ถังขยะผ้าที่กรุงปราก เปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าให้มีค่า - Urban Creature

เคยสำรวจตู้เสื้อผ้าในห้องของตัวเองกันบ้างไหมว่า เรามีเสื้อผ้าที่แทบจะไม่ได้ใส่แล้วแต่ก็ยังแขวนเก็บไว้ประดับราวกันอยู่เยอะแค่ไหน รวมถึงรองเท้าคู่โปรดอีกหลายคู่ที่หลุดเทรนด์จนแทบไม่อยากหยิบมาใส่ แต่เราก็ยังเลือกที่จะเก็บพวกมันไว้เพราะตัดใจทิ้งไม่ลงสักที ความรู้สึกเสียดายเสื้อผ้าเป็นเรื่องปกติที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราถูกนำพาเข้าสู่ยุคที่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นแฟชั่นที่มาเพิ่มเติมสีสันให้กับการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างพวกเรา

ในทางตรงกันข้าม ภายใต้ความสวยงาม หวือหวา และฉูดฉาดของ Fast Fashion หรือสินค้าเสื้อผ้าติดเทรนด์ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ กลับกลายเป็นวายร้ายที่น่ากลัว และเป็นต้นตอหลักของการทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษให้กับโลกของเราไปเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษและทำลายโลกมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมน้ำมันเลยทีเดียว เพราะทุกปีจะมีขยะประเภทเสื้อผ้าถูกทิ้งและถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบถึงประมาณ 200,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของขยะเสื้อผ้าทั้งหมด ซึ่งการกำจัดด้วยวิธีนี้จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการสลายตัวของเสื้อผ้าในหลุมฝังกลบ รวมถึงวัสดุและเส้นใยบางชนิดไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นทวีคูณ

การรณรงค์ฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกระแสและหน้าที่หลักของประชาชนจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงในสาธารณรัฐเช็ก ที่ได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนในแง่มุมของอุตสาหกรรมแฟชั่นเช่นกัน จึงได้มีการจัดตั้ง ‘โครงการถังขยะผ้า’ ขึ้นมา ด้วยการวางกระจายถังรับบริจาคเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มกว่า 600 ถังตามจุดต่างๆ ในกรุงปราก เพื่อลดขยะฝังกลบ และนำไปซ่อมแซมให้กลายเป็นเสื้อผ้าใหม่ที่มีคุณค่าต่อใครอีกหลายคนอีกครั้ง

Reuse และ Recycle สองแนวทางปฏิบัติหลักของโครงการถังขยะผ้า

เสื้อผ้าทุกชิ้นจากตู้รับบริจาคจะถูกส่งไปยังแผนกคัดแยกคุณภาพ เพื่อเตรียมการแปลงร่างเสื้อผ้าเก่าให้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มใหม่ที่พร้อมสวมใส่ โดยกลุ่มเสื้อผ้าที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีจะถูก Reuse หรือการทำให้สินค้าสามารถกลับมาใช้ได้ใหม่ ด้วยการนำส่งไปทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และซ่อมแซมเล็กน้อย เพื่อแปลงร่างเป็นเสื้อผ้าใหม่ที่มีคุณภาพพร้อมใช้งานอีกครั้ง

ขณะที่เสื้อผ้าเก่าที่ชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้จะถูกแยกตามสีและประเภทของผ้า เพื่อเข้าระบบ Recycling หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ด้วยการนำส่งไปยังโรงงานเพื่อแปรรูปในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปจากเสื้อผ้าเป็นเส้นด้าย และทำความสะอาดด้วยกรรมวิธีเฉพาะเพื่อเตรียมสำหรับการถักทอเป็นสินค้าใหม่ที่มีประโยชน์ เช่น ผ้าห่ม ผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าคลุมเบาะรถยนต์ และส่วนประกอบของพรมเช็ดเท้า เป็นต้น

เมื่อเสื้อผ้าเก่าของเรา กลายเป็นชุดใหม่ที่สร้างอาชีพให้ใครหลายคน

หลังจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มถูกแยกประเภทเพื่อแปลงร่างใหม่โดยสมบูรณ์แล้ว ส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปยังกลุ่มบริษัทเพื่อสังคม Charity Shop และร้านขายเสื้อผ้ามือสองเพื่อนำรายได้มาบริหารโครงการ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งต่อไปให้กลุ่มคนที่ไม่มีกำลังซื้อ แต่มีความต้องการใช้เครื่องนุ่งห่ม เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มเด็กกำพร้า หรือกลุ่มคนที่เดือดร้อนและได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือผลกระทบของสงครามกลางเมือง

นอกจากเสื้อผ้าเก่าของเราจะสามารถส่งต่อความอบอุ่นและเกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์แล้ว ยังมีประโยชน์อีกด้านหนึ่งที่เราอาจคาดไม่ถึงคือ การสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มชาวบ้านที่ด้อยโอกาสทางสังคม เพราะอีกจุดประสงค์ของการสร้างโครงการถังขยะผ้านี้คือ ต้องการยื่นโอกาสให้กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดในการหางาน เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้คนที่มีประวัติเคยติดคุก หรือคนที่การศึกษาต่ำ ให้มีงานทำเพื่อสร้างอาชีพและกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง

เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ จากการร่วมมือกันของทุกคน

เรียกได้ว่าระบบถังขยะผ้าในกรุงปรากที่รับบริจาคเสื้อผ้าเก่าๆ นี้ ไม่ได้เป็นการช่วยลดขยะและมลพิษต่อโลกเราในด้านสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียว แต่ยังสร้างประโยชน์ให้สังคมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ให้มีเครื่องนุ่งห่มเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการจ้างงาน ด้วยการหยิบยื่นโอกาสให้แก่กลุ่มผู้ว่างงานที่มีข้อจำกัดทางสังคม ให้เห็นคุณค่าในตัวเองและพร้อมทำงานที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและโลกของเราต่อไป

ในมุมของพวกเราชาวไทยที่อาจยังไม่มีถังขยะผ้าให้เห็นในประเทศมากนัก แต่เราสามารถเริ่มคิดวิธีทิ้งเสื้อผ้าอย่างมีประโยชน์ได้ ด้วยการนำแนวคิดของโครงการถังขยะผ้าในกรุงปรากมาประยุกต์ใช้ โดยอาจเริ่มด้วยการหันกลับไปสำรวจตู้เสื้อผ้าของเรา คัดแยกเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อเริ่มสร้างระบบการจัดเก็บอย่างพอเพียง และนำไปบริจาคให้แก่มูลนิธิเพื่อสังคมต่างๆ ในประเทศ ซึ่งระบบความคิดและการกระทำเหล่านี้ ต่างเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ จากบ้านเราเอง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.