หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา เนติวิทย์ ชวน Save สกาลา - Urban Creature

คนไทยโบกมือลา ‘สกาลา’ โรงหนังสแตนด์อะโลนอายุ 52 ปี แห่งเดียวที่หลงเหลือในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 1 ปีเต็ม เนื่องจากผู้บริหารทนสู้ต่อไปไม่ไหว ยิ่งไปกว่านั้นคือการขาดรายได้ช่วงโควิด-19 เพราะรัฐบาลสั่งปิดพื้นที่แบบไร้ซึ่งมาตรการเยียวยา ส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังไทยทั้งองคาพยพต้องสั่นคลอน ซ้ำร้ายยังบงการประชาชนให้อยู่บ้าน อย่าการ์ดตก ในขณะที่ผู้คนและผู้ประกอบการพยายามกุมลมหายใจเฮือกสุดท้ายของตัวเองไม่ให้ถูกพรากไป

เก่งแต่สั่งห้าม แต่ไม่ยอมส่งต่อความเจริญให้ประชาชนทุกคนสักที

แม้สกาลาปิดม่านลงอย่างถาวร แน่นอน ความทรงจำของผู้คนที่ตบเท้าเข้ามาซื้อตั๋วหนัง หรือเดินผ่านต่างจดจำได้ว่าอาคารนี้มีเสน่ห์ล้นเหลือ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่อยู่คู่สยามมายาวนาน Philip Jablon เจ้าของเพจ The Southeast Asia Movie Theater Project ผู้ออกเดินทางตามล่าความทรงจำเกี่ยวกับโรงหนังสแตนด์อะโลนทั่วภูมิภาค ยังยกย่องให้สกาลาเป็นโรงหนังที่งดงามที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าวันนี้สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าสไตล์ Art Deco และพื้นที่ความทรงจำแห่งนี้กำลังจะสูญหายไปตลอดกาล

‘สกาลา’ อาจจะจากไปแบบไม่มีวันหวนกลับ หากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่หยุดโครงการรื้อ ทุบ และพัฒนาอาคารแห่งนี้โดยปราศจากการให้คนในสังคมมีส่วนร่วมตัดสินใจ

สกาลาอาจกลายเป็นห้างฯ แห่งใหม่ ที่มีอยู่รอบจุฬาฯ จำนวนมาก ในขณะที่ประเทศแทบจะไม่มีพื้นที่สาธารณะรองรับชีวิตประชาชน อืม…แล้วจะหยุดสร้างห้างฯ ได้หรือยัง? หรือเห็นว่าประชาชนมีพื้นที่สาธารณะเพียงพอแล้ว

คุยกับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ผู้เคยออกมา #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม ให้อยู่คู่ชุมชน หลังจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ สั่งให้ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ ตอนนี้นักศึกษาหนุ่มไปยืนหน้าสกาลาซึ่งถูกปิดล้อมรอบด้าน พร้อมถือป้ายทวงคืนความเป็นธรรมร่วมกับ สมัชชาสิงห์ดำ CU Movie Club และ นันท์นภัส เอี้ยวสกุล จาก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เรียกร้องให้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดเลือกให้พัฒนาบริเวณที่ตั้งสกาลา ฟังเสียงประชาชน ดังนี้ และเดี๋ยวนี้

1. อนุญาตให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ และมีประโยชน์ต่อนิสิตและประชาชนทั่วไป 
2. ให้เป็นพื้นที่ซึ่งสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของโรงหนังสกาลา 
3. ให้นิสิต และสังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจถึงทิศทางการพัฒนาบริเวณดังกล่าว

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
บริเวณด้านหน้าโรงภาพยนตร์สกาลาในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้คุณเคยขับเคลื่อนพื้นที่ซึ่งจะถูกนายทุนรวบกินมาแล้ว การเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ คุณมองเห็นถึงปัญหาอะไร

เนติวิทย์ : ผมเคยขับเคลื่อนเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม ช่วยเหลือผู้เช่ารายย่อยในห้างจามจุรีสแควร์ ปัญหาตอนนี้ไม่ต่างจากตอนนั้น เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้น มากกว่ายาว เห็นได้ชัดจากกรณีการทำลายชุมชนสามย่านจนแทบไม่เหลืออะไร ทั้งๆ ที่จุดขายของสามย่านคือชุมชนเก่าแก่ เหมือนที่ห้างฯ สามย่านมิตรทาวน์มาเช่าที่จุฬาฯ แล้วเอาคอนเซปต์ตำนานสามย่านมาเป็นจุดขาย 

