ชวนลงชื่อยกเลิกภาษีผ้าอนามัยและแจกผ้าอนามัยฟรี - Urban Creature

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับสภาวะขาดแคลน หรือไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนได้ (Period Poverty) เนื่องจากผ้าอนามัยมีราคาสูงเกินไปเมื่อเทียบกับอัตรารายได้หรือค่าครองชีพ ทำให้ผู้หญิงและเด็กหลายคนต้องสูญเสียโอกาสทางการงานและการศึกษาเมื่อมีประจำเดือน เพราะเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงออกมารณรงค์และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชน

ย้อนไปวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ‘ภาษีผ้าอนามัย’ กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สังคมให้ความสนใจในวงกว้าง หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้ ‘ผ้าอนามัยแบบสอด’ เป็น ‘เครื่องสำอาง’ ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 หมายความว่าจะมีการเก็บภาษีสินค้าชนิดนี้เพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมากไม่เห็นด้วย และแสดงความคิดเห็นว่า ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของผู้หญิง และรัฐบาลไม่ควรผลักภาระทางภาษีให้กับประชาชน

ทว่า หลังจากเกิดกระแสดราม่าไม่กี่วัน ด้านกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรได้แถลงการณ์ชี้แจงว่า การประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี แต่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมสินค้าตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าผ้าอนามัยแบบสอดไม่ถูกจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 30 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม องค์กรเพื่อสิทธิสตรี นักเคลื่อนไหว และประชาชนหลายรายยังคงมองว่า ผ้าอนามัยควรเป็นสินค้าปลอดภาษีที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จึงเดินหน้ารณรงค์และเคลื่อนไหวให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากราคาผ้าอนามัย ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1) ยกเลิกกฎหมายกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ผ้าอนามัยแบบสอด และ/หรือผ้าอนามัยแบบอื่นๆ อยู่ในหมวดเครื่องสำอาง

2) ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน รัฐบาลควรมีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชน

3) รัฐบาลควรยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ เพื่อให้สินค้ามีราคาถูกลง และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาผ้าอนามัยเพิ่มมากขึ้น เพราะพวกเขามองว่าการซื้อผ้าอนามัยนั้นเป็นภาระอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีรายได้น้อยหรือไม่ได้ทำงานประจำ 

ทั้งนี้ การยกเลิกภาษีผ้าอนามัยอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะผู้หญิงแต่ละคนต้องการใช้ผ้าอนามัยไม่เท่ากัน โดยทั่วไป ผู้หญิงมีระยะเวลาการเป็นประจำเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 – 6 วันต่อเดือน และเพื่อสุขอนามัยที่ดี ผู้หญิงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมง หมายความว่าพวกเธอจะต้องใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ยอย่างน้อย 5 แผ่นต่อวัน ส่วนผู้ที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติอาจจะต้องใช้ผ้าอนามัยมากถึง 7 แผ่นต่อวัน ทำให้ผู้หญิงบางกลุ่มอาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคนทั่วไป

ปัจจุบันผ้าอนามัยที่ขายอยู่ตามท้องตลาดมีราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและลักษณะเฉพาะของผ้าอนามัยโดยมีราคาเริ่มต้นราว 40 บาทต่อหนึ่งห่อ ถ้ามีประจำเดือนเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน จะต้องใช้ผ้าอนามัยทั้งหมดประมาณ 40 แผ่น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อเดือน ซึ่งราคาของผ้าอนามัยจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาทต่อวัน หรือ 10,080 บาทต่อเดือน ดังนั้น การซื้อผ้าอนามัยคิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งอัตราดังกล่าวอาจสูงกว่านี้ หากผู้หญิงกลุ่มนั้นๆ มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้น หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิงทุกคน สิ่งที่ภาครัฐจะช่วยได้คือ การเปลี่ยนให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้วยการแจกฟรี เช่นเดียวกับการแจกถุงยางอนามัยฟรี เพราะผู้หญิงทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีประจำเดือนได้

หากคุณเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย และมีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรี เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเข้าถึงผ้าอนามัยอย่างเท่าเทียม ร่วมลงชื่อกับแคมเปญ ‘ยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ’ ได้ที่นี่ t.ly/rfNB

Sources : 
Change.org | t.ly/rfNB
Daily News | t.ly/jmue
Matichon Online | t.ly/ciBG
Manager Online | t.ly/7Lef

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.