5 พื้นที่ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ในกรุงเทพฯ - Urban Creature

6 ตุลาฯ คือบาดแผลทางการเมืองไทย ที่ถูกชนชั้นปกครองหลายยุคซุกซ่อนและลบล้างเสมอมา สำหรับหน้าหนังสือเรียนวิชาสังคมของนักเรียนไทย เรื่องเล่าเหี้ยมโหดถูกตัดจนเหลือไม่กี่เศษย่อหน้า

ขณะที่วันนี้เมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้วมีคนเจ็บและตายจริง มากไปกว่านั้นคือเหยื่อถูกบิดเบือนให้เป็นคนผิดบาป ในขณะที่ผู้สั่งการและเข่นฆ่าได้กลับบ้านไปใช้ชีวิตสบายๆ 

และเมื่อถึงคราวจัดงานรำลึกแต่ละปี ก็จะมีอุปสรรคนานาผุดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ทบทวีด้วยแนวคิดของรัฐสับปะรังเคที่ไม่ต้องการให้ประชาชนปริปากถึงเหตุการณ์นี้อีกต่อไป ราวกับต้องการจะลบคนตายไม่ให้เหลือแม้แต่วิญญาณ

นี่คือประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของวันที่ 6 ตุลาฯ 19 โมงยามที่ตำรวจใช้อาวุธสงครามครบมือปราบประชาชนฝ่ายซ้ายที่ออกมาประท้วงให้นำผู้เผด็จการมาลงโทษทั้งจอมพล ประภาส จารุเสถียร และ จอมพล ถนอม กิตติขจร (อ่านที่มาเพิ่มเติมที่ doct6.com)

ซ้ำร้ายฝ่ายขวายังเข้ามารุมย่ำยี ประชาทัณฑ์นักศึกษา จนฝ่ายนักศึกษาและประชาชนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน (ไม่นับรวมเจ้าหน้าที่รัฐและคนที่ฆ่าตัวตายในเรือนจำ) ซ้ำถูกจับกุมกว่าสามพันคน และมีคนหลบหนีภัยการเมืองจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเลขทั้งหมดจะชัดเจนมากขึ้นก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์ได้รับการตีแผ่จากคนทุกฝ่ายอย่างเที่ยงตรง และถ้าหากบ้านเมืองมีขื่อมีแป และเป็นประชาธิปไตยจริง เราคงจะได้รู้ว่าใครกันที่กล้าสั่งการแบบนี้ 

ต่อให้ถึง 100 ปี ก็จะยังคงไร้ค่าและสะสมความเจ็บปวดไปเรื่อยๆ เพราะถ้าประวัติศาสตร์ยังไม่ได้รับการสะสาง ก็ยากที่ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นในสังคม ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ควรมีการฆ่าหรือคุกคามใครหน้าไหนด้วยซ้ำ

โอกาสลงตัวแบบนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนออกมาปลุกผู้คนผ่านพื้นที่ประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนไทยตื่นจากภวังค์อำนาจนิยม ปลุกวิญญาณวีรชนเดือนตุลาฯ ผู้เชื่อในพลังแห่งการต่อสู้ และเป็นเสมือนปีศาจของชนชั้นปกครองมายาวนาน ที่สำคัญคือการปลุกโสตของปีศาจตัวจริงให้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขากระทำนี้ไม่เคยถูกต้อง และไม่ควรเกิดขึ้นแม้เพียงกระผีกริ้น

นี่คือ 5 สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวและเลือดเนื้ออันเกี่ยวเนื่องกับวันที่ 6 ตุลาฯ 19 แม้การจดจำความเจ็บปวดอาจขื่นขม แต่การคืนความเป็นธรรมให้ทุกคนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนี่คือเรื่องราวที่เกิดจริง แม้ผ่านแสนนาน แต่ยังมีสถานที่ที่คอยกระตุ้นให้ไม่ลืม และย้ำเตือนซ้ำๆ ว่า อย่าลืม อย่าให้สูญเปล่า อย่าให้ซ้ำรอย และอย่ายอมหากมีใครมากดหัวต่ำลงติดดิน แต่ขอให้มีเพียงสองเท้าเท่านั้นที่จะหยัดยืนเพื่อความถูกต้องตลอดไป

ภาพจำของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมักยึดโยงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่จริงๆ แล้วสถานที่นี้เป็นจุดนัดชุมนุมน้อยใหญ่เรื่อยมา ด้วยเป็นตัวแทนของ ประชาธิปไตย วงเวียนนี้จึงเป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญบ่อยๆ อาทิ ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภาทมิฬ, วิกฤตการเมือง 2553 และ ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย 2563 – 2564 

เพจบันทึก 6 ตุลานำเสนอถ้อยคำของ “พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ที่เล่าว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม 2516 หลังจากเข้าเรียนแพทยศาสตร์ มหิดลไม่นาน รุ่นพี่ก็ชักชวนเดินขบวนจากคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปักหลักที่นั่นประมาณ 1 วัน เพื่อคัดค้านการส่งนักเรียนนายร้อยมาเรียนแพทย์ร่วมกับนักศึกษามหิดล และหลังจากการชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาฯ ก็มีการนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ฯ แห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น การชุมนุมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 การชุมนุมของคนงานไทยการ์ดเมื่อสิงหาคม 2518 เป็นต้น

แม้ 6 ตุลาคม 2519 จะเกิดขึ้นที่สนามราษฎร์ (สนามหลวง) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นหลัก แต่ภาพความยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินเรือนหลายแสนคนจนได้รับชัยชนะ การแสดงพลังของพลเมืองครั้งนั้นได้บันดาลใจให้ผู้คนออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะขบวนการแรงงาน ชาวนา คนยากไร้ หรือขบวนการอื่นๆ ซึ่ง 6 ตุลาฯ เองก็เป็นผลพวงจากการที่ผู้คนหูตาสว่าง เชื่อในสิทธิเสรีภาพของตัวเอง และไม่อาจหวนกลับไปมีดวงตามืดบอดได้อีกเลย

ตามไปรำลึกประวัติศาสตร์ได้ที่ : goo.gl/maps/32bqWpzQT4dxMEKo7
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : openbase.in.th/files/puay011.pdf 

บ่อยครั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นหมุดสำคัญสำหรับการชุมนุมทางการเมือง ส่วนในช่วงเวลาทั่วๆ ไปที่ไม่มีม็อบ ธรรมศาสตร์ถือเป็นจุดนัดพบสำคัญสำหรับชาวหัวก้าวหน้า ที่จะมาพูดคุยข่าวสาร เหตุบ้านการเมืองที่หน้าหอประชุมใหญ่ มีการจัดงานทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ บ่อยครั้ง อาทิ การจัดฉายภาพยนตร์เพื่อระดมทุนการเคลื่อนไหว หรือแม้แต่กางเกงยีนส์จากโรงงานสามัคคีกรรมกรก็เคยมีการนำมาวางแผงขายที่นี่แล้ว

แม้ธรรมศาสตร์จะขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพด้านการแสดงออกมานาน แต่บางครั้งมหาวิทยาลัยก็มีความพยายามควบคุมการแสดงออกเกี่ยวกับการเมืองเป็นช่วงๆ 

สำหรับช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่กี่วัน ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 กลุ่มอิสระต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รณรงค์ให้นักศึกษางดสอบ เพื่อขับไล่จอมพล ถนอม ออกไปจากประเทศ โดยมีชุมนุมนาฏศิลป์และการละครแสดงละคร เรียกร้องให้นักศึกษามาเข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งมีฉากคนแสดงเป็นช่างไฟฟ้าผู้ถูกฆาตกรรมในจังหวัดนครปฐม 

ภายในวันเดียวกัน มีการให้กลุ่มนักศึกษาที่นำการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงโยกย้ายเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อความปลอดภัย ลากยาวจนมาถึงวันที่ 5 ตุลาคม และเกิดโศกนาฏกรรมจากการล้อมปราบเวลารุ่งสางวันที่ 6 ตุลาคม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มยิงอาวุธสงครามใส่ผู้ชุมนุม นำการกวาดล้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธสงครามเต็มอัตรา นี่คือการปราบปรามใหญ่กรณี 6 ตุลาคม และนำมาสู่คำถามสำคัญว่านี่คือความผิดอะไร ถึงขนาดต้องฆ่าแกงกันเชียวหรือ? และคำถามที่จำเป็นต้องตอบตรงๆ ก็คือใครเป็นผู้สั่งฆ่า?

