คุยเรื่องสมรสเท่าเทียมกับคนจัดม็อบ LGBTQ+ - Urban Creature

แม้หลายคนพร่ำบอกว่าประเทศไทยเฟรนด์ลี่กับ LGBTQ+ มาก แต่เชื่อไหมผ่านมาหลายสิบปี รัฐไทยยังไม่เคยคุ้มครองสิทธิที่พวกเขาจะรักกันได้อย่างเท่าเทียมเลยสักครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสองปีก่อนในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 เรายังจดจำบรรยากาศและกิจกรรมของ ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ได้ดี ในฐานะที่เป็นม็อบที่มีสีสันมากที่สุด มีลูกล่อลูกชนมากที่สุด และครีเอทีฟที่สุดในประวัติศาสตร์การชุมนุมของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งการต่อบทหนังเรื่อง ‘หอแต๋วแตก’ ที่บิดเอารายละเอียดประเด็นปัญหาทางการเมืองไทยมาสื่อสารอย่างลงตัว การใช้เพลงฮิตในชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การแสดงออกอย่างเสรีผ่านเสื้อผ้าหน้าผมของผู้ชุมนุมที่สดใสจัดจ้าน การปรากฏของธงรุ้งงขนาดใหญ่โบกสะบัดสง่างามกลางถนน รวมถึงการปราศรัยรสแซ่บถึงรากปัญหาเพื่อเรียกร้องสิทธิและเป็นปากเสียงสื่อสารปัญหาใต้พรมที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญมาแสนนาน กิจกรรมทั้งหมดสร้างสรรค์ได้อย่างมีลูกเล่นชวนอมยิ้ม แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงหลักการอย่างหนักแน่น

เพราะต้องการสนับสนุนจุดยืนของขบวนการประชาธิปไตยเต็มใบ รวมถึงต้องการเรียกร้องและผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงสักที ทำให้ แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ และเพื่อนสมาชิกกลุ่มเสรีเทยพลัส หยิบเอาไอเดียที่ตัวเองเสนอในแฮชแท็กทวิตเตอร์ #ไอเดียออกม็อบ มาเดบิวต์จัดม็อบแรกในชีวิต

แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

ในเวลานั้นประเด็นเรื่องเพศและมูฟเมนต์ #สมรสเท่าเทียม เริ่มมีกระแสพูดถึงอย่างแพร่หลายแล้ว ทว่าเมื่อเกิดม็อบที่โฟกัสถึงสิทธิของคนเพศหลากหลายขึ้น ทั้งยังมี ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล ครั้งที่ 2 และอีกหลายๆ ม็อบตามมา ประกอบกับกลุ่มแอ็กทิวิสต์ที่ต่อสู้เรื่องเพศทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่เริ่มมีพื้นที่ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็ยิ่งเสริมพลังให้การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และขอบเขตบทสนทนาเรื่องนี้ให้ไปไกลกว่าที่เคย

ล่าสุดมูฟเมนต์ #สมรสเท่าเทียม ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างดุเดือดว่า ทำไมรัฐบาลไทยถึงยังไม่ให้ผ่านซะที (วะ) โดยที่แรปเตอร์เองก็ได้ร่วมจัดม็อบสมรสเท่าเทียมในนามเครือข่ายภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ณ แยกราชประสงค์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อล่ารายชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสและมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สมรสเท่าเทียม
ภาพบรรยากาศม็อบ #สมรสเท่าเทียม

เนื่องในโอกาสที่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก และเป็นเดือนที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในไทยจากเหตุการณ์ ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ ที่ได้มีการปิดล้อมสกัดขบวน Gay Pride ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2009 ซึ่งทำให้คนไทยได้เห็นว่า ความหลากหลายยังคงเป็นเรื่องผิดปกติในสังคมที่ปากว่าตาขยิบเรื่องความดีและความเมตตานี้ เราจึงชวนแรปเตอร์มาพูดคุยถึงหัวข้อความรัก ความหวัง ความเท่าเทียม และการดูแลรักษาตัวเองกับคนอื่นในการต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

