‘ทรงวาด’ ในอดีตคือย่านการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสำคัญพอๆ กับไชน่าทาวน์เยาวราชที่อยู่ถัดไปไม่ไกลกัน เป็นถนนที่เต็มไปด้วยโกดังกักเก็บสินค้า โดยเฉพาะเครื่องเทศที่ขึ้นชื่อลือชา จนได้รับการขนานนามว่า ‘ถนนสายเครื่องเทศ’
ทรงวาดในวันนี้ยังคงสถานะย่านพาณิชย์ แม้ภาพเรือขนส่งสินค้าที่มาจอดเทียบท่าจะหายไป แต่ก็แทนที่ด้วยรถราขนส่งที่วิ่งกันจอแจ ร้านค้าเก่าแก่ยังพอเปิดกิจการอยู่บ้าง ทว่าที่เพิ่มเติมมาคือร้านรวงเก๋ๆ คาเฟ่เท่ๆ และอาร์ตแกลเลอรีต่างๆ มากมายที่มาเสริมเติมแต่งเมืองเก่า ใต้ชายคาของสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เรียงรายอวดความงามอยู่สองฟากฝั่งถนน
เบื้องหลังการคืนลมหายใจของย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ที่กำลังค่อยๆ ซบเซาลงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการร่วมมือร่วมใจของผู้ประกอบการทั้งรุ่นใหม่และวัยเก๋าในนาม ‘Made in ทรงวาด’ ที่ช่วยกันหยิบเอาของดีของเด็ดประจำถิ่นมานำเสนอ พัฒนาย่านร่วมกันอย่างตั้งใจ จนทำให้ย่านนี้กลายเป็นอีกย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
คอลัมน์ Neighboroot คราวนี้ขอชวนกลับไปสำรวจถนนทรงวาด เดินทะลุตรอกออกซอยต่างๆ ของถนนสายเครื่องเทศอีกครั้ง สนทนากับเหล่าคนนอกที่เข้ามาทำกิจกรรมในย่านนี้ ทั้งพูดคุยกับนักเขียนอิสระเจ้าของผลงานทรงวาดไกด์บุ๊ก แวะสตูดิโอออกแบบและรีไซเคิลพลาสติกของสองสาวเจ้าของคาเฟ่รุ่นบุกเบิก และปิดทริปด้วยการเยือนร้านชาของคนไต้หวันที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยวานิช 1
ฟังเรื่อง ‘ทรงวาด’ ผ่านสายตาของนักเขียนทรงวาดไกด์บุ๊ก
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน Urban Creature เคยไปสำรวจทรงวาดมาแล้ว ตอนนั้นวี่แววในการเป็นทรงวาดแบบทุกวันนี้อาจไม่ชัดเจนนัก แต่พอจับสัญญาณได้จากการเริ่มมีกิจการรุ่นใหม่ๆ เปิดกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแกลเลอรี โฮสเทล บาร์ และคาเฟ่
ไม่นานมานี้ พอ Made in ทรงวาด กลุ่มนักธุรกิจในย่านมารวมตัวกัน และออก ‘ทรงวาดไกด์บุ๊ก’ เป็นข้อมูลของสถานที่ต่างๆ ทำให้การมาฮอปปิงร้านและคาเฟ่ต่างๆ ในย่านง่ายขึ้นเหมือนมีคนในพื้นที่มาแนะนำทางให้ ยิ่งทำให้คนหลั่งไหลมาย่านนี้ไม่ขาด
ครั้งนี้เรามาเยือนพร้อมกับไกด์บุ๊ก และ ‘สตางค์-ภัทรียา พัวพงศกร’ อดีตบรรณาธิการนิตยสารออนไลน์และนักเขียนอิสระเจ้าของผลงาน ‘ทรงวาดไกด์บุ๊ก’ ที่พาเราเจอกับมุมอื่นๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กซอยน้อยต่างๆ ของถนนสายเครื่องเทศเส้นนี้
