ข่าวการปิดตัวลงของร้านหนังสือจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนมองว่าสาเหตุหลักๆ เกิดจากการที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง
แต่เมื่องานหนังสือวนกลับมาอีกครั้ง เหล่านักอ่านก็ยังให้ความสนใจและเตรียมไปขนหนังสือกลับบ้านกันอยู่ตลอด รวมถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ที่ใกล้ถึงนี้ ในสถานที่เดิมอันคุ้นเคยอย่างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คอลัมน์ City by Numbers จึงขอพาไปดูสถิติย้อนหลังของงานสัปดาห์หนังสือฯ 5 ปีที่ผ่านมากันว่า จำนวนบูท ยอดผู้เข้างาน และยอดขายในแต่ละปีเป็นอย่างไร สอดคล้องกับความคิดที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยลงหรือไม่
สถานที่เปลี่ยนไป ทำให้ตัวเลขในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติลดลง
โดยปกติแล้ว งานหนังสือครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ จัดขึ้นสองช่วง ได้แก่ ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมคาบเกี่ยวต้นเดือนเมษายนของทุกปี และ ‘งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ’ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยมีสถานที่จัดงานประจำคือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
แต่ในปี 2562 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ปิดปรับปรุงนานกว่า 3 ปี ทำให้งานหนังสือทั้งสองช่วงต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงาน รวมไปถึงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานเป็นออนไลน์ และเพิ่งได้กลับมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้งในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ด้วยสถานที่จัดงานที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเดินทางที่ไม่สะดวกเท่าเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้งานหนังสือในช่วง 2 – 3 ปีหลังมานี้ไม่คึกคักเท่าเดิม และกลายเป็นการย้ำภาพว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยลงตามไปด้วย
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้รวบรวมข้อมูลสถิติงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติตั้งแต่ปี 2559 – 2565 (ไม่มีข้อมูลปี 2563 ที่จัดทางช่องทางออนไลน์ และข้อมูลปี 2564 ที่งดจัดงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) พบว่า
– ปี 2559 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 934 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 2,035,461 คน ยอดขายอยู่ที่ 339,889,653 บาท
– ปี 2560 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 947 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,672,807 คน ยอดขายอยู่ที่ 293,813,130 บาท
– ปี 2561 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 941 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,399,607 คน ยอดขายอยู่ที่ 363,358,967 บาท
– ปี 2562 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 924 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,410,141 คน ยอดขายอยู่ที่ 352,962,021 บาท
– ปี 2565 จัดที่ ‘สถานีกลางบางซื่อ’
มีบูทหนังสือ 584 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 715,603 คน ยอดขายอยู่ที่ 199,938,889 บาท
จะเห็นได้ว่าตัวเลขของปี 2560 – 2562 นั้นไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไรนัก แต่ตัวเลขในปี 2565 ที่ย้ายสถานที่จัดไปยังสถานีกลางบางซื่อ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบูท ผู้เข้าร่วมงาน และยอดขายกลับลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด จนมีการตั้งคำถามใหญ่ๆ ขึ้นมาว่า ‘หรือคนไทยจะไม่อ่านหนังสือกันแล้ว’
ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้น เมื่อกลับมาจัดงานในสถานที่เดิม
แน่นอนว่าการย้ายสถานที่จัดงานและสถานการณ์โรคระบาดย่อมมีผลต่อการออกมาจับจ่ายใช้สอยของประชาชน แต่หากข้ามไปเปิดดูข้อมูลสถิติของงานหนังสืออีกงานอย่างมหกรรมหนังสือระดับชาติ ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 (ไม่มีข้อมูลปี 2564 ที่จัดในรูปแบบออนไลน์) จะพบว่า
– ปี 2560 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 939 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,635,256 คน ยอดขายอยู่ที่ 303,148,770 บาท
– ปี 2561 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 931 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,382,749 คน ยอดขายอยู่ที่ 277,886,672 บาท
– ปี 2562 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’
มีบูทหนังสือ 888 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 937,877 คน ยอดขายอยู่ที่ 250,301,842 บาท
– ปี 2563 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’
มีบูทหนังสือ 746 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 556,053 คน ยอดขายอยู่ที่ 192,005,641 บาท
– ปี 2565 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’
มีบูทหนังสือ 819 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,355,893 คน ยอดขายอยู่ที่ 347,331,734 บาท
เห็นได้ว่าจำนวนตัวเลขของบูทหนังสือ ผู้เข้าร่วมงาน และยอดขายในปี 2565 นั้นสูงกว่าปี 2563 ค่อนข้างมาก แม้จำนวนบูทและผู้เข้าร่วมงานเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่จัดขึ้นในสถานที่เดียวกันจะลดลงนิดหน่อยก็ตาม แต่ยอดขายหนังสือก็ยังสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เห็นได้ชัดว่าคนไทยยังคงให้ความสนใจกับการอ่านอยู่
คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากทั้งสองงานหนังสือระดับชาติแล้ว อาจสรุปได้ว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง เพียงแต่โควิด-19 อาจส่งผลให้ยอดขายในงานหนังสือช่วงนั้นลดลงไปบ้าง เพราะเมื่องานหนังสือกลับมาอยู่ในบรรยากาศและสถานที่ที่คุ้นเคย คนก็ออกมาเดินงานหนังสือและซื้อหนังสือกันมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สถานที่ในการจัดงานก็มีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้คนตัดสินใจเข้าร่วมงาน โดยเฉพาะการเดินทางที่สะดวกสบายและขนาดของพื้นที่ อ้างอิงจากผลสำรวจของผู้เข้าร่วมงานในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ที่จัดในสถานีกลางบางซื่อ พบว่าคนส่วนใหญ่ค่อนข้างพึงพอใจกับความสะดวกสบายในการเดินทางเมื่อเทียบกับตอนจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี แต่ในเรื่องของการจัดบูทนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่พอใจมากนัก อาจเป็นเพราะสถานที่ที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้จัดตำแหน่งบูทได้ยาก
การกลับมาจัดงานหนังสือฯ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จึงน่าจะเป็นการแก้ Pain Point ทั้งหมด เพราะด้วยขนาดสถานที่ที่ใหญ่ขึ้น การเดินทางที่สะดวกสบาย และบรรยากาศที่หลายคนคุ้นเคย ก็อาจทำให้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายนนี้ มีจำนวนบูทเพิ่มขึ้น รองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากขึ้น และอาจมีจำนวนยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เหมือนกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ได้
Source :
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย | bit.ly/3L6uij0