รัฐสภา พื้นที่ในการพัฒนาประเทศและแสดงอุดมการณ์ - Urban Creature

หลังจากสถานีการเลือกตั้งอันแสนดุเดือดจบลง สถานีต่อไปที่ประชาชนจับตามองคือ กระบวนการที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึง ‘รัฐสภา’ สถานที่แห่งนี้ย่อมเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเป็นสถานที่ที่มีไว้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายเข้าไปประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงถ้าหากฝ่ายรัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ฝ่ายค้านก็จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนอย่างที่เห็นกันตามสื่อต่างๆ ในยุครัฐบาลที่ผ่านมา

แม้จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ประกอบด้วยอิฐ หิน ดิน ทราย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘รัฐสภา’ คือฉากหลังสำคัญในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของเหล่านักการเมืองทุกยุคทุกสมัย

ในช่วงเวลาที่สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่านพัดพาสู่การเมืองไทย คอลัมน์ Urban Tales จะมาเล่าถึงประวัติศาสตร์รัฐสภาของประเทศไทยว่ามีความเป็นมายังไง แต่ละแห่งมีคอนเซปต์และความสำคัญอย่างไรบ้าง

รัฐสภา

รัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย

หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า สถานที่แห่งแรกที่ใช้เป็นรัฐสภาคือ ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ ซึ่งเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิตนั่นเอง ส่วนเหตุผลที่สภาผู้แทนราษฎรเข้าไปประชุมในนั้น นั่นก็เพราะในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัชกาลที่ 7 อนุญาตให้ใช้พระที่นั่งฯ เป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยใช้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุม

ต่อมาในปี 2489 รัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดให้รัฐสภาไทยเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนฯ และพฤฒสภา (สภาสูงหรือสภาอาวุโส) จึงกำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเศกดุสิตเป็นที่ประชุมของพฤฒสภาอีกแห่งหนึ่ง

หลังจากนั้นหนึ่งปี หรือปี 2490 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ส่งผลให้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมเพียงแห่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา โดยจัดให้มีการประชุมในเวลาที่ต่างกัน

รัฐสภา พระที่นั่งอนันตสมาคม

อย่างที่หลายคนรู้กันว่า พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นมีการตกแต่งที่สวยงามมาก เพราะสร้างด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี เป็นอาคาร 2 ชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และโดมเล็ก ๆ โดยรอบอีก 6 โดม

ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แบ่งเป็นท้องพระโรงหน้าและท้องพระโรงหลัง นอกจากนี้ บนเพดานโดมของพระที่นั่งฯ ยังมีภาพเขียนขนาดใหญ่จำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6

แต่เมื่อใช้สถานที่นี้ไประยะหนึ่ง สมาชิกในรัฐสภามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พระที่นั่งฯ ไม่สามารถขยายและปรับปรุงให้รองรับจำนวนสมาชิกเหล่านั้นได้ อีกทั้งปัญหาในเรื่องของเสียงและระบบถ่ายเทอากาศ ซึ่งหากจะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความคับแคบและทำลายความงดงามของพระที่นั่งฯ รวมถึงพื้นที่ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานในด้านต่างๆ จึงมีแผนการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้น รวมระยะเวลาที่ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมในการประชุมสภาทั้งสิ้น 42 ปี ซึ่งวันสุดท้ายที่ใช้งานคือวันที่ 14 กันยายน 2517

ย้ายรัฐสภาเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

รัฐสภาแห่งที่สองของประเทศไทยคือ ‘อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน’ ซึ่งเป็นที่ดินทางทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513 ในยุคของนายกรัฐมนตรี ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ ด้วยจำนวนเงิน 51,127,361 บาท และใช้ประชุมครั้งแรกในวันที่ 19 กันยายน 2517

อาคารรัฐสภาแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 3 หลัง ได้แก่

1) อาคารหลังแรก เป็นอาคาร 3 ชั้น ใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ไว้ใช้ติดต่องานทั่วไปสำหรับสมาชิกและบุคคลภายนอก เป็นห้องประชุมสภาที่จัดให้สมาชิกเข้าร่วมประชุมได้ถึง 451 คน มีสถานที่รับรองประชาชนและสื่อมวลชนที่ต้องการเข้าฟังประชุมได้ไม่น้อยกว่า 211 คน และห้องประชุมของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มีขนาดเล็กและใหญ่ตามความต้องการ

2) อาคารหลังที่สอง เป็นอาคาร 7 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงพิมพ์ของรัฐสภา และชั้นต่อๆ ไปเป็นห้องรับรอง ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ของรัฐสภา และห้องทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3) อาคารหลังที่สาม อาคารสูง 2 ชั้น ทำหน้าที่เป็นสโมสรของรัฐสภา เพื่อให้บริการอาหารและเครื่องดื่มกับสมาชิก

รัฐสภา

นอกจากอาคารทั้ง 3 หลังที่กล่าวไปด้านบนแล้ว ยังมีอาคารอื่นๆ อีก 3 หลังเพื่อใช้เป็นที่รองรับแขกของสมาชิกรัฐสภา ใช้เก็บยานพาหนะ และเป็นกองรักษาการณ์

