ทรงวาด ย่านการค้าที่เคยเจริญที่สุดในพระนคร - Urban Creature

จุดเริ่มต้นของย่าน ‘ทรงวาด’ เริ่มต้นจากเหตุการณ์ไฟไหม้หลายครั้งเพราะความแออัดของชุมชน และตัวอาคารที่เป็นไม้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงวาดแนวถนนบนแผนที่ขึ้นมาใหม่ เป็นเส้นตรงจากท่าน้ำราชวงศ์เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดปทุมคงคาฯ เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ย่านสำเพ็ง เพราะถ้าปล่อยให้ปลูกสร้างอาคารอย่างเดิม ตึกรามบ้านช่องก็จะแน่นหาทางเดินไม่ได้ และรับสั่งให้เปิดเป็นถนน รถราจะได้มีโอกาสแล่น ไม่ต้องแออัด เมื่อสำเร็จความเจริญก็เข้ามาถึง ถนนสายนี้จึงมีนามว่า ‘ทรงวาด’

เวลา 09.00 น. แสงแดดสาดส่องยังตึกเก่าแก่สไตล์โคโลเนียล ที่โดดเด่นด้วยซุ้มประตูหน้าต่างแบบกอทิก ประดับประดาด้วยไม้ฉลุสีเขียวอย่างวิจิตร ตึกแห่งนี้เคยเป็นห้างขายผ้าที่นำเข้าจากอินเดีย จนมีชื่อเล่นว่า ‘ตึกแขก’

มนตร์เสน่ห์ของตึกแขกดึงดูดทุกสายตาของคนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณหัวมุมถนนทรงวาดตัดกับถนนราชวงศ์ รวมถึงเชื้อเชิญให้เราเข้าไปเยือนถนนทรงวาด เพื่อตามหาร่องรอยอารยธรรมและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังถนนย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองที่สุดของพระนคร

ร่องรอยความรุ่งเรืองของย่านทรงวาด

เมื่อเราย่างก้าวเข้าไปยังทรงวาด เพียงไม่กี่ก้าวเราก็พบร้านค้าพืชพันธุ์ทางการเกษตรตลอดสองข้างทาง ได้เห็นตึกแถวที่เป็นโกดังสินค้า รถเข็นของ คนยกกระสอบ รถบรรทุก และนกพิราบที่คอยกินพืชผลที่หล่นจากกระสอบ ซึ่งภาพทั้งหมดฉายให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีตที่ยังคงหลงเหลือ

มีหนึ่งเรื่องเล่าตลกๆ ที่คนเฒ่าคนแก่แถวนั้นเล่าให้เราฟัง สมัยก่อนถ้าคุณต้องการพืชพันธุ์แค่หยิบมือ ให้เดินไปหยิบจากกระสอบได้เลย ไม่ต้องซื้อ เรื่องเล่านี้ตีความได้หลายแง่ อาจจะหมายถึงร้านค้าแถวนี้เน้นการขายส่งเป็นหลัก หรือในอีกความหมายหนึ่ง อาจจะหมายถึงความร่ำรวยของพ่อค้าแม่ค้าบนถนนสายนี้ก็ว่าได้

หากเราบอกว่าเมื่อเกือบร้อยปีก่อนท่าน้ำที่ปัจจุบันไร้เงาเรือ เต็มไปด้วยเรือน้อยใหญ่จอดเทียบเต็มน่านน้ำเจ้าพระยา หลายคนอาจนึกภาพไม่ออก เพราะปัจจุบันท่าเรือเหล่านี้คงเหลือไว้เพียงเค้าลางที่ยังพอเล่าอดีตให้เราฟังได้ว่า ‘ทรงวาด’ เคยเป็นย่านการค้าที่สำคัญทางเรือ สังเกตได้จากเสาท่าเรือที่ยังหลงเหลืออยู่ตลอดแนวแม่น้ำ

ในอดีตทรงวาดเป็นถนนเชื่อมต่อไปยังท่าเรือกลไฟบรรทุกสิ่งของจากหัวเมืองต่างๆ และเป็นจุดศูนย์กลางสินค้าประเภทอาหารทะเล เมล็ดพันธุ์พืช และสมุนไพร ก่อนที่จะกระจายสินค้าออกไปยังสถานที่อื่นๆ ผ่านเส้นสายของถนนที่ถูกออกแบบมาให้วิ่งตรงเข้าสู่ตรอกซอกซอยอย่างเป็นระบบ

