Sher Maker : สตูดิโอสถาปนิกเชียงใหม่ - Urban Creature

Sher Maker คือสตูดิโอสถาปนิกขนาดเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งโดยสองสถาปนิก ‘ตุ๋ย-พัชรดา อินแปลง’ และ ‘โอ๊ต-ธงชัย จันทร์สมัคร’ 

Sher Maker Office
Sher Maker Studio

สตูดิโอแห่งนี้มีมาตั้งแต่ปี 2561 เต็มไปด้วยผลงานสร้างสรรค์ที่คว้ารางวัลด้านสถาปัตยกรรมจำนวนมาก แม้แต่สตูดิโอของพวกเขาก็เพิ่งได้รับรางวัลสูงสุดในสาขา Small working interior of the year จาก Dezeen นิตยสารสถาปัตยกรรมชื่อดังระดับโลก และได้รับการกล่าวขวัญจากสื่อต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศบ่อยครั้ง ที่สำคัญสถาปัตยกรรมของสองผู้ก่อตั้งยังเต็มไปด้วยการขับเน้นเสน่ห์ของบรรยากาศให้แสดงออกมาได้อย่างเต็มที่

รายละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์ในงานของ Sher Maker มาจากการที่ทั้งคู่ต่างเคยเป็นคนทำงานคราฟต์มาก่อน ตุ๋ยเคยทำสมุดทำมือกับเพื่อนในนามแบรนด์ ดิบดี (Dibdee.Binder) ซึ่งได้รับความนิยมมาก ส่วนโอ๊ตเคยมีชื่อเสียงอย่างมากจาก Brown Bike จักรยานที่ทำด้วยวัสดุไม้ไผ่ จนมีผู้สนใจจากทั่วโลกเดินทางมาร่ำเรียนกับเขาถึงเชียงใหม่ เมื่อสองสถาปนิกสายคราฟต์จับมือกันทำงาน ทำให้งานสถาปัตยกรรมของพวกเขามีการนำเสนองานฝีมือต่างๆ มาใช้กับทั้งภายในและภายนอกอาคารอย่างน่าสนใจ และยังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับงานฝีมือในภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย

Sher Maker เชื่อมศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างลงตัวได้อย่างไร วันนี้เราจะชวนตุ๋ยมาพูดคุยเพื่อถอดโครงสร้างทางความคิดเบื้องหลังงานออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ของพวกเขาให้ทุกคนได้รู้กัน

สองสถาปนิกสาย Maker นักทำงานคราฟต์ตัวยง

“เราและพี่โอ๊ตต่างเป็น Maker เป็นคนชอบงานคราฟต์ และคนทำงานฝีมือกันมาก่อน เราทำสมุดทำมือกับเพื่อน ส่วนพี่โอ๊ตทำจักรยานไม้ไผ่มาก่อน วันที่ตัดสินใจเริ่ม Sher Maker เรากับพี่โอ๊ตคุยกันว่า อยากทำออฟฟิศที่พูดเรื่องความสนใจของเราจริงๆ นั่นคืองานฝีมือ งานคราฟต์ต่างๆ ผสมผสานมันเข้ากับสถาปัตยกรรมได้ และยังเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของลูกค้าได้ หรือทำให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น 

“เราจะทำสถาปัตยกรรมที่สนใจจริงๆ จะไม่มานั่งเสียดายทีหลังว่า ไม่น่าทำบ้านหรือตึกนั้นไปเลย หรือต้องมาจำใจรับลูกค้าที่ไม่ถนัดหรือไม่สนใจ ด้วยอายุขนาดเราในปัจจุบัน คิดว่าต้องเลือกได้แล้ว ต้องใช้ศักยภาพตัวเองให้เป็น ตอนเด็กๆ เป็นพวกบ้าพลัง มีอะไรทำหมด แต่ยิ่งโตไป ต้องมีชั้นเชิง มีความเข้าใจว่าตัวเองถนัดอะไร และต้องรู้ว่าทำแบบไหนถึงจะทำได้ดี นี่เป็นวิธีคิดการก่อตั้ง Sher Maker ขึ้นมา” ตุ๋ยเล่าถึงที่มาแนวคิดการก่อตั้งสตูดิโอ Sher Maker

ผลงานแรกๆ ที่ Sher Maker นำแนวคิดของพวกเขามาออกแบบและได้รับความสนใจในวงกว้าง คืองานรีโนเวตปั๊มน้ำมันเก่าของ ปตท. ในอำเภอสารภี ซึ่งเป็นโครงการที่ PttOR ต้องการรีโนเวตปั๊มน้ำมันเก่าของทางบริษัทในแต่ละพื้นที่ โดยใช้นักออกแบบในท้องที่ย่านปั๊มแห่งนั้นเป็นผู้ออกแบบ โดยคัดเลือกจากการให้นักออกแบบส่งไอเดียเข้าประกวด ซึ่งปั๊มน้ำมันเก่าแห่งแรกที่ได้รับการออกแบบใหม่ก็คือ ปั๊มน้ำมันเก่าที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทาง Sher Maker เป็นผู้ชนะการประกวด

gas station

“งานนี้เป็นงานที่ไปพิตชิ่งชนะ ทาง PttOR บอกว่ามีปั๊มเก่าอยากจะรีโนเวต อยากได้ภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ ตามสถานที่ที่ปั๊มตั้งอยู่

