‘The new form of imprisonment’ ธีสิสทัณฑสถานเปิดในแนวตั้ง ที่อยากให้นักโทษและคนทั่วไปใช้พื้นที่ร่วมกัน
จะเป็นอย่างไรถ้ามีสถานที่หนึ่งที่เปิดให้ ‘นักโทษ’ และ ‘บุคคลทั่วไป’ ได้ทำกิจกรรม ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้นักโทษปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวตามกำหนดเวลา เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็มๆ ที่ ‘บีม-ธัญลักษณ์ ตัณฑรัตน์’ อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปลุกปั้นธีสิสจบของตัวเองในชื่อ ‘การคุมขังรูปแบบใหม่ของทัณฑสถานไทย (The new form of imprisonment)’ จุดประสงค์คือต้องการทำให้คนในสังคมเข้าใจและเปิดใจให้นักโทษที่กำลังจะพ้นโทษมากขึ้น ผ่านสถาปัตยกรรมที่จะมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ จากการศึกษาว่าระบบของเรือนจำมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังอย่างไร และการกักขังแบบไหนที่จะทำให้นักโทษได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ไม่ถูกลืมจากคนภายนอก และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษ คอลัมน์ Debut ชวนไปดูจุดตั้งต้นของธีสิสนี้ และค้นหาพร้อมกันว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมและช่วยเหลือผู้ต้องขังให้ได้ทดลองใช้ชีวิตก่อนออกสู่สังคมภายนอกได้อย่างไร ทัณฑสถานไทยไม่เอื้อต่อการกลับตัว “ธีสิสนี้เป็นการออกแบบเรือนจำให้เหมาะกับนักโทษที่เตรียมการก่อนปล่อยตัวออกสู่สังคม เพราะจากการหาข้อมูลเราพบว่า สาเหตุหนึ่งที่นักโทษกลับไปทำผิดซ้ำๆ เนื่องจากหลังการพ้นโทษผู้ต้องขังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไปได้” บีมเล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้าที่จะทำธีสิสนี้ เธอมีความสนใจเกี่ยวกับสถาปัตย์และการออกแบบที่สามารถเข้ามากำหนดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์อยู่แล้ว และเพื่อทำให้ฟังก์ชันของการออกแบบที่ช่วยควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เห็นภาพได้ชัดขึ้น เธอจึงเลือกทำธีสิสในรูปแบบของ ‘ทัณฑสถาน’ หรือ ‘เรือนจำ’ หลังจากพบว่าในปี 2562 มีปริมาณนักโทษที่กลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีมากที่สุดถึง 21,187 คน […]