แต่ผู้บริหารจุฬาฯ กลับคิดแต่จะเอาตัวรอด ไม่ฟังเสียงคน คล้ายๆ พวกผู้บริหารโรงเรียนมัธยมฯ ที่ผมเคยเรียน ซึ่งเก่งเหลือเกินที่จะสร้างลานกีฬาใหม่ หรือตึกใหม่ แต่เมื่อพูดถึงคุณค่า ความทรงจำ และความเป็นชุมชน พวกเขาไม่มีความสามารถที่จะต่อยอดมันให้เกิดประโยชน์

การที่จุฬาฯ ไล่ทุบ ไล่ทำลายผู้คน และสถานที่ ส่วนหนึ่งมาจากความตกต่ำของประชาคมจุฬาฯ ที่ไม่มีอำนาจทัดทาน ประกอบกับนักวิชาการที่มีกระดูกสันหลังของเรามีจำนวนน้อย ไม่ต้องมองแค่เรื่องของจุฬาฯ ก็ได้ครับ เอาบรรยากาศทั่วไปของสังคมตอนนี้ที่กำลังขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ก็ยังมีนักวิชาการจำนวนน้อยที่กล้าลงชื่อ หรือกล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า มันมาจากความกลัวที่ปกคลุมสังคมมานาน เพราะว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง หรือเราไม่ใช่คนสำคัญ ดังนั้นชนชั้นปกครอง ชนชั้นผู้บริหารก็เลยกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่สนเสียงใครเลย

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

คุณและเพื่อนๆ ออกมาเรียกร้องให้ Save สกาลา สำหรับพวกคุณมองพื้นที่บริเวณสกาลาในอดีตแบบไหน และมันมีประโยชน์อย่างไรต่อสังคมปัจจุบัน 

เนติวิทย์ : สกาลาเป็นโรงหนังเก่าแก่ มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากความสวยงาม สกาลายังผูกพันกับประวัติศาสตร์ย่านสยามตั้งแต่เริ่มพัฒนาขึ้น เห็นสกาลาก็จะเห็นความเป็นสยามยุคแรกๆ และเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของวงการภาพยนตร์ไทยด้วย 

ผมไปดูหนังหลายเรื่องที่นี่ มันมีกลิ่นบรรยากาศเก่าๆ ที่โรงหนังในห้างฯ ไม่มี การมาสกาลาครั้งหนึ่ง คุณจะเห็นคนรุ่นพ่อแม่ เห็นประวัติศาสตร์ผู้คน เห็นอาคาร Art Deco ที่รุ่งเรืองในยุคก่อน และคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สกาลาไปด้วย ถ้าหากมันไม่ถูกทำลาย คุณและคนรุ่นใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสกาลาที่ร้อยเรียงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้เป็นอย่างดี กลับกันถ้าสกาลากลายเป็นห้างฯ คุณจะไม่รู้สึกอินอะไรเลย

สมัชชาสิงห์ดำ : สกาลาเป็นโรงหนังสแตนด์อะโลนท้ายๆ ที่ยังเหลืออยู่ในประเทศ ตัดภาพไปที่โรงหนังเครือใหญ่ ซึ่งมีในห้างฯ ทั่วประเทศ มันเหมือนๆ กันหมด ค่าตั๋วและค่าป็อปคอร์นแพง มีแต่หนังโรงแมสๆ มาฉายเพราะคาดว่ารายได้จะดี 

แต่สกาลาค่าตั๋วถูกกว่า หนังที่ฉายมีความหลากหลาย เราจะได้ดูหนังประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังทำกำไร เฮือกสุดท้ายของสกาลายิ่งตอกย้ำเรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุนนิยมชอบทำให้อะไรเหมือนๆ กันหมด เหมือนเป็นแบบแผนทางสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นต่อต้าน เพราะสิ่งที่เขาทำ คือการทุบทำลายความหลากหลายในสังคม ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาแบบที่อ้างถึง

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์, สมัชชาสิงห์ดำ, CU Movie Club และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้นายทุนหยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา

#หยุดสร้างห้างที่สกาล่า เล็งเห็นปัญหาอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่สกาลากำลังเผชิญบ้าง