“ไอเดียรีโนเวตปั๊มน้ำมัน เกิดจากการกลับมานั่งนึกว่า เวลาคิดถึงเชียงใหม่เรานึกถึงอะไร ซึ่งเรามองงานฝีมือต่างๆ ในเชียงใหม่ แล้วก็ตัดสินใจเลือกงานเซรามิก ซึ่งเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตเซรามิกที่ขึ้นชื่อมาก มีโรงงานที่มีฝีมือเก่งๆ จำนวนมากกระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัด และเซรามิกยังเป็นวัสดุที่ทนทานสามารถใช้ภายนอกอาคารได้ดี

“เราเริ่มต้นค้นคว้าหาไอเดียจากวัสดุเซรามิกที่เลือก จนได้ไอเดียว่าจะนำวัสดุเซรามิกมาทำเป็นวัสดุปิดผิวอาคาร เป็นฟาซาด (Facade) ทีนี้ตัวอาคารที่เราจะนำเซรามิกไปปิดนั้นมีความสูงมากกว่าสามเมตร ซึ่งเท่ากับว่าคนจะสามารถสัมผัสมันได้เพียงตาเห็นเท่านั้น 

facade

“เรามองว่าตัวเซรามิกที่เอามาทำเป็นฟาซาดต้องมีลูกเล่นบางอย่างที่มองแล้วสวยงาม ประกอบกับการเล่นกับบริบทโดยรอบของตัวปั๊มน้ำมัน เลยเลือกที่จะให้เซรามิกที่เป็นฟาซาดเล่นล้อไปกับแสงแดดและท้องฟ้า โดยวิธีการเคลือบมุก (Pearl Lust Glaze) เป็นเทคนิคการเคลือบที่เคยได้รับความนิยมในอดีต แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีคนใช้แล้ว เราอยากหยิบความสวยงามจากอดีตที่เชยไปแล้วกลับมาใช้ในบริบทใหม่ๆ ให้คนเห็นคุณค่ามันอีกครั้ง

“ตัวฟาซาดที่ทำจากเซรามิกเป็นสิ่งที่โรงงานเซรามิกส่วนใหญ่ไม่เคยทำ เพราะงานจากโรงงานเซรามิกที่เห็นมักเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือไม่ก็เป็นกระเบื้องหลังคา กระเบื้องปูพื้น เรามองว่าตัววัสดุเซรามิกมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีก หลังจากตามหา ศึกษา และค้นคว้าว่าโรงงานเซรามิกต่างๆ ในเชียงใหม่ แต่ละที่มีความเชี่ยวชาญอะไรบ้าง เราเลือกทำงานร่วมกับโรงงานเซรามิกสารภี ซึ่งบังเอิญมาก เพราะตัวโรงงานอยู่ห่างจากตัวปั๊มน้ำมันไปเพียงนิดเดียว

ceramic

“ท้ายที่สุดพอผลงานเสร็จสิ้น เรานำฟาซาดจากวัสดุเซรามิกเคลือบมุกขึ้นไปติดตั้งรอบอาคารเสร็จ ตัวอาคารก็ทำงาน สีของอาคารจะเปลี่ยนแปลงไปตามสีของท้องฟ้าและแสงแดดตามช่วงเวลาในแต่ละวัน จึงให้ความสวยงามไม่เหมือนกันเลยในแต่ละช่วง แต่สิ่งที่ Sher Maker รู้สึกดีใจมากๆ ก็คือ การที่ช่างภายในโรงงานเซรามิกสารภี เขาเดินมาเห็นผลงานของตัวเอง เขาไม่เคยนึกว่างานเซรามิกที่ทำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมได้ เลยภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง เห็นเขาชี้แนะนำให้เพื่อนๆ ดู นี่คือความตั้งใจของเรา เพื่อให้ช่างฝีมือเห็นว่าฝีมือของพวกเขามีความเป็นไปได้อีกเยอะมากๆ”

