‘ญี่ปุ่น’ กับวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’ - Urban Creature

‘ญี่ปุ่น’ ถือเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์และความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน วัฒนธรรมอาหารที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้าน จนทำให้แดนปลาดิบติดท็อป 10 ประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลกแทบทุกปี

หนึ่งในสิ่งอำนวยความสะดวกของญี่ปุ่นที่มีประสิทธิภาพและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรมากที่สุดคือ ‘เครือข่ายรถไฟ’ ที่มาพร้อมชื่อเสียงเรื่องความทันสมัย ความสะอาด และการตรงต่อเวลา ขนาดที่ว่าถ้ารถไฟขบวนไหนออกเร็วหรือช้าแค่หลักวินาที ทางบริษัทรถไฟจะรีบออกแถลงการณ์ขอโทษผู้โดยสารทันที

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

จากความสะดวกสบายของระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับการเดินทางด้วยรถไฟ เห็นได้จากสัดส่วนผู้โดยสารที่ใช้งานระบบรถไฟในกรุงโตเกียวที่มีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมหานครนิวยอร์กและกรุงลอนดอน ที่มีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ และ 19 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

คอลัมน์ Report ประจำเดือนนี้ชวนไปสำรวจว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในเครือข่ายรถไฟที่ดีที่สุดในโลก โดยพาผู้โดยสารไปส่งยังจุดหมายปลายทางได้เกือบทุกที่ทั่วประเทศ แถมยังครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทุกกลุ่ม

เปลี่ยนให้เอกชนดูแลเครือข่ายรถไฟ

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ผู้ดูแลบริหารเครือข่ายรถไฟทั่วเกาะญี่ปุ่นคือ ‘กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น’ หรือ ‘Japan Railways Group (JR Group)’ ที่แต่เดิมรัฐเป็นเจ้าของ แต่เมื่อปี 1987 รัฐบาลได้ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) โอนกิจการให้เอกชนเข้ามาดูแล เพื่อแก้ไขสองปัญหาหลักๆ ได้แก่ การเป็นองค์กรขนาดใหญ่อุ้ยอ้ายจนบริหารงานยาก และการดำเนินงานภายใต้อิทธิพลทางการเมืองจนสร้างความเสียหายให้องค์กร อย่างการสร้างเส้นทางรถไฟที่ไม่ทำกำไรเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือทางออกที่จะเพิ่มกำไร และมอบบริการที่ดีขึ้นแก่ประชาชนได้ โดย JR Group ได้แบ่งระบบขนส่งทางรางเป็น 6 บริษัทรถไฟในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ JR Hokkaido, JR East, JR Central, JR West, JR Shikoku, JR Kyushu รวมถึงอีกหนึ่งบริษัทสำหรับขนส่งสินค้าชื่อว่า JR Freight ทำให้แต่ละหน่วยงานสามารถบริหารและตัดสินใจทางธุรกิจได้ด้วยตัวเอง

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

ผลที่ตามมาคือ บริษัทเหล่านี้ทำงานได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้อย่างเหมาะสม แถมยังทำกำไรได้มหาศาล เห็นได้จากข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ที่บริษัท JR Central และ JR East มีกำไรสุทธิมากถึง 625,000 ล้านเยน (ราว 160,000 ล้านบาท) และ 359,000 ล้านเยน (ราว 92,000 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยมีเพียงบริษัท JR Hokkaido และ JR Shikoku เท่านั้นที่มีรายงานว่าขาดทุน เนื่องจากดำเนินงานในภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นน้อย

นอกจากเป็นการยืนยันว่าระบบรถไฟของญี่ปุ่นมีคุณภาพจนคนจำนวนมากหันมาใช้ในการเดินทางแล้ว กำไรเหล่านี้ยังหมายความว่าเครือข่ายรถไฟจะมีเงินทุนในการบำรุงรักษาและพัฒนาระบบขนส่งให้สะอาด น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้แต่ละปี JR Group สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้มากถึง 7 พันล้านเที่ยวเลยทีเดียว

พัฒนาพื้นที่รอบสถานีด้วยแนวคิดการใช้พื้นที่
ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

หลังจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลกำไรจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นของบรรดาบริษัทรถไฟส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบริการขนส่ง แต่มาจากการทำธุรกิจการค้าและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากญี่ปุ่นมองว่าระบบรถไฟคืออสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งนั่นเอง

ยกตัวอย่าง JR East ที่ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์หลายอย่าง ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์การค้า ทำให้รายได้ต่อปีที่มาจากธุรกิจนอกเหนือจากระบบขนส่งมีจำนวนราว 33 เปอร์เซ็นต์ ส่วน JR Kyushu ที่เป็นเจ้าของธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัทก่อสร้าง ร้านค้า รวมถึงธุรกิจด้านการเกษตร ก็มีสัดส่วนรายได้เหล่านี้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

ธุรกิจต่างๆ ที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นในบริเวณสถานีรถไฟขนาดใหญ่ ที่มีทั้งชานชาลาของรถไฟสายต่างๆ สถานีรถบัส และศูนย์การค้า เรียกว่าเป็น ‘ฮับ’ หรือ ‘จุดศูนย์รวมใจกลางเมือง’ ที่ผู้คนสามารถเดินทางและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ครบจบในที่เดียว

แนวคิดนี้เรียกว่า ‘Transit-Oriented Development’ หรือ ‘TOD’ ที่หมายถึงการพัฒนาเมืองและชุมชนเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด 