เนติวิทย์ : ชัดที่สุดคือปัญหาเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะในจุฬาฯ ซึ่งอ้างว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อนุรักษนิยม แต่กลับถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น และคุณก็ไม่เคยเห็นพวกเรียนอนุรักษ์ หรือพวกอนุรักษนิยมในจุฬาฯ ออกมายืนหยัดสู้เรื่องนี้สักเท่าไหร่ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินคนปัจจุบันเคยบอกกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า สกาลาไม่ได้เก่าแบบวัดพระแก้วสักหน่อย คุณคิดดูเถอะว่า ถ้าการศึกษาด้านการอนุรักษ์เราดีจริง คนพูดแบบนี้ต้องถูกขับออกจากรองอธิการบดีไปแล้ว มันสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทย เป็นรองเรื่องอำนาจ ดังนั้นปัญหาการทุบทำลายพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องของอำนาจที่ผู้มีอำนาจกำหนดชะตากรรมของเมืองได้ 

CU Movie Club : การที่กลุ่มเซ็นทรัลให้คำสัญญาว่าจะพยายามรักษาสถาปัตยกรรมของอาคารเดิมไว้ให้มากที่สุดยิ่งให้ความชอบธรรมกับทางองค์กรที่จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เราอยากชวนมองในแง่เศรษฐกิจสังคมมากกว่า ว่ากลุ่มทุนนี้เป็นกลุ่มทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ยิ่งทุนหนา และการจัดการของรัฐเอื้อ ทำให้ตัวตน และการมีอยู่ในพื้นที่เมืองนั้นมากขึ้น เราจึงเห็นร้านสะดวกซื้อชื่อเดิมๆ ห้างสรรพสินค้าเจ้าเดิมๆ เปิดสาขาใหม่ๆ ทั่วกรุงเทพฯ 

คำถามคือ เราไม่ต้องการพื้นที่ในเมืองแบบอื่นเลยหรือ หากสกาลาถูกบริหารโดยนายทุน และแปรเปลี่ยนเป็นห้างฯ จิตวิญญาณ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์จะคงอยู่ได้ตลอดไปจริงหรือเปล่า

นันท์นภัส : มันคือการเหยียบย่ำความทรงจำร่วมของผู้คน แฝงไปด้วยความไม่เป็นธรรมในการสร้างหรือพัฒนาพื้นที่ที่ผู้คนเคยมีความทรงจำ โดยไม่ให้โอกาสการมีส่วนร่วม เรามองเห็นการพัฒนาที่มองจากข้างบนลงมาข้างล่าง ขาดความเข้าใจเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และคุณค่า หรือเสน่ห์ของพื้นที่ สุดท้ายก็ตอบโจทย์กลุ่มคนอยู่ไม่กี่กลุ่ม โดยเฉพาะคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่เลยด้วยซ้ำ

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์, สมัชชาสิงห์ดำ, CU Movie Club และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้นายทุนหยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา

กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยห้างฯ แต่คนส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือนแทบไม่พอใช้จ่าย คุณคิดว่าทำไมประเทศนี้ยังมุ่งสร้างห้างฯ ใหม่ๆ ตลอดเวลา

เนติวิทย์ : การสร้างห้างฯ เป็นสัญลักษณ์ของคนมีอำนาจ ที่แสดงออกมาว่าตัวเองรวยขนาดไหน เดี๋ยวนี้การสร้างห้างฯ ครั้งหนึ่งไม่ได้สร้างให้ใหญ่ที่สุดในไทย แต่จะต้องใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรือในโลก เพื่อดึงดูดนักลงทุน ทำให้มิติวัฒนธรรมของคนตัวเล็กกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ ทีนี้ในระบอบประชาธิปไตย คนธรรมดาอาจจะบอกว่า ชีวิตพวกเรามีค่า เราไม่ต้องการถูกบังคับเข้าห้างฯ เราอยากรักษาบ้านของเราไว้ รักษาศาลเจ้าไว้ รักษาวัฒนธรรมไว้ แถมยังมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งคอยค้าน แต่ในระบอบเผด็จการ มันไม่คิดจะฟัง ยิ่งห้างฯ เยอะ ยิ่งดี นักลงทุนมาลงทุนเยอะๆ คนรวยก็รวยไป สร้างความมั่นคงปลอมๆ ขึ้นมา เผด็จการได้ภาพลักษณ์ ได้เงินลงทุนจากต่างชาติ เพื่อเสริมให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อยาวๆ ส่วนคนข้างล่างก็รอเศษเงิน ถูกทำลายรากเหง้า ไม่มีอำนาจกำหนดเมือง