Maker ที่เข้าใจดีเทล Maker ด้วยกัน

“การที่เราเป็นคนทำงานฝีมือมาก่อน จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของมือคนกับการทำงานบางอย่าง คนที่เคยทำงานคราฟต์มาก่อน เคยตัด เคยพับ เคยรีด เคยวาด เคยแกะ และเคยใช้เครื่องมือช่าง จะทำให้เข้าใจเวลาช่างทำงาน ว่าทำไมบางงานไม่เรียบร้อย 

carpenters work

“เราไม่ได้ตัดสินเขาด้วยสายตาของนักออกแบบจ๋า เราน่าจะเคยเห็นนักออกแบบที่ไปตรวจไซต์งานพร้อมกับโพสต์อิทแปะๆ ว่าตรงนี้ไม่เนี้ยบ ตรงนั้นไม่เรียบร้อย ไปแก้มานะ ถ้าทำงานคราฟต์ จะเข้าใจช่าง เวลาบอกเขาให้แก้ไขอะไร เราจะไม่ได้แค่บอกว่าสิ่งนี้ผิด ไปแก้มา แต่จะเรียกเขามาปรึกษาว่าตรงนี้มันมีปัญหา มันยากเพราะอะไร มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ทำตามแบบไม่ได้ คนออกแบบจะได้เข้าใจ และเราก็จะได้เปลี่ยนวิธีการคิดด้านการออกแบบของเราด้วย 

“การที่เคยทำงานมือมาก่อน ทำให้เข้าใจว่า การได้มาของบางสิ่ง การทำอะไรบางอย่าง มันยากยังไง แล้วเราจะไม่ตัดสินเขาด้วยสายตาของนักออกแบบ เราจะเป็นคนที่ทำงานช่างด้วยการคุยกัน ซึ่งอันนี้สำคัญ สำคัญมากๆ สำคัญจริงๆ” ตุ๋ยเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

“Sher Maker อยากทำงานสถาปัตยกรรมที่ช่างทำได้ ไม่ได้ไปตะบี้ตะบันให้เขาทำสิ่งที่ยากเกินเข้าใจ อันนี้คือวิธีการของเรา หลายคนอาจเห็นว่าเราทำวัสดุแปลกๆ แต่ถ้าไปแกะดูโครงสร้างจริงๆ เราทำโครงสร้างง่ายๆ ช่างเห็นแล้วเข้าใจ ลงมือทำได้ที่หน้าไซต์เลย ส่วนอะไรที่ต้องใช้ความละเอียดมากๆ เราจะเอาส่วนนั้นมาทำกันที่สตูดิโอ แล้วค่อยเอาไปประกอบกับช่างหน้าไซต์

“อย่าไปทำตึกที่ช่างไม่เข้าใจ เขาจะรู้สึกไม่เก่งพอ อย่าไปออกแบบตึกอย่างนั้น ต้องออกแบบตึกที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้นี่หว่า ตึกออกมามันหน้าตาไม่เหมือนตึกที่เขาเคยทำมาทั้งชีวิตเลย แต่มันก็ไม่ได้ยากนะ เราเป็นคนต้องออกแบบวิธีการก่อสร้าง ซึ่งต้องออกแบบตั้งแต่วิธีการก่อสร้าง ให้รู้สึกว่าเขาไม่เป็นภาระของทีม เราทำงานกับช่างในพื้นที่โดยตรงค่อนข้างเยอะ ทำยังไงก็ได้ ช่างจะต้องอ่านแบบแล้วรู้สึกว่าไม่ยาก เขาก็มีศักยภาพ นี่คือวิธีคิดของ Sher Maker”

บรรยากาศ คือหัวใจของสถาปัตยกรรม

“ตอนที่เรายังเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตย์ เราเป็นคนที่ห่างไกลคำว่าสถาปนิกที่สุดในชั้น ทุกวันนี้อาจารย์น่าจะงงว่า ไอ้นี่จบมาเป็นสถาปนิกได้จริงๆ เหรอ” ตุ๋ยหัวเราะสนุกหลังแซวตัวเอง ก่อนอธิบายต่อ 

“เราเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องการไม่มีขอบเขตในการนิยามสิ่งต่างๆ รู้สึกว่าศาสตร์หนึ่ง อย่างสถาปัตยกรรม ก็จะถูกขีดเส้นว่าสถาปัตยกรรมหมายถึงสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเวลาอาจารย์ตรวจงานเขาก็จะใช้กรอบนี้ ตอนนั้นมีโปรเจกต์หนึ่งที่อาจารย์ให้เวลาเด็กสามชั่วโมง ไปถ่ายรูปกับพื้นที่ที่ตัวเองชอบในคณะมา เพื่อนเราก็ไปถ่ายตรงบันได ตรงห้องอะไรต่างๆ มาส่ง แต่เราเลือกถ่ายกับม้านั่งหนึ่งตัวตรงคณะแค่นั้นเลย เมื่อเอารูปไปส่ง แล้วก็สอบตก อาจารย์บอกว่าอันนี้คือเฟอร์นิเจอร์ มันไม่ใช่สถาปัตยกรรม เราก็ไปยืนถกกับอาจารย์นานมาก เพราะไม่เข้าใจว่าคนเรานิยามสิ่งเหล่านี้ยังไง 

