หลายเวลา หลายวาระ สยามคือปลายทางหนึ่งของชาวจีนที่หันหัวเรือลงใต้ แสวงหาชีวิตที่ดีกว่ายังดินแดนใหม่ และหนีสารพัดภัยที่ต้องเจอในบ้านเกิด เข้ามาทำกิจการใต้ร่มบรมโพธิสมภาร เมื่อเก็บเงินได้จึงส่งกลับไปให้ครอบครัวที่อยู่เมืองจีน กลายเป็นเรื่องเล่าประจำบ้านชาวไทยเชื้อสายจีนที่ไม่ว่าใครก็เคยได้ยิน
แทบทุกตำนานการเดินทาง ฉากแรกๆ ของผู้คนในสมัยนั้นคือ ‘สำเพ็ง’ ศูนย์กลางของชาวจีนในไทย ที่รับหน้าที่เป็นทั้งปลายทางให้ตั้งรกรากและจุดแวะพักเหนื่อยหลังเดินทางไกล ก่อนมุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัดอื่น
วันนี้เสียงพูดคุยด้วยภาษาจีนระหว่างชาวจีนพลัดถิ่นในสำเพ็งเบาลงทุกขณะ แทนที่ด้วยภาษาไทยสำเนียงแปร่งปร่าจากปากชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้ามา พร้อมกับป้ายร้านอักษรไทยฟอนต์ Tahoma และอักขรวิธีการสะกดคำที่อ่านแสนยาก ซึ่งนั่นหมายความว่ารากเหง้าของจีนเก่าที่มาก่อนก็กำลังถูกลบเลือนหายไปด้วยเช่นกัน
เทศกาลตรุษจีนนี้ คอลัมน์ Neighboroot นัดพบกับพ่อค้าเชือกและนักประวัติศาสตร์ประจำย่านอีกครั้ง ชวนคุยเรื่องเก่าในละแวกบ้าน โดยมีแผนที่การค้าเก่าที่ปีนี้อายุครบร้อยปีพอดีเป็นตัวช่วยชี้ทาง เพื่อตามหาชื่อบ้านนามเมืองในสำเพ็งที่ทยอยหล่นหายไปตามเวลา
ถนนคนเดินเบียดเสียด ละลานตาไปด้วยแสงไฟ อาหารสตรีทฟู้ดหลากหลาย กลายเป็นภาพจำของ ‘ไชนาทาวน์’ เมืองไทย
ผู้คนจากทั่วสารทิศมาเยือนถนนสายมังกรด้วยเป้าหมายต่างกันออกไป ไม่น้อยเป็นคนไทยที่มาหาของกินยามค่ำ ไม่น้อยเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแลนด์มาร์กต่างบ้านต่างเมือง และก็มีไม่น้อยที่เป็นกลุ่มทุนจีนใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจ เพื่อกอบโกยเม็ดเงินกลับไปยังต้นทาง
หลายเวลา หลายวาระ สยามคือปลายทางหนึ่งของชาวจีนที่หันหัวเรือลงใต้ แสวงหาชีวิตที่ดีกว่ายังดินแดนใหม่ และหนีสารพัดภัยที่ต้องเจอในบ้านเกิด เข้ามาทำกิจการใต้ร่มบรมโพธิสมภาร เมื่อเก็บเงินได้จึงส่งกลับไปให้ครอบครัวที่อยู่เมืองจีน กลายเป็นเรื่องเล่าประจำบ้านชาวไทยเชื้อสายจีนที่ไม่ว่าใครก็เคยได้ยิน
แทบทุกตำนานการเดินทาง ฉากแรกๆ ของผู้คนในสมัยนั้นคือ ‘สำเพ็ง’ ศูนย์กลางของชาวจีนในไทย ที่รับหน้าที่เป็นทั้งปลายทางให้ตั้งรกรากและจุดแวะพักเหนื่อยหลังเดินทางไกล ก่อนมุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัดอื่น