“ตรงนี้คูลมากนะ และเรามีความรู้สึกว่ายังไม่ช้ำ ทุกที่ใกล้กันหมด เดินง่าย จะถ่ายรูป กินข้าว กินขนม ก็อยู่ได้เช้าถึงเย็น
“ที่นี่มีศักยภาพพร้อมหมด เราสำรวจมาแล้ว รวมถึงเรารู้สึกว่าอยากทำอะไรที่เป็นออฟไลน์ อยากทำหนังสือ ยิ่งเป็นหนังสือที่ทำโดยย่านเอง มันให้ความรู้สึกที่น่ารัก” จากเหตุนี้ทำให้ลายแทงร้านดีสถานที่เด็ดของชาวย่าน ที่บรรจุข้อมูลกว่า 50 แห่ง (แน่นอนว่าไม่ครบ และทุกวันนี้กำลังมีร้านใหม่ๆ เตรียมเปิดอีกมาก) เกิดขึ้นในรูปแบบหนังสือแนะนำสถานที่สองภาษา ที่เจ้าตัวอยากให้คนต่างชาติที่เดินหลงมาจากเยาวราชก็ดี หรือนักท่องเที่ยวชาวไทยก็ได้ รู้จักกับย่านค้าส่งแห่งนี้บ้าง
ทรงวาดเปลี่ยนไปตลอดในมุมมองของนักเขียนสาว ตามแต่บทบาทที่ต่างออกไปในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในฐานะหลานที่มาเยี่ยมญาติ เพื่อนบ้านที่แวะมาย่านใกล้เรือนเคียง คนที่แวะมายืมพื้นที่ทำงานในย่านเงียบสงบ นักจัดทริปที่พาคนมาเที่ยว และนักเขียนที่มาลงพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวย่าน
“บ้านป้าของเราอยู่ในซอยสุ่นหลี ทรงวาด ตอนเด็กๆ ไปเยี่ยมบ้านเขาบ่อยๆ แต่เราไม่รู้นะว่าตรงนี้เรียกว่าอะไร จำได้ว่าเป็นถนนที่มีเครื่องเทศเยอะๆ บ้านเขาก็เป็นร้านค้าส่ง ซึ่งย่านนี้มันจะไม่เหมือนกรุงเทพฯ ส่วนอื่นๆ เวลาผ่านไปเราก็ไม่ได้สนใจ จนโตขึ้นมาก็ได้มาเที่ยว เป็นย่านที่เราชอบมาตั้งแต่ยังไม่ค่อยมีอะไร จนเราได้มาทำกิจกรรมจัดทริปกับเจ็กสมชัยตั้งแต่เมื่อสี่ห้าปีก่อน เข้ามาใกล้ย่านนี้เรื่อยๆ”
ถึงวันนี้ทรงวาดเปลี่ยนเป็นย่านสร้างสรรค์ที่มีสถานที่ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่ยังคงมีห้องแถวที่ประกอบกิจการ เป็นโกดังเก็บสินค้าและเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรเช่นแต่ก่อน การทำงานลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวย่านเพื่อนำข้อมูลมาร้อยเรียงเป็นไกด์บุ๊ก ทำให้หลายครั้งสตางค์พบกับหลากหลาย Hidden Gem ที่คาดไม่ถึงของถนนสายประวัติศาสตร์
“เราได้เข้าไปดูตึกของหลายบ้าน พวกตึกโกดังร้อยกว่าปี แต่ข้างในสวยมาก อย่างของเจริญวัฒนาคือหนึ่งห้องหนึ่งกลิ่น ห้องที่เก็บซินนามอนจากพื้นถึงเพดานมีซินนามอนอันยาวเท่าท่อนแขน อีกห้องเก็บกระวานก็มีกระวานทั้งห้อง และมีโกดังริมแม่น้ำของ ส. ไทยฮวด เราก็ว้าวว่าทำไมสวยขนาดนี้”