“เราก็บอกว่าพื้นที่รอบๆ เก้าอี้มันก็เป็นพื้นที่นะ พื้นที่รอบๆ ที่ม้านั่งไปวางอยู่มันไม่ได้เรียกว่าสถาปัตยกรรมเหรอ เราตีความแบบนี้ เวลาอาจารย์ตรวจงาน เขาจะใช้คำว่า Special ก็คือ การรับรู้เชิงพื้นที่ เป็นอะไรก็ได้ที่ต้องขึ้นมาเป็นห้องเรียบร้อยแล้ว อันนั้นถึงจะเรียกว่าสถาปัตยกรรม แต่เรามองว่าบรรยากาศก็นับว่าเป็นสถาปัตยกรรม เรามีปัญหากับการนิยาม ภายใต้กรอบพวกนี้มากๆ

Larung Gar
Larung Gar

“เรามีจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ทำให้กลายเป็นเนิร์ดสถาปัตยกรรม คือ การที่เอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่หนึ่ง แล้วรู้สึกขนลุก นี่แหละคือพื้นที่ที่พิเศษ อันนี้เรียกสถาปัตยกรรมสำหรับเรา เรามีสถานที่แบบนี้อยู่สองที่ที่รู้สึกประทับใจตอนไป ที่แรกคือ Larung Gar ตอนนั้นแบ็กแพ็กคนเดียว มันเป็นอาณานิคมของพระทิเบตที่อยู่รวมกันเป็นแสนในหุบเขาสีแดงใหญ่ๆ อยู่ด้วยความเชื่อเดียวกันภายในหุบเขา แล้วมีเต็นท์สำหรับนอนเรียงกันเป็นหมื่นๆ เหมือนซูเปอร์เทศกาลดนตรี เราเข้าใจว่าพระเหล่านี้จะหนีทหารจีน เลยต้องสร้างอาณานิคมที่ใหญ่มากๆ เกาะกลุ่มกันอยู่ ถ้าไปสร้างอยู่ด้วยกันเล็กๆ เขาจะโดนทหารจีนเข้ามารื้อไล่ที่ การเดินทางเข้าไปที่นี่เราต้องเดินทางอ้อมผ่านหุบเขาเข้ามา แล้วพอลับหุบเขาไป เราจะปะทะกับเวิ้งใหญ่ มันเป็นภูเขาสีแดงมีพระอาทิตย์ส่องลงมา แล้วมีอีแร้งบิน ซึ่งต้อนรับคนแปลกหน้าด้วยคำว่า ‘มึงคือคนนอก’ มันเป็นพื้นที่แบบนั้น เราไปมาหลายที่ เราว่าอันนี้โหดมากจริงๆ เข้าถึงยาก ถ้าไม่หัวดำเข้าไม่ได้นะ เขาไม่ให้ฝรั่งเข้าเลย

Tibet
Larung Gar

“อีกที่คือออฟฟิศสถาปัตย์หนึ่งที่เรานับถือมากๆ และอยากเห็นงานของเขาด้วยตาตัวเองก่อนตาย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ บาร์เซโลนา (Barcelona) ชื่อว่า RCR เป็นออฟฟิศที่ได้ Pritzker Prize เป็นรางวัลทางสถาปัตยกรรมที่สูงสุดในโลก แต่เป็นออฟฟิศเล็กมาก และพูดภาษาคาตาลัน (Catalan) ไม่พูดสเปนด้วยซ้ำ คนอยากจะดูงานต้องตะบี้ตะบันหอบสังขารไป เราก็คือหนึ่งในนั้นที่ตามรอยไปจนได้” ตุ๋ยหัวเราะให้วีรกรรมตัวเองอย่างอารมณ์ดี

“ออฟฟิศเขาตั้งอยู่ที่เมืองโอลอต (Olot) เป็นเมืองเล็กๆ ขับจักรยานสิบนาทีรอบเมือง ในเมืองนี้มีโรงหลอมระฆังเก่าที่รีโนเวตเป็นออฟฟิศของเขา เราเข้าไปแล้วรู้สึกได้เลยว่านี่แหละเรียกว่าสถาปัตยกรรม ขนลุกเลย เราไม่เชื่อเรื่องผีนะ แต่พอเข้าไปมันมีความรู้สึกพิเศษ ร่างกายถูกพื้นที่กระทำจนขนลุก

