SAVE PAPERS SAVE TREES ยุคไร้กระดาษ เพื่อโลกสีเขียวที่ใกล้เป็นจริง - Urban Creature

รู้หรือไม่ ปีหนึ่งเราจะใช้กระดาษกันมากที่สุดกี่แผ่น ?

จากผลศึกษาโครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ โดยมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา พบว่าเฉลี่ยหนึ่งคนใช้กระดาษไป 12,000 แผ่น/ปี หมายความว่าเราต้องตัดต้นไม้ประมาณ 18 ต้น/คน และถ้ารวมทั้งประเทศต้องตัดต้นไม้มากถึง 66.3 ล้านต้น/ปี

ดูจากตัวเลขแล้วเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ต้องสูญเสียทรัพยากรสีเขียวเพื่อตอบสนองการใช้งานของคน ก่อนที่จะเป็น ‘กระดาษ’ ที่ใช้กันทุกวันนี้ ทุกคนคงทราบกันดีว่ามาจากการตัดต้นไม้ ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนมากขึ้น แต่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถลดการใช้กระดาษในชีวิตประจำวันได้มากกว่าที่เคย อย่างการสแกน QR Code ชำระสินค้า, ซื้อของออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน หรือการพรีเซนต์งานบนสไลด์แทนการพิมพ์เอกสาร ทุกประเทศต่างนำสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มาปรับใช้กับชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งช่วยทำให้การใช้กระดาษน้อยลงและรู้จักใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่ามากขึ้น เราไปดูกันดีกว่า ว่าพวกเขามีแนวทางการลดใช้กระดาษกันอย่างไร

‘กระดาษ’ เกี่ยวอะไรกับ ‘สภาวะโลกร้อน’

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สภาวะโลกร้อนคือ ชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษอื่นๆ สะสมอยู่ในอากาศของเรา หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ นั่นเอง จับตัวกันเหมือนชั้นผ้าห่มหนาๆ ยิ่งได้รับความร้อนจากแสงแดดมากเท่าไหร โลกที่อยู่ใต้ชั้นผ้าห่มผืนนี้ก็จะมีอุณหภูมิสูงตามไปด้วย ทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ฤดูกาลผิดเพี้ยนไปจากปกติที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้มาจากสิ่งใกล้ตัวและความคุ้นชินในปัจจุบันอย่าง การเผาขยะในครัวเรือน การปล่อยสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมจากฝีมือมนุษย์ที่ค่อยๆ ทำลายโลกที่เราอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง

กลับมาที่กระบวนการผลิตกระดาษ ทุกขั้นตอนส่วนใหญ่ล้วนก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การตัดต้นไม้ กระบวนการผลิต หรือการนำไปรีไซเคิลเป็นกระดาษใหม่ ล้วนเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเมื่อมันกลายเป็นขยะแล้ว เพราะเมื่อนำขยะไปฝังกลบก็จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ที่มีพิษร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ดังนั้นการตั้งโรงงานผลิตกระดาษสักที่หนึ่ง เท่ากับปล่อยก๊าซพิษมาทำลายอากาศที่เราหายใจถึง 2,900 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และทุกคนต่างรับรู้ถึงปัญหาพร้อมหาทางรับมือที่จะลดการใช้กระดาษให้น้อยที่สุด

เรามักจะเห็นผ่านตากันมาบ้างกับการรณรงค์ประหยัดกระดาษ หรือการนำเทคโนโลยีมาทดแทนเพื่อลดการใช้กระดาษให้น้อยที่สุด ต่างประเทศหรือในไทยเองก็มีวิธีการที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการตื่นตัวต่อการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น พวกเขาจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ไปติดตามกัน

Banking | ลาก่อนยุคเซ็นเอกสาร ระบบออนไลน์มาแทนที่แล้ว

สมัยก่อนแค่จะเดินเข้าธนาคารก็แทบต้องใช้กระดาษทุกขั้นตอน เช่น กดบัตรคิว กรอกใบนำฝาก รับรองสำเนาเอกสาร หรือแม้กระทั่งส่งจดหมายแจ้งการชำระเงิน สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นขยะที่ต้องทิ้งอยู่ดี จากผลสำรวจของ American Banker กล่าวว่าจดหมายธนาคารในอเมริกามีจำนวนกว่า 50,000 ล้านชิ้นที่ส่งถึงมือลูกค้า และรายงานของ Green Research พบปริมาณกระดาษในธนาคาร 10 อันดับของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 50% – 100% อย่างธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี Deutsche Bank ในปี 2554 มีรายงานการใช้กระดาษเพิ่มขึ้นถึง 4,000,000 กิโลกรัม

ตัวเลขไม่น้อยที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาและหาทางลดการใช้กระดาษให้น้อยที่สุด อย่างบริษัท ‘Bank of America’ 1 ใน 4 ธนาคารชื่อดังในอเมริกา ที่ตั้งเป้าตั้งแต่ปี 2559 ว่าภายในปี 2563 จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) หนึ่งในนั้นคือการลดใช้กระดาษให้น้อยลง และพวกเขาก็สามารถลดการใช้กระดาษในปี 2017 ได้ถึง 31% โดยเปลี่ยนมาเป็นธนาคารเป็นรูปแบบออนไลน์ ลดการพิมพ์เอกสารของพนักงาน แล้วหันมาส่งผ่านระบบดิจิตอลแทน

หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยให้เห็นภาพชัดเจน เมื่อก่อนเราต้องไปธนาคารใกล้บ้านเพื่อทำธุรกรรม แต่ในสมัยนี้เราสามารถทำทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชัน E- Banking ได้สบาย ซึ่งก็คือการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น ฝาก – ถอนเงิน, สอบถามยอด หรือ ชำระสินค้าแสกนผ่าน QR Code ในสมาร์ทโฟน ลดการใช้เอกสารที่ไม่จำเป็น และทำให้สะดวกรวดเร็วในการใช้งานอีกด้วย

Fashion | ใช้กระดาษทั้งที ต้องใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่

แม้ว่าเราจะพยายามลดใช้ถุงพลาสติกกันแล้ว แต่เมื่อเราซื้อสินค้าอย่าง กระเป๋า รองเท้า หรือเสื้อผ้า แน่นอนว่าพนักงานก็ต้องบรรจุใส่กล่อง หรือถุงกระดาษมาให้ลูกค้าอยู่ดี เท่ากับว่าสิ่งของหนึ่งชิ้นจะมาพร้อมกับขยะมากกว่าตัวสินค้าที่เราซื้อเสียอีก แบรนด์แฟชันที่เราทุกคนคุ้นหูกันดีอย่าง ‘Nike’ ได้ทำสัญญา ‘Environmental Mission and Policy and adopted the following forest’ ตั้งแต่ปี 2541

โดยบรรจุภัณฑ์ของ Nike เช่น กล่องใส่รองเท้า แพ็กเกจต่างๆ รวมถึงเอกสารในบริษัทจะไม่ใช้กระดาษที่มาจากต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่หรือต้นไม้ในเขตป่าชายแดน นอกจากนี้กล่องบรรจุสินค้าจะเป็นรูปแบบรีไซเคิลจากกระดาษที่เคยใช้แล้ว 100% ทั้งหมด ซึ่งแบรนด์เสื้อ ‘Zara’ ก็มีแนวความคิดนี้เช่นกัน นอกจากใช้กระดาษหมุนเวียนแล้ว กล่องลังขนาดใหญ่สำหรับเก็บสต๊อกสินค้าก็ถูกใช้ซ้ำเฉลี่ย 5 ครั้งก่อนนำไปรีไซเคิลใหม่อีกครั้ง

Government | เปลี่ยนทีละนิด กับผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดา

ก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศที่ต่างก็มีการลดใช้กระดาษกันมาบ้างแล้ว ในประเทศไทยเองก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญนี้ โดยการปรับพฤติกรรมและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยภายในปี 2563 หน่วยงานราชการจะเลิกใช้กระดาษในการออกเอกสาร แล้วเปลี่ยนมาส่งผ่านระบบดิจิทัลแทน อย่างโรงพยาบาลระยอง จัดทำโครงการ ‘โรงพยาบาลไร้กระดาษ’ จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย ผลการตรวจ หรือใบสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยสร้างความสะดวกทั้งผู้ป่วยเองและทางโรงพยาบาล อีกทั้งสะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายสำหรับกระดาษและหมึกพิมพ์ รวมถึงลดพื้นที่สำหรับเก็บเอกสารได้อีกด้วย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มโครงการ ‘สำนักงานไร้กระดาษ ลดกระดาษ’ ในปี 2559 เป็นต้นแบบการใช้เทคนิค 3R นั่นคือ Reuse, Recycle และ Reduce หลังจากผ่านไป 1 ปีพบว่าลดการใช้กระดาษได้ถึง 24 % และต่อไปจะลดปริมาณกระดาษให้ได้ถึง 50 % ในอนาคต รวมทั้งหันมาใช้อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันมากขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ใกล้ตัวคือในสถาบันการศึกษา อย่างรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วไปก็เริ่มปรับรูปแบบการสอน เช่น การอ่านหนังสือใน E- Book, เอกสารเนื้อหาการเรียนผ่านไฟล์ PDF, การพรีเซนต์ผลงานผ่านจอฉายภาพ หรือแม้แต่การบ้านที่ทำผ่านระบบออนไลน์ แทนการพิมพ์เอกสารจำนวนมาก การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ช่วยลดปริมาณขยะและลดค่าใช้จ่ายของผู้เรียนอีกด้วย

สภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องของใครคนเดียวอีกต่อไป จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาโลกของเรา เริ่มจากตัวเอง สังคม ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็ให้ความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และปรับตัวต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่สามารถเลิกใช้กระดาษได้ 100% แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่า และปลูกฝังคนรุ่นหลังให้มีใจรักสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

Content Writer : Jarujan L.
Graphic Designer : Vachara P.


SOURCE :
https:// sustainability.tufts.edu/wp-content/uploads/BusinessGuidetoPaperReduction.pdf
https:// www.inditex.com/our-commitment-to-the-environment/closing-the-loop/collect-reuse-recycle
https:// www.americanbanker.com/news/banks-use-more-paper-despite-e-statements-popularity
http:// www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=686
https:// gnews.apps.go.th/news?news=11201
https:// about.bankofamerica.com/en-us/what-guides-us/environmental-sustainability-operations-and-employees.html#fbid=8r8h8h1VUgh

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.