ศรีแสงดาว แบรนด์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ - Urban Creature

“คดข้าวเลยลูก”
“จ้าแม่”

ข้าวสวยขาวๆ ร้อนๆ หอม นุ่ม ทำให้นึกถึงตอนเด็กที่แม่ชอบสอนว่า “กินข้าวอย่าให้เหลือนะ สงสารชาวนา” และหลายครั้งที่เรามักได้ยินประโยค “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” ผ่านจอทีวี ซึ่งเป็นวาทกรรมที่พร่ำบอกว่า เกิดเป็นชาวนาต้องอดทนหลังขดหลังแข็ง ชวนตั้งคำถามว่า “ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ไหม”

ความคิดนี้อยู่ติดในใจจนวันหนึ่งเราไปเห็นแพ็กเกจข้าวที่สะดุดตา กล่องสีน้ำตาลมีรูปทรงยาวรีของเมล็ดข้าวนูนขึ้นมาหน้ากล่อง มีข้อความเขียนเป็นภาษาอังกฤษแปลออกมาว่า ‘รีไซเคิลจากแกลบเหลือทิ้ง’ บอกแหล่งที่มา พร้อมปั๊มยี่ห้อ ‘ศรีแสงดาว มองปราดเดียวก็รู้ว่าแพ็กเกจนี้ไม่ธรรมดา จึงไปสืบรู้มาว่าออกแบบโดย คุณสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบแถวหน้าในวงการบรรจุภัณฑ์ ผู้พาผลงานชิ้นนี้ไปคว้ารางวัลระดับโลกมามากมาย

แพ็กเกจนี้เองดึงดูดให้เราไปรู้จัก ‘โครงการข้าวศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด’ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการเปลี่ยนจากการทำนาดำหรือนาหว่านแบบเดิมๆ มาทำนาวิถีใหม่ที่เรียกว่า ‘นาหยอด’ และที่น่าประทับใจที่สุดคือการที่โรงสีศรีแสงดาว ชักชวนชาวนาทั้งหมู่บ้านให้หันมาทำนาหยอดได้สำเร็จ การทำนาหยอดจะหน้าตาเป็นแบบไหน จะมีความยากง่ายอย่างไรตามไปดูกัน

วิทยากรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บริษัท โรงสีศรีแสงดาว จำกัด ผู้ก่อตั้งโครงการนี่เอง เราไม่รอช้าวิดีโอคอลหาคุณสินสมุทรเพื่อคุยถึงรูปแบบการทำ ‘นาหยอด’ ที่บนเพจบอกไว้ว่า “ทำน้อยได้มาก” โดยผนวกความเข้าใจธรรมชาติ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

ทุ่งกุลา ‘ไม่’ ร้องไห้ เพราะมีข้าวดีเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ขอสมมติว่าเราได้เดินทางมาถึง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่ตั้งของโรงสีศรีแสงดาวและหมู่บ้านนาหยอด เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับดินแดนที่ในอดีตเคยแห้งแล้งจนได้ชื่อว่า ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ ผืนดินแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ บน 5 จังหวัดภาคอีสาน ในอดีตเป็นทะเล ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ เวลาฝนตกน้ำจะหลาก ถึงหน้าแล้งก็แล้งจัด 

แต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาพัฒนาจนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด การันตีโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็น ‘สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ หรือ Geographical Indications (GI) และยังเป็นสินค้าตัวแรกของไทยที่ได้ไปจดทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไกลถึงสหภาพยุโรป

“จริงๆ แล้วพันธุ์ข้าวหอมมะลิเกิดครั้งแรกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนที่กรมการข้าวจะกระจายพันธุ์ไปปลูกทั่วประเทศ ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิมาโด่งดังที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะช่วงหน้าฝนที่นี่จะได้น้ำเต็มที่ แต่พอฝนทิ้งช่วงนาก็แล้ง บวกกับข้าวเจอดินเค็ม ต้นข้าวจึงเกิดความเครียดหลั่งสารที่ชื่อ 2-อะเซทิล-1-ไพโรลีน (2-acetyl-1-pyrroline) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘สาร 2AP’ ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นหอม”

แชมป์ข้าวหอมมะลิกำลังจะถูกโค่น?