RCR
RCR

“เรามองว่าต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่ทำให้พื้นที่นั้นแสดงออกมาเต็มที่ อาจจะเป็นความเงียบที่ทำให้บรรยากาศของพื้นที่ทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าไม่มีคนนะ อย่างที่ Larung Gar ก็มีคนเป็นแสน แต่เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้สภาพบรรยากาศสำแดงออกเต็มที่ สมมติว่าเอาตึกโรงหลอมระฆังไปตั้งที่ฮาราจูกุ หรือสักแห่งหนึ่งในคูเมืองเชียงใหม่ ก็จะไม่ทำงานอย่างนั้น แต่ถ้าตั้งอยู่ถูกที่ ถูกทาง แล้วเข้าไปในช่วงเวลาที่พอดี สถานที่เหล่านี้จะทำให้เราเชื่อว่าบรรยากาศ สำคัญต่องานสถาปัตยกรรม”

 Pause CNX
Pause CNX

Sher Maker หยิบเอาแนวคิดเรื่องความสำคัญของบรรยากาศมาเป็นส่วนหนึ่งของบริบทการออกแบบสถาปัตยกรรม ตัวอย่างหนึ่งที่พวกเขาหยิบบรรยากาศมาใช้คือที่ Pause CNX คาเฟ่ในจังหวัดเชียงใหม่

“การออกแบบที่นี่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ไปไฮไลต์บรรยากาศขึ้นมา ต้นไม้ก็ต้นเดิม ไม่ได้ใส่เพิ่ม ทางเดินก็แนวเดิม สิ่งที่เราทำก็คือ เราล้อมม่านคลุมพื้นที่หน้าร้าน ทำให้น่าค้นหาขึ้น และเพิ่มเงาสะท้อนของกระจกให้เพิ่มบรรยากาศจากเดิมเป็นสองเท่า

CNX Cafe
Pause CNX

“บรรยากาศ เป็นสิ่งที่นักออกแบบใส่เข้าไป ทำให้งานเขากลายเป็นอีกระดับหนึ่ง เราเห็นแล้วจะรู้เลยว่าคนที่ออกแบบนี่ต้องเป็นคนที่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า สภาวะแวดล้อม ไม่ใช่หมายถึงแค่เชิงกายภาพนะ เหมือนในสตูฯ ที่เรากำลังนั่งคุยกันตอนนี้ มีเสียงน้ำตก เสียงนก เสียงคนจากร้านฝั่งตรงข้าม นี่คือสภาวะที่ประกอบกันเป็นบรรยากาศให้พื้นที่หนึ่งมีบางอย่างขึ้นมา”

ออกแบบสถาปัตย์ให้พิเศษด้วยความทรงจำ

“ความน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งนอกจากบรรยากาศก็คือ พอเราโตขึ้น เราจะมีความทรงจำบางประเภท เช่น ถ้าให้นึกถึงบ้าน เราจะนึกถึงอะไร นึกถึงแดดที่ส่องวิทยุเก่าๆ ของแม่ อาจเป็นแค่นั้นเลย เราไม่ได้นึกถึงหลังคาทรงจั่ว หรือบันได มันจะเป็นบรรยากาศเล็กๆ บางอย่างที่จดจำได้ แล้วเขาบอกว่า ความรู้สึกประเภทนี้ที่เราจดจำได้ มันพิเศษ มันคือส่วนลึกมากๆ ของความทรงจำ พักหลังๆ งานที่สามารถเอาความทรงจำเหล่านี้มาออกแบบได้ จะเป็นงานที่เราดูรู้เลยว่ามันแตกต่างและพิเศษ ซึ่งเวลาเราดูงานของสถาปนิกแล้วรู้สึกว่ามันพิเศษส่วนใหญ่ก็เพราะเขาใช้สิ่งเหล่านี้ เขาไม่ได้ใช้วัสดุที่พิเศษอะไร แต่เขาเอาความทรงจำลึกๆ หรือว่าเอาบรรยากาศลึกๆ หยิบมาใช้ คนที่หยิบมาใช้เป็น จะทำให้งานของเขาแตกต่างจากคนอื่นไปเลย

Artist Studio
Sher Maker Studio

“พอเราต้องทำงานโดยหยิบเอาความทรงจำหรือบรรยากาศมาใช้ เวลาคุยกับลูกค้าเราเลยค่อนข้างที่จะคุยลึกประมาณหนึ่ง ถ้าเจอลูกค้าที่เขามีความคิดที่แข็งแรงอยู่แล้วมากๆ เข้าใจภาษา เข้าใจแนวทางการออกแบบของเรา มันจะส่งเสริมให้อาคารนั้นไปสุดมากๆ เช่น งานออกแบบที่พัก Wood and Mountain”

Wood and Mountain คืองานที่ทาง Sher Maker ออกแบบให้กับ น็อต-วชิร ทองหล่อ เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากไม้เก่าชื่อดังของไทย If I Were a Carpenter

Cabin in the Wood
Wood and Mountain

“โจทย์ที่เราได้รับมาก็คือ เขาต้องการที่จะทำอาคารประเภทหนึ่ง เป็นอาคารที่พัก แต่ไม่อยากได้เป็นรีสอร์ต หรือเป็นโฮมสเตย์ อยากได้แบบ Cabin เป็นกระท่อมภายในป่า เขาอยากจะขายประสบการณ์ ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักวิ่งสายเทรล เขาอยากจะพาคนที่มาพักไปวิ่งเทรลเพื่อเป็นกิจกรรมของที่นี่