วันนี้เสียงพูดคุยด้วยภาษาจีนระหว่างชาวจีนพลัดถิ่นในสำเพ็งเบาลงทุกขณะ แทนที่ด้วยภาษาไทยสำเนียงแปร่งปร่าจากปากชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้ามา พร้อมกับป้ายร้านอักษรไทยฟอนต์ Tahoma และอักขรวิธีการสะกดคำที่อ่านแสนยาก
นั่นหมายความว่ารากเหง้าของจีนเก่าที่มาก่อนก็กำลังถูกลบเลือนหายไปด้วยเช่นกัน
เทศกาลตรุษจีนนี้ เรานัดพบกับ ‘เจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์’ พ่อค้าเชือกและนักประวัติศาสตร์ประจำย่านอีกครั้ง ชวนเจ็กคุยเรื่องเก่าในละแวกบ้าน โดยมีแผนที่การค้าเก่าที่ปีนี้อายุครบร้อยปีพอดีเป็นตัวช่วยชี้ทาง เพื่อตามหาชื่อบ้านนามเมืองในสำเพ็งที่ทยอยหล่นหายไปตามเวลา
‘สำเพ็ง’ จุดกำเนิดไชนาทาวน์ในบางกอก
ในช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ถัดไปอีกคุ้งน้ำหนึ่งระหว่างวัดสามปลื้ม วัดสำเพ็ง และวัดเกาะ คงเป็นที่ว่างกว้างขวางพอจะแลกเปลี่ยนให้ชาวจีนที่แต่เดิมถือครองพื้นที่ตรงเมืองบางกอกได้ใช้ตั้งเป็นชุมชนใหม่
พัฒนาการของพื้นที่แถบนี้เป็นไปโดยลำดับ เมื่อมีผู้อพยพใหม่เข้ามามากขึ้นจึงเกิดการขยายชุมชน มีการตัดถนนขึ้นหลายสายในทุกทิศทุกทางเพื่อความสะดวกในการสัญจร และผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชนหลายหน ก่อร่างจนกลายเป็นเมืองย่อยๆ มีกิจการธุรกิจที่พอแก่การใช้ในชีวิตตามวิถีประเพณีจีน และกลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของประเทศในที่สุด
ด้านในร้านขายเชือกก้วงเฮงเส็ง ริมซอยวานิช 1
ภาพแผนที่เก่าภาษาจีนฉายขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ชายตรงหน้าอธิบายข้อมูลของแผนที่ชิ้นสำคัญที่เขียนชื่อบนหัวว่า ‘แผนที่ย่านการค้าเส้นทางนครหลวงสยาม’ เป็นแผนที่กรุงเทพฯ เน้นพื้นที่ย่านสำเพ็งเป็นหลัก ซึ่งเขาเจอภาพในหนังสือโดยบังเอิญเมื่อสิบปีก่อน โดยมีตำแหน่งบ้านของตัวเองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ ด้านล่างของภาพบอกที่มาว่าต้นฉบับจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ในตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อเห็นดังนั้น เจ็กขายเชือกผู้สนใจประวัติศาสตร์ละแวกบ้านจึงเดินทางไปหาสมบัติล้ำค่าที่เพิ่งค้นพบทันทีในวันถัดมา
นอกจากข้อมูลพื้นฐานที่แผนที่พึงมี เช่น อัตราส่วน ถนนหนทาง และผู้สำรวจ ความน่าสนใจของหลักฐานนี้คือการบอกว่าตีพิมพ์เมื่อปีที่ 13 สาธารณรัฐจีน ตรงกับ พ.ศ. 2467 หรือเมื่อร้อยปีที่แล้ว ชื่อบ้านนามเมืองต่างๆ ที่ปรากฏจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นเรียกขานกัน
ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ชิงเลือนหายจากการรับรู้ของผู้คนไปนานหลายสิบปีแล้ว
“แผนที่นี้ทิศเหนือเป็นทิศตะวันออก วิธีการวางแตกต่างจากปกติ เพื่อความสะดวกของการใช้งาน” ลักษณะที่ผิดแผกไปจากแผนที่ปกติก็เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกว่าแผนที่นี้สร้างขึ้นมาสำหรับชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อสัญจรทางน้ำมายังเมืองที่ไม่คุ้นเคย ขึ้นมาจากเรือก็กางแผนที่เพื่อนำทางได้เลยโดยไม่หลงทิศ เพราะกำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ด้านล่างสุด
หากเทียบ Google Maps กับหน้าตาของย่านชาวจีนเมื่อร้อยปีก่อนไม่แตกต่างมากนัก มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมค่อนข้างสมมาตร ประกอบด้วยถนนล้อมสี่ด้าน ได้แก่ เจริญกรุงทางเหนือ ทรงวาดทางใต้ ราชวงศ์ทางซ้าย และทรงสวัสดิ์ทางขวา โดยมีถนนเยาวราชและซอยวานิช 1 วางตัวขนานกันอยู่ตรงกลาง พร้อมกับตรอกซอยจำนวนมากเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายทั่วเมืองขนาดย่อม
วันนี้กลายเป็นว่าถนนเยาวราชมีความคึกคักกว่ามาก รถราวิ่งขวักไขว่ โด่งดังไกลเรื่องของกิน ขณะที่ซอยวานิช 1 อีกเส้นเลือดใหญ่ของย่าน เป็นเพียงถนนคนเดิน เมื่อตกค่ำก็เงียบเหงา ร้านรวงปิดสนิท ทั้งที่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อกันว่านี่คือถนนสายหลักของชุมชนชาวจีนที่สามารถย้อนอายุกลับไปได้ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวจีนทั้งผู้ค้า ผู้ขาย และผู้อาศัยมาหลายยุคสมัย
ถึงแม้เส้นทางของซอยจะมีระยะทางประมาณกิโลหน่อยๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากแผนที่เมื่อศตวรรษก่อน ทว่าชื่อเรียกที่กำกับไว้ตลอดทางในแผนที่เก่า แทนที่จะเป็นคำว่าวานิช 1 กลับเป็นตัวอักษรจีนหลากหลายคำที่เขียนเบียดเสียดกัน บ่งบอกชื่อแต่ละย่านและตรอก ไล่เรียงจากหัวถึงท้ายซอย
“ถ้าสังเกตตามถนนต่างๆ จะเห็นว่ามีชื่อเรียกเป็นโซน” เจ็กสมชัยให้ข้อมูล พร้อมกับบอกชื่อของย่านต่างๆ ที่ปรากฏบนแผนที่
ไม่ว่าจะเป็นตรอกข้าวสาร ตรอกปลาเค็ม ตรอกโรงโคม ตรอกมุ้ง ตรอกเครื่องสาน ตรอกดีบุก ตรอกโรงกระทะ ฯลฯ
วานิช 1 เส้นทางสายสำคัญของชุมชนชาวจีนในไทย
‘เรื่องรัฐบาลประกาศให้แก้ไขชื่อถนนสำเพ็งเป็นถนนวานิช-ถนนมีประวัติกว่าหนึ่งร้อยปีของถนนสำเพ็ง ประกาศให้แก้ไขชื่อเป็นถนนวานิช แปลว่าธุรกิจการค้า จากนี้เป็นต้นไป ถนนคนเดินนี้ขอให้แก้ไขชื่อทั้งหมด’
