ฟาซาดขนาดมหึมาโดดเด่นเห็นมาแต่ไกล มองเข้าไปด้านในเจอเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์นอร์ดิกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ลึกเข้าไปหน่อยคือสวนสวยที่มีต้นเสม็ดแดงชูยอดรับแดดจากช่องหลังคาทรงกลม
แวบแรกดูเหมือนห้างฯ มองดีๆ แล้วคล้ายคาเฟ่ แต่นาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีเข็มหน้าปัดเป็นรูปแปรงสีฟันบนฟาซาดก็ยืนยันว่า เรากำลังยืนอยู่หน้าคลินิกทำฟัน Teeth Time ไม่ผิดแน่
พูดตามตรง ใครจะคิดว่าริมถนนพุทธมณฑล สาย 4 ที่เสียงรถเร่งเครื่องขึ้นสะพานเป็นแบ็กกราวนด์จะมีคลินิกทำฟันมาตั้งอยู่ตรงนี้ แถมยังเป็นคลินิกที่หน้าตาและบรรยากาศแตกต่างจากคลินิกที่เราเคยคุ้น
ยามสายที่แดดอ่อนๆ ทอแสงในสวน เราจึงนัดสนทนากับเจ้าของคลินิกอย่าง ปฐวี นวลพลับ, ทันตแพทย์หญิงอัญชลี สุจิวโรดม ภรรยาของปฐวี และ กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ ผู้ก่อตั้งและดีไซน์ไดเรกเตอร์ของสตูดิโอ Physicalist ผู้เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าริมถนนให้กลายเป็นคลินิกทำฟัน ซึ่งลบภาพจำเก่าๆ ไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม
Spooky Time
ตึกแถวที่ดูลึกลับ แบ่งห้องอย่างไม่ซับซ้อน มีส่วนต้อนรับขนาดเล็กซึ่งมองเข้าไปจะเห็นลูกค้าแออัดเนืองแน่น และแน่นอนว่าต้องเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ตลอดเวลา ภาพจำของคลินิกทำฟันของหลายคนน่าจะเป็นแบบนั้น
ปฐวีก็เช่นกัน มากกว่านั้นคือเขารู้สึกอยู่ตลอดว่าคลินิกทำฟัน ‘น่ากลัว’
“ตั้งแต่จำความได้ ผมมองคลินิกทำฟันว่าเป็นสถานที่ที่ไปแล้วทุกข์ทรมาน ไปเจอความเจ็บปวด มีเสียงเหมือนอยู่ในห้องเชือดตลอดเวลา หมอฟันก็ดูเป็นคนใจร้ายไปโดยปริยาย” เขาเล่าขำๆ แต่สีหน้าจริงจัง ยืนยันว่าหมายความตามนั้นจริง
ก่อนที่อัญชลีจะเสริมต่อว่า ในฐานะหมอฟันผู้เคยทำงานทั้งในโรงพยาบาลรัฐและคลินิกเอกชน แพตเทิร์นเดิมๆ ของห้องทำฟันส่งผลให้คนทำงานอย่างเธอรู้สึกเบื่อหน่าย
“เราทำงานวันหนึ่งเป็นสิบชั่วโมง เงยหน้าขึ้นมาทีไรก็เจอแต่กำแพง มันก็ยิ่งเครียด พอมาเปิดคลินิกตัวเอง ก็อยากทำสิ่งที่แตกต่าง”