Cabin

“แน่นอนว่าพอเป็นกระท่อมกลางป่าสิ่งแรกที่เรานึกถึงก็คืออาคารไม้ และเขาก็เป็นช่างไม้อยู่แล้วด้วย ทีนี้คนทำงานไม้ก็จะมีธาตุ และมีลักษณะร่วมของคนทำงานประเภทนี้อยู่ ยังไงคนทำงานไม้ก็ต้องเกี่ยวข้องกับไม้และไฟ ทีนี้พอจะทำเป็นอาคารไม้ เราก็ไปหาซื้อไม้เก่ายกกองมาชุบชีวิตมันให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา ซึ่งไม้เก่าที่เราได้มามันก็มีการคละทั้งชนิดและสีที่แตกต่างกัน เลยนึกถึงการเผาขึ้นมา

“ทีนี้จะเผายังไงให้รู้ว่าเป็นฝีมือของคนทำ ไม่ได้ใช้เครื่องจักร นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เราเลือกเผาไล่สี เพราะมันรู้ทันทีเลยว่าอันนี้เป็นการเผาด้วยฝีมือของคน ที่ทำกันเองภายในสตูดิโอ ไม่ได้เกิดจากการสเปกของสั่งมาใช้ ในปัจจุบันเราจะเห็นอาคารที่ใช้ไม้เผาเยอะมาก ซึ่งมาจากการสเปกสั่งจากบริษัทที่นำเข้าไม้เผามาจากญี่ปุ่นแล้วเอามาทำกับสภาพแวดล้อมแบบไทย

Wood

“แต่เราสนใจในไม้ของไทยนี่แหละ เอาไม้ที่ผ่านการใช้งานไม่ยืดหดอีกต่อไปแล้วมาทำให้สีสวย ให้มันน่าสนใจขึ้น เพื่อให้ไม้ไทยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมของไทย ที่ไทยเราก็มีไม้คุณภาพจำนวนมากไม่เห็นต้องใช้ไม้จากญี่ปุ่นเลย

“เทคนิคการเผาไม้นี่ มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า Shou Sugi Ban เขาเผาเพื่อกันปัญหามอด และกันไฟลาม พอมันเป็นถ่านแล้วก็จะไหม้อีกไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ามีคนนำมาใช้เยอะมาก โดยสเปกสั่งซื้อจากญี่ปุ่นมา แต่เรามองว่าถ้าจะใช้ไม้เผา มันก็ต้องมีหลักการของตัวเอง จะเผาก็ได้แต่ต้องมี Know-how เป็นของตัวเองด้วย เราต้องใช้ไม้ในพื้นที่ให้เป็น ใช้ไม้มือสองที่ไม่ยืดหดแล้ว และเอากระบวนการนี้มาใช้ให้เป็นจุดเด่น เช่น ไม้แต่ละประเภทมีสีต่างกัน เราก็เรียงเอาไม้เนื้อแข็งขึ้นบน แล้วเผาให้เข้มนิดหนึ่ง จากนั้นเอาไม้เนื้ออ่อนไว้ข้างล่างและไม่ต้องเผาเยอะ มันคือการจัดลำดับความคิดของตัวเองในการสร้างสรรค์ และสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างให้น่าสนใจ

Wood Burn

“เราเผากันเองที่สตูดิโอ หลังจากนั้นก็นำไปประกอบกับโครงสร้างอาคารที่ไซต์ ทีนี้เรารู้สึกว่าเวลาได้เจ้าของที่เข้าใจภาษาการออกแบบของเรา แถมตัวเขาเองก็เป็นช่างไม้ด้วย พอโครงสร้างเสร็จ แล้วเจ้าของใส่เฟอร์นิเจอร์ของตัวเองเข้าไป มันทำให้พื้นที่สวยขึ้นมากๆ เลย ผ้าที่เขาใช้คลุมโซฟา ก็หยิบแรงบันดาลใจการเห็นกระบวนการเผาไม้ของเรามาใช้ให้สอดคล้อง โดยการใช้พู่กันขีดไล่สี เขาก็เอากระบวนการนี้ไปปรับใช้กับลายผ้า และการวางเฟอร์นิเจอร์ในอาคารต่อ ทำให้งานที่ออกมาเสร็จสมบูรณ์มากๆ สำหรับเรา 