ตามไปรำลึกประวัติศาสตร์ได้ที่ : goo.gl/maps/PaDX2VQnnSCdbMrk9 
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : 14tula.com/activity/AW_Book1.pdf 

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในเวลานั้นเหลือสถาบันอาชีวศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่ยังเข้าร่วมขบวนไปกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในนาม “แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งโรงเรียนช่างกลพระรามหกคือหนึ่งในนั้น

โดยก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้นำนักศึกษาที่นี่เคยถูกลอบยิงมาแล้ว ก่อนที่เช้าวันที่ 3 มีนาคม 2519 จะเกิดเหตุลอบวางระเบิดอาคารหอพักนักเรียนโรงเรียนช่างกลพระรามหก ซึ่งในเวลานั้นมีผู้เข้าพัก 11 คน ภายหลังมีการตรวจสอบระเบิดที่ใช้ก่อเหตุพบว่าเป็นระเบิด TNT แบบเดียวกับที่ใช้ในราชการสงคราม

เหตุระเบิดพรากชีวิตนักเรียนไปถึง 3 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 6 คน สภาพอาคารหอพักชั้นล่างพังเสียหายยับเยิน ส่วนอาคารเรียนที่อยู่ข้างเคียงก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ภาพจาก Google Street View ในเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นว่า อาคารคอนกรีตเดิมของโรงเรียนที่ถูกทิ้งร้างได้ถูกรื้อทิ้งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จากที่ในปี 2559 ยังคงมีตัวตึกอยู่

ประชาไทรายงานว่าบริเวณดังกล่าวตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม 6 ปี 2561 มีการประกาศขายที่ดินบริเวณดังกล่าว 2 แปลงรวม 4 ไร่ 14 ตารางวา เฉพาะแปลงที่เป็นที่ตั้งของอาคารโรงเรียนช่างกลพระรามหก มีขนาด 495 ตารางวา โดยราคาขายรวมทั้ง 2 แปลงอยู่ที่ 403.5 ล้านบาท

ตามไปรำลึกประวัติศาสตร์ได้ที่ : goo.gl/maps/fptsvCeWQG6ocRe87
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : prachatai.com/journal/2019/03/81314

เพราะมีข้อมูลเรื่องดีลทั้งในที่ลับและที่แจ้งระหว่างรัฐไทยกับสหรัฐอเมริกาหลุดมาเข้าหูประชาชนเรื่อยๆ และการเรียกร้องเอกราชโดยให้อเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวในขณะนั้น จุดหมายปลายทางยอดฮิตสำหรับการประท้วงของนักศึกษาและปัญญาชนหลัง 14 ตุลาฯ จึงมีสถานทูตฯ รวมอยู่ด้วย

“พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เล่าว่า มีการตั้งเวทีพักค้างคืนหน้าสถานทูตฯ หลายวัน ในวันที่ 21 มีนาคม 2519 ระหว่างที่นักศึกษาประชาชนกำลังเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังสถานทูตฯ มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

ทำไมสถานทูตสหรัฐอเมริกาถึงสำคัญ ใน doct6.com ระบุว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาได้สั่นคลอนผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในไทย โดยเฉพาะการคัดค้านการตั้งฐานทัพในประเทศ การต่อต้านการครอบงำเศรษฐกิจและการขูดรีดทรัพยากรโดยสหรัฐฯ รวมทั้งการเปิดโปงโทษกรรมของอเมริกาในส่วนอื่นๆ ของโลก 

ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับอเมริกาอย่างมาก ตั้งแต่หลัง 2493 หลังการรัฐประหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก สหรัฐฯ ได้เริ่มนำเอาระบบอุปถัมภ์เข้ามาในไทย โดยการให้ความช่วยเหลือและค้ำจุนอำนาจของผู้มีอำนาจในประเทศไทย เช่น การที่องค์การสืบราชการลับซีไอเอ สนับสนุน พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และกระทรวงกลาโหมอเมริกาสนับสนุนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ในสมัยจอมพล ถนอมกิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร สหรัฐฯ ก็ได้ใช้ระบบดังกล่าวค้ำจุนอำนาจเผด็จการไว้เช่นกัน ซึ่งกลายเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างผู้นำทางการทหารของไทยกับสหรัฐฯ ตลอดมา (อ่านบทบาทของสหรัฐอเมริกากับ 6 ตุลาคมต่อได้ที่ doct6.com/learn-about/how/chapter-5)

ตามไปรำลึกประวัติศาสตร์ได้ที่ : goo.gl/maps/wxkCRua4aSxgE9BY8
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
sarakadee.com/2008/07/24/vanida-tantivittayapitak
doct6.com/learn-about/how/chapter-5

พูดถึงการต่อสู้ของกรรมกรหญิงที่ทรงพลังของยุคสมัยต้องนึกถึงโรงงานสามัคคีกรรมกร โรงงานที่เกิดจากการเรียกร้องสิทธิแรงงานของกรรมกรในโรงงานฮาร่าที่ตั้งอยู่บริเวณตรอกวัดไผ่เงิน

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น กรรมกรของโรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการจ้างงาน ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานและสวัสดิการย่ำแย่ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2518 กรรมกรจึงรวมตัวหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้ปรับสภาพการจ้างงาน แต่นอกจากนายจ้างไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง ไม่รับฟังการเจรจาแล้ว ยังไล่คนงานที่ร่วมประท้วงออกด้วย

การถูกกดยิ่งทวีความร้อนแรง ทำให้การประท้วงยืดเยื้อ จนในที่สุดกรรมกรหญิงยึดโรงงานฮาร่าและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงงาน “สามัคคีกรรมกร” ได้สำเร็จ โดยกรรมกรได้ใช้เครื่องจักรและวัตถุดิบของโรงงานผลิตสินค้ากางเกงยีนส์ปักรูปค้อน-เคียวเพื่อขายเลี้ยงชีพ พร้อมๆ กันก็มีกลุ่มนักศึกษาแวะเวียนไปใช้ชีวิตในโรงงานร่วมกับพี่ๆ กรรมกรที่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิตัวเอง ทั้งยังมีวงกรรมาชน วงขวัญใจกรรมกรไปบรรเลงดนตรีสร้างความฮึกเหิมให้ถึงที่ด้วย

หลายเดือนผ่านไป การเจรจากับนายจ้างยังคงไม่เป็นผล ทางการเริ่มหวั่นว่าจะมีการลุกฮือของโรงงานอื่นๆ ตามรอยกรรมกรฮาร่าจึงเข้าไปปราบ กรรมกรและนักศึกษาถูกจับ แต่ประชาชนเรี่ยไรเงินมาช่วยประกันตัวและส่งกำลังใจ ภายหลังมีคำสั่งให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่สุดท้ายคนงานกลุ่มนี้ก็ถูกลอยแพอยู่ดี 

ในเว็บไซต์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้นำเสนอไว้ว่าการต่อสู้นี้เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่ได้รับความสนใจที่สุดในยุคทองของเสรีภาพอันแสนสั้นก่อนจะหยุดชะงักลงเพราะการล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งการนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า ตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เมื่อเดือนตุลาคม 2518 ระหว่างการต่อสู้อันยืดเยื้อ กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวน 4 คน นำกล้องถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นฟิล์ม 8 มิลลิเมตร แบบซูเปอร์ 8 ไปบันทึกภาพและสัมภาษณ์กรรมกรในโรงงาน และไม่ได้คิดว่าวันหนึ่ง ผลงานชิ้นนี้จะกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของไทยเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา 

ตามไปรำลึกประวัติศาสตร์ได้ที่ : goo.gl/maps/7aTjAxbopguH7KWY9
อ่านเรื่องการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าแบบเต็มๆ ได้ที่นี่ :
facebook.com/6tula2519/posts/4599840030074782
fapot.or.th/main/information/article/view/266 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6

Source
Doct6.com
บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6
14tula.com
Sarakadee
Prachatai
Openbase


Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.