คุยเรื่องเก่าต้องคุยกับคนเก๋า

หากจะตามไปดูย่านเก่าก็คงต้องคุยกับคนเก๋าๆ อย่าง สมชัย กวางทองพานิชย์ พ่อค้าเชือกผู้เคยขึ้นเวที TEDxBangkok 2016 ในหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ละแวกบ้าน’ สร้างปรากฏการณ์และจุดประกายจนผู้คนหันมาให้ความสนใจประวัติศาสตร์รอบบ้าน

การมาเยี่ยมเยือนครั้งนี้ เราได้อาเจ็กสมชัยเป็นผู้พาลัดเลาะไปตามย่านทรงวาด ใครจะไปรู้ว่าภายใต้บทบาทพ่อค้าขายเชือก อาเจ็กสมชัยถูกยกให้เป็นนักประวัติศาสตร์และอาจารย์พิเศษที่มักถูกเชิญให้ไปบรรยายเรื่องย่านเก่าอยู่เสมอ

อาเจ็กเติบโตมาในย่านสำเพ็ง เยาวราช ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้เกิดความสนใจและเริ่มศึกษามันอย่างลึกซึ้ง อาเจ็กสมชัยบอกเราว่า เขาเห็นการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของทรงวาดมาโดยตลอด และใช้เวลานับสิบปีเพื่อบอกให้คนรุ่นใหม่ฟังว่า


“ทรงวาดไม่ได้มีดีแค่ความสวยของสถาปัตยกรรม แต่ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของวิถีชีวิตผู้คนที่ซ่อนอยู่เต็มไปหมด”

วัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้คนในทรงวาด

สิ่งแรกที่อาเจ็กสมชัยพาเราไปดูก็คือศาลเจ้าปุนเถ้ากง ศูนย์รวมจิตใจของพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากในทรงวาดแห่งนี้ ไม่หมดเพียงเท่านี้ ความพิเศษของถนนสายนี้อยู่ตรงที่ ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ เพราะเมื่อเดินถัดไปเพียงไม่กี่ซอยก็จะเจอมัสยิดหลวงโกชา

ศาสนสถานของชาวมุสลิมที่ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์รวมจิตใจเฉกเช่นเดียวกับศาลเจ้าจีน เพราะกิจกรรมทางศาสนาอิสลามล้วนเกี่ยวข้องกับมัสยิดทั้งสิ้น ถึงแม้จะมีความต่างทางศาสนาและเชื้อชาติ แต่ผู้คนและสถานที่เหล่านี้ก็เติบโตเคียงคู่กันไปกับทรงวาดได้อย่างลงตัว

ยุคล่มสลายของการค้าส่งที่ทรงวาด

เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงครั้งถัดมาของย่านทรงวาด คือการล่มสลายของเขตการค้าที่เคยรุ่งเรืองที่สุดราวปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่มีกฎหมายห้ามรถสิบล้อเข้ามายังบริเวณกรุงเทพฯ เมื่อสิบล้อไม่สามารถวิ่งเข้าถนนทรงวาด ความสามารถในการเป็นแหล่งการค้าจึงลดลง

เพราะเงื่อนไขทางการคมนาคม เหล่าพ่อค้าแม่ค้าจึงต้องย้ายไปทำการค้าขายบริเวณอื่น จนกลายเป็นยุคของการขายของส่งที่สำเพ็งในที่สุด บทบาทการค้าส่งของทรงวาดจึงค่อยๆ ลดลงไปตามข้อจำกัดและกาลเวลา คงเหลือร้านค้าส่งที่ยังคงรูปแบบการค้าแบบดั้งเดิมไม่มากเท่าที่เคย

เหรียญฟ้าค้าข้าว ตำนานแพหอมกว่า 60 ปี

เคยได้ยินคำว่าแพหอม แพปลา กันไหม หากยังไม่เคยได้ยิน เราจะพาไปรู้จัก ‘เหรียญฟ้าค้าข้าว’ ร้านขายพืชพันธุ์ทางการเกษตรซึ่งเคยมีเรือเข้ามาจอดเทียบท่าส่งของถึงหลังบ้านติดกับแม่น้ำ และยังเป็นร้านค้าส่งริมน้ำร้านเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ณ ปัจจุบัน

อาเฮียเจ้าของบอกเล่าเรื่องราวทรงวาดให้เราฟังว่า “ราวหกสิบปีก่อนแถวนี้เต็มไปด้วยร้านค้าสินค้าเกษตร แพปลา และจุดศูนย์กลางของการซื้อพืชพันธุ์ เป็นแหล่งที่คนจีนนั่งเรือมาตั้งรกราก นอกจากนั้น ยังเป็นย่านที่คนต่างจังหวัดอย่าง อ่างทอง สิงห์บุรี นำเอาพืชพันธุ์มาขาย”