จากประกาศนี้ทำให้ชื่อเรียกซอยในภาษาจีนแต้จิ๋วต่างๆ นานาค่อยๆ อันตรธานหายกลายเป็นภาษาไทย มีหลักฐานเป็นประกาศบนหน้าหนังสือพิมพ์จีนช่วงทศวรรษ 2490 หรือระยะเดียวกับที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกคำสั่งกลืนจีนเป็นไทยตามนโยบายชาตินิยม และนี่คงเป็นเหตุให้บรรดาชื่อบ้านย่านตลาดต่างๆ ทยอยหายไปจากการรับรู้
อย่างตรงข้ามร้านขายเชือกก้วงเฮงเส็ง ซึ่งเป็นตรอกแรกที่ปรากฏในแผนที่หากนับถัดจากปากซอยบริเวณถนนทรงสวัสดิ์เข้ามา ชื่อเดิมไม่เหลือใครที่รู้จักแล้ว
“ในกูเกิลคุณจะเห็นว่าชื่อตรอกสมชัย ชื่อจีนจริงๆ ชื่อตี่ฮัวโกย (智華街) แปลว่าปัญญางดงาม แต่ชื่อนี้สาบสูญไปแล้ว คนที่เคยบอกเจ็กก็ตายไปแล้ว เจ็กเลยแก้ในกูเกิล แล้วเอาชื่อเจ็กใส่ไป” พ่อค้าขายเชือกเล่าด้วยอารมณ์ขันด้านหน้าตรอกที่ตั้งชื่อเองกับมือ
แต่ถ้าเรียกอย่างกว้างๆ ตามแผนที่ บริเวณนี้เคยเป็นที่รู้จักกันในนาม บีโกยบ้วย (米街尾) หรือท้ายตรอกข้าวสาร ซึ่งตอนนี้จากห้องแถวของคนจีนก็แปรสภาพกลายเป็นกิจการอัญมณีของชาวแขกเสียส่วนใหญ่
สังเกตให้ดีจะพบว่าความกว้างของซอยวานิช 1 ตรงย่านท้ายตรอกข้าวสารมีขนาดใหญ่กว่าส่วนที่อยู่ถัดไปแบบครึ่งต่อครึ่ง จนเหมือนอาคารกินเข้ามากลางซอย เจ็กสมชัยเล่าว่า สาเหตุมาจากไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2449 ไล่ๆ กับเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่จนทำให้เกิดถนนทรงวาด จึงต้องสร้างห้องแถวริมทางใหม่ทั้งแถบจนมีแปลนต่างจากอาคารที่เก่ากว่า และเขยิบถนนให้กว้างกว่า
“ทุกวันนี้ปีหนึ่งจะมีสักคนหนึ่งที่เรียกชื่อตรอกข้าวสาร ถ้าถามว่าร้านไหนขายข้าวสารก็ไม่มีใครตอบได้ เจ็กก็ยังหาไม่เจอ แต่เมื่อก่อนอาจจะมีโรงข้าวสารเลยเรียกว่าตรอกข้าวสารก็ได้”
ร้านขายข้าวสารร้านสุดท้ายคงปิดไปนานแล้ว ทว่ายังหลงเหลือเป็นชื่อตรอกข้าวสารมากระทั่งปัจจุบัน ส่วนซอยที่อยู่ตรงข้ามกันคือตรอกสะพานญวนที่ทะลุไปถนนทรงวาดได้ เป็นอีกเบาะแสบอกถึงกลุ่มคนที่เคยอยู่อาศัย แม้ไม่เหลือชาวเวียดนามในบริเวณนี้แล้วก็ตาม
“เดิมทีเป็นชุมชนคนเวียดนามที่ประกอบอาชีพทำแหขาย” เจ็กสมชัยเสริมข้อมูล
สองเท้าเดินก้าวต่อไม่เท่าไร บรรยากาศก็เปลี่ยนไปจากทางที่เดินสะดวก กลายเป็นความแออัดข้างทางที่มากขึ้น ร้านรองเท้าทุกรูปแบบแขวนกันริมทาง จนวันนี้หากเรียกว่าย่านขายรองเท้าคงไม่ผิดนัก