ถ้าเพียงตั้งใจฟังอย่างไร้อคติทางเพศ เราอาจมองเห็นเจตจำนงของความรัก ที่ควรศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียม และควรได้รับการคุ้มครองโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีเพศแบบไหนก็ตาม

แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

ในขณะที่ประเทศไทยอินกับวันวาเลนไทน์มากๆ แต่ยังมีกลุ่มคนที่ความรักของพวกเขาไม่เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศอยู่มากมาย คุณมองเห็นอะไรในปรากฏการณ์แบบนี้

เรามองว่าทุกความรัก ทุกความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเรื่องที่น่า Celebrate แหละ เราก็ยินดีกับทุกคนด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่คนอาจหลงลืมไปคือความสัมพันธ์ของตัวเรากับสังคม บางทีคนอาจเห็นแค่ตัวเองว่าฉันมีความรักมีความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ฉันมีสิทธิต่างๆ แต่ในความจริงแล้วยังมีคนในสังคมอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสิทธิเหล่านั้น ซึ่งถ้าพูดถึงความรักแบบนี้มันก็เป็นเรื่องของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ยังไม่ได้รับสิทธิแบบคู่รักชายหญิง 

เราคิดว่าเดือนแห่งความรักเป็นเดือนที่สมควรเฉลิมฉลองชีวิตความรักของแต่ละคนน่ะ ถูกต้องแล้ว แต่ก็อย่าลืมคนที่มีความรักแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีความรัก รวมถึงคนที่แค่ฝันจะมีความรักก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะสังคมไม่อนุญาตให้เขามี

คุณกำลังพูดถึงความรักในมุมมองของตัวเรากับสังคม อยากให้ขยายความหน่อยว่ามันสำคัญยังไง

เราอยู่ในสังคมที่ผลักให้เป็นปัจเจกนิยม เพราะการเมืองแย่ เศรษฐกิจก็ล้มเหลว ทำให้การมีชีวิตอยู่ยากพออยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันผลักให้เราเอาตัวเองออกจากสังคม เราใช้ชีวิตในสังคมแต่ไม่เห็นคนอื่นเลย เห็นแต่ตัวเอง สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงคือการที่คนรู้สึกมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างกับคนอื่นๆ ในสังคม ให้เห็นว่าความจริงแล้วเราอยู่ในสังคมนี้ เราไม่ได้รอดเพราะแค่ตัวเราคนเดียว แต่ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างในสังคมที่ทำให้เรามีชีวิตรอดร่วมกัน 

มีคนอีกมากมายในสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราและทำให้ชีวิตเรารอด เกษตรกรทำไร่ทำนาทำสวนทำให้เกิดทรัพยากร และอาหารให้เรากิน หรือกระทั่งพวกพี่โชเฟอร์แท็กซี่ หมอ ครู จะเห็นว่าคนในสังคมต่างหากที่ทำให้สังคมอยู่รอด ไม่ใช่คุณแค่คนเดียวที่อยู่แยกขาดจากคนอื่น 

ม็อบสมรสเท่าเทียม
ภาพบรรยากาศม็อบทะลุฟ้า

เพราะฉะนั้นการแบ่งปันความรักให้คนอื่นๆ และมองเห็นคนอื่นๆ ในสังคมมีความสำคัญ อันนี้ต่างหากเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้าได้ เกิดเป็น Solidarity ในสังคม คุณต้องเห็นก่อนว่าตัวคุณกับคนอื่นมีความสัมพันธ์กัน และเมื่อคุณเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายมากและผูกโยงกันระหว่างคุณกับสังคม ก็จะเกิดสภาวะเห็นอกเห็นใจ เห็นว่าตัวเรามีความสุขได้ เพราะจริงๆ แล้วมีคนอื่นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา

ในขณะเดียวกัน เวลามีความทุกข์เราก็ไม่ใช่คนเดียวที่ทุกข์ มันจะเกิดสภาวะที่เรียกว่า ‘เพื่อนร่วมทุกข์’ สภาวะของความกรุณาเห็นอกเห็นใจกัน เกิดการลุกขึ้นมา Stand up for Something ที่ผลอาจไม่ได้กระทบกับคุณโดยตรงก็ได้ แต่ว่าคนอื่นที่อยู่ในสังคมเขาทุกข์ คุณก็ต้องลุกขึ้นมาเพื่อคนรอบข้างด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อกลับมาที่เรื่องความรัก คุณจะรู้สึกว่าชีวิตรักของคุณสมบูรณ์ หรือสังคมนี้จะอุดมไปด้วยความรักได้เหรอ ถ้ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์รักใครได้อย่างเป็นทางการ

ม็อบสมรสเท่าเทียม
ภาพบรรยากาศม็อบ #สมรสเท่าเทียม

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ทุกคนควรออกมาเรียกร้อง #สมรสเท่าเทียม หรือเปล่า

ใช่ เราคิดว่ามันคือการยืนยันถึงความรักที่คุณกำลังพูดถึงว่ามันเป็นความรักที่จริงด้วยซ้ำ เพราะความรักไม่ได้จำกัดอยู่แค่คุณ หรือผู้ชาย-ผู้หญิง ความรักเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ต้องการมี เพราะฉะนั้นทำไมถึงมีคนแค่กลุ่มเดียวที่ได้รับการยืนยันว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จริง ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นมายืนยันว่าความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นความรักที่จริง และสมควรได้รับการยอมรับเหมือนกัน ความรักของคุณก็ไม่สมควรได้รับการยอมรับว่าจริงเหมือนกัน 

การที่สเตรทออกมาพูดเรื่องนี้แล้วกลัวถูกมองว่าจะไปรักเพศเดียวกันนี่ไม่เกี่ยวเลย เพราะปัญหามันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับคุณโดยตรงก็ได้ อย่างน้อยที่สุดคุณมีเพื่อนกะเทย คุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วคุณจะปล่อยให้เขามีชีวิตแบบนั้นเหรอ

 แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

คุณเป็นยังไงบ้างหลังจากทำงานขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นปีที่ 2 แล้ว เคยคิดไหมว่า จะต้องต่อสู้มาจนถึงตอนนี้

ทุกๆ อย่างในชีวิตเป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่มันจะเกิดมันก็เกิดเลย ตัวเราไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ยังไง แต่คิดว่าที่มาถึงจุดนี้ได้เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวไง ยังมีคนอื่นๆ ที่ซัปพอร์ตเราและทำงานร่วมกัน รวมถึงยังมีความหวังความฝันอะไรบางอย่างร่วมกัน ทำให้เราเดินร่วมกันมาเรื่อยๆ ระหว่างทางก็มีคนออกไปและคนที่เข้ามา เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่แฮปปี้และเสียใจ เรื่องที่รู้สึกว่าทำดีและเรื่องที่ทำผิดพลาด มีทั้งความสุขและความบอบช้ำ 

ใช่ว่าทุกคนจะต่อสู้ได้ตลอด เพราะมีคนที่หายไประหว่างทางเหมือนกัน

ใช่ แต่เป็นเรื่องที่ว่ากันไม่ได้อยู่แล้ว งานตรงนี้ไม่ใช่งานที่มี Commitment อะไร มันคือเรื่องความหวัง ความฝัน และอุดมการณ์ แต่ไม่ได้เป็นอาชีพ การเผชิญความรุนแรงหลายๆ อย่างจากรัฐก็ทำให้เราบอบช้ำ หลายคนไม่ไหวก็ถอยไป 

