พาไปดู 10 พาวิลเลียน ในงาน Expo 2025 Osaka - Urban Creature

ปีหน้าเมืองโอซากาจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2025 มหกรรมระดับโลกที่รวบรวมผู้คนจากทั่วโลก เพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองวัฒนธรรม นวัตกรรม และความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ๆ หวังช่วยกันแก้ปัญหาระดับโลกที่สังคมของเรากำลังเผชิญอยู่

ไฮไลต์คือการจัดแสดงพาวิลเลียนของนานาประเทศ ซึ่งปีนี้มาในธีม ‘Designing Future Society for Our Lives’ หรือ ‘การออกแบบสังคมแห่งอนาคตสำหรับชีวิตของเรา’ โดยงานจะจัดขึ้นบนเกาะเทียม ‘ยูเมะชิมะ’ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวโอซากา ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ไปจนถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2568

ก่อนอีเวนต์ใหญ่ด้านนวัตกรรมและการออกแบบระดับโลกจะเริ่มต้นขึ้น Urban Creature ได้รวบรวม 10 พาวิลเลียน จาก 10 ประเทศ ที่โดดเด่นและน่าสนใจมาฝากกัน ตั้งแต่การจัดแสดงที่พาเราไปสำรวจเรื่องใกล้ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ ไปจนถึงพาวิลเลียนที่นำเสนอนวัตกรรมและทางออกเพื่อโลกที่ยั่งยืนในอนาคต

สวิตเซอร์แลนด์
ธรรมชาติและโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นสามารถอยู่ร่วมกันได้

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น สวิซเซอร์แลนด์

‘Swiss Pavilion’ คือพาวิลเลียนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งออกแบบโดย Manuel Herz Architekten, NUSSLI และ Bellprat Partner โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับธีมของงานที่พูดถึงชีวิตและโลกแห่งอนาคต

พาวิลเลียนแห่งนี้สร้างขึ้นจากโครงสร้างทรงกลมน้ำหนักเบา ล้อมรอบด้วยต้นไม้สีเขียวและห่อหุ้มด้วยพลาสติกที่มีลักษณะคล้ายฟอยล์ โดยวัสดุหุ้มเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ใหม่เป็นเฟอร์นิเจอร์หลังจบงาน ส่วนโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่เช่นกัน

นักออกแบบ Manuel Herz Architekten กล่าวว่า พาวิลเลียนแห่งนี้จะเป็น ‘อาคารที่ฝังตัวอยู่ในธรรมชาติ’ และต้องการสื่อว่าธรรมชาติและโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นสามารถอยู่ร่วมกันได้

พาวิลเลียนนี้จะมีนิทรรศการที่แบ่งเป็น 3 ธีมหลัก ได้แก่

1) Augmented Human : หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality) และระบบเสมือนจริง (Virtual Reality)
2) Life : วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต การศึกษา สุขภาพ และโภชนาการ
3) Planet : สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน สภาพอากาศ และพลังงาน

มากไปกว่านั้น พื้นที่แห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัทออกแบบ แบรนด์แฟชั่น ธุรกิจอาหารและไวน์ของสวิตเซอร์แลนด์ เท่านั้นไม่พอ ตัวพาวิลเลียนยังเปิดโอกาสให้สวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีอีกด้วย

เยอรมนี
แนวคิดหมุนเวียนที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น เยอรมนี

ถัดมาคือพาวิลเลียนของประเทศเยอรมนีที่มาในธีมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตั้งชื่อว่า ‘Wow! Germany’ เพื่อนำเสนอความกระตือรือร้นในการสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับการหมุนเวียน

ภายในพื้นที่มีการจัดแสดงเกี่ยวกับการคืนสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งหมดกลับสู่วงจรเศรษฐกิจ การบรรลุเป้าหมายขยะเป็นศูนย์ และลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด

Laboratory for Visionary Architecture คือผู้ออกแบบพาวิลเลียนแห่งนี้ให้เป็นโครงสร้างไม้ทรงกลม 7 โครงสร้าง เพื่อสื่อถึงแนวคิดการหมุนเวียน อีกทั้งพวกเขายังผสมผสานธรรมชาติและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์การเยี่ยมชมที่แปลกใหม่ให้กับผู้มาเยือน

มากไปกว่านั้น ที่นี่ยังมีโครงสร้างทรงกระบอก 2 แห่ง ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงและพื้นที่ต้อนรับ โดยตัวโครงสร้างจะผสมผสานเข้ากับพื้นที่สีเขียวได้อย่างอิสระและดูเป็นธรรมชาติ

การออกแบบนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมในอนาคตและการพัฒนาเมืองสามารถผสมผสานเข้ากับการหมุนเวียนและประสบการณ์การใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะรวบรวมสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ และนิทรรศการเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นประสบการณ์แบบองค์รวม เพื่อตอกย้ำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ฝรั่งเศส
โรงละครที่จะทำให้มนุษย์กลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีกครั้ง

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศสเปิดตัวพาวิลเลียนในธีม ‘Theatre of Nature’ หรือ ‘โรงละครแห่งธรรมชาติ’ ซึ่งออกแบบโดยสตูดิโอสถาปัตยกรรม Coldefy และสถาบันสถาปัตยกรรมอิตาเลียน CRA : Carlo Ratti Associati

การออกแบบนี้นำเสนอที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและสร้างขึ้นโดยมนุษย์ เพื่อสะท้อนว่าทั้งสองอย่างเชื่อมโยงถึงกันได้ ภายในพาวิลเลียนยังมีนิทรรศการที่ผู้เข้าชมจะได้สำรวจระบบนิเวศที่หลากหลายของฝรั่งเศส และกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีกครั้ง

จุดเด่นของพาวิลเลียนคือโครงสร้างทรงลูกบาศก์ขนาดใหญ่ โดยบันไดวนที่อยู่ด้านหน้าจะทำหน้าที่นำทางและพาผู้ชมเดินสำรวจพื้นที่ภายใน แล้วสุดท้ายจะพาพวกเขาไปสู่ชั้นดาดฟ้าซึ่งเป็นสวนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมหลายๆ แห่งของฝรั่งเศส มีตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงบรรยากาศริมชายฝั่ง

โรงละครธรรมชาติแห่งนี้ถือเป็นการออกแบบที่เชื่อมโยงหลากหลายแง่มุมของชาวฝรั่งเศสและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ รวมถึงยังผสมผสานองค์ประกอบจากธรรมชาติและความสำเร็จรูปได้อย่างลงตัว

เนเธอร์แลนด์
ขับเคลื่อนอนาคตด้วยทรัพยากรที่ยั่งยืนและพลังงานสะอาด

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์ได้นำเสนอพาวิลเลียนรูปทรงแปลกตาในธีม ‘Common Ground : Creating a New Dawn Together’ ที่แปลว่า ‘จุดร่วม : การสร้างรุ่งอรุณใหม่ร่วมกัน’ เพื่อเน้นย้ำถึงความทุ่มเทของเนเธอร์แลนด์ในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการรับมือความท้าทายระดับโลก

ทีมสถาปนิก RAU Architects ได้ออกแบบโครงสร้างทรงกลมเรืองแสงที่โดดเด่นอยู่ตรงกลาง ลักษณะคล้ายกับดวงอาทิตย์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อสื่อถึงอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรที่ยั่งยืน และยุคใหม่ของพลังงานที่สะอาด ไม่จำกัด และเข้าถึงได้

ผู้เข้าชมจะพบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เน้นการควบคุมพลังงานน้ำที่ไร้ขีดจำกัด และพาวิลเลียนแห่งนี้ยังพยายามสื่อให้เห็นว่า พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนสามารถพัฒนาชีวิตของเราได้อย่างมหาศาล มากไปกว่านั้น ที่นี่ยังตั้งเป้าจัดการกับประเด็นต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของโลกใบนี้

ออสเตรเลีย
ตัวแทนความหลากหลายและมีชีวิตชีวาของเมือง

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

พาวิลเลียนที่มาพร้อมการไล่เฉดสีแสนสะดุดตาแห่งนี้ ออกแบบโดยสตูดิโอออกแบบระดับโลกอย่าง Buchan

โปรเจกต์นี้ตั้งใจจะเฉลิมฉลองให้กับความงามทางธรรมชาติของออสเตรเลียภายในธีม ‘Chasing the Sun’ หรือ ‘การไล่ตามดวงอาทิตย์’ ซึ่งสอดคล้องกับธีมของงานเอ็กซ์โปปีนี้ที่อยากพัฒนาและนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมาใช้ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน

สีสันและการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกไม้และต้นยูคาลิปตัสหลายสายพันธุ์ของออสเตรเลีย โดยทีมออกแบบอยากให้ต้นไม้เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายและความมีชีวิตชีวาของชาวออสเตรเลีย

เมื่อเดินเข้าไปในพาวิลเลียน ผู้ชมจะได้สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ รวมถึงวัฒนธรรมและความสำเร็จของออสเตรเลียไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญทีมออกแบบยังร่วมมือกับ Karrda บริษัทให้คำปรึกษาด้านวัฒนธรรมพื้นเมือง เพื่อรวมมุมมองและประสบการณ์ของชนพื้นเมืองไว้ในนิทรรศการแห่งนี้ด้วย

