‘รัฐสภา’ ย้อนดูความเป็นมาของสถานที่เริ่มต้นในการพัฒนาประเทศและต่อสู้ทางอุดมการณ์
หลังจากสถานีการเลือกตั้งอันแสนดุเดือดจบลง สถานีต่อไปที่ประชาชนจับตามองคือ กระบวนการที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา แน่นอนว่าเมื่อพูดถึง ‘รัฐสภา’ สถานที่แห่งนี้ย่อมเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเป็นสถานที่ที่มีไว้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายเข้าไปประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงถ้าหากฝ่ายรัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ฝ่ายค้านก็จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนอย่างที่เห็นกันตามสื่อต่างๆ ในยุครัฐบาลที่ผ่านมา แม้จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ประกอบด้วยอิฐ หิน ดิน ทราย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘รัฐสภา’ คือฉากหลังสำคัญในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของเหล่านักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ในช่วงเวลาที่สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่านพัดพาสู่การเมืองไทย คอลัมน์ Urban Tales จะมาเล่าถึงประวัติศาสตร์รัฐสภาของประเทศไทยว่ามีความเป็นมายังไง แต่ละแห่งมีคอนเซปต์และความสำคัญอย่างไรบ้าง รัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า สถานที่แห่งแรกที่ใช้เป็นรัฐสภาคือ ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ ซึ่งเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิตนั่นเอง ส่วนเหตุผลที่สภาผู้แทนราษฎรเข้าไปประชุมในนั้น นั่นก็เพราะในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัชกาลที่ 7 อนุญาตให้ใช้พระที่นั่งฯ เป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยใช้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุม ต่อมาในปี 2489 รัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดให้รัฐสภาไทยเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนฯ และพฤฒสภา (สภาสูงหรือสภาอาวุโส) จึงกำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเศกดุสิตเป็นที่ประชุมของพฤฒสภาอีกแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นหนึ่งปี หรือปี 2490 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ส่งผลให้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมเพียงแห่งเดียว […]