 เมื่อก่อนนี้ข้าวหอมมะลิมีที่เดียวในโลก ส่งออกได้ราคาแพง เพราะเป็นสินค้าลิมิเต็ดปลูกได้เพียงปีละครั้ง แต่ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้เทียบเคียงบ้านเรา จนแทบจะแซงหน้าไปแล้ว…หรือข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลกกำลังโดนล้มแชมป์?

“สามสี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ปรับสายพันธุ์ข้าวให้มีความหอม นุ่ม ถึงจะยังสู้ไทยไม่ได้ แต่ลูกค้าก็หันไปซื้อข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น ทำให้ข้าวหอมมะลิบ้านเราราคาตก บวกกับประเทศไทยเองก็พัฒนาสายพันธุ์ข้าวนุ่มขึ้นมาให้ปลูกได้ในฤดูนาปรัง คือปีละสองครั้ง เลยทำให้ข้าวหอมมะลิถูกแบ่งส่วนตลาดไป ชาวนาในภาคอีสานก็ลำบากขึ้น เพราะยังคงปลูกข้าวได้แค่ปีละครั้งเหมือนเดิม แต่ข้าวที่ขายได้กลับราคาสูงกว่านาปรังไม่มากนัก”

ด้วยวิกฤตินี้ทำให้ลูกโรงสีลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงวิถีการทำนาที่ทุกคนคุ้นเคย จากการทำนาดำหรือนาหว่านพัฒนามาเป็นนาหยอด เพื่อความอยู่รอดของชาวนาและชาวโรงสี

“สิบกว่าปีที่แล้วผมได้ไปเห็นการปลูกข้าวที่ไต้หวันซึ่งทำนาได้ปีละครั้งเหมือนที่อีสาน แต่ก็ต้องทำแข่งกับพายุ ไม่เหมือนบ้านเราที่ภูมิอากาศและภูมิประเทศดีกว่ามาก อีกทั้งประเทศเป็นหมู่เกาะ มีพื้นที่น้อยแต่ต้องปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ กลายเป็นว่าเก่งกว่าเราอีก นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากส่งเสริมชาวนา เพราะแค่ข้าวหนึ่งเมล็ดตกที่หน้าโรงสีผม มันแตกกอมาแบบ โห บ้านเราดินดี อากาศดีขนาดนี้ เลยรู้สึกเสียดายว่าทำไมการปลูกข้าวของเรายังไม่พัฒนา”

หลังจากคุณสินสมุทรทำกิจการโรงสีที่รับช่วงต่อมาจากคุณพ่อมา 7 – 8 ปี จนมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรต่างๆ ก็นึกอยากลงมือปลูกข้าวด้วยตัวเอง โดยอาศัยเรียนรู้ผ่านการคลุกคลีกับชาวนา จนวันที่เขาบังเอิญไปเจอนาแปลงหนึ่งมีเมล็ดข้าวเต็มรวง ต้นข้าวขึ้นเสมอกันเป็นระเบียบดูสวยงาม พอถามไถ่ก็ได้ความว่าเจ้าของนาใช้วิธีการทำ ‘นาหยอด’ เพราะเหมาะกับทุ่งกุลาร้องไห้ที่สุด เรื่องราวเล็กๆ นี้เองที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการข้าวศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด

“คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมเขาทำ ‘นาดำ’ ซึ่งต้องใช้แรงงานคนเยอะ ตั้งแต่การเพาะกล้า ไถกลบตอซัง พอถึงฤดูดำนาทุกคนก็ไปช่วยกันลงแขก แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านใช้วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ นาหว่าน’ ที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์เยอะแต่ได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากประชากรข้าวแน่น สังเคราะห์แสงไม่ดี มีแมลง เป็นโรคง่าย และใช้การเผานาแทนการไถกลบตอซัง เพราะเชื่อว่าเป็นการลดต้นทุน แต่จริงๆ การเผามันทำลายหน้าดินและทำลายสารอาหารในดิน