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

ตัวอย่างสถานีที่คนไทยน่าจะคุ้นชินคือ สถานีรถไฟโตเกียว ในรูปแบบอาคารอิฐสีแดงรูปทรงโบราณที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว ที่นี่คือสถานีรถไฟที่มีจำนวนรถไฟเดินทางเข้า-ออกระหว่างเมืองคับคั่งที่สุดในญี่ปุ่น (ราว 3,000 – 4,000 เที่ยวต่อวัน) นอกจากเป็นฮับของการเดินทางที่รองรับผู้โดยสารกว่า 450,000 คนต่อวันแล้ว สถานีรถไฟพื้นที่ 182,000 ตารางเมตรแห่งนี้ยังมาพร้อมร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงศูนย์การค้าอีกหลายแห่ง เช่น First Avenue Tokyo Station, Kurobei Yokocho, GRANSTA, GRANSTA MARUNOUCHI และ Daimaru Tokyo Station เป็นต้น

ความเจริญที่รวบรวมเอาไว้รอบสถานีรถไฟ ทำให้ชุมชนบริเวณนั้นๆ มีคุณภาพ น่าอยู่อาศัย น่าใช้ชีวิต และทำให้เอกชนอยากมาลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้คนอยากเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ด้วยรถไฟกันมากขึ้น เราจึงไม่แปลกใจที่กิจวัตรประจำวันของชาวญี่ปุ่นจะผูกติดกับการเดินทางด้วยรถไฟแทบทุกช่วงเวลา

ขนส่งมวลชนที่กลายเป็น DNA ของชาวญี่ปุ่น

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

การพัฒนาขนส่งทางรางอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ คือเหตุผลหลักที่ทำให้รถไฟกลายเป็นขนส่งสาธารณะที่คนญี่ปุ่นใช้กันมากที่สุด มากไปกว่านั้น ขบวนรถที่ทั้งรวดเร็วและทันสมัยนี้ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความก้าวหน้าของประเทศด้วย

ถ้าใครเคยดูสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะภาพยนตร์ อานิเมะ มังงะ หรือแม้แต่มิวสิกวิดีโอ คงพอนึกออกว่าสื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีซีนที่เกิดขึ้นในขบวนรถไฟหรือบริเวณสถานีรถไฟให้ผู้ชมเห็นผ่านตา อาทิ ฉากที่ตัวเอกรีบขึ้นรถไฟไปทำงาน คู่พระนางเจอกันที่หน้าสถานีรถไฟ หรือแม้แต่ฉากที่ตัวละครนั่งอยู่บนรถไฟเฉยๆ

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

มากไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับรถไฟอย่างจริงจังผ่านพิพิธภัณฑ์รถไฟ เช่น The Railway Museum ในเมืองไซตามะ ที่พาผู้ที่ชื่นชอบรถไฟไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์รถไฟญี่ปุ่นที่มีอายุกว่า 150 ปี สัมผัสตู้รถไฟของจริง ตั้งแต่รถจักรแบบโบราณจนถึงชินคันเซ็นที่ล้ำสมัย ทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังของการเดินรถไฟให้ปลอดภัย แม่นยำ และตรงต่อเวลา รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าชมลองจินตนาการถึงอนาคตของรถไฟญี่ปุ่นในห้องจัดแสดงด้วย

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

นี่ยังไม่รวมการย่อไซซ์รถไฟขบวนต่างๆ เป็นโมเดลให้ผู้คนได้สะสม และทำให้รถไฟกลายเป็นของที่ระลึก เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ยกตัวอย่างรถไฟชินคันเซ็นสีเหลือง Doctor Yellow ที่ถูกแปลงโฉมให้เป็นสินค้ามากมาย เช่น เสื้อยืด กระเป๋าเป้ รองเท้าผ้าใบ USB แฟลชไดรฟ์ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือปัจจัยบางส่วนที่ทำให้ระบบรถไฟและวัฒนธรรมการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นแข็งแกร่ง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าในอนาคต ประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างญี่ปุ่นจะพัฒนาขนส่งมวลชนให้ล้ำสมัยได้มากกว่านี้แน่นอน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับขนส่งสาธารณะนี้ไม่น้อย 

Japan’s Railway System ‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’

ทิ้งท้ายด้วยผลสำรวจอาชีพในฝันเมื่อปี 2021 ที่เปิดเผยว่า ‘ผู้ควบคุมขบวนรถไฟ’ (Train Conductor) ติดอันดับ 5 ของอาชีพที่เด็กผู้ชายญี่ปุ่นระดับประถมศึกษาอยากทำในอนาคตมากที่สุด เห็นแบบนี้แล้ว จะไม่ให้เราบอกว่ารถไฟฝังอยู่ในดีเอ็นเอของชาวญี่ปุ่นได้อย่างไร

Sources :
Bloomberg | bit.ly/3WO1O0h
DDS Wireless | bit.ly/3GNkkQU
HRZone | bit.ly/3CAsuJP
Japan Rail Pass | bit.ly/3iiV9fH
JR East | bit.ly/3QnzUG6
JR Kyushu | bit.ly/3ZjdsBT
Live Japan | bit.ly/3vMrw9x
Nippon | bit.ly/3vLMZzq
SoraNews24 | bit.ly/3ZmPGov
Thailand TOD | bit.ly/3GrOQ1f
The Japan Times | bit.ly/3k0xQHX
Tokyo Review | bit.ly/3VTY4Ju
YouTube : BritMonkey | bit.ly/3ZpI6tl
YouTube : Qriusly | bit.ly/3jQWnPu

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.