรมเกมที่เจอในระหว่างดำรงตำแหน่ง
ถ้าย้อนกลับไปช่วงโควิด เราจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจเกมบูมสุดๆ ก่อนหน้านั้นเราอาจเติบโตอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่พอโควิดมามันกลายเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งยอดการดาวน์โหลดและเติมเกมสูงขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท
แต่ปัญหาคือ ภายใน 3.7 หมื่นล้านบาท มีส่วนที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ของคนไทย หรือ Title เกมที่พัฒนาโดยคนไทยอยู่ประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้น ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์ถือว่าน้อยมาก นี่ยังไม่รวมถึงช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดเกมบูมขึ้นจากโควิด แต่ตลาดแรงงานไม่ได้ผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรมเยอะเท่าที่ต้องการ ทำให้ยิ่งขาดแคลนคนทำเกมเข้าไปใหญ่
เพื่อแก้ปัญหาคนไม่พอและทำให้ตลาดเกมไทยโตขึ้น TGA เล็งเป้าไปเลยว่าเราต้องการเพิ่ม IP คนไทยที่ต้องมีคุณภาพควบคู่กันไปด้วยผ่านงาน Game Talent Showcase และงานอื่นๆ ในอนาคต
อะไรคือความท้าทายของ TGA ในการผลักดันวงการคนทำเกม
ความท้าทายคือตลาดไทยใหญ่จริง ผู้เล่นไทยจ่ายเงินให้เกมเยอะก็จริง แต่คนไทยที่จะทำเกมเพื่อตีตลาดเกมไทยทำได้ยากมาก เพราะมีคู่แข่งจากต่างประเทศที่เข้ามาด้วยทรัพยากรการผลิตและงบประมาณการตลาดที่มากกว่า
จริงๆ แล้วคนไทยมีศักยภาพนะ แต่ส่วนใหญ่ต้องไปอยู่ภายใต้บริษัทเกมต่างประเทศ เพราะในบ้านเราไม่ค่อยมีตลาดให้เติบโต ไม่มี Business Ecosystem เหมือนเมืองนอก
ดังนั้นการที่เราสนับสนุนให้เกิดทีมใหม่ๆ ขึ้นมา มันอาจไม่เห็นผลภายในปีแรกๆ หรอก แต่เป้าหมายของเราคืออยากช่วยให้พวกเขาอยู่ต่อในอุตสาหกรรมได้ อะไรที่เราเรียนรู้มาก็ถ่ายทอดตรงนั้นไป เพื่อที่ถ้าเขาอยู่ไปถึง 5 – 10 ปี เวลานั้นแหละเราถึงจะเห็น Title ของคนไทยที่ทำรายได้ได้จริงๆ
อุตสาหกรรมคนทำเกมได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบ้างไหม
เรากล้าพูดเต็มปากว่าอย่างน้อยอีสปอร์ตยังได้รับการผลักดันที่มากกว่าจากรัฐบาล ในขณะที่การสนับสนุนที่เราได้มาจะไม่ได้มีการลงเม็ดเงินมาที่เราโดยตรง แต่จะผ่านหลายๆ หน่วยงานก่อน มาแบบกะปริบกะปรอย ไม่ได้มาโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจน
อย่างที่เราเคยทำงานด้วยจะมี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (Department of International Trade Promotion) กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นในส่วนของเงินทุนสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดี และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (Creative Economy Agency) ที่เพิ่งมาใหม่
เราเข้าใจแหละว่าหน่วยงานเหล่านี้มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนวงการเกม แต่มันไม่มีเงินทุนที่เพียงพอ นี่ยังไม่นับว่ามันอาจมีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยากอีก
แล้ว พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฉบับเก่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงมีการพยายามร่างฉบับใหม่ขึ้นมาแทน
เท้าความกลับไปเมื่อปี 2551 เรามี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่คอยดูแลควบคุมอยู่ก่อนแล้ว เพราะเกมในสมัยนั้นอยู่บนแผ่นซีดี บ้างเป็นเกมสื่อการเรียนการสอน บ้างเป็นเกมที่อยู่ตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งภายใต้นิยามของคำว่าวีดิทัศน์คือรวมเกมเข้าไปด้วย แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีเนื้อความเกี่ยวกับเกมเลย