Wood Layers

“เวลาเราออกแบบบ้าน รู้สึกว่าการจะออกแบบบ้านให้เป็นบ้าน จะออกแบบแค่ประมาณหกสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือจะให้เจ้าของบ้านเป็นคนเพิ่มเติมมันเข้าไปเอง เราจะไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้อยู่ตรงนี้เพราะมันต้องอยู่ตรงนี้ แต่เป็นการออกแบบพื้นที่ที่มันมีความว่างไว้ประมาณหนึ่ง ให้เจ้าของเขาเติมเข้ามาเอง มันต้องแสดงออกถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัย หรือผู้เป็นเจ้าของ บ้านถึงจะเป็นบ้านของเขาขึ้นมาจริงๆ ซึ่งเราใช้วิธีการนี้กับการออกแบบบ้านให้ โจ้ (สาโรจน์ ยอดยิ่ง) เขียนไขและวานิช กับแฟน

เขียนไขและวาณิช
บ้านของโจ้ (สาโรจน์ ยอดยิ่ง) เขียนไขและวานิช กับแฟน

“เรามองว่าโจ้เป็นคนใช้พื้นที่ที่พิเศษ เช่น เป็นบ้านที่ต้องมีห้องอัด มีที่เก็บกีตาร์สิบกว่าตัว และระเบียงที่มีขนาดใหญ่ ที่หลายคนอาจคิดว่ามันคือพื้นที่สิ้นเปลือง แต่สำหรับโจ้มันมีฟังก์ชันมาก เขาเป็นคนที่มีเพื่อนฝูงมาหา เข้ามาสังสรรค์ เราต้องมีพื้นที่แบบนั้นให้ และต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่กลางแดดกลางฝน มีพื้นที่ให้เขาก่อไฟได้และรับลมได้ เป็นบ้านเรียบง่ายที่ออกแบบตามลักษณะของผู้เป็นเจ้าของ พอเข้าไปอยู่ แล้วนำสิ่งของต่างๆ เข้าไปในบ้าน เราจะรับรู้ได้ถึงตัวตนของผู้อยู่เลย ว่าบ้านหลังนี้คือตัวเขา”

โจ้ เขียนไขและวาณิช

สตูดิโอที่งดใช้ภาพพรีเซ็นต์จากการ Render 

“Sher Maker จะไม่ตีพิมพ์ภาพงานสถาปัตยกรรมที่ทำเป็นภาพ Render จากการทำด้วยคอมพิวเตอร์เลย ถ้ามีก็จะเป็นงาน Collage เป็นศิลปะไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของการพูดคุยกันบนโลกความเป็นจริง เราจะไม่ทำออฟฟิศที่ตีพิมพ์โปรเจกต์รูป Render สวยๆ เราเคยอ่านหนังสือของสถาปนิกที่นับถือมากๆ คนหนึ่ง เขาพูดว่า การทำภาพเสมือนจริงไปก่อนมันเหมือนการสัญญากับใครไว้ เป็นคำสัญญาในอนาคต ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยความคาดหวังอันมหาศาล ซึ่งมันมีการฟ้องจริงจังนะ เวลาคอนโดฯ Render ออกมา แล้วพอลูกค้าซื้อห้องจริงไม่เหมือนในภาพ หรือไม่ตรงปก เราเลยรู้สึกว่าเวลาที่คุยกับลูกค้า อยากให้เขามองอะไรที่อยู่ตรงหน้า มองอะไรที่เป็นโลกจริงๆ

“สถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่เล่าได้หลายรูปแบบมาก แต่เราว่าพอ Render มันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ออกมาสวย คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาจะได้ต้องสวย แต่ประเด็นก็คือ ภาษาในการใช้เล่าสถาปัตยกรรมมันมีเป็นพันภาษา ถ้าเลือกเล่าให้ตรงกับเนื้อหาที่จะสื่อ จะเห็นสถาปนิกในประเทศที่เปิดกว้างทางความคิด เขาจะไม่จำกัดเทคนิคในการนำเสนอโปรเจกต์ของตัวเอง บางคนก็ใช้วิธีเขียนเป็นเรียงความ บางคนก็ใช้เป็นโมเดลเลย บางคนก็ใช้เป็นลักษณะภาพประกอบ เป็น Collage ว่ากันไปมากมาย ข้อสำคัญคือเราต้องรู้ก่อนว่า เรากำลังนำเสนอประเด็นอะไรในงานสถาปัตยกรรมนั้น