สมัชชาสิงห์ดำ : แง่หนึ่ง คือมุมมองการพัฒนา และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบลัทธิเสรีนิยมใหม่ การพัฒนาห้างฯ ไม่ได้คำนึงถึงผู้คนตั้งแต่แรก เพราะมันสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล แทนที่จะแก้ปัญหาที่โครงสร้างเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการให้คนลืมตาอ้าปาก แต่เสรีนิยมใหม่คิดว่ายิ่งต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตถึงจะแก้ปัญหาความยากจน คิดว่าหากเศรษฐกิจโตจะเกิดการสร้างงานขึ้นเอง นี่คือมุมมองการพัฒนาที่เอื้อการเจริญเติบโตของนายทุน ไม่ใช่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทางออกเลยกลายเป็นการสร้างห้างฯ หรือสร้างอะไรก็ตามเพื่อดึงดูดการลงทุน สุดท้ายความมั่งคั่งพวกนี้ไม่ใช่ของคนส่วนมาก แต่เป็นของคนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมด ไม่งั้นไม่มีการไล่รื้อพื้นที่ชาวบ้านเพื่อไปสร้างห้างฯ หรอก

ยิ่งสร้างห้างฯ พื้นที่แถวนั้นยิ่งค่าครองชีพสูง ไม่พอเงินเดือนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แล้วคนส่วนมากไม่ได้เดินห้างฯ ด้วยซ้ำเพราะมันแพง สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนไม่มีปัญญาเดินห้าง ก็เจ๊ง คนตกงาน ผู้ค้ารายย่อยในห้างฯ เดือดร้อน แต่นายทุนลอยตัว เพราะแก้ปัญหาด้วยการย้ายตัวเองไปลงทุนที่ใหม่ ปล่อยให้ที่เก่าเน่าตาย ไม่ก็ทุบทิ้ง 

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

ข้อเรียกร้องที่หนึ่งคือ อนุญาตให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ และมีประโยชน์ต่อนิสิตและประชาชนทั่วไป จุดนี้คุณกำลังเห็นคนไทยขาดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถ้าขาด มันมากหรือน้อยแค่ไหน แล้วพื้นที่สาธารณะแบบไหนที่ไทยควรมี

เนติวิทย์ : เราขาดพื้นที่สาธารณะอะไรก็ตามที่ทุกคนเป็นเจ้าของ มาใช้พื้นที่โดยไม่เสียเงิน ซึ่งห้างฯ อาจบอกว่าก็ Mixed-use นะ แต่ยังไงคุณก็ต้องทำกิจกรรมตามใจห้างฯ อยู่ดี เช่น ถ้าคุณจะมาประท้วง คุณก็ไสหัวออกไปซะ เพราะนี่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ การไม่มีพื้นที่สาธารณะมันก็สะท้อนว่าเราถูกควบคุมมาก กิจกรรมต่างๆ แปรสภาพเป็นเรื่องการทำกำไรของเอกชน 

นันท์นภัส : เรามองว่าพื้นที่สาธารณะคือการต่อรอง มีความสัมพันธ์ที่ดำเนินอยู่ไปพร้อมๆ กับคำถามว่าพื้นที่นั้นตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่อย่างไร กฎหมาย สัญญา กรรมสิทธิ์ ไม่ใช่ตัวบอกทุกอย่าง เมื่อเรามาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จะชอบมีคำพูดว่า “แต่บริษัท…นี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นะ” ตลอดเวลา แบบนี้แสดงให้เห็นชัดไหม ว่าเราขาดพื้นที่สาธารณะแค่ไหน ดังนั้นพื้นที่สาธารณะที่เราอยากมี คือพื้นที่ที่ปล่อยให้ Creativity ของผู้คนทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แป๊บๆ ก็มีเจ้าหน้าที่วิ่งมาไล่ เอาเหล็กมากั้น หรือจำกัดเวลา 

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ และเพื่อนๆ นิสิตจุฬาฯ ถือป้ายแสดงออกทางสัญลักษณ์บริเวณหน้าโรงหนังสกาลา เรียกร้องให้นายทุนหยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา

ข้อเรียกร้องที่สองคือ ให้เป็นพื้นที่ซึ่งสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของโรงหนังสกาลา คุณมองว่าวิธีที่จะสืบทอดสกาลาที่ปิดตัวไปแล้วให้กลับมาเป็นพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมได้ ควรทำอะไรบ้าง