“ส่วน ‘นาหยอด’ เป็นการจำลองนาดำแต่ไม่มีการเพาะกล้า เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรในการหยอดข้าวแทน นาหยอดเหมาะกับเขตภาคอีสาน เนื่องจากเป็นนานอกเขตชลประทาน ไม่เหมือนพื้นที่ภาคกลางที่ไม่ต้องพึ่งพาฝน ใช้วิธีสูบน้ำเข้านา หรืออีกวิธีคือหยอดนาตม แต่ของเราเป็นวิธีหยอดนาแห้ง คือหยอดข้าวรอฝน ฝนตกมาวันไหน อีกสองอาทิตย์ข้าวงอก โดยจะหยอดเว้นร่องให้ข้าวได้รับแดดเต็มที่ รับลมเต็มที่ ทำให้ข้าวแตกกอดี ไม่เป็นโรค และได้ผลผลิตสูง”

หยอดเมล็ดพันธุ์ให้แข็งแกร่ง

ขั้นตอนการทำนาหยอดต้องใส่ใจเป็นพิเศษจนได้ชื่อว่า ‘นาประณีต’ เริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงที่ใช้วิธี ‘ไถกลบตอซัง’ แทนการเผาเหมือนนาทั่วไปในสมัยนี้ บางแปลงก็ปลูกปอเทืองและไถกลบ ซึ่งการเตรียมแปลงที่ดีจะช่วยให้ปัญหาวัชพืชหรือโรคพืชน้อยลง และทำให้โครงสร้างของดินแข็งแรงเหมือนเป็นการเติมปุ๋ยตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ‘การทำนาเชิงป้องกัน’

“ก่อนจะปลูกข้าวก็ต้องดูพยากรณ์อากาศ สมัยนี้ดูล่วงหน้าสองเดือนได้แม่นยำ ปกติช่วงเมษายนฝนเริ่มมาชาวนาก็จะทำนากันแล้ว แต่ปัญหาคือหากฝนทิ้งช่วง ก็ต้องลงทุนทำนาใหม่ ดังนั้นช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ ผมจะบอกให้ชาวนาใจเย็นๆ ปล่อยหญ้าให้ขึ้นจนเต็มแปลงค่อยไถทิ้งสักสองสามรอบ วิธีนี้เรียกว่า ‘เทคนิคไถล่อหญ้า’ จากนั้นจึงจะเริ่มหยอดเมล็ดพันธุ์ โดยส่วนมากจะหยอดกันช่วงเดือนมิถุนายนหรือต้นกรกฎาคม แล้วไปเก็บเกี่ยวช่วงปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายนยาวไปทั้งเดือน”

กว่าจะเจอวิธีที่ใช้เป็นแบบแผนได้อย่างทุกวันนี้ คุณสินสมุทรต้องเรียนรู้จากชาวนา พร้อมกับศึกษาความรู้จากอาจารย์เก่งๆ มาบูรณาการ แล้วลงมือทำควบคู่กับการแก้ไขจุดบกพร่องให้ดีขึ้นๆ ทุกปี





“เราหยอดข้าวปีแรกใช้เมล็ดพันธุ์อยู่ที่ 6 กก. ร่องนาหยอดกว้าง 25 ซม. ข้าวแตกกอดีแต่ให้ผลผลิตไม่ดีนัก มาปีที่สองเราลดเมล็ดพันธุ์ให้น้อยลงและขยายร่องนาหยอดให้กว้างขึ้น ก็ยังรู้สึกว่าข้าวเบียดแน่นเกินไป จนปีที่สามเราลดเมล็ดพันธุ์เหลือ 1 กก. และขยายร่องนาหยอดถึง 40 ซม. จึงได้ผลลัพธ์เป็นข้าวที่งอกงาม”

จากเดิมที่ชาวนาทำนาหว่านต้องใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 35 กก./ไร่ แต่ได้ข้าวแค่ 300 กก./ไร่ คุณสินสมุทรทุ่มเทเวลาศึกษาและพัฒนาการทำนาหยอด จนสุดท้ายเขาใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 1 กก./ไร่ แต่กลับให้ผลผลิตมากกว่าเดิมเท่าตัว ทำให้เกษตรกรลงทุนน้อยแต่ได้กำไรมาก

“การลดต้นทุนคือการเพิ่มผลผลิต และการเพิ่มผลผลิตคือกำไร”