คลินิกแห่งใหม่นี้จะต้องไม่มีสิ่งที่เคยทำให้พวกเขากลัว เครียด และเบื่อหน่าย โจทย์ฟังดูง่ายแต่คิดอีกทีก็ยากเอาการ และเพราะไม่รู้ว่าจะหาสถาปนิกจากที่ไหนมารับโจทย์แบบนี้ ปฐวีจึงต่อสายหากาจวิศว์ เพื่อนสมัยมัธยมผู้เป็นดีไซน์ไดเรกเตอร์ของสตูดิโอ Physicalist รับออกแบบอาคารทั้งภายนอกและภายใน โดยบรีฟแรกที่ให้ไปคือ ‘อยากได้คลินิกทำฟันที่ไม่เหมือนคลินิกทำฟัน แต่ดูรู้ว่าเป็นคลินิกทำฟัน’
นอกจากสถานะเพื่อนกัน บรีฟอันแสนท้าทายนั้นคือเหตุผลหลักที่ทำให้กาจวิศว์ตกปากรับคำอย่างเต็มใจ
Relax Time
อีกหนึ่งความท้าทายที่ทำให้งานนี้ไม่เหมือนงานไหนคือ กาจวิศว์ต้องออกแบบอาคารทั้งหลังขึ้นมาใหม่บนที่ดินขนาด 1 ไร่ริมถนนพุทธมณฑล สาย 4
“หัวใจสำคัญของพื้นที่ตรงนี้คือมันอยู่ติดถนนใหญ่ มี Traffic ที่เร็ว ฝั่งที่ติดคลินิกรถจะเร่งเครื่องขึ้นสะพาน ส่วนอีกฝั่งก็ลงสะพานมา และที่นี่เข้าถึงได้ด้วยการขับรถเข้ามาเท่านั้น เพราะฉะนั้นอาคารต้องแสดงตัวออกมามากพอที่จะทำให้คนที่ขับรถผ่านรู้ว่ามีอาคารนี้ตั้งอยู่ อีกอย่างคือมันต้องทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพลาซ่าที่ลูกค้าขับรถมาจอดด้านหน้าได้” ผู้เป็นสถาปนิกเล่า
และเพราะอยากลบภาพคลินิกทำฟันแบบเดิมๆ รูปลักษณ์ของอาคารจึงถูกออกแบบให้ดูเฟรนด์ลี่ขึ้นด้วยการใช้เส้นโค้งมาเป็นรูปทรงหลัก อย่างฟาซาดด้านหน้าที่โดดเด่นเห็นเป็นทรงครึ่งวงกลมมาแต่ไกล หรือแม้กระทั่งโลโก้ของคลินิกเองที่ไม่ได้ใช้รูปฟันเหมือนคลินิกทั่วไป แต่เป็นรูปนาฬิกาติดผนังที่มีเข็มเป็นแปรงสีฟันเพื่อเชื่อมโยงกับชื่อ Teeth Time
เมื่อก้าวเข้ามาด้านใน เราพบล็อบบี้สีขาวสว่าง โล่งกว้าง มีชุดโต๊ะกับเก้าอี้ไม้จัดวางอย่างเป็นระเบียบบนพื้นหินขัด ให้ความรู้สึกโฮมมี่เหมือนมาคาเฟ่มากกว่าคลินิกทำฟัน ปรายสายตาออกไปไม่ไกลก็เห็นห้องให้บริการทำฟันตั้งอยู่อีกปีกหนึ่งของอาคาร ส่วนตรงกลางคือสวนสีเขียวขจีที่มีต้นเสม็ดแดงชูยอดโดดเด่น สามารถมองเห็นได้จากทุกฝั่ง
กาจวิศว์เล่าว่า สวนแห่งนี้คือผลผลิตของการพยายามสร้างพื้นที่เปิดโล่ง (Open Space) ขึ้นมาให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คลินิกในตึกไม่สามารถมอบให้ได้
พิเศษกว่านั้นคือช่องหลังคาทรงกลมที่ทำให้เรามองเห็นเฉดสีของท้องฟ้าในแต่ละช่วงเวลา อย่างยามสายที่เรามาเจอพวกเขาตอนนี้ ผืนผ้าใบทรงกลมเหนือสวนก็ระบายสีฟ้าสว่างสดใส ไม่แปลกที่ลูกค้าจะมาแล้วสบายใจจนทิ้งความกลัวของการทำฟันไปได้หมด