เนติวิทย์ : ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ มันเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญที่ควรออกมาพูด แต่คุณเชื่อผมเถอะ ห้างฯ ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวแน่ๆ และถ้าพูดแบบประชดประชัน จุฬาฯ พยายามสร้างแบรนด์โฆษณาทั่วประเทศว่าตัวเองเป็นตัวท็อปของโลก ใครๆ ก็อยากให้เด็กมาเรียน คุณคิดว่าจุฬาฯ ทำให้สกาลาเป็นที่รู้จักในพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมไม่ได้เหรอ 

สมัชชาสิงห์ดำ : เคยมีคนเสนอกันเยอะว่าเอาพื้นที่ตรงนั้นไปทำหอสมุดภาพยนตร์ไทย ห้องสมุดสาธารณะให้ประชาชนทั่วไป เป็นโรงละครสำหรับนิสิตนักศึกษาด้านภาพยนตร์ หรือการละคร และเปิดโอกาสให้ร้านค้ารายย่อยมาเช่าพื้นที่ด้วยราคาเป็นธรรม ซึ่งถ้าลองปรับใช้โมเดลการบริหารที่รวบรวมคนจากหลายภาคส่วนทั้งภาคนิสิตนักศึกษา ภาคประชาสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ มาร่วมกันบริหาร เพื่อให้มันเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนจะดีแค่ไหน แต่ถามว่าเขายินดีรับฟังไหม ก็ไม่

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ แสดงออกทางสัญลักษณ์เรียกร้องให้หยุดโครงการสร้างห้างฯ ที่สกาลา

ข้อเรียกร้องสุดท้าย ให้นิสิต และสังคมมีส่วนร่วมตัดสินใจถึงทิศทางการพัฒนาบริเวณดังกล่าว คุณคิดว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมด้านการตัดสินใจเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เพราะอะไร 

สมัชชาสิงห์ดำ : เรามักเห็นว่าแม้แต่นายทุนพวกนี้หรือจุฬาฯ เองมักบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย นับถือคุณค่าประชาธิปไตย แต่เห็นได้เลยว่า มีคนตัดสินใจอยู่คนเดียวก็คือเจ้าของที่ดิน นายทุน ประชาชนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง มันเป็นประชาธิปไตยตรงไหน อำนาจทางการเมือง กฎหมาย สถาบันต่างๆ เอื้อกันไปหมด เขาเลยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงเรา 

การถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่อนุญาตให้คนเพียงหยิบมือครอบครองทรัพยากรเยอะมากเกิน ในขณะที่คนอีกกลุ่มไม่มีอะไร คนตัวเล็กๆ ก็ต่อสู้ยาก เพราะอีกฝ่ายมีกำลัง มีกฎหมายอยู่ในมือ มีรัฐหนุน รวมถึงสภาพสังคมหรืองานที่ระบบผลิตออกมาในปัจจุบันก็บังคับให้คนต้องอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีเวลามาคิดต่อต้านเพราะทำงานก็เหนื่อยสายตัวแทบขาด ความเป็นชุมชนก็ถูกทำลายไปเยอะ คนอยู่กระจัดกระจาย ไม่มีการรวมกลุ่มหรือไม่มีสหภาพเป็นตัวคานการรุกคืบของทุน มันจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นป้อมมหากาฬ ที่เวิ้งนาครเขษม ชุมชนเจริญนคร หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม 

ฉะนั้นมันต้องเป็นการประสานพลังจากหลายส่วน ไม่ว่าจะนักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมืองที่บอกว่ายืนข้างประชาชน คุณต้องกล้าคัดง้างกับทุน เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน เราต้องเลือกได้ว่าภาพเมืองที่เราอยากอยู่เป็นแบบไหน ต้องหันมาพูดคุย ระดมสมองเรื่องสิทธิในเมือง ที่คนอยู่อาศัยร่วมกันออกแบบสร้างเมืองที่ตอบสนองความต้องการทางสังคม และเอาผู้คนมาก่อนผลประโยชน์ ถึงจะเป็นเมืองที่มีชีวิตและเอื้อให้มีความสุขได้จริงๆ

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

หากลองมองกลับกัน นายทุน และนายที่ดินก็จะบอกว่านี่คือสินทรัพย์ของพวกเขา แล้วพวกคุณล่ะมองการเสนอหนทางร่วม หรือจะตอบคำถามเหล่านี้ยังไง

สมัชชาสิงห์ดำ : จุฬาฯ นี่บอกว่าตัวเองเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนะ 

