‘ตรอกสลักหิน’ ย่านชาวจีนหลังหัวลำโพงที่ขับเคลื่อนชุมชนด้วยวัฒนธรรมและศิลปะ
ระยะนี้ชื่อของ ‘ชุมชนตรอกสลักหิน’ ในโซเชียลมีเดียน่าจะผ่านตาของใครหลายคน เมื่อสปอตไลต์ฉายไปยังชุมชนกลางเมืองที่บางคนอาจยังไม่รู้จัก จนเป็นเหมือนแม่เหล็กดูดคนจากต่างถิ่นให้ปักหมุดมายังตรอกเล็กๆ หลังสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) แห่งนี้ ถัดจากด่านเก็บเงินทางพิเศษศรีรัช ขนาบข้างด้วยทางรถไฟ เดินไปตามถนนรองเมือง ไม่ทันไรก็มาถึงใต้ชายคาบ้านไม้สองชั้นที่แปรเปลี่ยนหน้าที่เป็นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สถานที่พักใจของเด็กๆ ในวันหยุดด้านหลังวัดดวงแข วันนี้เป็นวันธรรมดา มูลนิธิไร้เงาเด็กน้อยเพราะไปเรียนหนังสือ เสียงจอแจเงียบหายไปเหมือนเสียงหวีดรถไฟที่ซาลงไปไม่กี่ปีมานี้ แต่จุดประสงค์ของเราไม่ใช่เยาวชนชาวตรอกสลักหิน ทว่าเป็นเบื้องหลังของกลุ่มเด็ก เพื่อฟังเรื่องราวจากปากชาวชุมชนที่ผลักดันให้เกิดทริปนี้ขึ้นมา แหล่งอโคจรยุคอันธพาลครองเมือง “ผมเห็นตั้งแต่ชุมชนไม่มีอะไร จนมูลนิธิฯ เข้ามาพัฒนา เอาศิลปะมาลง” ‘ปีโป้-เศรษฐศักดิ์ จตุปัญญาโชติกุล’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เริ่มต้นเล่าถึงตรอกสลักหินที่เขารู้จัก “เมื่อก่อนใครจะเข้าชุมชนก็โดนตี ในช่วงอันธพาลครองเมือง ยาเสพติด การพนัน ค้าประเวณี” ในช่วงปี 2499 ยุคอันธพาลครองเมือง บริเวณตรอกสลักหินและพื้นที่รอบๆ มีกลุ่มเจ้าถิ่นดูแลอยู่ตลอด เป็นพื้นที่อโคจรที่เต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมาย ชื่อของตรอกเป็นที่รู้จักของคนวัยเก๋าในฐานะบ้านเกิดของ แดง ไบเลย์ หนึ่งในอันธพาลตัวเอ้ของพระนคร ย้อนไปในอดีต ด้วยระยะทางที่ใกล้กับขนส่งมวลชนสำคัญในขณะนั้น ทำให้ผู้คนจากหลากที่มาต่างเข้ามาจับจองพื้นที่ในตรอกสลักหินเพื่อพักผ่อน เช้าก็ออกไปประกอบอาชีพรองรับผู้เดินทาง เช่น แม่ค้าส้มตำที่หาบจากในตรอกไปนั่งรอลูกค้าด้านหน้าสถานีหัวลำโพง จนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ในวันวานที่หลายคนคุ้นตา “บางคนก็อาศัยอยู่ในนี้ บางคนก็อาศัยในชุมชนวัดดวงแข มีห้องเช่าทั้งรายวัน รายเดือน […]