ในมุมชาวนาคงเป็นเรื่องยากที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงหมายถึงความเสี่ยงต่อรายได้ทั้งปีที่เขาต้องใช้เลี้ยงชีวิตและครอบครัว ความยากจนนั้นก็เปรียบเสมือนบ่วงที่คอยฉุดรั้งชาวนา

“ชาวนายังมีความคิดว่า ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยๆ มันจะไปได้ผลผลิตเยอะยังไง นาหยอดตอนที่ข้าวงอกขึ้นมามันจะดูโหรงเหรงมาก คนที่ทนไม่ไหวก็จะไปไถทิ้ง เพราะเคยชินกับการทำนาหว่านที่เวลาข้าวงอกขึ้นมามันจะเขียวแน่นทั้งแปลง พอมาเห็นข้าวนาหยอดขึ้นเป็นหย่อมแบบนี้ ก็รู้สึกว่าไม่น่ารอด”

“แต่พอเห็นข้าวนาหยอดแตกกอก็เริ่มยิ้มได้ เกษตรกรบอกนี่มันมหัศจรรย์มาก ผมเลยบอกว่าต้องเปิดโอกาสให้ข้าวได้แสดงศักยภาพ ข้าวหนึ่งต้นแตกกอออกมาได้สามสิบถึงสี่สิบลำ และแผ่ใบออกมาได้ถึง 40 ซม. สุดท้ายจากที่เห็นบางตาจะแน่นเต็มแปลงเลย และให้ผลผลิตเยอะกว่านาหว่านที่ตอนแรกข้าวมันดูแน่นก็จริง แต่พอฝนทิ้งช่วงจากที่มันเป็นสีเขียวก็จะเหลืองเพราะข้าวแย่งน้ำแย่งอาหารกันเอง ในขณะที่นาหยอดตอนฝนทิ้งช่วง จากข้าวต้นเดียวจะค่อยๆ เขียวและแตกกอใหญ่โตเพราะรากลงลึกกว่า ไม่ต้องแย่งน้ำแย่งอาหารแถมได้รับแดดเต็มที่ ผมก็เลยเรียกสิ่งนี้ว่า พลังธรรมชาติ

ปีแรกที่เริ่มโครงการ คุณสินสมุทรลงทุนลงแรงหยอดข้าวให้ชาวนาฟรี โดยมีข้อแม้ว่าจะหยอดเมล็ดข้าวแค่ 6 กิโลกรัม ในตอนแรกไม่มีชาวนาคนไหนเอาด้วยเพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจก็มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมประมาณ 20 คน พร้อมที่นาประมาณ 300 ไร่ พอทำสำเร็จปีต่อมาก็มีเกษตรกรสนใจมากขึ้น จนมาปีนี้มีที่นาที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,000 ไร่

เปลี่ยนจากใช้แรงงานคน มาใช้ ‘เทคโนโลยี’

เมื่อชาวนาเปิดใจมาแล้วเปลาะหนึ่ง คุณสินสมุทรก็นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรง โดยเริ่มจากเครื่องจักรหน้าตาธรรมดาไล่ไปจนถึงแก็ดเจ็ตสุดล้ำ จนการทำนาสนุกขึ้นเรื่อยๆ

คุณสินสมุทรแนะนำอุปกรณ์ให้เรารู้จักทีละตัว อย่างตัวเล็กสุดคือ Rotary Weeder มอเตอร์ไซค์น้อยใช้กำจัดวัชพืชและข้าวที่ขึ้นนอกแถวได้โดยไม่ต้องใช้ยาคุมหรือยาฆ่าหญ้า อีกทั้งช่วยพรวนดินและเพิ่มออกซิเจนให้รากข้าว มีน้ำหนักเบา คล่องตัว ใช้งานง่าย นำมาใช้แทนเครื่องมือเดิมอย่าง ‘อีหอบ’ ที่เข็นไปคนก็หอบไป โดยชาวนาจะขับมอเตอร์ไซค์น้อยเข้าไปในแปลงเลย เพราะนาหยอดมีร่องที่ใหญ่พอ 