ภายในร้านค้าหอมแห่งนี้เราได้พบร่องรอยของท่าเรือที่อาเฮียเจ้าของเล่าให้เราฟังว่า “เมื่อก่อนเรือสินค้าจะเข้ามาจอดเทียบท่าเรือร้านใครร้านมัน ส่งของวันละเป็นตันๆ พอจอดเสร็จก็จะมีแรงงานขนสินค้าเข้าร้าน ก่อนจะส่งไปขายต่อไปยังตลาดอื่นๆ ในกรุงเทพฯ”

เฮียรำลึกถึงความทรงจำว่า “เรือลำสุดท้ายที่เข้ามาจอดเทียบท่าที่หลังร้านคือปี 2550 หลังจากเรือลำสุดท้ายแล่นออกไป ท่าเรือหลังบ้านก็ไม่ได้ใช้งานอีกเลย” และเมื่อทรงวาดไม่มีเรือขนสินค้าเข้ามาเทียบท่าเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ร้านค้าอื่นๆ ก็ทยอยปิดตัวลง จากร้านค้าส่งก็กลายเป็นโกดังสินค้า บ้างก็กลายเป็นอาคารบ้านร้างไปในที่สุด

 ยกฮั้ว ร้านอาหารจีนสไตล์ฮากกา

เดินทางมาได้ครึ่งทาง อาเจ็กสมชัยก็พาเรามาเติมพลังที่ ‘ยกฮั้ว’ ร้านอาหารจีนแคะเก่าแก่ซึ่งหายากมากในปัจจุบัน ตัวร้านตั้งอยู่ในตรอกลับๆ ระหว่างทรงวาดและสำเพ็งที่น้อยคนจะรู้ นอกจากคนพื้นที่จริงๆ ความพิเศษของร้านนี้อยู่ที่การคงรสชาติดั้งเดิมเสมือน 60 ปีก่อนไว้ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เมนูอาหารที่ไม่ควรพลาดก็คือ เต้าหู้ข้าวหมาก ฟองเต้าหู้ทอด หมูสามชั้นอบผักแห้ง ไก่อบเกลือ เป็นต้น

เมื่อเข้าไปในร้านจะพบ อาม่ามาลัย ริ้วเจริญ เข้ามาทักทายลูกค้าด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าเสมอ และหากพูดถึงวัฒนธรรมจีน การรับประทานอาหารเป็นเหมือนช่วงเวลาสำคัญในการได้พบปะญาติพี่น้องครอบครัว เพื่อนฝูง ร้านยกฮั้วจึงกลายเป็นสถานที่ในการเชื่อมโยงผู้คนเก่าแก่ภายในย่านเข้าไว้ด้วยกันด้วยอาหารรสชาติดั้งเดิมที่พวกเขาคุ้นชิน

เมื่อสตรีทอาร์ต ‘บุกรุก’ ทรงวาด

สิ่งที่สะดุดตาเมื่อเดินย่านทรงวาดคือกราฟฟิตี้ช้างตัวใหญ่ที่ตระหง่านอยู่ข้างตึกเก่า เป็นผลงาน Street Art ของ Roa ศิลปินชาวเบลเยียมที่บูรณาการพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ด้วยงานศิลปะภายใต้ชื่องานว่า ‘บุกรุก’

ผลงานศิลปะชิ้นนี้ทำให้เกิดการปะทะกันทางความคิดอยู่ไม่น้อย สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เขย่าทรงวาดให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง จากย่านเก่าที่คนหลงลืมไปตามกาลเวลา กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมาดูงานกราฟฟิตี้ชิ้นนี้ ต่างคนจึงต่างได้เห็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามตลอดสองฟากฝั่งถนนทรงวาด ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน และคนรุ่นใหม่ๆ ก็ได้รู้จักย่านแห่งนี้มากขึ้น 

ถึงยามบ่ายแสงแดดเริ่มฉายภาพตัวอาคารให้โดดเด่นขึ้น ทำให้สถาปัตยกรรมของอาคารอย่างเสาคอรินเทียน หน้าต่างบานโค้งประดับประดาไปด้วยปูนปั้นรูปเถาไม้เลื้อย ผลไม้ และกระจกสี ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง

และหากคุณลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่าบนถนนทรงวาดไม่มีตึกขนาดห้องเดี่ยว อาคารสองฟากฝั่งเป็นอาคารชุดหรือตึกแถวยุคแรกของพระนคร ซึ่งมีขนาดความกว้างกว่าอาคารปกติ เนื่องจากฟังก์ชันของอาคารต้องรองรับรถสิบล้อที่จะเข้ามาขนถ่ายของเนืองๆ