แต่เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนสมาชิกในสภาเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา และปัญหาเรื่องพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่เพียงพอต่อการทำงาน ส่งผลให้มีการมองหาสถานที่ในการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่อีกครั้ง รวมระยะเวลาการใช้งานรัฐสภาแห่งนี้ทั้งหมด 44 ปี

รัฐสภาที่ได้รับเสียงวิจารณ์มากที่สุด

เป็นเวลาเกือบร้อยปีที่ไทยมีรัฐสภาไว้ใช้เป็นที่ประชุมสภา และการโยกย้ายทั้งสองครั้งก็นำมาสู่การสร้างรัฐสภาแห่งล่าสุดของประเทศไทย

แม้หลายคนอาจไม่เคยย่างกรายไปที่นี่ แต่เรามั่นใจว่าทุกคนคงต้องเคยได้ยินข่าวคราวปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับ ‘รัฐสภาเกียกกาย’ ตั้งแต่ก่อนลงเสาเข็มจนถึงวันที่เริ่มใช้งาน

ขณะเดียวกันก็มีน้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อเสียงเรียงนามจริงๆ ของรัฐสภาแห่งนี้ (หรือต่อให้รู้ก็ไม่อยากเรียก) ซึ่งชื่อนั้นคือ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ที่มาพร้อมความใหญ่โตขนาด 4 แสนกว่าตารางเมตร และงบประมาณการสร้างที่สูงถึง 12,000 ล้านบาท

การออกแบบรัฐสภาครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน เพราะทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการประกวดออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งทีมผู้ชนะ คือ ทีม ‘สงบ1051’ ที่ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งนี้ให้ดึงดูดทุกสายตา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องมองเห็น ภายใต้คอนเซปต์ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ที่หมายถึงสถานที่แห่งความสงบ สะดวกสบายในทางธรรม ตามแนวคิดพุทธสถาปัตยกรรมตามแบบแผนไตรภูมิ เขาพระสุเมรุที่มีเจดีย์ทองอยู่บนยอดและล้อมรอบไปด้วยป่าหิมพานต์

รัฐสภา รัฐสภาเกียกกาย สัปปายะสภาสถาน
รัฐสภา รัฐสภาเกียกกาย สัปปายะสภาสถาน

จากแนวคิดการออกแบบข้างต้น ทำให้อาคารรัฐสภาแห่งนี้สะท้อนถึงความเป็นไทยที่เกี่ยวโยงกับศาสนาอย่างเข้มข้น ซึ่งการที่ทุกคนเห็นรัฐสภาแห่งนี้แล้วพูดติดตลกว่า ‘เหมือนยอดเจดีย์’ ก็ถูกต้องแล้ว

นอกจากนี้ ทาง ‘สงบ1051’ ยังออกแบบให้รัฐสภาแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเปิดรับประชาชนให้เข้ามาใช้งานหรือค้นหาความรู้ได้ โดยภายในมีทั้งพิพิธภัณฑ์ไว้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ห้องสัมมนาไว้ให้ความรู้แก่ประชาชน โรงยิม ตลาดติดริมน้ำ และลิฟต์ขึ้นไปยังยอดอาคารเพื่อชมวิวทิวทัศน์

แต่ภายใต้ภาพสวยหรูนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมากมาย ทั้งเรื่องของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอย่างการเลือกใช้ไม้สักจำนวน 5,000 ต้น โดยอ้างว่าเป็นอัตลักษณ์ของไทย รวมถึงคอนเซปต์ของตัวอาคารที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนแต่อย่างใด

โครงการก่อสร้างเริ่มลงเสาเข็มในวันที่ 8 มิถุนายน 2556 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ทั้งที่โครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐสภาเกียกกายได้รับคำวิจารณ์อย่างหนักหน่วงอีกครั้งจากปัญหาน้ำรั่วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงการก่อสร้างในหลายๆ จุดที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ทิศทางต่อไปของรัฐสภาเพื่อประชาชน

จากรัฐสภาทั้ง 3 แห่งที่กล่าวไปนั้น มีเพียง ‘สัปปายะสภาสถาน’ หรือ ‘รัฐสภาเกียกกาย’ เท่านั้น ที่มีแนวคิดการก่อสร้างที่ต้องการรองรับการใช้งานของประชาชน แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น เนื่องจากการเดินทางไปรัฐสภาที่ไม่สะดวก และการเข้าออกรัฐสภาที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป

ต้องรอดูกันต่อไปว่าในอนาคต คนทั่วไปจะเข้าไปใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในรัฐสภาได้จริงหรือไม่ หรือกระทั่งเข้าไปร่วมสังเกตการประชุมแต่ละครั้ง เหมือนกับรัฐสภาเยอรมัน (Reichstag) ที่ออกแบบให้ประชาชนสามารถขึ้นไปสังเกตการประชุมจากด้านบนได้หรือเปล่า

ได้แต่หวังว่าในอนาคต รัฐสภาของไทยจะเปิดรับประชาชนให้เป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์แห่งนี้ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนมากขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนสิทธิ์ไว้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น


Sources :
DDproperty | shorturl.asia/UaB2J
Thairath Plus | shorturl.asia/eqfvL
พิพิธภัณฑ์รัฐสภา | shorturl.asia/F62xK

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.