ถัดมาเป็น รถหยอดข้าวติดระบบนำร่อง GPS เวลาหยอดข้าวจะเป็นแนวเส้นที่ตรงมาก มีความแม่นยำไม่เหยียบทับรอยเดิม บวกกับมีลูกกลิ้งหน้าหลังทำให้นาเรียบเสมอกัน และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่แอดวานซ์ขึ้นไปอีกคือ การปรับนาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) ทำให้แปลงนาต่างระดับกันไม่เกิน 2 ซม. ข้อดีคือฝนตกแค่ 1 ชั่วโมง น้ำก็กระจายทั่วทั้งแปลง

แค่ได้ฟังก็ตื่นเต้นแต่อีกใจก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขนาดนี้ ต้องมีต้นทุนสูงแน่ๆ แล้วชาวนาจะเข้าถึงได้หรือ คำตอบคือแนวคิดนี้เป็นไปได้และนำมาใช้จริงแล้ว

“เครื่องจักรผมมีหลากหลายตั้งแต่เบสิกไปจนถึงขั้นสูง อย่างเทคโนโลยีปรับนาด้วยระบบเลเซอร์ตัวละห้าแสน ชาวบ้านยังจับไม่ได้หรอกครับ แต่โดรนตัวละสามแสน ปีนี้ชาวบ้านจับได้แล้วนะ หรือเครื่องหยอดที่เราใช้เครื่องละแปดหมื่นกว่าบาท ผมก็เขียนแผนธุรกิจให้ชาวบ้านฟังว่า ถ้าไปจ้างหยอดต้องจ่ายไร่ละสองร้อยบาท แต่รวมเงินกันซื้อเครื่องหยอดมาใช้ในหมู่บ้าน ถือเป็นการลงทุนแค่ครั้งเดียวหลังจากนั้นก็ได้ใช้ฟรีไปตลอด ผมก็หารให้ดูว่าตกกี่ไร่ถึงจะคืนทุน”

คุณสินสมุทรแจกแจงอย่างละเอียด เพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม 

“สเต็ปแรกถ้าพี่ยังใช้เมล็ดพันธุ์สามสิบห้าโลต่อไร่เหมือนเดิม แล้วจ้างคนไปหว่านเหมือนเดิมก็ต้องลงทุนแบบนี้ไปทุกๆ ปี แต่พอเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์แค่หนึ่งโลต่อไร่ ต้นทุนเรื่องเมล็ดพันธุ์จะหายไป ส่วนการลงทุนซื้อเครื่องจักรจะแพงแค่ครั้งแรก แต่การทำนาครั้งต่อๆ ไปจะถูกลง ส่วนสเต็ปที่สอง จากเดิมทำผลผลิตได้สามร้อยโล ถ้าเปลี่ยนมาทำนาหยอดได้ผลผลิตเพิ่มเป็นหกร้อยโล นั่นแปลว่าจะมีกำไรไปต่อยอด”

หลังจากรวมเงินกันซื้อเครื่องหยอดในหมู่บ้านสำเร็จ ปีนี้ชาวบ้านตั้งเป้าซื้อโดรน เพื่อลดแรงงานคนในการฉีดปุ๋ยทางใบ ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ ก็อยู่ที่ความพร้อมของเกษตรกร ซึ่งวางแผนเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดีไซน์กล่องข้าวเพื่อส่งต่อเรื่องราวอันมีค่า 

สิ่งที่จะช่วยส่งต่อเรื่องราวอันมีคุณค่าไปยังผู้บริโภคได้ตรงเป้าหมายที่สุดคือบรรจุภัณฑ์ที่ดี เพราะเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้ามองเห็นและดึงดูดใจให้ได้ลิ้มลองความหอมนุ่มของข้าวหอมมะลิ อย่างข้าวศรีแสงดาวที่มีแพ็กเกจโดดเด่นไม่ซ้ำใคร และยังซ่อนความใส่ใจไว้ภายใต้หีบห่อที่บรรจงออกแบบ โดยได้ คุณแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์มือรางวัลระดับโลก มาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานสุดแจ่มนี้

จากวันที่ข้าวศรีแสงดาวยังไม่ตั้งตัวเป็นแบรนด์ โชคชะตาก็พาคุณสินสมุทรไปรู้จักกับคุณแชมป์ในคลาสเรียนธุรกิจหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่คุณแชมป์ได้รับรู้ความตั้งใจก็อาสาออกแบบให้ทันที โดยหยิบคุณค่าเรื่องการส่งเสริมชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และคุณลักษณะเด่นของข้าวศรีแสงดาวที่เป็นข้าว GI หรือสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มาเป็นสารตั้งต้นในการออกแบบ และเพิ่มคุณค่าให้ของเหลือทิ้งอย่างแกลบมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยใช้เวลาในการวิจัยกว่า 2 ปี ทดลองขึ้นรูปจนสำเร็จออกมาและไปคว้ารางวัลระดับโลกมา 10 กว่ารางวัล เช่น รางวัล GOAL ตัวแรกของไทย จากเวที IF DESIGN AWARDS 2021 ในเยอรมัน รางวัล GOLDEN PIN DESIGN AWARD ที่ไต้หวัน และอีกหลายรางวัล

“พอได้รางวัลระดับโลกก็ทำให้แบรนด์ข้าวศรีแสงดาวเป็นที่รู้จัก ได้สร้างชื่อเสียงให้ข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้ดังไกลถึงต่างประเทศ นอกจากนั้นก็เริ่มมีคนเข้ามารับรู้เรื่องราวที่ศรีแสงดาวส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น ซึ่งข้าวของเราไม่ได้ขายเหมือนข้าวทั่วไป เราขายเป็นของฝากและของขวัญ เพื่อส่งมอบข้าวดีๆ จากทุ่งกุลาร้องไห้ให้ทุกคนได้ทาน เราก็ดีใจและขอบคุณพี่แชมป์ที่เข้ามาเติมเต็ม ถ้าไม่มีบรรจุภัณฑ์นี้ แบรนดิ้งไม่ชัดเจน งานที่ทำทั้งหมดก็อาจไม่ได้มาไกลถึงตรงนี้ ทุกอย่างเป็นการเติมเต็มของหลายฝ่ายที่เอาความรู้มาบูรณาการ รวมถึงเกษตรกรที่เปิดใจให้เราได้เข้าไปในชีวิตเขา”

จากนาหยอด ต่อยอดเป็นนาอินทรีย์

ผลกำไรจาก โครงการข้าวศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด’ ไม่ได้วัดกันด้วยเม็ดเงิน แต่วัดกันด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนา เราจึงถามหาเหตุผลว่า ทำไมคุณสินสมุทรจึงยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อเกษตรกร

“สิ่งที่ผมทำได้ตอนนี้คือการช่วยชาวนาที่อยู่รอบโรงสีศรีแสงดาวดึงศักยภาพของข้าวออกมาให้มากที่สุด ทำโรงสีถ้าเกษตรกรขาดทุน ต่อไปคนก็จะทำอาชีพนี้น้อยลง แล้วจะไปเอาข้าวมาจากไหน ผมเลยคิดว่านอกจากช่วยธุรกิจตัวเองให้อยู่รอดแล้ว ยังต้องช่วยชาวนาให้อยู่รอดด้วย สิ่งที่ต้องทำต่อคือปลุกปั้นเกษตรกรที่ทำสำเร็จ ให้เป็นแบบอย่างกับเพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ เพราะต่อให้ผมไม่ได้อยู่ทำตรงนี้ตลอดไป ก็ยังมี Know-how ที่จะนำไปใช้ต่อได้”

เป้าหมายแรกสำเร็จไปแล้ว แต่เป้าหมายต่อไปอาจท้าทายยิ่งกว่า

“ในปีแรกเกษตรกรก็ใช้ปุ๋ยเคมีนี่แหละครับ ตอนเริ่มต้นใหม่ๆ เรามีปัญหาให้แก้ค่อนข้างเยอะ แต่พอเข้าปีที่สามทุกอย่างเริ่มลงตัว จึงเกิดความท้าทายใหม่ว่าเราจะทำ ‘นาอินทรีย์’ เริ่มจากเอาผักตบชวามาทำปุ๋ยหมัก ช่วงแรกเกษตรกรอาจยังใช้ปุ๋ยเคมีควบคู่กันไปก่อน เพราะเราไม่สามารถหักดิบได้ ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป จะใช้คำว่าหลอกล่อก็ได้ (หัวเราะ) แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือ เกษตรกรทุกคนถ้าลองก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนแล้ว จะมีความมั่นใจและไม่กลับไปทำนาแบบเดิมอีกเลย”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.