ร้านไหนทุนจีน ดูได้จากการออกใบเสร็จ - Urban Creature

หลังจากเกิดกระแสร้านชาบูหม่าล่าหม้อไฟและสายพานฮิตขึ้นมาแบบฉุดไม่อยู่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ร้านหม้อไฟสไตล์จีนหลากหลายรูปแบบเต็มเมืองไปหมด

โดยเฉพาะบริเวณห้วยขวางและถนนบรรทัดทองที่มีร้านอาหารทั้งที่เปิดแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจากกลุ่มทุนจีนปะปนกันอยู่ตลอดสองฝั่งถนน จนบางคนถึงกับตั้งฉายาใหม่ให้เป็นไชนาทาวน์แห่งที่ 2 และ 3 ที่ดูเหมือนว่าจะมีแห่งที่ 4 5 หรือ 6 ตามมาในอนาคตอันใกล้

หากรัฐไม่มีมาตรการการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ในอนาคตพื้นที่เหล่านี้อาจเต็มไปด้วยร้านอาหารทุนจีนผิดกฎหมาย เนื่องจากใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการลักลอบเปิด และทำให้ลูกค้าหลงเข้าไปใช้บริการโดยไม่รู้ตัว

เห็นปัญหาแบบนี้แล้ว ถ้าเราอยากกินหม่าล่าขึ้นมา แต่ไม่อยากสนับสนุนร้านอาหารทุนจีนผิดกฎหมาย ต้องทำอย่างไรดี วันนี้ Urban Creature ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ในการดูว่าร้านไหนเป็นร้านค้าปลีกที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพากรผ่านบิลใบเสร็จที่เราจะได้รับหลังจากชำระค่าบริการ

abbreviated-tax-invoice

🧾 ร้านแบบไหนต้องออกใบเสร็จให้ลูกค้าบ้าง

ปกติแล้วบิลใบเสร็จที่เราได้มาทุกครั้งหลังซื้อของหรือกินอาหาร จะถูกเรียกชื่อเต็มๆ ว่า ‘ใบกำกับภาษีอย่างย่อ’ เป็นเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมีหน้าที่ต้องจัดทำและออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ

โดยกิจการที่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในที่นี้คือกิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะ ‘ขายปลีก’ เช่น ร้านขายยา ร้านขายของชำ หรือห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงกิจการที่ให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม และกิจการประเภทซ่อมแซมทุกชนิดนั่นเอง

ซึ่งใบกำกับภาษีอย่างย่อจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผู้ประกอบกิจการยื่น ‘จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม’ และ ‘ยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี’ ต่อ ‘กรมสรรพากร’ เท่านั้น

🧾 ใบเสร็จที่ถูกกฎหมายต้องเป็นอย่างไร

แต่การที่ผู้ประกอบกิจการจะออกใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อให้กับเราได้ ลำพังเพียงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีต่อกรมสรรพากรคงไม่พอ

เพราะใบเสร็จที่พรินต์ออกมาจำเป็นต้องมีลักษณะและองค์ประกอบภายในตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 86/6 ด้วย โดยใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

  1. มีคำว่า ‘ใบกำกับภาษี’ หรือ ‘TAX INV (ABB)’ หรือ ‘TAX INVOICE (ABB)’ ที่เห็นได้เด่นชัด
  2. มีชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
  3. มีหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  4. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
  5. ราคาสินค้าหรือบริการ โดยต้องมีข้อความว่า ‘รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว’ หรือ ‘VAT INCLUDED’ ระบุอย่างชัดเจน
  6. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  7. ข้อความอื่นๆ ที่อธิบดีกำหนด

อีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญว่าร้านนั้นๆ จดทะเบียนอย่างถูกต้องคือ รายการภายในต้องใช้ภาษาไทย หน่วยเงินตราไทย และตัวเลขไทยหรืออารบิก เว้นแต่กิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีเท่านั้น

🧾 เจอกรณีแบบนี้ หนีการจดภาษีชัวร์

ถ้าเราจ่ายค่าสินค้าหรือบริการไปแล้วได้ใบเสร็จมาในรูปแบบที่ไม่มีข้อใดข้อหนึ่งใน 7 ข้อตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หรือยิ่งไปกว่านั้นคือได้มาเป็นภาษาจีนล้วนๆ จนอ่านอะไรไม่ออก เท่านี้ก็พอจะประเมินสถานการณ์คร่าวๆ ได้เลยว่า ร้านนี้อาจไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางสรรพากรเอาไว้อย่างถูกต้อง หรือที่เรียกง่ายๆ ว่ากำลังหลีกเลี่ยงภาษีอยู่นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้มีรายได้มากอาจไม่เป็นปัญหาใหญ่เท่าไหร่นัก เพราะตามระเบียบของกรมสรรพากร ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มคือผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี

แต่กรณีที่จะเป็นปัญหาคือ ร้านขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีรายรับเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่มีองค์ประกอบของใบเสร็จไม่ครบตามเงื่อนไข แล้วยังจะเก็บ VAT 7 เปอร์เซ็นต์จากเราเพิ่มอีก ซึ่งถ้าเราไหวตัวทันและขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบก็กลับไม่ยอมให้ซะอย่างนั้น อันนี้แหละคือปัญหาใหญ่ เพราะแสดงว่าร้านเหล่านี้กำลังทำผิดกฎหมายหลายกระทง ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ประกอบการซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดำเนินกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS) โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ผู้ประกอบการที่ไม่ทำใบกำกับภาษีหรือไม่ส่งมอบให้แก่ลูกค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. มีรายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  5. ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเองโดยไม่มีคุณสมบัติในการออก มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี หรือตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. ผู้ประกอบการมีเจตนาปลอมใบกำกับภาษี มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพียงเท่านี้เราก็สามารถรู้เท่าทันการเปิดร้านค้าปลีกแบบผิดกฎหมาย หรือร้านทุนจีนได้ง่ายๆ ผ่านการดูการออกใบเสร็จของร้านนั้นๆ โดยหากใครพบเห็นการหลีกเลี่ยงภาษี สามารถแจ้งเบาะแสได้ง่ายๆ ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร interapp61.rd.go.th


Sources : 
Get Invoice | t.ly/3hzxf
Money Buffalo | t.ly/kYyS
กรมสรรพากร | www.rd.go.th/315.html

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.