เบื้องหน้าของโกดังเป็นอาคารพาณิชย์ยาวตลอดสองฝั่งถนน ที่ประชันความร่ำรวยของเจ้าของผ่านงานสถาปัตยกรรมอิทธิพลยุโรปที่กำลังเป็นเทรนด์ในสมัยนั้น ซึ่งมักทำเป็นลวดลายปูนปั้นด้านหน้าอาคารที่มีหน้าตาแตกต่างกัน บ้างเชื่อมโยงกับกิจการร้านค้าของตึกนั้น บ้างออกแบบสวยงามตามรสนิยมของเจ้าของ
หนึ่งในอาคารที่ปรากฏผ่านหน้าสื่อบ่อยๆ ก็เช่น ‘ตึกผลไม้’ ห้องแถวยาวหลายคูหา ที่วันนี้ประกอบด้วยร้านรวงรุ่นใหม่หลายร้านทั้ง ‘โรงกลั่นเนื้อ’ ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่กำลังมาแรงและน่าจะเป็นจุดหมายการมาทรงวาดของใครหลายคน รวมถึง ‘MESA 312 Cultural Lab’ สตูดิโอเวิร์กช็อปงานอาร์ตต่างๆ ของ ‘มีเรียม รูเอดา’ สาวสเปนผู้หลงรักย่านเก่า และเป็นสมาชิกใหม่อีกคนของย่าน
ถ้าเงยหน้ามองจะพบที่มาของชื่อตึกสะดุดหูคือ จากเปลือกนอกชั้นสองของตึก ปั้นเป็นรูปผลไม้ชนิดต่างๆ แทรกกับลวดลายดอกไม้ ท้าทายกาลเวลาและแดดฝนมากว่าร้อยปี (แม้จะมีสายไฟระโยงระยางขวางมุมมองให้ขัดตาขัดใจอยู่บ้าง)
ถือเป็นประจักษ์พยานที่คอยบอกผู้มาเยือนว่า ที่นี่เป็นย่านสร้างสรรค์มานานแล้ว
อดีตบรรณาธิการนิตยสารออนไลน์มองว่า สิ่งที่ทำให้ทรงวาดเซ็กซี่และไม่เหมือนใครคือลักษณะของย่านขายส่งที่พร้อมเปิดรับผู้มาใหม่ตลอด จุดนี้ต่างจากโอลด์ทาวน์อื่นในกรุงเทพฯ
“คาแรกเตอร์ที่นี่คือย่านค้าขาย เราไปย่านอื่นที่เป็นย่านอยู่อาศัย แล้วย่านอยู่อาศัยเขาอาจไม่ได้แฮปปี้ที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ตรงนี้เป็นย่านค้าขายมานานแล้ว ทุกบ้านถึงนอนข้างบน ข้างล่างก็เป็นร้าน เขาเลยไม่รังเกียจการเข้ามาของร้านรวงใหม่ๆ มันน่าสนใจตรงนี้ ทุกคนเป็นพ่อค้าแม่ค้า คนที่เข้ามาใหม่ก็เป็นพ่อค้าแม่ค้า พัฒนาย่านไปเรื่อยๆ ย่านก็ไม่ตาย จากตอนแรกที่เงียบลงเรื่อยๆ กลิ่นเครื่องเทศที่มันเคยแน่นก็หายไป แล้วกลายเป็นความคึกคักแบบอื่นที่เข้ามาแทน น่าสนุกดี
“ตอนแรกเราคิดว่าอีกสามปีห้าปีย่านนี้มาแน่ แต่มาเร็วกว่าที่เราคิดมาก ติดลมบนไปแล้ว” เธอเล่ายิ้มๆ
สตางค์กำลังมีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับเจ้าของร้าน ‘กู่หลงเปา’ ตำนานซาลาเปาคู่ทรงวาดที่ตั้งอยู่ด้านหน้ามัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ในชื่อ ‘Taa Experience’ เป็นสื่อกลางสำหรับชวนคนมาทำเวิร์กช็อปและทำกิจกรรมตามร้านที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องซาลาเปาสูตรแต้จิ๋ว วัฒนธรรมการดื่มชาแบบไต้หวัน และสารพัดเรื่องราวของธัญพืชต่างๆ ซึ่งในอนาคตเธอพร้อมขยายพื้นที่ไปทำอะไรสนุกๆ ในย่านเก่าอื่นๆ ด้วย (ติดตามกิจกรรมได้ทาง IG : taaexperience)