สหรัฐอเมริกา
ศูนย์รวมวัฒนธรรมที่ชวนตั้งคำถามถึงปัญหาสำคัญรอบตัว

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

พาวิลเลียนของสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘ศูนย์รวมวัฒนธรรม’ ของประเทศ ผ่านการจัดแสดงผลงานสถาปัตยกรรม นวัตกรรม วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมร่วมสมัยที่ดีที่สุดของอเมริกา

ไฮไลต์คือลูกบาศก์ขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยหน้าจอ LED พาโนรามาสำหรับฉายวิวทิวทัศน์ของอเมริกา เป็นความตั้งใจของ Trahan Architects ทีมนักออกแบบที่อยากให้ผู้เยี่ยมชมได้ดื่มด่ำกับความมีชีวิตชีวาของอเมริกา

ภายในพาวิลเลียนจะมีนิทรรศการเสมือนจริง (Immersive Exhibition) ให้ผู้ชมสัมผัสกับสถานที่ในเมืองต่างๆ และพื้นที่ธรรมชาติในอเมริกาและอวกาศ หลายๆ ส่วนของงานยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสำรวจปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว รวมถึงแลกเปลี่ยนบทสนทนาเกี่ยวกับอนาคตของสิ่งแวดล้อมและบ้านเมืองของเรา

วัสดุที่ใช้ทำพาวิลเลียนประกอบด้วยเหล็ก ผ้าใบแรงดึงสูง ระบบความร้อนและความเย็น ซึ่งนำมาจากโครงสร้างที่เคยใช้ในโอลิมปิกโตเกียวในปี 2020 รวมถึงมีแผนที่จะเก็บวัสดุเหล่านี้ไว้ใช้ในอนาคตหลังงานเอ็กซ์โป 2025 สิ้นสุดลง

ซาอุดีอาระเบีย
มอบประสบการณ์เชิงพื้นที่ เสมือนได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองจริงๆ

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย

อีกหนึ่งการจัดแสดงที่อลังการไม่แพ้ชาติอื่นๆ คือ พาวิลเลียนของซาอุดีอาระเบียที่มาพร้อมแบบจำลองหมู่บ้านแบบดั้งเดิมของราชอาณาจักร

บริเวณลานด้านหน้าของพาวิลเลียนจะมีพืชพื้นเมืองของซาอุดีอาระเบียเรียงรายอยู่ ภายในประกอบไปด้วยโครงสร้างทรงเหลี่ยมจำนวนมาก แทรกด้วยถนนที่แคบและคดเคี้ยว ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ศูนย์กลางของพาวิลเลียน

ทีมออกแบบจากบริษัท Foster + Partners อธิบายว่า เป้าหมายของการดีไซน์คือการมอบประสบการณ์เชิงพื้นที่ (Spatial Experience) ผ่านขนาด แสง สี เสียง และพื้นผิวของพาวิลเลียน เพื่อบอกเล่าถึงการสำรวจเมืองต่างๆ ในซาอุดีอาระเบียให้กับผู้เข้าชมทุกคน

ไฮไลต์ที่จะทำให้การเข้าชมสมจริงที่สุดคือ การติดตั้งระบบภาพและเสียงทั่วทั้งพาวิลเลียน ซึ่งทีมออกแบบได้พัฒนาร่วมกับสตูดิโอออกแบบอย่าง 59 Productions และ Squint/Opera

มากไปกว่านั้น ทีมออกแบบยังเลือกใช้วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างหิน ออกแบบให้ตัวโครงสร้างสามารถรื้อถอนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และคาดว่าภายในงานจะมีระบบรีไซเคิลน้ำฝนและเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

สิงคโปร์
จิตวิญญาณด้านศิลปะกับอาหาร และนวัตกรรมพัฒนาเมือง

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น สิงคโปร์

สิงคโปร์เปิดตัว ‘The Dream Sphere’ พาวิลเลียนทรงกลมสูง 17 เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 900 ตารางเมตรบนเกาะยูเมะชิมะของเมืองโอซากา

ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่า พาวิลเลียนแห่งนี้ห่อหุ้มด้วยแผ่นดิสก์ทรงกลมโทนสีแดงหลายพันแผ่นซึ่งทำจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อสร้างนิทรรศการที่กระตุ้นประสาทรับรู้หลายรูปแบบ ควบคู่กับการจัดแสดงนวัตกรรมที่ส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

ภายในพาวิลเลียนมีการจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 3 ชั้น โดยผู้ชมจะได้สัมผัสกับการแสดงศิลปะมัลติมีเดียแบบ Interactive ของศิลปินชาวสิงคโปร์ เช่น Ashley Yeo, Jerrold Chong, Melissa Tan และ Zul Mahmod

นอกจากการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านศิลปะแล้ว The Dream Sphere ยังต้องการนำเสนอประเพณีการทำอาหาร รวมถึงนวัตกรรมที่ใช้ในการสร้างสภาพแวดล้อมของสิงคโปร์ด้วย

ทีมออกแบบอย่าง DP Architects และ Kingsmen Exhibits ตั้งใจดีไซน์พื้นที่แห่งนี้ให้สอดคล้องกับสโลแกน ‘Where dreams take shape.’ ที่แปลว่า ‘สถานที่ที่ความฝันเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง’ และพาวิลเลียนยังต้องการแสดงถึงความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นด้วย

ไทย
สะท้อนความเชื่อและภูมิปัญญา พร้อมเชื่อมต่อกับสังคมโลก

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น ไทย

สำหรับประเทศไทย คอนเซปต์หลักของพาวิลเลียนคือ ‘Bhumipiman–the Land of Immunity’ หรือ ‘ภูมิพิมาน–ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน’ ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับความเป็นไทยผ่านบรรยากาศของดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากร และวิถีชีวิตที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง

สถาปัตยกรรมต้องการสื่อถึงความเป็นไทยผ่านการใช้องค์ประกอบที่ละเอียดอ่อน เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับผู้มาเยือน เช่น หลังคาทรงจั่วที่มีความลาดเอียงแบบไทยดั้งเดิม มาพร้อมลวดลายคล้ายหวายสาน สะท้อนถึงความเชื่อและภูมิปัญญาของไทย

ที่สำคัญทีมออกแบบอย่าง A49 ยังตั้งใจดีไซน์พาวิลเลียนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือน้อยที่สุด โดยการออกแบบอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ลักษณะของสถาปัตยกรรมไทย ไปจนถึงการใช้พื้นที่ภายในอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างพาวิลเลียนที่แสดงถึงความมั่งคั่งทางทรัพยากร รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเชื่อมต่อกับสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ญี่ปุ่น
ยอมรับ เคารพ ทำความเข้าใจคุณค่าและความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิต

พาวิลเลียน Expo 2025 Osaka ความยั่งยืน ดีไซน์ การออกแบบ ญี่ปุ่น

ปิดท้ายด้วยพาวิลเลียนของเจ้าภาพอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มาในธีม ‘Between Lives’ ซึ่งสื่อสารเกี่ยวกับวัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงที่หล่อหลอมชีวิตของพืช สัตว์ และสังคมเอาไว้ด้วยกัน

‘ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ’ ตามความหมายของพาวิลเลียนแห่งนี้คือ การยอมรับ การเคารพสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ ควบคู่กับความเข้าใจในคุณค่าและความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น

เพราะตามความเชื่อของญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับธรรมชาติและความรู้สึกทางสุนทรียะที่ละเอียดอ่อน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับมนุษย์ในการอยู่ร่วมกับวัฏจักรเหล่านี้

Nikken Sekkei คือทีมออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังพาวิลเลียนแห่งนี้ พวกเขาดีไซน์สถาปัตยกรรมโครงสร้างทรงกลมเพื่อสะท้อนถึงแนวคิดความต่อเนื่อง (Continuity) จุดเด่นคือแผ่นไม้กระดานที่วางเรียงต่อกัน ถ้ามองจากมุมบนจะเห็นว่าตัวโครงสร้างมีลักษณะคล้ายวงแหวนขนาดใหญ่ แถมผู้ชมยังมองเห็นภายในและภายนอกของพาวิลเลียนได้ผ่านช่องว่างระหว่างไม้แต่ละแผ่น เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิต

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ วัสดุที่ใช้เป็นไม้ที่ทำจากต้นซีดาร์ญี่ปุ่น ซึ่งหลังงานเอ็กซ์โปจบลง ไม้เหล่านี้จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนของประเทศญี่ปุ่น


Sources :
A49 | shorturl.at/gAY0s
ArchDaily | shorturl.at/CgjfG, shorturl.at/uud9V, rb.gy/opqfa3, rb.gy/1t4qgj, tinyurl.com/5n75pnwj
Buchan | rb.gy/vd80wk
Dezeen | shorturl.at/cpcxg
House of Switzerland | shorturl.at/tb1E4
Trahan Architects | rb.gy/o4e9k1

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.