Rain

“เรายกตัวอย่างงาน Wood and Mountain ที่เลือกนำเสนอด้วยภาพถ่าย ตอนนั้นพอโครงการเสร็จทางเจ้าของเขาต้องการจะเริ่มเปิดขายในเดือนพฤศจิกายน เราจึงต้องเก็บภาพในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นหน้าฝน ในโลกสถาปัตยกรรม เวลาช่างภาพเขาเก็บภาพ จะกลัวมากถ้าหากวันนั้นแดดไม่ออก เพราะอาคารจะดูแบน แต่อาคารนี้เราเลือกถ่ายกันกลางฝนเลย เราคิดกันว่าถ้าเราจะนำเสนอเรื่องกระท่อมในป่า สถาปัตยกรรมมันอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบไหน กลุ่มลูกค้าเขาคือคนวิ่งเทรล จึงไม่ได้ต้องการความสะดวกสบาย เขาคือคนที่เข้าใจและสัมผัสกับธรรมชาติ ภาพที่เรานำเสนอออกไปเลยเป็นที่พักที่มีฝนตก มีเม็ดฝนลงมาให้เห็น เพราะตั้งอยู่กลางป่า มันต้องอยู่กับแดดและฝนได้ อันนี้คือเรื่องราวที่เราเล่าผ่านภาพ

Sher Maker Studio

“เราอยากให้ลองดูงานของสตูดิโอชื่อดังต่างๆ เขาจะมีวิธีการนำเสนออาคารต่างๆ ที่ถูกออกแบบโดยสตูดิโอเดียวกันก็จริง แต่เล่าไม่เหมือนกันเลย ดูตามความเหมาะสมและเป้าหมายของโปรเจกต์นั้นๆ มันยังมีวิธีเล่าอีกหลายวิธี ซึ่ง Sher Maker เลือกที่จะใช้ตัวเลือกเหล่านั้น”

พลังจากสถาปนิกต่างจังหวัด

“เราไม่ได้มองว่าเป็นสตูดิโอที่อยู่ต่างจังหวัด จะทำให้เราเสียเปรียบคนอื่นเลย เรามองว่าตัวเองมีศักยภาพในแบบของเรา มีพื้นที่ในการทดลองวัสดุต่างๆ ในสตูดิโอส่วนตัว เราเป็นสตูดิโอที่ให้คุณค่าการค้นคว้าก่อนทำโปรเจกต์อย่างมาก นั่นทำให้เรารู้แหล่งทรัพยากรของเรา รู้ว่าช่างฝีมือคนไหนเหมาะกับงานไหน และรู้ว่าสภาพแวดล้อมแบบต่างจังหวัดจะสามารถสร้างคุณค่ากับงานได้ยังไง พวกเราเชี่ยวชาญเรื่องนี้ นี่คือแต้มต่อของสถาปนิกที่อยู่ต่างจังหวัด เลยไม่เคยมองว่าการอยู่ต่างจังหวัดเป็นปัญหา และเราเชื่อว่าอีกสองถึงสามปีข้างหน้า น่าจะมีเด็กเก่งๆ ที่กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด และมีงานสถาปัตยกรรมดีๆ เกิดขึ้นอีกเยอะทั่วประเทศเลย แต่เขาจะต้องรู้ว่าภายในพื้นที่ของเขามีศักยภาพอะไรอยู่ ด้วยการต้อง Research จริงจัง

CNX Studio

“ข้อดีของสตูดิโอที่ยอมเสียเวลา Research คือ เขาจะมีองค์ความรู้เก็บไว้ค่อนข้างเยอะ หมายความว่า มันอาจจะไม่เหมาะกับโปรเจกต์ที่ทำอยู่ แต่เขาจะมีลิ้นชักที่มีของเก็บไว้กับตัวค่อนข้างเยอะ และพัฒนาต่อได้ เกิดการจัดเรียง Archive ข้อมูลในเชิงวัสดุ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ค่อนข้างเยอะ และมันไม่ได้เอามาใช้แค่กับเราคนเดียว เวลางานเราตีพิมพ์ออกไป ก็มีหลายสตูดิโอที่มาขอช่องทางติดต่อผู้ประกอบการที่ทำฟาซาดให้กับเรา เราก็ส่งต่อไป และแนะนำเขาว่าแต่ละโรงงานถนัดเชี่ยวชาญด้านไหน ยังไง พอมีองค์ความรู้พวกนี้ในมือ ก็สามารถส่งต่อได้ ทำให้ช่างฝีมือ หรือผู้ประกอบการต่างๆ ในจังหวัดมีโอกาสมากขึ้น และมีการพัฒนาตัวเองขึ้นเช่นกัน 

“ท้ายที่สุดก็ส่งผลประโยชน์ต่อให้ทุกคน สังเกตดูว่าวัสดุในไทย พักหลังๆ มาจากจีนเยอะมาก ไม่ว่าคนจะสเปกแบบไหนสุดท้ายต้นทางส่วนใหญ่ก็มาจากจีน ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์อะไรบางอย่างจากพื้นที่เชียงใหม่หรือใกล้เคียงได้เอง แล้วสามารถกลายเป็นวัสดุที่ใช้กับอาคารได้ ทำไมเราถึงจะไม่ทำ เงินก็ไม่ต้องออกไปนอกประเทศ แถมยังกระจายสู่ชุมชนแถวนี้ได้จริงๆ อีกด้วย”


Facebook : SHER MAKER
Website : www.shermaker.com

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.