องค์ประกอบเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อลูกค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มคนที่ใช้เวลาอยู่ในคลินิกทั้งวันอย่างทันตแพทย์และพนักงานของ Teeth Time ทุกคน
“สำหรับคนไข้ ที่นี่คือคลินิก แต่สำหรับคุณหมอ ที่นี่คือที่ทำงาน บรรยากาศเหล่านี้ก็ทำขึ้นมาเพื่อคุณหมอด้วย” กาจวิศว์พูดถึงสิ่งที่คิดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งนอกจากธรรมชาติที่มอบพลังงานดีๆ ในยามเหนื่อยล้า ในห้องทำฟันแต่ละห้องยังมีหน้าต่างเปิดรับแสงธรรมชาติ และวิวต้นไม้ด้านหลังที่ไม่เหมือนกันเลยสักห้อง ไหนจะมีห้องพิเศษของบุคลากรในโซนหลังซึ่งเปิดให้คนทำงานสามารถไปนั่งกินข้าวและพักผ่อนระหว่างวันได้ด้วย
“จากที่เคยทำงานในห้องทึบ ตอนนี้แค่เงยหน้าขึ้นมาเจออะไรเขียวๆ ก็รู้สึกดีแล้ว บางครั้งทำงานมันเครียด กดดัน ต้องทำงานออกมาให้ดีในระยะเวลาจำกัด ถ้ามีอะไรให้เราคลายเครียดได้ก็ทำให้งานเราออกมาดีขึ้น
“ปกติในวงการทันตแพทย์จะมีการส่งใบสมัครมาก่อน แล้วที่นี่มีคนส่งใบสมัครมาเยอะมากจนเราแทบไม่ต้องหาเอง” อัญชลีบอกด้วยรอยยิ้ม
Craft Time
ไม่เพียงแต่ภาพที่เราเห็น แต่การออกแบบยังครอบคลุมไปถึงเสียงที่เราได้ยิน
เพนพอยต์ของเรื่องนี้มาจากอาการกลัวเสียงในคลินิกทำฟันของปฐวีอีกเช่นกัน เมื่อได้มาเปิดคลินิกเอง พวกเขาจึงจัดระบบวางท่อในห้องทำฟันเสียใหม่เพื่อให้เกิดเสียงน้อยที่สุด “เสียงที่เลี่ยงไม่ได้อย่างเสียงเป่าลมหรือเสียงหัวกรอก็ไม่เป็นไร แต่เสียงปั๊มลม ปั๊มน้ำ เราก็ย้ายไปอยู่ห้องด้านหลัง” ปฐวีอธิบาย
ความรื่นรมย์ยังถูกส่งต่อไปยังสิ่งละอันพันละน้อยในห้องทำฟัน เพราะ Teeth Time ให้บริการทำฟันทุกแขนง มีทันตแพทย์ทุกประเภท และยินดีต้อนรับลูกค้าทุกกลุ่ม เครื่องไม้เครื่องมือในห้องทำฟันแต่ละห้องจึงมีเฉดสีที่แตกต่างเพื่อให้ลูกค้าและทันตแพทย์ไม่เบื่อ พิเศษหน่อยก็ห้องทำฟันเด็กซึ่งมีเครื่องมือแพทย์ธีมไดโนเสาร์ ช่วยลดความกลัวในการทำฟันของเด็กๆ ได้อยู่หมัด
“ทุกๆ องค์ประกอบในคลินิกนี้มีเจตนาที่จะสร้างความสุขให้คนไข้มากที่สุด เราคิดไว้ตั้งแต่แรกว่าเราจะไม่ไปล้วงเงินในกระเป๋าคนไข้ แต่เราจะช่วยเขายังไงมากกว่า” ปฐวีบอก แนวคิดนี้ส่งผลไปถึงราคาค่าทำฟันที่ไม่ได้สูงมากเท่าที่ควรเป็น เพราะจุดหมายของพวกเขาคืออยากให้ลูกค้ากลับมาใช้งานซ้ำมากกว่า
“ปกติแล้วราคาของธุรกิจทันตกรรมจะขึ้นอยู่กับโลเคชัน เพราะฉะนั้นบางทีเราต้องเข้าใจในรูปแบบของธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคของธุรกิจนั้นๆ ด้วย และถ้าเป็นไปได้ก็มาคิดต่อว่าจะใช้กี่ยูนิตถึงจะรันได้ อย่างเราเองไม่ใช้ยูนิตเยอะเพราะเราอยากควบคุมคุณภาพให้ดีที่สุด ถ้าเกินกว่านี้จะควบคุมไม่ไหว” ผู้เป็นเจ้าของย้ำ
Teeth Time
คงไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่าพวกเขามาถูกทาง เพราะอัญชลีบอกว่าปกติแล้วคลินิกทำฟันจะใช้เวลาแรมปีในการสร้างฐานลูกค้าประจำ และมักใช้เวลามากกว่า 2 – 3 ปีที่จะมีคนไข้หลักพัน แต่กับ Teeth Time ที่เปิดมาแค่ 10 เดือนก็มีคนไข้ปาเข้าไปกว่า 3,000 คน แถมยังมีคณะทันตแพทย์ในมหาวิทยาลัยนำไปเป็นกรณีศึกษา
“จริงๆ การปรับทัศนคติให้หมอฟันมาทำแบบนี้ค่อนข้างยาก เพราะเขาคิดว่าแค่ทำในตึก ประหยัดงบ เดี๋ยวก็มีลูกค้าอยู่แล้ว ทำไมต้องลงทุนแบบนี้เพื่ออะไร” อัญชลีเล่า
“ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำโดนด่าเยอะมาก เราเครียดมาก จนพอเปิดมาได้สักพักทุกคนด่าอีกรอบว่าดึงลูกค้าฉันไปหมด (หัวเราะ) จนตอนนี้มีแต่เพื่อนที่เป็นหมอฟันมาปรึกษาว่าอยากเปิดบ้าง ต้องใช้งบเท่าไหร่เหรอ เปิดตรงไหนดี ซึ่งเรารู้สึกว่ามันต้องมาจากที่ตัวเองอยากทำก่อน”
“ในมุมมองของผม คำว่าดีไซน์ไม่ได้หมายถึงแค่ Architectural Design (การออกแบบสถาปัตยกรรม) หรือ Interior Design (การออกแบบภายใน) แต่มันหมายถึง Vision Design (การออกแบบวิสัยทัศน์) ด้วย” กาจวิศว์ให้คำแนะนำ “มันคือการออกแบบธุรกิจ การออกแบบวิธีการ การออกแบบการดำเนินงานต่างๆ ทั้งหมดรวมกันเป็นก้อนเดียว”
“ดีไซน์ที่ดีมีผลทางธุรกิจมาก จนบางทีมันสร้างมิติใหม่ของธุรกิจนั้นๆ เลยด้วยซ้ำ” ปฐวีสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากช่วงเวลากว่า 10 เดือนให้ฟัง
“เราภูมิใจกับคลินิก ไม่ใช่แค่ภูมิใจในแง่ของธุรกิจ แต่ภูมิใจในแง่ที่ว่าเราเห็นคนไข้เขากลับมาทำฟันแล้วเขาพาคนที่เขารักมาทำด้วย นั่นคือสิ่งที่ผมว่ามันตอบโจทย์ที่สุดแล้ว
“เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเป็นตัวผมเอง เวลาไปเจออะไรดีๆ เราก็จะไปบอกต่อคนที่เรารัก และการที่ลูกค้าทำแบบนั้นมันแปลว่าเขาเชื่อใจเรา ชอบในงานของเรา”
คลินิกทันตกรรมทีธไทม์
เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 20.00 น.แฟนเพจเฟซบุ๊ก : facebook.com/TeethTimeBKK