การถอยไม่ได้แปลว่าเขาทิ้งความฝัน แต่เป็นการไปตั้งหลักหรือหาหนทางที่เขาคิดว่าทำอะไรแล้วจะเป็นประโยชน์กับขบวนการ กับสังคม หรือกับตัวเอง เราคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ที่มีคนถอยหลังออกไป เพื่อว่าในอนาคตเมื่อมีคนเข้ามา แล้วเราโอบอุ้มให้อยู่ด้วยกันนานๆ ได้

อย่างตัวเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะถอยไปเมื่อไหร่ หลังๆ เราก็ถอยไปเยอะ เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ที่ออกหน้าเยอะมาก เพราะก็ต้องเจอกับอะไรหลายๆ อย่าง แต่เราว่าทุกคนต้องหาหนทาง และที่ยืนที่เรามีประโยชน์กับขบวนการด้วย 

ภาพบรรยากาศม็อบ #สมรสเท่าเทียม

เคยกลัวหรือกังวลต่อสายตาคนอื่นที่มองเข้ามาว่าคุณหายหน้าหายตาไปจากขบวนการบ้างไหม

เราว่ามันมีความรู้สึกนี้นะ กับแอ็กทิวิสต์หลายๆ คน เราเชื่อว่าก็เป็น แต่ละคนมันถอยไม่ได้ด้วยความคาดหวังแหละ ไม่ใช่ว่าเขาไม่บอบช้ำ คนที่เผชิญกับความรุนแรงจากรัฐและหลายๆ อย่าง เอาจริงใครไม่บอบช้ำบ้าง แต่ประเด็นคือ เราฝากความคาดหวังกับพวกเขามากไปหรือเปล่า 

อย่างเราอายุ 22 – 23 รุ้ง ปนัสยาอายุ 21 – 22 เพนกวิน พริษฐ์ก็อายุเท่าเรา ผู้คนกำลังเอาความคาดหวัง เอาโลกทั้งใบ เอาการเปลี่ยนแปลงที่ความจริงแล้วเราทุกคนต้อง Stand up เพื่อมันด้วยกันไปฝากไว้กับคนไม่กี่คนหรือเปล่า และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาไม่ไหว จะไม่ให้เขาพักบ้างเลยเหรอ 

ฟังดูแล้วเหมือนการพัก หรือการหายไปจากขบวนการเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควรสำหรับคนในสังคม

คนอื่นๆ อาจไม่ได้คิดแบบนี้นะ แต่คนทำงานคิดเองว่าเรากำลังแบกรับอะไรของคนอื่นอยู่ ซึ่งเราว่าบางทีเรื่องนี้อันตราย บางทีในฐานะนักสู้ เราคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป เราต้องไม่ถอยสิวะ แต่ความจริงไม่ใช่หรอก พอถึงจุดหนึ่งต้องคิดบนฐานที่ว่าต้องทำงานให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าเราเอาตัวเองไปเผาและสาดน้ำมันไปเรื่อยๆ โดยไม่ดูเลยว่าเชื้อเพลิงมึงจะหมดแล้ว วันหนึ่งจะมอดไหม้โดยที่สาดน้ำมันเท่าไหร่ก็ไม่มีไฟขึ้นมา ก็ต้องถอยหลังกลับมาเติมฟืนให้ตัวเองบ้าง ไม่งั้นคุณอยู่ไม่ได้หรอก ในสภาวะที่ต้องเจอความรุนแรงตลอดเวลาอย่างนี้ 

อีกอย่างแต่ละคนมีเงื่อนไขแตกต่างกัน มีเพดานที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน บางคนมีภาระหลายๆ อย่างในชีวิต ไม่ได้มีทรัพยากรมากพอที่จะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นถ้าถามนักกิจกรรมร้อยคนก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันไป แต่เราเชื่อว่าทุกคนมีภาระหน้าที่แบกไว้ในชีวิตแตกต่างกัน 

