‘Toy Storey Residence’ กำแพงบ้านในอินเดียที่ทำขึ้นจากของเล่นพลาสติก ช่วยกำจัดขยะและสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว และหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าพลาสติกในรูปแบบของเล่นนั้นมีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก หลายบ้านต้องประสบปัญหากับการมีของเล่นล้นบ้านและไม่รู้จะกำจัดอย่างไร เพราะบางชิ้นก็ไม่เหมาะแก่การนำไปรีไซเคิล สุดท้ายแล้วของเล่นเหล่านั้นก็จบลงด้วยการเผา ฝังกลบ หรือกลายเป็นขยะลอยอยู่ในทะเล เมืองวาดาการา รัฐเกรละตอนเหนือของประเทศอินเดีย ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ชื่อว่ามีการบริโภคของเล่นมากที่สุดแห่งหนึ่ง สถาปนิกจาก Wallmakers จึงหาวิธีการจัดการขยะพลาสติกจากของเล่นกว่า 6,200 ชิ้นด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบการเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงในโครงการ ‘Toy Storey Residence’ โครงการ Toy Storey Residence ออกแบบมาในลักษณะ ‘บ้านภายในบ้าน’ ที่เพื่อนบ้านและสมาชิกในชุมชนสามารถมาใช้พื้นที่อยู่อาศัยได้ ในขณะที่พื้นที่ส่วนตัวนั้นก็จะถูกกั้นด้วยฉากโชจิโปร่งแสงแบบญี่ปุ่น ให้ความรู้สึกเปิดกว้างแต่ยังรักษาความเป็นส่วนตัว และเมื่อลงไปยังชั้นใต้ดินก็จะพบกับห้องสมุดและห้องนอนที่เงียบสงบ ส่วนพื้นที่บริเวณส่วนกลางนั้นมีกำแพงที่ทำจากกระเบื้อง Mangalore แบบดั้งเดิม และของเล่นที่ถูกทิ้งขว้างมาเป็นส่วนประกอบช่วยให้พื้นที่ของบ้านมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วยของเล่นเหล่านี้ โดยของเล่นแต่ละชิ้นจะทำหน้าที่ค้ำช่องกำแพง เพื่อให้มีแสงลอดเข้าสู่ภายในและมีการระบายอากาศตามธรรมชาติ ทำให้โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการนำเอาของเล่นที่ไร้ค่ากลับมาใช้งานใหม่ แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนผ่านโครงสร้างบ้านอีกด้วย นอกจากนี้ เด็กๆ ในชุมชนยังกลับมาเยี่ยมเยียนอดีตของเล่นชิ้นโปรดของพวกเขาที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของเล่นอีกต่อไป แต่กลายเป็นโครงสร้างบ้านที่ทำประโยชน์ต่อคนจำนวนมากได้อีกด้วย Sources :Designboom | tinyurl.com/ycky6at4Wallmakers | tinyurl.com/yne7vt6n