Play arthouse

เมื่อเดินจนทั่วทรงวาด คุณจะพบว่ามิติของทรงวาดไม่ได้หยุดอยู่ที่การเป็นแหล่งค้าส่งเหมือนในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ทรงวาดยังประกอบไปด้วยชีวิตของผู้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสอดแทรกอยู่ระหว่างอาคารหลังเก่าอายุร่วมร้อยปี

หนึ่งธุรกิจที่เติบโตและเป็นสัญลักษณ์แห่งการผลัดใบของสถานที่แห่งนี้ได้ดีที่สุด ก็คืออาร์ตแกลเลอรี Play arthouse ใครจะไปคิดว่าพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะจะมาตั้งอยู่ท่ามกลางแหล่งค้าส่งในอดีต แถมกลับยังเชื่อมโยงกับพื้นที่ผ่านการอนุรักษ์ตึกเก่าผสมผสานความโมเดิร์นได้อย่างพอดิบพอดี

ทรงวาดคือย่านที่ยังคงหลงเหลือตัวตนแบบเดิม เหมือนสิ่งที่มันเคยเป็นมา เพราะปัจจุบันทรงวาดก็ยังเป็นแหล่งค้าส่งเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน วิถีชีวิตผู้คน สถาปัตยกรรม ล้วนกลายเป็นมนตร์เสน่ห์ที่ทำให้ทรงวาดเป็นย่านที่จะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต อย่างที่ผู้ก่อตั้ง Play arthouse มองว่า

“ในอนาคตทรงวาดอาจจะกลายเป็นถนนสายที่ผู้คนมาเดินเพื่อเสพงานศิลปะ กลายเป็นสถานที่ของเหล่า Art Lover”

Hostel URBY ห้องนั่งเล่นของย่านทรงวาด

นอกจากคาเฟ่และอาร์ตแกลเลอรีแล้ว ยังมี Hostel ที่สอดแทรกอยู่ท่ามกลางเรื่องราวในทรงวาดด้วยเช่นกัน “ทรงวาดเป็นย่านนอกสายตาที่ไม่ค่อยถูกโปรโมต ทรงวาดไม่เหมือนเยาวราชที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก คนย่านนี้ยังคงใช้ชีวิตแบบเก่าๆ อยู่ ตัวย่านยังคงน่าสนใจ”

เธอจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวของทรงวาดในมุมของเธอเอง ผ่านการผสมผสานวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เข้ากับย่านเก่า จนเกิดเป็น Hostel URBY ขึ้นมาในที่สุด

ถึงแม้ว่า URBY จะเป็นกิจการของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีส่วนสร้างตัวตนให้ทรงวาด แต่สิ่งที่พิเศษกว่านั้น คือสถานที่แห่งนี้สามารถเชื่อมโยงผู้คนต่างรุ่นในทรงวาดเข้าด้วยกันอย่างลงตัวโดยไม่ผิดแปลกจากวิถีชีวิตดั้งเดิม ในฐานะเป็น Living Room ของย่านที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้บริการ มาเยี่ยมชมบรรยากาศของแม่น้ำเจ้าพระยา เฉกเช่นเดียวกับคนรุ่นเก่าที่เคยอาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้

ส่งต่อย่านเก่าให้คนรุ่นใหม่

เป็นเรื่องน่าสนใจว่าตลอดระยะทาง 1,196 เมตร หรือประมาณโลนิดๆ ที่ได้เดินไปพร้อมอาเจ็กสมชัย เราต่างพบร่องรอยและเรื่องราวมากมายในย่านแห่งนี้ รวมถึงการเห็นวิถีชีวิตผู้คนทั้งเก่า-ใหม่ ที่ผสมผสานกัน หลังจากเยี่ยมชมทั่วทรงวาด เราจึงอดตั้งคำถามกับอาเจ็กสมชัยไม่ได้ว่า การเข้ามาของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการพัฒนา จะทำให้ตัวตนของทรงวาดเปลี่ยนไปไหม

“เมืองเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามบริบทที่เกิดขึ้น ทุกคนล้วนมีมุมมองเป็นของตัวเอง เจ็กมีหน้าที่เก็บทรงวาดในรุ่นของเจ็ก ส่วนคนรุ่นคุณเห็นทรงวาดในแบบที่ต่างไป เป็นย่านชิกๆ ร้านกาแฟมันก็คงไม่แปลก เพราะบริบททางสังคมมันต่างกัน คุณเองก็มีหน้าที่เก็บทรงวาดในรุ่นของคุณเองเช่นกัน


“เราไม่รู้หรอกว่าหน้าตาทรงวาดมันจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่สิ่งที่เราทำได้คือการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับอดีตและบอกเล่ามันให้คนอื่นได้ฟังในอนาคต”

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.