พ่อแม่โพสต์รูปลูกอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก - Urban Creature

คุณจำได้ไหมว่ามีแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองตอนอายุเท่าไหร่

หากย้อนกลับไปในวันที่เริ่มมีตัวตนบนโลกออนไลน์สำหรับหลายๆ คน เราคิดว่าน่าจะเป็นช่วงประถมศึกษาตอนปลายหรือมัธยมต้นที่เริ่มสมัคร Facebook และอัปโหลดรูปตัวเองบนโลกออนไลน์เป็นครั้งแรก

แต่กับสมัยนี้ หลายบ้านเริ่มสร้างตัวตนให้ลูกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ รูปอัลตราซาวนด์กลายเป็นรูปแจ้งเกิดในโลกออนไลน์ของเด็กรุ่นใหม่ แถมพอโตขึ้นมาหน่อย ไม่ว่าจะทำอะไรก็มักถูกพ่อแม่บันทึกไว้เป็นรูปภาพและวิดีโอโพสต์ลงบนออนไลน์เต็มไปหมด

‘ใครๆ เขาก็ลงรูปลูกตัวเองกันทั้งนั้น’
‘บ้านไหนจะโพสต์รูปลูกตัวเองก็เรื่องของเขา อย่าไปยุ่ง’
‘ทำไมพ่อแม่ถึงจะไม่มีสิทธิ์โพสต์รูปลูกตัวเองล่ะ’

จากความคิดเห็นเหล่านี้ คอลัมน์ Curiocity ขอชวนกลับมาตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วการที่พ่อแม่ทำแบบนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะผลกระทบอาจไม่ตกอยู่ที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น

พ่อแม่ยุคใหม่ ให้ชาวเน็ตช่วยเลี้ยงลูก

‘Sharenting’ พ่อแม่ยุคใหม่ โพสต์รูปลูกอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

ย้อนกลับไปในปี 2010 พ่อแม่ทั่วโลกต่างโพสต์รูปลูกตัวเองลงบนออนไลน์เป็นเรื่องปกติ จนสำนักข่าว ‘Wall Street Journal’ คิดค้นศัพท์ใหม่อย่าง ‘Sharenting (n.)’ เพื่อใช้นำเสนอปรากฏการณ์นี้ ก่อนได้รับการบันทึกลงใน Collins English Dictionary เมื่อปี 2016 และใช้อย่างกว้างขวางต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

Sharenting เกิดขึ้นจากการผสมคำระหว่าง Share และ Parenting เพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมของพ่อแม่ยุคใหม่ที่โพสต์ภาพและวิดีโอของลูกตัวเองบนโซเชียลมีเดียจนเกินพอดี 

จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2010 พบว่า มีทารกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่มีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์จากฝีมือของผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นรูปอัลตราซาวนด์ขณะอยู่ในท้อง ภาพวินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์การยืนสองขาครั้งแรก เกิดเป็น ‘Digital Footprint’ บนโลกออนไลน์ โดยที่เจ้าตัวไม่อาจทราบได้ในขณะนั้น 

เหตุการณ์ลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพจำให้เด็ก เสี่ยงต่อการขโมยข้อมูลส่วนตัว ถูกเลือกปฏิบัติในอนาคต หรือโดนคุกคามทางเพศออนไลน์

ไม่ว่าจะเด็กแค่ไหน การให้ Consent สำคัญเสมอ 

‘Sharenting’ พ่อแม่ยุคใหม่ โพสต์รูปลูกอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ในโซเชียลจะมีการถกเถียงและพูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กจากการลงรูปโดยพ่อแม่ผู้ปกครองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราต่างก็ยังเห็นการโพสต์ภาพอวดความน่ารักของเด็กบนโลกออนไลน์จากคนใกล้ตัวอยู่เสมอ

พวกเขามักให้เหตุผลว่าตนโพสต์ภาพเหล่านี้ในพื้นที่ส่วนตัว โดยทำไปเพราะต้องการเก็บบันทึกภาพเป็นความทรงจำและอวดความน่ารักของลูกเท่านั้น ไม่ได้กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายต่อตัวเด็ก

แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ 

เพราะส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มักโพสต์รูปเด็กโดยละเลย ‘Consent’ หรือความยินยอมของลูก ซึ่งเด็กในหลายครอบครัวไม่ได้อยู่ในวัยที่สามารถเข้าใจและให้การยินยอมในการลงรูปได้ด้วยซ้ำ ส่งผลให้เมื่อเด็กโตพอที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น การกลับไปเจอรูปภาพในอดีตของตนที่เต็มไปด้วยความน่าอายและล่อแหลมบนโลกออนไลน์ อาจกลายเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กมากกว่าที่พ่อแม่คาดคิด

ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กขอให้พ่อแม่ลบภาพเหล่านั้นออกจากโซเชียลมีเดีย ผู้ปกครองหลายบ้านกลับไม่ยอมทำตาม ด้วยความไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของเด็ก และมองว่าสิ่งที่ตนทำไม่ใช่เรื่องผิด

การที่ผู้ปกครองไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของบุตรเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและชุดความคิดที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง Consent ของเด็กในอนาคตได้ ทั้งที่หากมองในมุมกลับกัน ไม่ว่าใคร อายุเท่าไหร่ ก็ควรได้รับความเคารพสิทธิส่วนบุคคลกันทั้งนั้น

Digital Footprint น่ากลัวกว่าที่คิด

‘Sharenting’ พ่อแม่ยุคใหม่ โพสต์รูปลูกอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละครั้งที่เราลงรูปบนโลกออนไลน์ แม้จะแก้ไขหรือลบได้ แต่ Digital Footprint ยังคงอยู่เสมอ

ดังนั้น การโพสต์เกี่ยวกับเด็กในหนึ่งครั้ง นอกจากต้องได้รับความยินยอมแล้ว พ่อแม่ก็จำเป็นต้องให้ความสนใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ เกี่ยวกับรายละเอียดข้อมูลที่เผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งสถานที่เช็กอินแบบเรียลไทม์

จากการรวบรวมผลสำรวจของ ‘VPNoverview’ พบว่า มีถึง 45.2 เปอร์เซ็นต์ของโพสต์บน Facebook ที่มีการกล่าวถึงชื่อของเด็ก และภาพบน Instagram กว่า 19 เปอร์เซ็นต์ที่มีทั้งชื่อและวันเดือนปีเกิดของเด็กรวมอยู่ด้วย

หากข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสวมรอยเพื่อทำธุรกรรมจากข้อมูลส่วนตัว การดักรอเพื่อลักพาตัวจากการเช็กอินสถานที่ หรือแม้กระทั่งการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะจากรูปภาพที่ล่อแหลม

นักวิจัยที่ตรวจสอบการล่วงละเมิดเด็กทางออนไลน์พบว่า มีภาพถ่ายของเด็กกว่า 10 ล้านภาพถูกแชร์บนแพลตฟอร์มสื่อประเภทลามก และดึงดูดให้กลุ่มคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเชิงลามกอนาจารอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายของเด็กในผ้าอ้อม หรือภาพถ่ายของเด็กในชุดว่ายน้ำ 

โพสต์รูปอย่างไรไม่ให้เกิดอันตราย

‘Sharenting’ พ่อแม่ยุคใหม่ โพสต์รูปลูกอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

แม้การ Sharenting ของผู้ปกครองอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกหลาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเกือบทุกคนต่างต้องการบันทึกความทรงจำเก็บไว้ในที่ที่ย้อนกลับมาดูความน่ารักของลูกในวันข้างหน้าได้ เพียงแต่เมื่อวิธีการเก็บภาพถ่ายจากการอัดรูปเก็บเป็นอัลบั้มภาพในอดีต กลายเป็นการเก็บข้อมูลแบบดิจิทัลบนโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้สิ่งที่ควรเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เป็นส่วนตัวอย่างเดิมอีกต่อไป

การโพสต์ภาพและข้อมูลโดยไม่ละเมิดต่อสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็ก จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรศึกษาและปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดพื้นที่ตรงกลางของทั้งสองฝ่าย