จนผ่านมาหลายปี ตัว พ.ร.บ.นี้ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง พอรูปแบบเกมเริ่มกลายเป็นออนไลน์มากขึ้น เกมเหล่านี้จึงไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในซีดีเหมือนเดิมแล้ว เขามองว่า พ.ร.บ.ตัวเดิมล้าสมัย เลยมีการพูดคุยกันมาเรื่อยๆ จากทั้งฝั่งเกมและภาพยนตร์
คนที่เป็นเจ้าภาพร่าง พ.ร.บ.นี้คือกองภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลว่าจะไม่มีอะไรไปทำลายวัฒนธรรมอันดีของไทย และว่ากันตามตรง กระทรวงวัฒนธรรมเขาก็ไม่ได้อยากพัฒนาเศรษฐกิจอะไรหรอก มันไม่ใช่เรื่องของเขา เขาสนใจแค่เรื่องวัฒนธรรมอันดีงามนี่แหละ
อะไรที่ทำให้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกมฉบับใหม่มีปัญหา
ถ้าเราดูตามหลักการและเหตุผลที่รัฐบอกว่าเขาทำ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ขึ้นมาเพราะของเก่าถูกบังคับใช้มานานจนล้าสมัย บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมของภาพยนตร์และเกมในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือพอพูดถึงนโยบายการส่งเสริม ในส่วนของภาพยนตร์มันยังมีส่วนที่พยายามส่งเสริมอยู่บ้าง แต่กับอุตสาหกรรมเกมมันไม่เคยมีเนื้อหาที่เขียนว่าจะส่งเสริมมาก่อน เพราะเขาไม่ได้กะมายุ่งกับเราตั้งแต่แรก เราแค่ไปเกี่ยวข้องกับเขาในพาร์ตการกำกับดูแลอยู่หน่อยๆ เพราะคำว่าวีดิทัศน์ แต่พอเขาอัปเดตให้มีคำว่าเกมเข้าไปเต็มตัว ทำให้นอกจากไม่ส่งเสริมแล้วยังโดนกำกับดูแลไปเต็มๆ
พูดง่ายๆ คือ การออก พ.ร.บ.ตัวใหม่ยิ่งทำให้ฝั่งเกมแย่ลงกว่าเดิมอีก เขาเปลี่ยนหัวจากภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้เป็นภาพยนตร์และเกมแค่นั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เพราะเนื้อหาข้างในยังมีความไม่เมกเซนต์อยู่มาก เนื่องจากคนร่างไม่ได้เข้าใจเกมจริงๆ เขาแค่รวบรวมทั้งหมดให้อยู่ในคำว่าเกม
ก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ออกมา มีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้ไหม
ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้ออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ก็จริง แต่ไม่เคยมีการประกาศออกมาจากทางกระทรวงวัฒนธรรมว่ากำลังทำอยู่ไหม อยู่ในขั้นตอนไหน เป็นอย่างไร
แต่พอเขาร่างมาเสร็จแล้ว มันต้องผ่านกระบวนการการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) จากคนในอุตสาหกรรม ซึ่งเขาทำตามกระบวนการนะ แต่ก่อนที่เขาจะร่างว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เขาไม่ได้มาถามความคิดเห็นเราก่อน เพราะก่อนหน้านี้มันคือการไปประชุมเรื่องอื่นกันมากกว่า ไม่ใช่การมาพูดว่าเรากำลังจะแก้ พ.ร.บ.ใหม่ คุณต้องการอะไรบ้าง
แล้วตอนนี้สถานะของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่อยู่ในขั้นตอนไหน
ก่อนหน้านี้เขาพยายามจะเชิญคนในอุตสาหกรรมเข้าไปพูดคุยกัน ซึ่ง TGA อยู่ฝั่งที่บอกให้ล้มร่างไปซะ เพราะมีหลายส่วนที่ไม่เมกเซนต์ อ่านดูก็รู้ว่าคนที่ทำขึ้นมาไม่มีความเข้าใจในเกมจริงๆ
พอตอนนี้เขาพยายามจะมาขอความเห็นจากเราอีก ทุกคนรู้สึกว่าคุยกันไปก็ไม่ดีขึ้นเพราะบอกกันไปหลายทีแล้ว เลยมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อน หรืออย่างน้อยๆ ต้องเอาหน่วยงานอื่นหรือคนที่ใหญ่กว่านี้มาคุยด้วย
ขณะเดียวกัน อยู่ดีๆ ตัว พ.ร.บ.นี้อาจจะโดนดันออกมาเลยก็ได้ เพราะไม่มีขั้นตอนที่ให้เราเซ็นยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษร เขาอาจอ้างว่าทำกระบวนการรับฟังแล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเอาไปทำต่อ แต่ถ้ากระแสมันเยอะพอ คนข้างบนคงไม่กล้าปล่อยออกมา ต้องช่วยกันกดดัน
