Sick Building Syndrome โรคตึกเป็นพิษ - Urban Creature

การอาศัยอยู่ในเมืองหลวงประเทศไทย ก็เหมือนการใช้ชีวิตในกล่องสี่เหลี่ยมหลายๆ กล่อง ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละช่วงเวลา 

ตั้งแต่การตื่นนอนในห้องสี่เหลี่ยมบนตึกสูง การเดินทางด้วยรถรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าระหว่างวัน เพื่อย้ายตัวเองไปยังห้องทำงานสี่เหลี่ยมไซซ์เล็กใหญ่ใจกลางเมือง หรือแม้แต่ไปเดินห้างสรรพสินค้าทรงเหลี่ยมที่กระจายตัวอยู่แทบทุกหัวมุมถนน

จะว่าไปแล้ว ในแต่ละวันที่เราต้องเปลี่ยนห้องสี่เหลี่ยมไปเรื่อยๆ มีสถานที่ไหนบ้างไหมที่เมื่อคุณเข้าไปทีไรก็จะรู้สึกปวดศีรษะ เวียนหัว คลื่นไส้ ระคายเคืองตา จมูก ผิวหนัง หรือคอจนเกิดอาการไอแห้งไปซะทุกครั้ง

หากคุณตกอยู่ในอาการเหล่านี้ทุกครั้งที่เข้าไปในสถานที่เดิมๆ คุณอาจกำลังเผชิญอยู่กับ ‘Sick Building Syndrome’ หรือ ‘โรคตึกเป็นพิษ’ อยู่ก็ได้นะ

Sick Building Syndrome

Sick Building Syndrome อาการป่วยของคนในเมืองใหญ่

‘Sick Building Syndrome (SBS)’ หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘โรคตึกเป็นพิษ’ เป็นกลุ่มอาการที่ปรากฏครั้งแรกในช่วงปี 1970 และถูกบันทึกลงในรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 1984 เพื่ออธิบายผู้ป่วยที่มักมีอาการไม่สบายอย่างเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ ระคายเคืองตา จมูก หรือลำคอ จาม มีน้ำมูก คันตามผิวหนัง หน้ามืด คลื่นไส้ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน รวมไปถึงอาการแพ้จะกำเริบมากขึ้นในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้าไปภายในอาคารบางแห่ง โดยอาจเป็นเฉพาะบางส่วนของอาคารหรือทั้งตัวอาคารก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักดีขึ้นเมื่อออกจากสถานที่ดังกล่าว 

ซึ่งในปี 1984 WHO พบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมักอาศัยหรือทำงานอยู่ในตัวอาคารที่เพิ่งสร้างเสร็จหรือทำการปรับปรุงใหม่ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะ ‘คุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality : IAQ)’ ที่หมายความรวมถึงคุณภาพของอุณหภูมิ ความชื้น กลิ่น และความสะอาดของอากาศในอาคารนั้นๆ มีปัญหา 

จากการศึกษาพบว่า อาการ Sick Building Syndrome มักเจอในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบได้บ่อยในอาคารของภาครัฐมากกว่าอาคารภาคเอกชน

ต้นตอปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพ

นอกจากเรื่องของ IAQ ที่ WHO เคยสันนิษฐานว่าเป็นต้นตอของ Sick Building Syndrome แล้ว ในปัจจุบันการศึกษาและตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Occupational and Environmental Medicine (IJOEM) ของประเทศอินเดียยังพบว่า มีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้เช่นเดียวกัน

โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 6 สาเหตุหลัก ดังนี้

1) สารเคมีปนเปื้อนจากภายนอกและภายในอาคาร เช่น สารมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ที่เข้าสู่อาคารได้ผ่านทางช่องลม สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) และการปนเปื้อนของสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

2) สารปนเปื้อนทางชีวภาพ เช่น เกสรดอกไม้ แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ที่สามารถสะสมและแพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นอย่างเครื่องปรับอากาศ ท่อระบายน้ำ กระเบื้อง ฝ้าเพดาน พรม เป็นต้น

3) การระบายอากาศไม่เพียงพอ จนเกิดเป็นพื้นที่อับอากาศ (Confined Spaces) เนื่องจากมีทางเข้าออกจำกัด มีการระบายอากาศตามธรรมชาติไม่เพียงพอ

4) รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไมโครเวฟ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ และการไม่ต่อสายดินที่เหมาะสม

5) ปัจจัยทางจิตวิทยาจากความเครียด ความกังวล ที่มักเกิดขึ้นกับตัวบุคคลหรืองานภายในอาคารดังกล่าว

6) สภาพการทำงานด้านการยศาสตร์ (Ergonomics) ที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงไม่เพียงพอหรือมีเสียงรบกวนมากเกินไป

วิธีป้องกันฉบับคนเมือง

สำหรับประเทศไทย ‘ศ. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล’ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อธิบายว่า ปัจจุบัน Sick Building Syndrome เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดกว่าในอดีต

เนื่องจากพบว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น จากการที่เมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้นของอาคารบางแห่ง 

ทั้งนี้ มนุษย์เมืองอย่างเราๆ ที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในอาคาร บ้าน หรือคอนโดฯ สามารถลดความเสี่ยงการเกิด Sick Building Syndrome ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานและที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

อาทิ กำจัดแหล่งสารปนเปื้อน ดูแลระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เปลี่ยนมาใช้สีทาผนังแบบที่ไม่มีโลหะหนักผสม ควบคุมสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีอากาศหมุนเวียนจากภายนอก ทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น และหาต้นไม้ในร่มมาปลูกไว้ตามจุดต่างๆ ของห้องเพื่อช่วยฟอกอากาศ

นอกจากนี้ การสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอเมื่อเข้าไปในอาคารใดอาคารหนึ่งก็เป็นอีกวิธีสำคัญที่จะช่วยให้เราพร้อมรับมือและป้องกันกลุ่มอาการ Sick Building Syndrome ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาคารและตึกสูงระฟ้าทรงเหลี่ยมด้วยแล้ว บางที Sick Building Syndrome อาจจะใกล้ตัวกว่าที่เราคิด


Sources :
National Library of Medicine | t.ly/Zxj7
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | t.ly/h44h
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน | t.ly/fNTU

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.