เจ็กสมชัยพาเรามาหยุดที่ตรงสี่แยกตรงจุดตัดระหว่างซอยวานิช 1 กับซอยเยาวพานิช ที่เชื่อมตั้งแต่ถนนทรงวาดไปจนถึงถนนแปลงนาม และชวนสังเกตความโค้งของถนน ร่องรอยของคลองเก่าที่ถูกถมไปเมื่อความต้องการใช้คลองน้อยลง และการสัญจรทางบกมีความสำคัญขึ้น
“ลองสังเกตดู ลักษณะของคลองจะต้องโค้ง ตรงนี้ค่อนข้างจริงเพราะโค้งเป็นตัวเอส (S) ถ้าเจอถนนที่โค้งมากๆ ประเมินระดับที่หนึ่งคือเคยเป็นคลอง”
ไกด์กิตติมศักดิ์ยังเล่าว่า ตรงนี้เคยเป็นย่านสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ คือตรอกโรงกระทะ โดยมี ‘เจ้าสัวเตากระทะ’ หรือพระยาอินทรอากร (อิน) นายอากร โรงบ่อนเบี้ยและขาใหญ่ประจำย่าน มีบ้านอยู่แถวนี้และมีกิจการใหญ่โตจนต้องหุงข้าวด้วยกระทะเพื่อเลี้ยงบริวาร ทำให้ได้ฉายาว่าเจ้าสัวโรงกระทะนั่นเอง นอกจากนี้ยังเคยเป็นบ้านของเจ้าจอมมารดาสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 5 ด้วย
พ่อค้าเชือกนำเดินต่อเข้าสู่ย่านปลาเค็มหรือเกี่ยมหื่อโกย (咸魚街) ในอดีตเป็นแหล่งค้าปลาเค็มใหญ่ คลุ้งไปด้วยกลิ่นเค็มเฉพาะตัว และบนพื้นวางหลัวใส่ปลาอยู่ทั่วบริเวณ เป็นเส้นพรมแดนจากกลิ่นที่บอกว่าล่วงเข้าสู่ย่านนี้แล้ว
“แต่ยุคเจ็กเป็นเรื่องของใบชา ร้านขายยา และโพยก๊วน” เขาเล่าต่อถึงการเปลี่ยนแปลงของย่านเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน ที่สะท้อนภาพสังคมคนจีนในขณะนั้น คือต้องการแค่ส่งเงินกลับบ้านที่เมืองจีนและรักษาโรค
หลายสิบปีให้หลัง กลิ่นปลาเค็มหายไป เช่นกันกับกลิ่นร้านยาจีนที่ไม่เหลือแล้ว เพราะร้านค้าสองข้างทางเปลี่ยนเป็นขายสินค้าจิปาถะตามแบบฉบับสำเพ็ง
ตรอกแคบด้านข้างย่านปลาเค็มชื่อว่า ตรอกชัยภูมิ แม้จะดูวกวนแต่เส้นทางนี้สามารถเดินไปออกโรงเรียนเผยอิงริมถนนทรงวาดได้ด้วย ด้านในตรอกแวดล้อมห้องแถวสูงตระหง่านเรียงราย หน้าตาคล้ายกันหลายหลัง เรียกกันลำลองว่า ‘ตึกสิบห้อง’ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีไฮไลต์คือลวดลายแกะสลักไม้ตามชายคาของบ้านอันงดงาม มองผิวเผินจากด้านหน้าไม่คิดว่าจะมีขุมทรัพย์ล้ำค่านี้อยู่ด้านใน
เจ็กสมชัยบอกว่า ตรอกนี้ยังมีชื่ออื่นๆ ที่คนเรียกกันคือ ตรอกเตา และตรอกแตง ซึ่งชื่อหลังปรากฏอยู่ในนิราศตลาดสำเพ็ง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นเมื่อร้อยปีก่อน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าสัวติก คหบดีชาวจีนที่มีบ้านอยู่ริมน้ำตั้งแต่ก่อนตัดถนนทรงวาด และเป็นผู้ริเริ่มสร้างตึกแถวในตรอก รวมถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เซี้ยอึ้งกง) ศาลเจ้าโบราณที่ยึดเหนี่ยวใจของผู้คนในท้องถิ่น