หากมีการดัน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ออกมาจริง จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง
ส่งผลทั้งกับหนังและเกม แต่เกมนี่จะเห็นได้ชัดเจนกว่า เพราะถ้าเราทำเกมเสร็จจะเอาขึ้นร้านค้าออนไลน์หรือส่งให้เพื่อนลองเล่นก็ทำไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตก่อน ใครจะทำโฆษณาโปรโมตเกมก็โดนหนัก เพราะเวลาทำโฆษณาเกมมันไม่มีใครทำตัวเดียวเหมือนเวลาทำลงทีวีหรอก แล้วอย่างนี้ถ้าจะต้องไปขอทุกอันมันก็ไม่ Practical
นี่ยังไม่รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ที่ไม่เคลียร์ เช่น โทษอาญา จำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับหลายแสน ยิ่งในส่วนของการจัดเรตติงที่คิดเป็นนาที แล้วอย่างเกมที่เล่นได้แบบไม่จำกัดเขาจะคิดยังไง สุดท้ายที่บอกว่าส่งเสริมคือจะไม่ส่งเสริมจริงๆ เลยใช่ไหม
แล้ว TGA มีการดำเนินการเกี่ยวกับตัว พ.ร.บ.อย่างไร
เรากำลังคุยกันอยู่ว่าจะเอายังไงดี ที่คิดกันไว้มีหลายกรณี อย่างแรกคือเสนอให้แยกอีก พ.ร.บ.หนึ่งไปเลย ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เจ้าภาพคนเดิมอย่างตอนนี้ก็ได้ แต่การออก พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งมันใช้เวลานาน ดังนั้นสมมติตอนนี้เราจะขอแยก พ.ร.บ.เกมออกมา สิ่งที่น่ากลัวคือเราไม่รู้ว่ามันจะออกมาเมื่อไหร่ สุดท้ายอาจจะหายไปเลยก็ได้
ส่วนอีกวิธีที่คิดว่าพอจะเป็นไปได้คือ ขอให้แยกเป็น 2 หมวดภายใน พ.ร.บ.เดิม เป็นหมวดของภาพยนตร์และหมวดของเกมที่แยกกันอย่างชัดเจนไปก่อน แต่มันก็จะมีปัญหาว่าเจ้าภาพยังเป็นคนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดูดีๆ เพราะถ้าเราไปอยู่ใต้เจ้าภาพที่ไม่เข้าใจคนทำเกมแล้ว สุดท้ายอาจไม่มีการส่งเสริมอยู่ดี ไม่มีซะยังดีกว่า
เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตเกมไทยจะไปถึงจุดที่ทัดเทียมตลาดโลกได้
ถ้าเทียบจาก 2 ปีที่ผ่านมา เรามองว่าสัดส่วนที่ไทยแย่งตลาดเกมมาได้มันดีขึ้นมากแล้ว แม้จะโตขึ้นเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่ถ้าผ่านไปอีกสัก 5 – 10 ปี แล้วมันเพิ่มขึ้นเป็นสัก 20 เปอร์เซ็นต์จากทุกวันนี้ เราก็แฮปปี้แล้ว ซึ่งถ้ามันจะไปถึงจุดนั้นได้ อย่างน้อยกฎหมายไทยต้องเข้มแข็งให้ได้ก่อน
ความเข้มแข็งที่ว่าคือ ผ่านการสร้าง Barriers to Entry สำหรับต่างชาติที่ต้องการเข้ามาเปิดธุรกิจเกมในบ้านเรา อย่างน้อยเราควรต้องสร้าง Requirement บางอย่างเป็นกำแพงขึ้นมา เช่น การที่ต่างชาติจะเข้ามาได้จำเป็นต้องมีบริษัทในไทย มีการจ้างงานคนไทย หรือต้องให้อะไรบางอย่างกับเมืองไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือเงินภาษี
นอกจากนี้ รัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการไทยอย่างจริงจัง ทั้งการให้เงินทุน ส่งเสริมการตลาด หรือดึงคนในวงการเกมจากภายนอกมาช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกม แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้วงการนี้ก้าวไปข้างหน้าได้คือ คนในรัฐบาลต้องมีความเข้าใจอุตสาหกรรมเกมมากกว่านี้ อย่างน้อยๆ แค่ไปดูว่าเพื่อนบ้านเขาทำกันยังไง ไปขอให้เขามาช่วย จากนั้นก็เข้ามาคุยกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทยของเราก็ได้
เราขอแค่มาพูดคุยกัน ถ้าคุณมีความต้องการอยากพัฒนาวงการนี้จริงๆ เราก็พร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว