เห็นดีไซน์ล้ำๆ ของพาวิลเลียนในงาน ‘World Expo 2020’ ที่นครดูไบ ถึงกับต้องขยี้ตาดูสองสามรอบว่านี่คือภาพเรนเดอร์หรือเปล่า คำตอบคือของแท้ 100%!! ซึ่งหนึ่งในพาวิลเลียนหลักอย่าง ‘Terra’ นับว่าเป็นดีไซน์ที่ใครเห็นก็ต้องสะดุดตาไม่ว่าจะเป็นหลังคาขนาดมหึมาครอบคลุมพื้นที่อาคารคล้ายกับต้นไม้ที่สร้างร่มเงาด้วยการแผ่กิ่งก้านออกเป็นแนวนอน หรือต้นไม้ไซซ์จัมโบ้ล้อมรอบอาคารคอยทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าและพลังงานน้ำ เพื่อสร้างอาคารที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พื้นที่ตะวันออกกลางจะเต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวชอุ่ม หรือมีน้ำใช้แบบเททิ้งเทขว้าง ถ้าสภาพแวดล้อมยังคงเป็น ‘ทะเลทราย’ อยู่ ดังนั้น Terra จึงเป็นโจทย์อันแสนท้าทายว่าสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมแห้งแล้งเช่นนี้จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร
‘Grimshaw’ (กริมชอว์) สตูดิโอสถาปัตยกรรมชื่อดังจากสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าของดีไซน์ ‘พาวิลเลียนที่ยั่งยืน’ แห่งนี้ โดยอาคารหลักได้แรงบันดาลใจจาก ‘ต้นกาฟ’ (Ghaf Tree) ต้นไม้ที่ทนแล้งและคงความเขียวขจีเอาไว้ได้ดีมากต่อให้อยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่ร้อนสุดๆ ก็ตาม
กริมชอว์ได้ลอกเลียนกระบวนการทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการสังเคราะห์แสงของต้นไม้มาดีไซน์บริเวณหลังคาของอาคาร Terra ที่มีขนาดความกว้าง 135 เมตร ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 1,055 แผง เพื่อกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้งานภายในพาวิลเลียน รวมถึงการใช้เหล็กรีไซเคิลกว่า 97% มาสร้างอาคารเพื่อตอกย้ำว่า ‘Terra น่ะเป็นพาวิลเลียนแห่งความยั่งยืน’
ส่วนต้นไม้ปลอมๆ ที่คล้ายต้น ‘เลือดมังกร’ (Dragon’s Blood) ซึ่งอยู่บริเวณเกาะโซโคตร้า (Socotra Island) ประเทศเยเมน เรียกว่า ‘Energy Trees’ มีจำนวนทั้งหมด 18 ต้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 15 – 18 เมตร โดยยอดของต้นไม้เป็นแผงโซลาร์เซลล์รูปสี่เหลี่ยมคางหมู และหมุน 180 องศาตลอดทั้งวันคอยเก็บแสงแดดทั่วสารทิศเพื่อให้ได้พลังงานเยอะขึ้น ซึ่งพลังงานที่ได้จาก E-Trees ทั้ง 18 ต้น คิดเป็น 28% ของการจ่ายไฟในอาคาร โดยคาดว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2.6 กิกะวัตต์ต่อปีเลยทีเดียว
อีกทั้งกริมชอว์ยังออกแบบให้พาวิลเลียนแห่งนี้นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำได้ ด้วย ‘Water Trees’ จากการเก็บน้ำฝนและน้ำค้างแบบพาสซีฟ ซึ่งใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วในชั่วข้ามคืนของทะเลทราย โดยกรวยของ W-Trees เป็นตัวรวบรวมการควบแน่นที่ผ่านการกรองและฆ่าเชื้อเฉลี่ยวันละ 30 ลิตร ก่อนนำไปใช้เป็นน้ำดื่มภายในอาคาร
นอกจากดีไซน์และนวัตกรรมสุดล้ำของพาวิลเลียน รอบ Terra ยังมีสวนต่างๆ ที่ปลูกเพื่อสร้างภูมิทัศน์ ทางเดินคดเคี้ยวไปยังส่วนอื่นๆ เช่น เวที นิทรรศการ พื้นที่รวมพล ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเราจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ ทั้งภาพ กลิ่น และเสียงอีกด้วย ส่วนภายในอาคารเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการกว่า 6,000 ตารางเมตร ซึ่งจะถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หลังจากเสร็จสิ้นงาน Expo 2020 Dubai
การได้เห็น Terra สร้างระบบนิเวศขนาดเล็กให้พาวิลเลียนคงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการผสมผสานหลายกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสภาพธรรมชาติให้เหมาะสมกับที่ตั้ง การเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน การผลิตพลังงานใช้ภายในอาคาร หรือการนำน้ำเสียมาใช้ใหม่ ทำให้เห็นถึง ‘ความเป็นไปได้’ ของสถาปัตยกรรมเพื่อการดำรงชีวิตในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในมุมอื่นๆ ทั่วโลกก็เป็นได้
Sources :
ArchDaily| https://bit.ly/3DlrKX0
Dezeen | https://bit.ly/3v1Qosw
Grimshaw | https://bit.ly/3iMsXyQ