ความมืดกำลังโรยตัวปกคลุมเชียงใหม่ ฉันก้าวขาจากรถลงเดินบนถนนสิงหราชที่นักท่องเที่ยวขวักไขว่ เปิดประตูเข้าร้านเล็กๆ ริมทางและปล่อยสายตาให้ได้ปรับตัวกับแสงไฟ
อาจเป็นเพราะจังหวะเพลงที่พอโยกตัวได้ เสียงชงเครื่องดื่มเบาๆ จากบาร์ และป้ายประกาศซึ่งตั้งอยู่รอบร้านที่ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจ PRIDE, SISTERHOOD, RESPECT คือตัวอย่างคำที่ฉันปรายตาเร็วๆ แล้วสังเกตเห็น และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น
อย่างไม่ต้องสงสัย Sapphic Riot คือบาร์ที่สร้างสรรค์มาเพื่อชาวแซฟฟิก (Sapphic) โดยเฉพาะ สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร หมวย หญิงสาวเจ้าของบาร์ผู้กำลังนั่งอยู่ตรงหน้าฉันตอนนี้อธิบายว่า แซฟฟิกคือคอมมูนิตี้ของคนที่เป็นผู้หญิงและคนที่รักผู้หญิง ซึ่งไม่ได้นับรวมแค่คนที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองว่าเลสเบี้ยนเท่านั้น แต่ร่มของแซฟฟิกนั้นครอบคลุมไปถึงไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ เควียร์ ไปจนถึงกลุ่มนอนไบนารี
นี่คือบาร์แซฟฟิกแห่งแรกในเชียงใหม่ และนั่นคือสิ่งที่ชวนให้ฉันสนใจบาร์แห่งนี้ในทีแรก แต่พอได้นั่งคุยกับผู้ก่อตั้งจริงๆ สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ความตั้งใจของหญิงสาวตัวเล็กๆ ที่อยากสร้างพื้นที่ที่เธอเสาะแสวงหามาทั้งชีวิต เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนในคอมมูนิตี้ และพื้นที่ที่เธอกับเพื่อนชาวแซฟฟิกสามารถ ‘เป็น’ และ ‘ทำ’ อะไรได้โดยไม่ถูกตัดสินจากใคร
Sapphic Pride
“สิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับคอมมูฯ แซฟฟิกคืออะไร”
ท่ามกลางเสียงเพลงในร้านที่ดังคลอ ฉันเปิดบทสนทนาด้วยการชวนหมวยครุ่นคิดเกี่ยวกับคอมมูนิตี้ของเธอ
“คนส่วนมากจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาททางเพศว่าเราต้องเป็นฝ่ายไหน ใครจะต้องเป็นฝ่ายเทกแคร์อีกคน ซึ่งจริงๆ มันค่อนข้างลื่นไหลมาก” หญิงสาวตอบชัดถ้อยชัดคำ
“แต่ปัญหาหลักๆ เราคิดว่ามันคือการที่เราไม่ถูกมองเห็นโดยคนในสังคมมากกว่า เพราะหลายคนไม่เข้าใจว่าจริงๆ เราเป็นอะไร หลายคนคิดว่า ชอบผู้หญิงเดี๋ยวก็หายมั้ง เราถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่จริง ซึ่งจริงๆ คู่รักแซฟฟิกหลายคู่เขาคบกันหลายสิบปี บางคู่คบกันจนแก่”
ย้อนกลับไปตอนเธออยู่ ม.3 หมวยเคยเป็นเด็กสาวที่รู้ตัวว่าชอบผู้หญิง และพยายามตามหาพื้นที่ปลอดภัย ผู้คนที่อยู่ด้วยแล้วเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ หมวยจึงลองหาเพื่อนหญิงรักหญิงใน MSN เว็บบอร์ดออนไลน์ Hi5 จนมาถึงยุคของเฟซบุ๊ก
