จากภาพบรรยากาศเตียงโรงพยาบาลสนามในไทยที่ถูกแชร์ให้เห็นบนโลกโซเชียล ชวนให้ความรู้สึกเหมือนเข้าค่ายลูกเสือ ไม่มีผนังกั้นความเป็นส่วนตัว ไม่มีแบ่งโซนหญิงชายชัดเจน และสิ่งอำนวยความสะดวกอันน้อยนิด
อาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ หรือห้องน้ำไม่มีไฟฟ้าใช้ แตกต่างจากต่างประเทศอย่าง สิงคโปร์ ฮ่องกง หรืออังกฤษที่จัดสรรเป็นห้องส่วนตัวเล็กๆ วางเตียงมีระยะห่างที่ปลอดภัย ซึ่งนั่นคือสวัสดิการของรัฐบาลที่คนในประเทศเหล่านั้นได้รับ โดยไม่ต้องร้องขอให้ท้อใจ
เราจึงลองใส่ไอเดียหยิบพื้นที่ในประเทศไทยที่น่าสนใจ ด้วยเกณฑ์การออกแบบฉบับ Urban Sketch ของเรา อันดับแรกต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ในการจุคนได้จำนวนมาก และเพียงพอต่อการจัดโซนเพื่อเว้นระยะห่าง ทั้งยังเหมาะกับเคลื่อนย้ายสิ่งของได้คล่องตัว ไปจนถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน เช่น ไฟฟ้า ห้องน้ำ หรือทางเข้า-ออก ซึ่งเหมาะสำหรับสร้างเป็นโรงพยาบาลสนามผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีมาตรฐานครบถ้วนทัดเทียมกับเพื่อนต่างชาติเขาบ้าง
หอศิลป์ | นิทรรศการโควิด-19 ขามาเป็นผู้ป่วย ขากลับเป็นศิลปิน
ยินดีต้อนรับสู่นิทรรศการโควิด-19 พื้นที่แสดงผลงานศิลปะของผู้ติดเชื้อ ถ้า ‘หอศิลป์’ ถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนามจำเป็นจะเป็นอย่างไร
ด้วยโครงสร้างของพื้นที่ขนาดใหญ่ แถมภายในมีการแบ่งเป็นห้องนิทรรศการเล็ก-ใหญ่ สามารถแยกเป็นห้องรักษาผู้ป่วยย่อยๆ ไล่เรียงไปตามอาการตั้งแต่น้อย ปานกลาง ไปจนถึงรุนแรง เรียกว่าแบ่งเป็นสัดส่วนเพื่อให้แพทย์ติดตามอาการได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นข้อดีของหอศิลป์ คือการปรับและควบคุมอุณหภูมิให้พอดีต่อผู้ป่วยได้เหมาะสม เพราะฟังก์ชันเดิมมีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อเก็บรักษารูปไม่ให้เสื่อมสภาพ
หากคนที่ติดเชื้อมีภาวะหดหู่หรือสิ้นหวัง ศิลปะก็สามารถเป็นตัวช่วยชั้นเยี่ยม ที่จะบำบัดจิตใจพวกเขาให้สดชื่น อย่างการทำกิจกรรมวาดรูป ระบายสีน้ำ หรือสร้างประติมากรรมมาสเตอร์พีซ ซึ่งนำไปประมูลเพื่อสร้างรายได้สมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลนได้
และหลังจากโรคระบาดนี้ผ่านไปแล้ว (ซึ่งไม่รู้ตอนไหน) หอศิลป์ก็สามารถนำชิ้นงานของผู้ป่วยมาจัดแสดง สะท้อนถึงเรื่องราวในสถานการณ์โควิด-19 ที่เราทุกคนร่วมเผชิญมาด้วยกัน เพื่อให้คนตระหนักถึงอีกด้วย
ศาลาวัด | ป่วยกาย แต่ต้องไม่ป่วยใจ ขอเข้าสู่ทางธรรม
ทุกวันนี้ได้ยินแต่ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 แสนหดหู่ ไหนจะหาเตียงไม่ได้ วัคซีนก็ไม่ได้ฉีด ผู้ใหญ่บางท่านก็บอกให้ดูแลตัวเองดีๆ นะ ฟังแล้วยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม!