สำหรับเรา ใครที่จะหยุดพัก เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจได้ ใครจะถอยหลังกลับไปทำงานเบื้องหลังมากขึ้น หรือไม่ทำอะไรอีกต่อไปเลย เป็นเรื่องที่คุยกัน วิพากษ์วิจารณ์กันได้โดยที่ยังเคารพกันอยู่ 

 แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

แล้วครอบครัวว่าอะไรไหมหลังจากที่คุณเคยโดนจับกุมเมื่อวันที่ไปชุมนุมกับหมู่บ้านทะลุฟ้า (28 มีนาคม 2564) และเรียนจบช้าไป 1 ปีเพราะทำงานขับเคลื่อนประชาธิปไตย

เขาไม่ได้ว่าอะไร เคยเบรกแค่ช่วงแรกๆ มากกว่า เพราะออกหน้าเยอะขึ้น แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่เขารู้ว่าเบรกอะไรเราไม่ได้แล้ว เราไม่ได้ฟังเขาขนาดนั้น เขาก็ปล่อยๆ ให้รับผิดชอบตัวเอง (หัวเราะ) ก็มีการบอกให้ดูแลตัวเอง อย่าไปโดน 112 นะ แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้ไง ถ้าเราจะโดนก็ต้องโดน แต่ก็เซฟตัวเอง 

ถ้าให้สรุปการทำงานการเมืองที่ผ่านมา คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

(นิ่งคิด) สิ่งที่เราได้เรียนรู้อย่างชัดเจนมาก คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ต้องอาศัยความอดทนมากๆ เพราะช่วงแรกๆ ด้วยบรรยากาศที่เอื้อให้คิดว่าทุกอย่างกำลังเปลี่ยน แน่นอนว่าทุกอย่างกำลังเปลี่ยนและมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแล้วจริงๆ เช่น การไม่ยืนในโรงหนัง การที่เด็กแทบทุกคนชูสามนิ้ว สลิ่มเด็กกลายเป็นคนส่วนน้อย สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และกาลเวลาหวนกลับไปไม่ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในระยะยาวแน่นอนสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

ตอนนี้พวกเรามีความสามารถมากพอที่จะส่งอิทธิพลทางโซเชียลมีเดียให้กลายเป็นพื้นที่ของพวกเราได้ แต่วัฒนธรรมที่ใหญ่กว่านั้นอย่างระบบอำนาจ เราก็ต้องเรียนรู้ว่ามีความจำเป็นต้องอดทนมากๆ เพราะมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดฝัน และไม่ได้สวยงามหรือโรแมนติกขนาดนั้น ต้องรู้จังหวะเวลา อาศัยโชคและต้องปลุกปั้นโอกาสเป็นเวลานานกว่าจะเจอจังหวะที่เหมาะสมมากพอ

ข้อสองคือการพักผ่อน อย่าขูดรีดตัวเองจนเกินไป เพราะการขูดรีดตัวเองเกินไปเป็นวัฒนธรรมเก่า เป็นระบบทุนนิยมที่ขูดรีดคนทำงาน ต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก ซึ่งความจริงชีวิตคุณก็มีคุณค่ามาก การที่คุณลุกขึ้นมาเป็นนักต่อสู้ไม่ได้แปลว่าชีวิตของคุณจะมีค่าน้อยกว่าใคร คุณเสียสละได้และนั่นคือสิ่งที่น่าชื่นชม แต่คุณต้องมีเวลาให้ชีวิตของส่วนตัวด้วย ไม่งั้นจะมีแรงต่อสู้ได้ไม่นานหรอก 