แต่ตอนที่เธอรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริง คือช่วงที่หมวยปวารณาตนเป็นนักกิจกรรมขับเคลื่อนสิทธิสตรีและ LGBTQ+ ในเชียงใหม่ ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย หมวยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Young Pride Club กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำคอนเทนต์เรื่องความหลากหลายเท่าเทียม อีกทั้งเธอยังเคยร่วมจัดงาน Chiang Mai Pride ที่สำคัญคือ เป็นผู้ก่อตั้ง Sapphic Pride กลุ่มจัดอีเวนต์ฉายหนัง กิจกรรม Open Mic และเสวนาเกี่ยวกับคอมมูนิตี้แซฟฟิกอย่างสม่ำเสมอ
ในขบวนการเคลื่อนไหวนั้นเอง เธอพบกับ โรส เพื่อนสาวชาวแซฟฟิกผู้ทำงานขับเคลื่อนในองค์กร NGO และกลายมาเป็นหุ้นส่วนของ Sapphic Riot ร่วมกันในภายหลัง
Sapphic Insight
“ก่อนหน้านี้กลุ่มหญิงรักหญิงหาตัวกันยาก เราอยากทำให้มีพื้นที่สำหรับพวกเรามากขึ้น”
ในแสงไฟสลัว หมวยเล่าเท้าความถึงจุดประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride ซึ่งพัฒนากลายมาเป็นบาร์ Sapphic Riot ที่เรานั่งอยู่
“ทำไมหาตัวกันยากล่ะ” ฉันถามต่อ
“คนในคอมมูฯ แซฟฟิกส่วนมากจะชอบเก็บตัวเงียบๆ ไม่อยากเปิดตัว หรือหากจะเปิดตัวก็ทำแค่ในกลุ่มเพื่อนหรือคนรัก” หมวยบอกชัดถ้อยชัดคำ
เพราะสำหรับเธอ ความสุขของการได้เจอคนแบบเดียวกันนั้นประเมินค่าแทบไม่ได้
“เหมือนเราได้คุยเรื่องเดียวกัน เพราะแม้แต่เพื่อนสนิทเรา เราก็ยังคุยบางเรื่องกับเขาไม่ได้ มีครั้งหนึ่งเพื่อนที่เป็นสเตรทเคยถามเราว่า เป็นแบบนี้แล้วจะยั่งยืนเหรอ จนเรารู้สึกว่าทำไมเพื่อนกันถึงพูดกันอย่างนี้วะ ซึ่งพออยู่กับคนในคอมมูนิตี้มันไม่เคยมีปัญหานี้ เรามีความเห็นอกเห็นใจกัน มันดีมาก เหมือนเพื่อนหญิงพลังหญิง”
หมวยเล่าอีกว่า เหตุผลที่เธอกับโรสอยากเปิดเป็นบาร์ เพราะเครื่องดื่ม เสียงเพลง แสงไฟ และเสน่ห์บางอย่างของบาร์นั้นเอื้อให้เกิดบทสนทนาที่ลึกซึ้ง เปิดอก และคุยกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธออยากให้เกิดขึ้นที่นี่
Sapphic Vibes
หมวยเป็นนักกิจกรรมที่มีอีกขาหนึ่งคือนักออกแบบ Sapphic Riot จึงเต็มไปด้วยป้ายผ้าและของตกแต่งที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการประท้วง เรียกร้อง และการเอมพาวเวอร์เพื่อนสาว
ไม่ใช่แค่ไวบ์โดยรวมเท่านั้น แต่เมนูเครื่องดื่มในร้านก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการขับเคลื่อน พลังหญิง และระบบชายเป็นใหญ่ อย่างแก้วแรกที่หมวยยกมาเสิร์ฟให้ฉันในวันนี้ ซึ่งแค่ได้ยินชื่อก็ซู้ดปาก
Cucumber Smasher แก้วรสชาติหวานหอม มีส่วนผสมจาก ‘เสน่หา’ จินโทนิกจากภูเก็ต เพิ่มกลิ่นเย้ายวนด้วยดอกเอลเดอร์ฟลาวเวอร์ และแน่นอนว่าได้น้ำหวานจากแตงกวาที่ถูกบดขยี้อย่างละเอียด จนกลายเป็นแก้วที่ดื่มแล้วสดชื่น หายเหนื่อย
หมวยไม่ปล่อยให้ฉันรอช้า เธอยก Passion Pressure แก้วต่อไปมาเสิร์ฟทันที แก้วนี้เป็นม็อกเทลที่มีสัมผัสซับซ้อนทว่าพอดี ได้รสหวานเปรี้ยวจากเสาวรส สับปะรด น้ำมะนาว ตัดด้วยความซ่าของโซดา และท็อปด้วยสัมผัสนุ่มนวลของไข่ขาวที่กินแล้วรู้สึกเหนอะหนะในปาก จนกลายเป็นแรงกดดัน (Pressure) ที่ทำให้ฉันต้องยกซดจนหมด