เนติวิทย์ : ก็ต้องดูที่ดินกันไป แต่ที่ดินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ไม่กี่ตระกูล ถ้าคุณไปดูดีๆ บางทีมีคนอาศัยอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว ก่อนที่คุณจะอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินหรือรับสัมปทานจากรัฐเสียอีก ทีนี้พอคนจนไม่ทำเงินมากพอ ก็ขับไล่ เพื่อยึดครองพื้นที่ เมื่อก่อนก็มีไปเผาไล่ที่ ดังนั้น ผมไม่แน่ใจว่าที่ดินจำนวนมากที่ได้มาชอบธรรมแค่ไหน ต่างประเทศตระหนักเรื่องนี้กันครับ เดี๋ยวนี้มีการจ่ายค่าสินไหมชดเชยความอยุติธรรมในอดีต เมืองไทยต่อไปก็คงต้องมีขบวนการแบบนี้บ้าง

กลับมาที่จุฬาฯ คนที่รับที่ดินจุฬาฯ ไปพัฒนา จะบอกว่าสินทรัพย์เขาก็คงไม่ได้ เขาแค่เช่าอยู่ และก็ต้องทำตามกรอบเจตนารมณ์ตามสัญญาเช่า แต่สำหรับผม เจตนารมณ์ที่ว่า มันถูกกำหนดโดยไม่กี่คน คนพวกนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เขาไม่รับผิดชอบต่อประชาคมด้วยซ้ำ แล้วมันมีความชอบธรรมจริงๆ แค่ไหนกัน 

นันท์นภัส : ซึ่งการพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยมักทำให้ที่ดินมีราคาแพงขึ้น และกลายเป็นพื้นที่ของคนมีฐานะ คนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากที่เคยอาศัยในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยจำใจย้ายออก เพราะจ่ายค่าเช่าไม่ไหว หรือประกอบอาชีพตามเดิมไม่ได้

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ถือป้าย Make Scala Public Space เรียกร้องให้สกาลาเป็นพื้นที่สาธารณะ

ขอถามแบบอุดมคติ ถ้าเมืองของเราเปลี่ยนแปลงด้วยการที่ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น นักศึกษาที่ทำงานเคลื่อนไหวอย่างหนักแบบพวกคุณคงได้พัก ถ้าเป็นแบบนั้นอยากให้รางวัลอะไรกับตัวเอง

นันท์นภัส : รางวัลของเราคงเป็นการได้ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับทุกคน และได้เห็นมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเรียนทำหน้าที่ที่ตอบโจทย์กับพันธกิจของตัวเอง อย่างน้อยควรส่งเสริมให้เกิดการใช้พื้นที่ที่มีกิจกรรมหลากหลาย มีวิธีการสร้างความยั่งยืนในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่สร้างห้างฯ หรือพื้นที่สีเขียวที่เป็นข้ออ้างให้สร้างตึกเพิ่ม

เนติวิทย์ : ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ผมจะต้องมาทำเรื่องที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้ทุกคนก็คงพอรู้ ผมทำเรื่องปัญหาการศึกษา หรืออำนาจนิยมในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่วันหนึ่ง มีผู้ค้าที่จามจุรีสแควร์เดินมาหาผมที่คณะ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มาร้องขอความเป็นธรรม เพราะไม่มีใครช่วยเขา ตอนนั้นผมรู้สึกว่ายังไงก็ต้องทำ และพอเห็นความทุกข์ที่พวกเขาเจอ และได้เรียนรู้มากขึ้น ผมก็คิดว่าคงหยุดทำไม่ได้ ต้องสู้ต่อ เพราะมันเป็นเรื่องของเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ทุกคนในเมืองมีสิทธิ์จะได้รับชีวิตที่ดีและมีความยุติธรรม

การต่อสู้ไม่เคยหยุดนิ่งนะ ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ ผมโชคดีที่ไม่ได้สู้เพียงคนเดียว ได้เจอคนที่มีจินตนาการ หรือมีความหวังอยากให้บ้านเมืองเราดีขึ้นมากมาย รางวัลเดียวที่อยากได้ ผมแค่คิดว่าถ้าวันไหนตัวเองเหนื่อย หรือไม่อยู่บนโลกแล้ว ขอแค่มีคนอื่นๆ ที่ไฟแรงกว่ามาช่วยสู้ต่อไปก็พอ

สกาลา-โรงหนังสกาลาปิดตัว-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล-SaveScala-ห้างสกาลา-เซ็นทรัล-หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.