‘Pieces Café & Bed’ ชิ้นส่วนพิเศษแรกๆ ของทรงวาด
ความเป็นทรงวาดประกอบด้วยสิ่งละอันพันละน้อยหลายส่วน ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ ผู้คน ห้างร้าน อาคารสถานที่ และศาสนาความเชื่อ จนอาจกล่าวได้ว่า ที่นี่เป็นอีกย่านเก่าของพระนครที่มีส่วนผสมกลมกล่อมและลงตัว
ส่วนประกอบหนึ่งที่พิเศษตั้งแต่ชื่อคือ ‘Pieces Café & Bed’ สเปซเล็กๆ ที่เล่นเสียงคำว่า Pieces (ชิ้นส่วน) เข้ากับคำว่า พิเศษ ในภาษาไทย ซึ่งใครที่แวะมาย่านทรงวาดเมื่อหลายปีก่อน ในวันที่ยังไม่มีคาเฟ่ให้เช็กอินกันทั่วเช่นนี้ เชื่อว่าคงมีร้านนี้เป็นหนึ่งในจุดหมาย เพราะคาเฟ่เล็กๆ แห่งนี้ถือเป็นผู้บุกเบิกยุคแรกๆ ของย่านนี้เลยก็ว่าได้
นับถึงวันนี้ก็เข้าปีที่ 8 แล้วที่อดีตตึกแถวสามชั้นที่เคยใช้เก็บเทียนไขในตรอกสะพานญวน ถัดเข้ามาไม่กี่ก้าวจากถนนทรงวาด แปลงโฉมใหม่กลายเป็นพื้นที่สุดแนวหนึ่งกลางเมืองเก่า แต่ยังเก็บโครงสร้างอาคารและพื้นกระเบื้องของชั้นบนตั้งแต่สมัยแรกสร้างไว้ โดยมี ‘เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร’ และ ‘พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ’ สองสาวชาวย่านเพื่อนบ้าน ที่ออกจากงานประจำในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ มาร่วมกันประกอบ ‘ชิ้นส่วนพิเศษ’ ต่างๆ เข้าด้วยกันที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ด้านล่างและส่วนของห้องพัก Airbnb ด้านบนสุด ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งเพิ่มมาอีกชิ้นส่วนหนึ่งที่ชั้นสองคือ Tattoo Studio ด้วย
“ตอนแรกเราอยากให้สเปซตรงนี้เป็นที่พักและมีเครื่องดื่มง่ายๆ นิดหน่อย แต่พอเปิดไปแล้ว ผลตอบรับกลายเป็นคาเฟ่ใหญ่กว่า เราเลยโฟกัสตรงคาเฟ่แทน” คอนเซปต์การทำคาเฟ่ของพวกเธอคือการกลับมาคิดว่า ทำไมต้องทำร้านขนาดใหญ่ มีขนมวางเต็มตู้ แต่พอหมดวันแล้วขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง สู้ทำขนมเพียงอย่างเดียวแล้วอร่อย ลูกค้าติดใจจนขายหมดทุกวันจะดีกว่าไหม นี่จึงเป็นที่มาของ ‘ขนมปังหัวนม’ เมนูซิกเนเจอร์ชื่อทะเล้นของร้าน เสิร์ฟประกบมาพร้อมไอศกรีมมะพร้าวหอมหวาน
ขณะที่อีกชิ้นส่วนด้านบนสุดของตึกเป็นห้องพักไซซ์กะทัดรัด แต่เพียงพอสำหรับการปลีกตัวออกมาพักผ่อนอย่างสะดวกสบาย เพราะมาพร้อมเตียงใหญ่คับห้องและของใช้จำเป็น แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือระเบียงด้านหน้าไว้ทอดอารมณ์พร้อมแมกไม้นานาพรรณ ที่หากใครเห็นรับรองจะต้องหลงเสน่ห์มุมนี้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักที่ทั้งคู่บอกว่าลูกค้าที่มาพักมักเป็นศิลปินและนักดนตรีชาวต่างชาติที่ตกหลุมรักที่นี่เข้าเต็มเปา และกลับมาพักอยู่บ่อยๆ