เมื่อจิตใจมันร้อนรน ความคับแค้นมันลุกโชน บางทีการสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยใน ‘ศาลาวัด’ อาจจะทำให้จิตใจของโยมสงบลงได้ แก๊ง! (เสียงตีระฆังในวัด)
เราเลยเล็งเห็นศักยภาพของทำเลของวัด ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนอยู่แล้ว ถึงเวลาคัมแบ็กอีกครั้งด้วยภาพลักษณ์ใหม่ โดยเปลี่ยนศาลาวัด ไว้ใช้สำหรับฟังเทศน์ งานทำบุญ หรือเลี้ยงเพล ซึ่งตอนนี้จัดไม่ได้ ให้กลายเป็นพื้นที่รักษากายและใจในยุค 2021 โดยใช้ฉากกั้นของวัดแบ่งเป็นสัดส่วนชาย-หญิง รวมทั้งหากเกิดเหตุไม่คาดคิด มีผู้เสียชีวิตหรือสิ่งของติดเชื้อก็ทำพิธีทางศาสนาและเผาในเมรุได้ทันที เพื่อทำลายเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่กระจายหนักกว่าเดิม
โรงหนัง | กินป็อปคอร์น นอนดูหนังกักตัวให้ลืมโควิด-19
อยากให้คนไทยไม่เครียดเมื่อเป็นโควิด-19 และมั่นใจที่จะเข้ารับการตรวจรักษาให้หายขาด หากเรามีพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ
ในกรณีของคนต่างจังหวัด ทำให้เรานึกถึง ‘โรงหนัง’ ที่มักกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ อาจจะเป็นตัวเลือกฉุกเฉินเมื่อวันหนึ่งพื้นที่กักตัวไม่เพียงพอ ใครใกล้ตรงไหนไปตรงนั้น แถมยังลดการกระจุกตัวของผู้คนด้วย
จากโครงสร้างโรงหนังที่โดดเด่น มีห้องใหญ่เล็กมากมาย ออกแบบแยกเป็นโซนผู้ป่วยตามอาการได้สะดวก โดยภายในห้องจะแบ่งที่นั่งเป็นขั้นบันได สิ่งนี้จะช่วยสร้างระยะห่างกั้นโดยบริบทของพื้นที่แบบอัตโนมัติ
ลองจินตนาการดูว่า เรานอนกักตัวที่โรงหนัง B1 กำลังฉายเรื่อง La La Land มือถือป็อปคอร์น ร้องเพลงไปกับเอมมา สโตน จบท้ายด้วยทานยาแล้วนอนหลับให้สบายจนหายดี ชีวิตจะแฮปปี้ขนาดไหน
ลานโบว์ลิ่ง | โกรธโควิด-19 ก็โยนลูกโบว์ลิ่งระบายไปก่อน
หากเป็นโควิด-19 ไม่รู้จะระบายความเครียดหรือความเศร้าของตัวเองอย่างไร ลองมาพักโรงพยาบาลสนามที่ ‘ลานโบว์ลิ่ง’ แค้นไวรัสหรือเบื่อหน้าใครก็โยนโบว์ลิ่งให้
สไตรก์ฟาดครบทุกพิน แถมยังได้ฝึกสกิลเล่นโบว์ลิ่งติดไม้ติดมือกลับไปด้วย (ถือว่ายืดเส้นยืดสายสักหน่อย)
จริงๆ แล้วลานโบว์ลิ่งเป็นโครงสร้างสุดเจ๋ง สามารถทำหน้าที่เป็นรางสำหรับรถเคลื่อนที่ส่งอาหารและยาจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้ถึงมือคนไข้ เพื่อลดการสัมผัสกันได้โดยตรง รวมทั้งหน้าจอแสดงคะแนนโบว์ลิ่งช่วงนี้ คงต้องเปลี่ยนเป็นรายงานสเตตัสว่า อาการผู้ป่วยตอนนี้โอเคหรือยัง หรือว่าถึงเวลาแล้ว แอ๊ดๆ (เสียงเตือนดังขึ้น) อย่าลืมทานยาด้วยนะ คนไข้!
โรงเก็บเครื่องบิน | โปรดทานยาและห่มผ้านอน เพราะสายการบินนี้จะส่งคุณให้หายดี
หลังเกิดโควิด-19 ขึ้น ธุรกิจสายการบินเรียกว่าเป็นอัมพาตทันที เราจึงเกิดไอเดียแปลงโฉม ‘โรงเก็บเครื่องบิน’ เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย เพราะเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ จุคนได้มากกว่า 100 คน ง่ายในการออกแบบระบบเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้เป็นระเบียบ
ยิ่งไปกว่านั้นตัวเครื่องบินเก่าก็สามารถรีโนเวตเป็นพื้นที่รักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจจะแบ่งอาการตามชั้นที่นั่งของสายการบิน เช่น อาการเบาอยู่ในชั้น Economy Class เริ่มมีอาการปานกลางต้อง Business Class แต่ถ้าถึงขั้นวิกฤตต้องรีบเช็กอิน First Class ด่วนจี๋! (ไม่รู้ว่าควรดีใจไหมที่ได้นั่งราคาแพงในสถานการณ์แบบนี้) ก่อนที่จะโคม่าหนักต้องแอดมินเข้า ICU
สนามกีฬา | จัดงานแข่งไม่ได้ แต่จัดพื้นที่ให้คุณรอดจากโควิด-19 ได้
การเข้ามาของโควิด-19 ระลอก 3 เรียกว่าศึกนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก เพราะมีคนติดเชื้อมากกว่าเมื่อก่อน จึงต้องรีบหาพื้นที่รองรับคนจำนวนมาก และเคลื่อนย้ายคนได้อย่างคล่องตัว จึงทำให้นึกถึง ‘สนามกีฬา’ ด้วยพื้นที่สนามกีฬาขนาดใหญ่ ออกแบบโครงสร้างโรงพยาบาลสนามแบบครบวงจรได้ง่ายกว่าพื้นที่ประเภทอื่น
พื้นที่ภายในจะพิเศษกว่าด้วยโซนวิจัยและทดลอง โซนตรวจคัดกรองคนไข้ โซนเก็บอุปกรณ์ โซนรักษาผู้ป่วยแบ่งตามอาการน้อย ปานกลาง และรุนแรง รวมทั้งแยกเป็นแหล่งที่พักผู้หญิงและผู้ชายก็ทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังง่ายต่อการสื่อสาร เหมือนเวลาจัดงานคอนเสิร์ต อ้าว! โซนสีเหลืองขอเสียงหน่อย ทานยาด้วยจ้า ฮิ้ว!
Sources :
BBC News | https://1th.me/Eyq6F
MGR Online | https://1th.me/HcJqa
ประชาชาติธุรกิจ | https://1th.me/h2GYo