‘เจริญกรุง’ จากถนนดินอัดแห่งแรก สู่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบ เส้นทางความเจริญของกรุงเทพฯ ตามชื่อที่ตั้ง
รู้ไหมว่า กว่า ‘เจริญกรุง’ จะกลายมาเป็นย่านท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างในปัจจุบันนี้ต้องเจอสถานการณ์อะไรบ้าง ภาพจำของเจริญกรุงที่เราคุ้นตาคงเป็นแหล่งรวมร้านถ่ายรูปที่เรียงรายอยู่ตลอดแนวถนน ทั้งยังเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการและอาร์ตแกลเลอรีที่หมุนเวียนมาไม่ซ้ำเป็นประจำทุกเดือน จนได้เป็นย่านแรกของไทยที่ก้าวสู่การเป็น ‘ย่านสร้างสรรค์’ จากการรวมตัวของคนหลายกลุ่มที่ช่วยกันฟื้นฟูและขับเคลื่อนย่านให้กลับมาคึกคักกันอีกครั้งเช่นในปัจจุบัน โดยเริ่มดำเนินการผ่านโปรเจกต์ Bangkok Design Week ที่เราคุ้นเคย แต่ก่อนที่เจริญกรุงจะเดบิวต์ใหม่เป็นย่านสร้างสรรค์ที่เหมาะกับการมาเดินเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์นั้น ย่านนี้เคยเป็นที่รู้จักในด้านการเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของการเดินทางบนคอนกรีตที่สะดวกสบายในปัจจุบัน เพราะเจริญกรุงนับว่าเป็น ‘ถนนสายแรก’ ของกรุงเทพฯ ที่สร้างด้วยเทคนิคตะวันตก ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางสังคม สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองและความเจริญที่เริ่มคืบคลานทยอยเข้ามาในเมืองทีละนิดๆ ส่งผลให้เกิดเป็นการคมนาคมที่เข้าถึงง่าย มีความสะดวกสบายในปัจจุบัน คอลัมน์ Urban Tales ขอพาทุกคนย้อนดูไทม์ไลน์การเดินทางกว่า 160 ปีของเจริญกรุง ตั้งแต่เริ่มมีถนนใช้เป็นครั้งแรก พากรุงเทพฯ ก้าวเข้าสู่เมืองแห่งความทันสมัย ก่อนผลัดเปลี่ยนสู่ยุคตกทุกข์ได้ยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และผงาดขึ้นอีกครั้งในฐานะย่านสร้างสรรค์แรกของไทย กำเนิด ‘ถนนเจริญกรุง’ จากเส้นทางสายน้ำสู่พื้นคอนกรีตแบบตะวันตก ไม่ว่าเราจะเดินไปที่ไหนในกรุงเทพฯ สังเกตได้ว่าแทบทุกพื้นที่จะมีคลองเล็กใหญ่ให้เห็นอยู่เสมอ และส่วนใหญ่คลองเหล่านี้มักบรรจบหรือมีจุดที่เชื่อมโยงเป็นสายเดียวกัน ถือเป็นร่องรอยจากอดีตที่แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ มีความใกล้ชิดกับสายน้ำมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบ้านเรือนติดแม่น้ำลำคลอง การประกอบอาชีพประมง รวมถึงการใช้ทางน้ำเป็นเส้นทางหลักสำหรับสัญจรไปมาในอดีต จึงไม่แปลกที่เขตหรือแขวงในกรุงเทพฯ มักขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘บาง’ ที่หมายถึงทางน้ำเล็กๆ ที่ไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล เพื่อใช้เรียกสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับสายน้ำ […]