หนึ่งในสัญลักษณ์คู่กับชาวจีนที่คุ้นตากันคือโคมสีแดงสด สัญลักษณ์มงคลที่ใช้ประดับในวันสำคัญต่างๆ ทว่าโคมในสมัยนั้นถูกนำมาใช้ให้แสงสว่างในชีวิตประจำวันและเทศกาลที่จัดขึ้นตอนกลางคืน
ดังนั้นหากถามว่าความนิยมใช้โคมในหมู่ชาวจีนครั้งอดีตมีมากขนาดไหน ดูได้จากการมีตรอกที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำโคมโดยเฉพาะ
“เต็งลั้งโกย (燈爖街) ตรอกโรงโคม หรือซอยอิสรานุภาพ เวลาเข้าไป เขาขายโคมจริงๆ มีโคมเต็มเลย ในภาพเก่ายังพอมี แต่รุ่นเจ็กเหลือสามสี่เจ้า
“ความสำคัญของโคมคือสมัยนั้นไม่มีไฟ สังเกตว่าทำไมงานหง่วนเซียวหรือไหว้พระจันทร์ต้องมีโคมเป็นสัญลักษณ์ จริงๆ ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ แต่เพราะมันมืด ไม่มีไฟ” นักประวัติศาสตร์ของย่านเฉลยที่มาชื่อตรอก ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ตรอกที่หลงเหลือชื่อเป็นป้ายภาษาไทยคอยบ่งบอก
อีกตรอกสำคัญของสำเพ็งคือ ตรอกเต๊า ที่เจ็กให้นิยามเป็นพิเศษว่า ‘ซอยร้อยชื่อ’ เพราะแต่ละช่วงมีคำเรียกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นซอยเปาประสิทธิ์, ซอยเยาวราช 15, ตรอกโรงเขียน และซอยอาเนี้ยเก็ง (阿娘宮)
“คนแถวนี้เรียกว่าซอยอาเนี้ยเก็งเพราะมีศาลเจ้าอยู่ คนไทยเรียกว่าตรอกโรงเขียนเพราะมีโรงโสเภณีที่มีวาดรูป เป็นซ่องโสเภณีบริการดีๆ พอข้ามทรงวาดไปแล้วชื่อซอยเปาประสิทธิ์ มาจากชื่อเจ้าสัวเปา และตรงเยาวราชเรียกว่าตรอกเต๊า”
เจ็กสมชัยให้ทัศนะถึงการเรียกชื่อตรอกหลากหลายว่าคงเกิดจากสองปัจจัยคือ กลุ่มคนและระยะเวลา เป็นไปได้ว่าเป็นชุมชนที่มีทั้งคนจีนและคนไทยอาศัยร่วมกัน และคงเป็นซอยที่มีอายุเยอะแล้ว “เชื่อว่าเป็นซอยเก่าแก่ที่สุดซอยหนึ่ง เพราะจุดหมายอยู่ที่วัดพลับพลาชัยหรือวัดโคก ซอยนี้อาจมีก่อนคนจีนมาอยู่ด้วยซ้ำ และใช้เป็นเส้นทางจากแม่น้ำไปสู่วัด”
“ข้างหน้าเป็นสะพานหินคลองวัดสามปลื้ม จีนเรียกเด๊กบิโกย (竹篾街) เป็นชื่อโซนนี้ มีคนอยู่ริมคลอง คือคลองที่มีทางเดินไม้ข้างๆ พอถมไปแล้วก็เป็นเหตุที่เรียกว่าคลองถม” บริเวณใกล้วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม) เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนว่าเด๊กบิโกยหรือย่านเครื่องจักสาน ซอยวานิช 1 ตรงนี้มีลักษณะเป็นทางตรงมองไปได้ไกลจนเกือบสุดถนน คงเป็นเส้นทางที่ตัดเพิ่มใหม่ในยุคหลังเมื่อชุมชนชาวจีนขยายมาเพิ่ม