การโพสต์ภาพบนโลกออนไลน์ตามคำแนะนำจาก ‘มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก’ แบ่งออกเป็น สิ่งที่ควรทำ (DO) และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง (Don’t) ดังนี้

สิ่งที่ควรทำ (DO)

  • ตั้งสติ คิดก่อนโพสต์ อย่าลืมว่าสิ่งที่โพสต์จะเป็น Digital Footprint แม้จะลบไปแล้วก็สามารถค้นหาได้เสมอ
  • ขออนุญาตและความยินยอมจากเด็กก่อนทุกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องราวดีๆ ก็ควรถามความรู้สึกก่อนเสมอ หากเด็กไม่ยินยอมก็ไม่ควรโพสต์
  • เปลี่ยนมุมมองใหม่ในการถ่ายภาพ เช่น ภาพถ่ายจากมุมที่ไม่เห็นหน้า ไม่ต้องลงรูปหน้าตรงๆ
  • ใช้ภาพกราฟิกหรือการ์ตูนแทนรูปหน้าจริง 
  • ตั้งค่าโพสต์เป็นส่วนตัว หรือเฉพาะเพื่อนสนิทเท่านั้นที่จะเห็นข้อมูลหรือภาพได้
  • ลดการเช็กอินสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพตามติด

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง (Don’t)

  • หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปหน้าตรงๆ หรือรูปที่เห็นใบหน้าชัดเจนของเด็ก
  • ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก 
  • ไม่โพสต์รูปที่ทำให้เด็กรู้สึกแย่ เช่น ภาพร้องไห้ หรือภาพท่าทางตลก 
  • ไม่โพสต์รูปลูกขณะอาบน้ำหรือไม่สวมเสื้อผ้า
  • หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปที่มีรูปเด็กคนอื่นติดอยู่ในภาพด้วย เพื่อไม่ละเมิดต่อสิทธิเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน

กฎหมายคุ้มครอง ผู้ปกครองต้องทำตาม

‘Sharenting’ พ่อแม่ยุคใหม่ โพสต์รูปลูกอย่างไร ไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก

ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกที่หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการ Sharenting และให้ความสำคัญกับสิทธิที่เด็กควรได้รับมากขึ้น 

ยกตัวอย่าง ‘ฝรั่งเศส’ ที่มีการระบุโทษทางกฎหมายให้บุตรสามารถฟ้องผู้ปกครองที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยไม่ได้รับความยินยอมได้ ‘สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร’ มีการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล General Data Protection Regulation (GDPR) เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กบนโลกออนไลน์ หรือ ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่มี Children’s Online Privacy Protection Act (COPPA) ช่วยปกป้องข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก

ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กอยู่หลายข้อเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ’ ที่ให้ความคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว หรือการดูหมิ่น ‘พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546’ มาตรา 27 ที่ห้ามไม่ให้โฆษณาหรือเผยแพร่สื่อที่เจตนาให้เกิดความเสียหายต่อตัวเด็กหรือผู้ปกครอง รวมไปถึง ‘พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA’ ว่าด้วยมาตรา 4(1) ที่หากรูปภาพที่เผยแพร่สร้างความเดือดร้อน ความเข้าใจผิด หรือพาดพิงผู้อยู่ในภาพหรือผู้อื่น อาจถูกฟ้องร้องได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไทยจะมีกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับสิทธิเด็กอยู่บ้าง แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้มีการลงโทษหรือบังคับใช้อย่างจริงจังเท่าไหร่นัก

หลายหน่วยงานและประชาชนบางส่วนจึงต้องออกมารณรงค์ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการคิดก่อนโพสต์ รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของเด็ก และข้ออันตรายจากการโพสต์หรือแชร์รูปของเด็กลงในโซเชียลมีเดียกันไปก่อน จนกว่าจะถึงวันที่กฎหมายและความเข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวในไทยเข้มแข็งกว่านี้


Sources : 
Comparitech | t.ly/kFM0
Independent | t.ly/ylT_
SOS Thailand | t.ly/Shwd
Thai Child Rights | t.ly/6o_B
The Atlantic | t.ly/h-pA
The Guardian | t.ly/-2xr
VPNoverview | ​​t.ly/GbrT

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.