“คนที่มาพักก็ซ้ำๆ เคยมาพักเมื่อห้าปีที่แล้วสี่ปีที่แล้วก็มาอีก เราเลยรู้สึกว่าไม่ต้องตะโกนโปรโมตมาก เอาแค่ห้องเดียวแล้วเก็บลูกค้าที่น่ารักไว้” เจ้าของเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี
‘A Thing That is Pieces Studio’ ห้องทดลองของนักสร้างสรรค์สิ่งที่คนไม่ใช้แล้ว
“สตูดิโอนี้ชื่อชิ้นส่วนพิเศษ เราเลยเอาชิ้นเศษของทุกคนมารวมกัน แล้วแปรรูปเป็นชิ้นพิเศษ ทำอะไรก็ได้ที่มีมูลค่ามากกว่าเป็นขยะ” พิมเริ่มเผยถึงที่มาของไพรเวตสตูดิโอเล็กๆ ที่รับออกแบบงานสร้างสรรค์จากสิ่งของเหลือใช้ทุกชนิด อีกชิ้นส่วนพิเศษที่แยกมาตั้งอยู่เยื้องกับคาเฟ่ที่ทำมาก่อนหน้า ซึ่งแต่เดิมตรงนี้เคยเป็นทั้งห้องอาหารไฟน์ไดนิงและร้านเหล้าบ๊วยของทั้งคู่ ส่วนสตูดิโอทำงานอาร์ตมีเพียงส่วนเล็กๆ ด้านบน
เมื่อมั่นใจในการทำงานกับวัสดุเหลือใช้มากขึ้น ทดลองจนได้กระบวนการที่พอใจ เข้าใจอุณหภูมิที่พอเหมาะกับพลาสติกแต่ละชนิด พอดีกันกับที่เอาพาร์ตร้านอาหารออกไป ห้องทดลองนี้เลยย้ายลงมา และผลคือทำให้สามารถขยายสเกลงานที่ใหญ่ขึ้นตาม ไม่ใช่เพียงแต่เหรียญรางวัลอันจิ๋วหรือด้ามจับเขียงที่อัดจากฝาขวดน้ำ แต่สามารถทำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหญ่ได้ถึงเก้าอี้ โซฟา หรือโคมไฟตั้งโต๊ะเลย
“ปลายทางของมันมีหลายแบบ พลาสติกก็มีอีกแบบ งานประดิษฐ์ก็มีอีกแบบ คือมันเป็นอะไรก็ได้ เหมือนเรามาร่วมทดลองด้วยกัน” พิมบอก “ถามว่าถ้าตัดเรื่องรักโลกออกไป สิ่งนี้ยังขายได้อยู่ไหม เราว่าขายได้ เพราะเรามองเฟล็กพลาสติกเป็นกากเพชร ทรายสี มันจะไปเป็นอะไรต่อก็ได้ เรารู้สึกว่าคนยังนั่งทำประติมากรรมอะไรบางอย่างจากอะลูมิเนียมได้ เราก็อยากนำเสนอขยะให้เป็นงานอาร์ต คนไม่ต้องรู้ว่ามาจากขยะก็ได้ แต่ถ้ารู้แล้วว้าวก็โอเค”
บนโต๊ะทำงานกลางตึกเก่าอายุร่วมศตวรรษ ทั้งคู่เล่าให้เราฟังว่า การทำงานจากพลาสติกเหลือใช้ก็เหมือนกับการทำเบเกอรี ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งอุณหภูมิ เวลา สี รวมถึงเบอร์พลาสติกที่มีความหนืดต่างกัน คล้ายกับยี่ห้อและชนิดของแป้ง