แก้วท้ายสุดของคืนนี้ปรากฏตัวหลังจากนั้นไม่นาน Kiss from the Rose คือค็อกเทลที่ร้านภูมิใจเสนอไม่แพ้แก้วไหน ประกอบจากเหล้าฉลองเบย์กลิ่นยูนีก และน้ำเชื่อมกุหลาบ จนกลายเป็นแก้วสีชมพูน่ารักสดใสหวานเปรี้ยว นอกจากจะจิบสวยๆ แล้วยัง Instagrammable สุดๆ
นอกจากมาดื่มมาดริงก์และแฮงเอาต์ตามประสาเพื่อนสาวได้แล้ว ที่นี่มีบอร์ดเกมให้เล่น มีหนังสือเฟมินิสต์จาก Feminista ให้อ่านฟรี (แถมบางเล่มยังหิ้วกลับบ้านได้ด้วย) มากกว่านั้นคือ มีสินค้ากระจุกกระจิกตั้งแผงขาย ทั้งแหวน กำไล สร้อย ซึ่งล้วนเป็นงานแฮนด์เมดของกลุ่มเพื่อนแซฟฟิกคนสนิท และในโอกาสพิเศษ Sapphic Riot ยังจัดปาร์ตี้รำลึกถึงขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม งานฉายหนังแซฟฟิก และคาราโอเกะไนต์ที่หมวยตั้งใจว่าอยากจัดให้ได้ทุกเดือนอีกด้วย
Sapphic Space
พอเป็นบาร์ที่ขึ้นชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อคอมมูนิตี้แซฟฟิก ฉันสงสัยว่าที่นี่จะเปิดประตูต้อนรับเฉพาะชาวแซฟฟิกอย่างเดียวหรือเปล่า
“จริงๆ เราต้อนรับทุกคนนะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเป็นกลุ่มเควียร์ เลสเบี้ยน เพราะเราก็ทำสเปซเพื่อพวกเรา” หมวยบอกตามตรง
“ก่อนหน้านี้ช่วงที่เชียงใหม่ไฮซีซัน เคยมีผู้ชายผิวขาวมีอายุเข้ามาในร้าน ตอนแรกเรารู้สึกว่าเขาน่าจะเป็นพันธมิตร (Ally) แต่เขาเข้ามาหลายวัน และมีวันหนึ่งพาผู้หญิงเข้ามาด้วย แล้วเขาปฏิบัติกับผู้หญิงคนนี้ไม่ดีเลย เพื่อนและเรารู้สึกว่าไวบ์ของร้านเปลี่ยนเลย เรารู้สึกว่าพื้นที่ของชาวแซฟฟิกก็มีน้อยอยู่แล้ว แล้วคนแบบนี้จะเข้ามาแย่งพื้นที่กันอีกทำไม”
ถึงอย่างนั้น หมวยก็บอกว่ากรณีนั้นนับเป็นส่วนน้อย เพราะปกติแล้วลูกค้าที่เดินเข้าร้านมาก็รู้ว่า Sapphic Riot เป็นพื้นที่แบบไหน และพวกเธอสามารถวางใจได้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัย
“บางทีคู่รักแซฟฟิกชาวต่างชาติเขาเข้ามาแล้วก็สวีตกันเลย บางทีเป็นคนเกาหลีที่เคยอยู่ในพื้นที่ที่อนุรักษนิยม (Conservative) มาก พอเขามาที่นี่เขาก็เป็นตัวเองได้เต็มที่
“สำหรับเรา การมีพื้นที่แบบ Sapphic Riot สำคัญตรงที่มันทำให้รู้สึกว่าไม่โดนตัดสิน ไม่ว่าจะมาคนเดียว มากับเพื่อน กับแฟน จะมาคุยกัน จับมือกับแฟน หรือปลดปล่อย จะไม่มีสายตาของใครมาตัดสินว่าอีนี่เป็นอะไร” เธอหัวเราะ และหันมาสรุปกับเราด้วยแววตาจริงใจ มั่นใจ
“เราอยากให้ทุกคนที่มารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งและไม่โดดเดี่ยว กลับบ้านไปแล้วรู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีคนเข้าใจเขาอยู่”
Sapphic Riot
ที่อยู่ : 56/1 ถนนสิงหราช ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
เวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) เวลา 19.00 – 00.00 น.
การเดินทาง : maps.app.goo.gl/viL2UdNTbb27RiXK8