“ตรงนี้จะเริ่มเรียกว่าถนนตรงอีกที่หนึ่ง ถนนตรงเพราะว่าพอปล่อยให้คนจีนมาอยู่ แถวนี้ไม่มีคนมาอยู่เพราะเป็นที่วัด แต่สมัย ร.4 มีการพูดถึงว่าคนมาจับจองกันเต็มไปหมดแล้ว” นอกจากการเป็นที่วัด อีกเหตุผลหนึ่งคือบริเวณนี้ใกล้กับเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ในแผนที่เก่าระบุว่าบริเวณนี้คือบ้านของขุนนาง ซึ่งคงทำให้ชาวจีนไม่กล้าเข้ามาตั้งบ้านเรือน กระทั่งภายหลังจากสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริง การค้าขยับขยาย จึงกลายเป็นตลาดใหญ่ในที่สุด
“ตอนนี้หมดระยะแล้ว เวลาเจ็กมาเดินกับเพื่อนจะขอหยุดตรงนี้ ไม่ทำเกินบ้านเจ็ก เจ็กพูดเสมอว่าพื้นที่คนอื่น ให้คนอื่นเขาทำ” เจ็กสมชัยหันมาพูดกับเราบริเวณกลางสะพานหัน เกือบสุดซอยวานิช 1 ในอีกไม่กี่สิบเมตรข้างหน้า เป็นการจบเส้นทางสำรวจตรอกต่างๆ ในคราวนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วระหว่างทางยังมีตรอกเล็กตรอกน้อยอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง
ชื่อตรอกเก่าเหล่านี้แทบไม่หลงเหลือใครรู้จัก มีซอยชื่อเยาวราชตามด้วยตัวเลขมาแทนที่ และอีกมากกลายเป็นซอยไร้ชื่อ หายไปจากทรงจำของย่าน
ถึงแม้ดูเป็นพลวัตที่เปลี่ยนผันตามวันเวลา แต่สิ่งที่เสียไประหว่างทางกลับมีนานัปการ เพราะหากนำชื่อซอยต่างๆ มาพล็อตจุดในแผนที่ จะพบว่าสำเพ็งคือเมืองเล็กๆ ที่มีกิจการและผู้ประกอบการที่ครบครัน ชาวเมืองสามารถซื้อหาของที่พอแก่การดำรงชีวิตได้โดยที่อาจไม่ต้องออกไปนอกเมืองเลยก็ได้
“เห็นเมืองไหม น่าเสียดายที่เสียความเป็นตัวตนของเราไป” เจ็กสมชัยชวนมองสำเพ็งที่เราไม่เคยเห็น
‘ดอกไม้ไม่ได้บานร้อยวัน’
สำนวนที่ลูกหลานจีนอาจเคยได้ยินอากงอาม่าในบ้านพูด ช่วยตอบคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับชื่อย่านเก่าในสำเพ็งทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ใช่ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเลวร้ายเสมอไปในมุมมองของเจ็กสมชัย
“สำเพ็งของเจ็กกับคุณคือคนละเมือง ทุกอย่างเป็นไดนามิกขับเคลื่อนกัน เรามองเห็นการเติบโตจริงๆ เห็นความรุ่งเรือง และสำคัญคือเห็นความเสื่อมถอย โดยเราจะป้องกันการเสื่อมถอยได้จากการดูอะไรพวกนี้ เช่น มีซอยโรงขยะอยู่ตรงนี้ ปัญหาขยะเป็นอย่างไร
“ถ้าสนใจเมืองจริงๆ ปัญหาทั้งหมดที่เราพูดถึงไม่ใช่ไม่เคยมี มันมีมาหมดแล้ว แต่เราต้องเห็นทุกมิติทั้งมุมดีและไม่ดีของมัน” พ่อค้าเชือกสรุปรวมเรื่องราวให้ฟังริมคลองโอ่งอ่าง โซนสุดท้ายของย่านที่เขาเรียกว่าบ้าน