“เหมือนเราปรุงขนมเลย ใส่เกลือ น้ำตาล อันนี้ก็ใส่สีน้ำเงิน โรยสีเขียวนี้หน่อย พอใจแล้วก็อบ เราชอบงานที่เป็นสีเยอะๆ ตอนที่วางเฟล็กมันก็ได้ไม่เหมือนกับที่เราคิด อยู่ที่แรงกดของเราด้วย” พิมเล่าถึงกรรมวิธีการทำผลงานรีไซเคิลที่หลากหลาย ซึ่งความสนุกในการทำงานประเภทนี้คือผลลัพธ์ที่ได้ออกมาไม่เหมือนกันสักชิ้น
“ถ้าอย่างนั้น มีผลงานชิ้นไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม” เราอยากรู้
“เอาจริงๆ เราชอบทุกอันเลย เหมือนที่เราทำโดนัทแล้วถามว่าชอบชิ้นไหนก็คงตอบไม่ได้ เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เปิดออกมา เวลาที่ลอกซิลิโคนออกมา เรายังว้าวทุกครั้ง ทำเป็นชิ้นที่สองสามพันแล้วยังตื่นเต้นอยู่เลย” ดีไซเนอร์สาวให้คำตอบ “เพราะมันออกมาแล้วไม่มีชิ้นไหนเหมือนกัน ไม่สามารถเหมือนกันได้ ลูกค้าสั่งให้เหมือนก็ไม่เหมือน โทนได้แต่ให้เหมือนเป๊ะๆ เราทำไม่ได้”
แน่นอนว่ากว่าจะได้ออกมาเป็นผลงานต้องผ่านหลายขั้นตอน ลำพังเพียงสองคนทำเองทุกอย่างไม่ได้ เพราะงานจะล่าช้ามาก แต่เพราะทรงวาดเป็นย่านที่น่ารัก ผู้คนรอบบ้านมีน้ำใจและถ้อยทีถ้อยอาศัย จึงนำไปสู่การกระจายงานสู่คนรอบข้างในชุมชนตามแบบฉบับ Pieces Plastic นอกจากได้รายได้เป็นตัวเงินและกำไรแล้ว ยังชุบชูใจคนทำงานจากการได้ช่วยย่อยขยะให้โลกและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย ซึ่งเธอบอกว่านี่คือสิ่งที่สำคัญมากๆ และช่วยเติมใจในการผลิตชิ้นงานแต่ละครั้ง
“แต่ก่อนมีสิบขั้นตอน เราพยายามทำเองหมดเลย แต่พอเราอยู่สเปซนี้ เรารู้แล้วว่าตรงนี้มีช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างเชื่อม ช่างเย็บ เหมือนพอเราอยู่ตรงนี้มาสี่ห้าปี เริ่มรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ก็เริ่มรู้สึกว่าเราทำสเกลงานใหญ่ขึ้นได้แล้ว” พิมเล่าต่อถึงความเชื่อมโยงของชิ้นส่วนพิเศษอีกชิ้นกับผู้คนในทรงวาด ด้วยการสร้างรายได้ให้คนในย่านผ่านการให้ช่วยล้างพลาสติกและแยกสีฝา
“เราชอบแถวนี้ตั้งแต่ตอนตามหาพื้นที่ ตอนมาอยู่แรกๆ เราชอบทั้งอาม่าที่มาอยู่ก่อนแล้ว เขาน่ารักมากๆ แล้วที่นี่ก็เงียบๆ ชิลๆ” เหมียวตอบ เมื่อเราถามถึงความชอบย่านเก่านี้ ย่านที่พวกเธอย้ายมาอยู่นานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งไปแล้ว ขณะที่พิมชอบความคอนทราสต์กันระหว่างความสงบกับความวุ่นวายในย่าน “สำหรับเรารู้สึกว่าที่นี่คอนทราสต์กันในแบบที่เราชอบ เราชอบมีโลกส่วนตัว มีสเปซของตัวเอง เงียบๆ ไม่ต้องวุ่นวายกับใครมาก แต่เราก็ชอบที่ออกไปซื้อของทุกอย่างได้เลยแค่เดิน ไม่ต้องขับรถ เลยรู้สึกว่าที่นี่ตอบโจทย์