และสามคือชีวิตของทุกคนมีคุณค่า สำหรับการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เรากำลังทำเพื่อให้ชีวิตคนดีขึ้น หลายครั้งเราอาจลืมตรงนี้ ไปมองว่าอีกฝั่งคือความชั่วร้าย เราต้องทำลายความชั่วร้ายนั้น เราว่าไม่ใช่ จุดมุ่งหมายสูงสุดของเราคือการทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น ไม่ใช่การเป็นพระเอกไปทำลายความชั่วร้าย ถ้าเกิดระหว่างทางหลายๆ อย่างทำให้เรามองข้ามชีวิตคนไป อันนี้เป็นสิ่งที่อันตราย เพราะทุกคนมีความสัมพันธ์กันในทางสังคม เราต้องไม่มองข้ามชีวิตของใคร และทำยังไงก็ได้ให้ชีวิตของคนดีขึ้นในระดับโครงสร้าง ต้องมีความรักให้แก่ผู้คน

 แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

ต่อให้อีกฝั่งเป็นคนที่เห็นตรงข้ามกับเราด้วยใช่ไหม

(นิ่งคิด) เราอาจไม่ยุ่งกันในแง่ความสัมพันธ์ก็ได้ กูอาจจะเกลียดมึงก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนเหมือนกัน ถ้าไม่ใช่ผู้มีอำนาจ เขาก็เป็นคนที่ยากดีมีจนถูกกดขี่เหมือนเรา สุดท้ายเป้าหมายของเราคือการทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นด้วยเหมือนกัน เราอาจไม่ต้องรักเขาแบบกอดกัน หรือฉันรักเธอก็ได้ เพราะทำไม่ได้หรอก (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยก็เห็นว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เผชิญความทุกข์จากระบบโครงสร้างอะไรเหมือนกับเรา สุดท้ายมันต้องดีขึ้นทั้งสังคม 

ตั้งแต่จัดม็อบตุ้งติ้งฯ จนถึงม็อบล่าสุดอย่างม็อบสมรสเท่าเทียม คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เราคิดว่าเรื่องการพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่ใช่แค่ LGBTQ+ ถูกพูดถึงกว้างขึ้นในสังคมอย่างเห็นได้ชัด จากตอนที่เราจัดม็อบก็มีกระแสพูดถึงแล้วแหละ แต่ตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวไปโดยปริยาย เห็นธงรุ้งในทุกการเคลื่อนไหว มีนักกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในการต่อสู้มากขึ้น เหมือนความเท่าเทียมทางเพศเป็นคุณค่าที่คนในขบวนการพยายามฝึกฝนให้มีในเนื้อตัว เราคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ การลงชื่อสมรสเท่าเทียมก็ได้เกือบสามแสนกว่ารายชื่อ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการต่อสู้เช่นกัน 

แน่นอนว่าคนที่ยึดกุมอำนาจก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่สมาทานอำนาจนิยม เผด็จการ และปิตาธิปไตย แต่คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็มากขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกพูดถึงมากขึ้นทุกวัน ถือว่าพวกเรามาถูกทางแล้ว ต้องทำงานกันต่อไป อย่างล่าสุด พี่ต้น ศิริศักดิ์ ถูก สมาคมฟ้าสีรุ้งฯ ขู่ฟ้องคดีหมิ่นประมาท แต่สุดท้ายก็ประกาศถอนฟ้องแล้ว มันเกิดจากการที่พวกเรา Stand up เพื่อพี่ต้น บวกกับความกล้าหาญของพี่ต้นที่ลุกขึ้นมาสู้ไม่ถอย ยืนยันสิทธิของตัวเอง มีคนลงชื่อคัดค้านการฟ้องร้องพี่ต้นถึง 700 รายชื่อ หลายๆ คนไม่ใช่คนในคอมมูนิตี้หรือทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วยซ้ำ แต่เพราะทุกคนเห็นว่านี่คือ Solidarity 

เราไม่ได้มองเห็นแค่ตัวเราคนเดียว ประเด็นการเมืองที่เราทำไม่ได้มีแค่อย่างเดียว หลายๆ ประเด็นในสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ สถาบันกษัตริย์ ความเท่าเทียมทางเพศ ชาติพันธุ์ ฯลฯ สุดท้ายมันคือสภาวะของความทุกข์ที่เราประสบร่วมกันในสังคม แล้วเราจะปล่อยให้เพื่อนของเราสู้อย่างโดดเดี่ยวได้ยังไง

 แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

คุณเคยบอกว่า เกิดมาทั้งทีอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับโลก ในตอนนี้ยังคิดแบบนี้อยู่ไหม 

เรายังคิดแบบนั้นอยู่นะ และเห็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ทำได้และอาจยังไม่ได้ทำ อาจมองมากขึ้นว่าแล้วเราทำอะไรได้อีกบ้าง บางทีการทำอะไรให้โลกไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากมาย ไม่ต้องเป็นเรื่องที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ได้ เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสทำสิ่งนั้น แค่คุณทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของใครสักคนหรือสักกลุ่มในสังคมดีขึ้น ก็เป็นการทำอะไรเพื่อโลกแล้ว แต่มันต้องไม่ใช่ในลักษณะของการทำบุญทำทาน เราต้องมุ่งไปที่การท้าทายระบบของสังคมที่กดขี่คนเหล่านี้ ทำยังไงให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ให้สุดท้ายแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคนเสียสละมาทำอะไรแบบนี้อีก เพื่ออยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีความสุขได้

คุณยังมีความหวังอยู่ใช่ไหม ถ้ามีหวังมันยังเท่าเดิมหรือเปล่า 

พยายามอยู่ค่ะ (นิ่งคิด) เรายังมีความฝันและความหวังเหมือนเดิมนะ แต่ความเจ็บปวดและความบอบช้ำมันมากขึ้น อย่างตอนแรกเรามองว่าเส้นชัยอยู่แค่ตรงนี้ แต่ลืมไปว่าต้องวิ่งหลายรอบ ไม่ใช่การวิ่งร้อยเมตร หนทางยังอีกไกลมาก ก็เจ็บขาบ้าง ตะคริวกินบ้าง สะบักสะบอม เป็นเรื่องปกติ แต่ยังไม่ได้หมดไฟหรอก แค่การเผชิญกับความรุนแรงหลายๆ ทางมันทำให้เราเหนื่อยและเจ็บปวด เราได้เห็นโลกที่เป็นจริงมากขึ้น เหมือนเราเดินกลางทะเลทราย เจอโอเอซิสที่เป็นแค่ภาพลวงตาเฉยๆ แต่ก็ต้องเดินต่อ 

คนเราจะเลิกสู้ ถ้าไม่มีความหวัง ถ้ายังสู้อยู่แปลว่าคุณยังมีความหวังกับบางสิ่ง เราไม่รู้ว่าคุณมีความหวังกับอนาคตไหม แต่อย่างน้อยคุณมีความหวังกับคนใกล้ตัว มีความศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ที่ยังลุกขึ้นมาสู้ด้วยกัน แค่นี้ก็เป็นความหวังที่ทำให้เราเดินต่อได้ ช้าลงบ้าง หยุดบ้างแต่ยังทำให้เราไปต่อ

 แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ

ถ้าปีนี้สมรสเท่าเทียมผ่าน คุณจะทำอะไรต่อไป

เรามองว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่สมรสเท่าเทียมเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อย่างคำนำหน้าชื่อ สิทธิของการข้ามเพศ สวัสดิการฮอร์โมน และอื่นๆ เรื่องที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ตัวเราเองไม่สามารถให้สัญญาได้ว่าจะอยู่ถึงเมื่อไหร่ ทุกคนมีเส้นทางชีวิตของตัวเอง เราอาจไปต่อยาวๆ หรือหยุดพักและหายไประหว่างทางก็ได้ แต่เราจะทำเท่าที่ทำได้ และถ้าลงมือทำแล้ว ต้องเกิดประโยชน์มากที่สุด 


ร่วมเข้าลงชื่อเสนอ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อความรักที่หลากหลายสวยงามของทุกคน และคู่สมรสทุกเพศมีโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐที่เป็นของ ‘คู่สมรส’ ได้ที่ www.support1448.org

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.