“เราได้ทำงาน มีความเงียบ ซึ่งที่นี่ก็ยังเงียบสำหรับเรา และถ้าอยากวุ่นวายแค่เดินออกไปสิบก้าว คนโคตรเยอะ (หัวเราะ) ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของทรงวาด”
จิบชาเคล้าเรื่องราวที่ ‘Casa Formosa’ ทีเฮาส์ของชาวไต้หวันที่หลงรักเมืองไทย
จากประเทศไทยข้ามทะเลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 2,259 กิโลเมตร บนเกาะไต้หวันมีย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง อดีตเป็นเมืองท่าและคลังสินค้าสำคัญในการส่งออกใบชา ย่านนั้นชื่อ ‘ต้าเต้าเฉิง’ (Dadaocheng)
“ที่นั่นคล้ายกับประวัติศาสตร์ของทรงวาด เมื่อก่อนเป็น CBD ของกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ค้าของแห้ง ขายเครื่องเทศ เห็นแล้วนึกถึงทรงวาดชัดเจน เลยคิดว่าเราควรอยู่ที่นี่ เพราะเราสามารถเล่าเรื่องใบชาที่ไทเปกับย่านนี้ได้” ‘Larry Ko’ เจ้าของร้าน ‘Casa Formosa Taiwan Tea House’ ทีเฮาส์น้องใหม่ของซอยวานิช 1 เริ่มเกริ่นถึงตอนมาหาโลเคชันเพื่อเปิดร้าน
โจทย์ตั้งต้นของชายไต้หวันผู้หลงใหลความเป็นไทยคือ ทำไมกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยมีร้านชาที่เป็นคาเฟ่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นร้านขายใบชาแบบโบราณที่ต้องซื้อกลับไปชงที่บ้าน จึงเป็นที่มาของพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้
“เรารู้สึกว่าบรรยากาศดีๆ แบบนี้ควรมีทีเฮาส์ที่เหมาะสมกับสถานที่นี้ เมื่อก่อนเรามาเยาวราชไม่มีคาเฟ่แบบนี้ อยากมีคาเฟ่ที่เข้ากับบรรยากาศของสถานที่เยาวราช และสุดท้ายเราก็รู้ว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ชอบชา แต่ไม่มีโอกาสมานั่งดื่มชาอยู่นอกบ้าน”
แม้จะเป็นตึกหน้าแคบ อยู่ในซอยที่มีเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นร้านขายรองเท้าและอุปกรณ์ แต่ร้านของแลร์รีไม่ได้หายากจนถูกกลืนไป เพราะทั้งด้านนอกและด้านในถูกตกแต่งอย่างตั้งใจ เรียบง่ายแต่โก้ ดูร่วมสมัยและอบอุ่น รวมถึงสอดแทรกความเป็นไต้หวันเอาไว้หลายอย่างตามส่วนต่างๆ ของอาคาร ตั้งแต่ชื่อร้านที่หยิบมาจากชื่อเกาะไต้หวัน ประตูด้านหน้าที่ตั้งใจให้เป็นตึกแบบฝรั่งเหมือนที่ตั้งอยู่ทั่วไทเป ด้านในติดรูปฮก ลก ซิ่ว (ลองมองหากันดู) และโคมไฟสามดวงเหนือเคาน์เตอร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว พร้อมจะเล่าให้ลูกค้าฟังเมื่ออยากรู้ ทั้งหมดนี้เขามองว่าเข้ากันได้ดีกับย่านของคนจีนที่มาอยู่ก่อน
ชาพรีเมียมของร้านทั้งหมดเป็นแบบ Single Origin จากไต้หวัน พร้อมชนิด รสชาติ และกลิ่นหอมที่หลากหลาย มีระดับการบ่มทั้งอ่อนและเข้มที่เลือกได้ตามความชอบ และยังมีเทสต์โน้ตเป็นไกด์ไม่ต่างจากกาแฟ โดยมี 1860 Oolong ชาอู่หลงจากไต้หวันที่มีสตอรีการเปิดตัวชาจากไต้หวันสู่นิวยอร์กเป็นฉากหลัง นำมาเป็นซิกเนเจอร์ตัวชูโรงของร้าน เอื้อต่อการสร้างบทสนทนาระหว่างจิบชาหอมๆ
หรือสำหรับใครที่ไม่ค่อยมีเวลาละเมียดชาร้อน ร้านมีชาไข่มุกซีซอลต์ตำรับไต้หวันให้ซื้อกลับไปเดินดื่มระหว่างท่องย่านได้ด้วยนะ
ระหว่างเปิดบทสนทนาพร้อมจิบชาไต้หวันรสละมุน หนุ่มไต้หวันเผยความตั้งใจกับเราว่า จริงๆ แล้วอยากให้ Casa Formosa เป็นมากกว่าร้านขายชา แต่เพิ่มบทบาทการเป็นฮับเล็กๆ สำหรับมอบคำปรึกษาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน หรือจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งน่าจะสร้างสีสันให้ย่านนี้อีกมาก
“เราสามารถมีอีเวนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะศิลปะ วัฒนธรรม หรือภาษา อย่างเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ก็มี Tea Party ที่มีมูนเค้กด้วย เราเห็นว่าเยาวราชสนุกมาก แต่ไม่มีฮับที่ทำเรื่องพวกนี้ได้ เราอยากเป็นฮับนั้น ที่ไม่ใช่แค่ร้านชาอย่างเดียว เราอยากจัดอีเวนต์ประเภทนี้ให้กับวัยรุ่นที่สนใจเรื่องจีนอีกแบบหนึ่ง แบบที่ไม่เก่าแก่เกินไป หรือไม่เราก็อยากจะเล่าเรื่องเก่าแก่ที่ใช้วิธีแบบใหม่” สมาชิกใหม่ของย่านทรงวาดเชิญชวนด้วยรอยยิ้ม
‘เมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาแทน สิ่งเก่าย่อมหายไป’
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของย่านทรงวาดกำลังเป็นขาขึ้น ห้องแถวที่ปิดไปนานหลายปีถูกนำมาปัดฝุ่นเพื่อรองรับกิจการอะไรสักอย่างที่กำลังจะเกิดใหม่ ช่องเสิร์ช Google Maps ของหลายคนมีชื่อย่านเก่าแห่งนี้เป็นจุดหมาย หรืออาจเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ที่ปักหมุดไว้ตามเที่ยว แถมระยะนี้ยังมีซีรีส์กับภาพยนตร์มาใช้เป็นโลเคชัน ยิ่งทำให้ย่านนี้คึกคักไม่ต่างจากสมัยก่อน
ในมุมหนึ่งน่ายินดีแทนผู้คนบนถนนอายุกว่าร้อยปีนี้ ที่บ้านของพวกเขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ก็น่าเสียดายไม่น้อยไปกว่ากัน หากกระแสของย่านเป็นเพียงสายลมของการเปลี่ยนแปลงที่ฉาบฉวย พัดพาเอาประวัติศาสตร์และอาคารเก่าของย่านนี้ให้หายลับไป พร้อมกับพัดเอาสิ่งเท่เก๋ใหม่ตามสมัยนิยมเข้ามาแทนที่
หวังว่าย่านทรงวาดจะไม่เหมือนโอลด์ทาวน์หลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่กำลังเจอภาวะเช่นนี้